วรากรณ์ สามโกเศศ

ถ้าท่านผู้อ่านรู้สึกรำคาญที่บ้านเต็มไปด้วยข้าวของรุงรังระเกะระกะ ตู้ก็เต็มไปด้วยเสื้อผ้าทั้งๆ ที่ใช้เพียงบางตัว ห้องเก็บของก็อัดแน่นด้วยสิ่งของที่ “ขาดไม่ได้” แถมมองไปที่ชั้นก็เต็มไปด้วยหนังสือที่บางเล่มไม่ได้แตะต้องมาเป็นสิบปีแล้ว ทั้งหมดนี้ท่านไม่รู้จะทำอะไรกับมัน ท่านไม่โดดเดี่ยวหรอก คนในโลกจำนวนมากเป็นเช่นเดียวกันจนปัจจุบันเกิดแนวคิดที่เรียกว่า minimalist ขึ้น และกำลังระบาดไปทั่ว
“minimalist” มาจาก “minimum” ซึ่งหมายถึงน้อยสุด ในตอนแรก minimalism หรือ ลัทธิจุลนิยมเกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบซึ่งเน้นแต่แก่นไม่ฟรุ้งฟริ้ง ฟุ่มเฟือย แต่ปัจจุบันกลายเป็นแนวคิดของการดำรงชีวิต
minimalists มักเป็นคนที่แปรเปลี่ยนจากการเคยเป็นผู้นิยมแฟชั่น มีของแบรนด์เนมมากมาย ไม่ว่ารองเท้า กระเป๋า เมื่อเริ่มมีเงินหรือเริ่มสร้างหนี้ได้ก็มีสมบัติมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กว่าจะรู้ตัวก็มีเสื้อเป็น 100 ชุด มีกางเกง รองเท้า กระเป๋า จนจำไม่ได้ minimalist ที่แปรร่างไปจะมีเสื้อผ้านับชิ้นได้ มีของใช้เท่าที่จำเป็นจนบ้านว่าง เป็นระเบียบ และจิตใจก็ว่างเบาขึ้นด้วย
minimalism เป็นปรัชญาของการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ยิ่งมีน้อยเท่าใดก็ยิ่งมีความสุขเพียงนั้น จิตใจสบายไม่กังวล ความสะอาดและความเป็นระเบียบทำให้จิตใจเป็นสุขด้วย แต่มันไปโป่งที่บัญชีเงินออม โดยหาความสุขจากชีวิตอีกแนวหนึ่งที่คล่องตัวและไร้กังวลกับสิ่งของมีค่า
minimalists แต่ละคนก็มีสไตล์การดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกัน บางคนก็ทิ้งเสื้อผ้า ทิ้ง “สมบัติบ้า” (ของเล่นสมัยเด็ก สิ่งของแห่งความทรงจำกับผู้คนอื่นๆ ของที่เคยใช้และคิดว่า “ขาดไม่ได้”) เหลือไว้แต่หนังสือ บ้างก็ทิ้งหมดจนบ้านและครัวว่างโล่ง บ้างก็ไปอยู่บ้านหรือคอนโดขนาดเล็กลง บ้างก็ไม่มีรถยนต์โดยหันมาใช้รถสาธารณะแทนตามแต่รสนิยมของแต่ละคนหรือของแต่ละครอบครัว
สิ่งที่ทุก minimalists มีเหมือนกันก็คือสิ่งของนอกกายน้อยลง บ้านมีความเป็นระเบียบและสะอาดมากขึ้น โดยการมีวัตถุประสงค์ในการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย ไม่สร้างภาระให้ตนเองและผู้อื่น

ในโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ คนรุ่นใหม่ในจีนและเกาหลีใต้ แนวคิด minimalists กำลังแพร่กระจาย หนังสือสองเล่มที่ได้รับความนิยมมากคือ “The Life Changing Magic of Tidying Up” (2011) โดยนักเขียนญี่ปุ่น Marie Kondo ขายได้เป็นล้านๆ เล่มทั่วโลก (แปลเป็นภาษาไทยแล้ว) กับ “Minimalism in Real Life : 4½ Practical Steps Towards a Meaningful Life” (2019) เขียนโดย Jeffery Gow นักเขียนชาวอเมริกัน กำลังได้ความนิยมเช่นกัน
เล่มแรกนั้น Marie Kondo ผู้ปัจจุบันมีอายุเพียง 35 ปี หรือรู้จักกันในชื่อ Konmari เน้นแนวคิดของชินโต (Shinto) กล่าวคือการจัดการให้ทุกสิ่งเป็นระเบียบและสะอาด คือแนวปฏิบัติอันนำไปสู่การพัฒนาจิตใจและการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
เธอแนะนำการให้คุณค่าแก่สิ่งที่มีคุณค่า ให้ดูแลมันเป็นอย่างดีโดยไม่ขึ้นอยู่กับมูลค่า เมื่อพิจารณาแต่ละชิ้นแล้วจึงจะเห็นเองว่าสิ่งใดควรแก่การเก็บรักษาไว้ เธอออกรายการโทรทัศน์ในสหรัฐฯ และเดินทางให้คำแนะนำที่ปฏิบัติได้จริงไปทั่วโลก จนปัจจุบันมีหนังสือขายดีออกมารวม 4 เล่ม
Kondo มีประวัติชีวิตที่แปลกมาก เธอบอกว่าตอนเป็นเด็กเธอชอบใช้เวลาอยู่กับการทิ้งของที่เห็นว่าไม่เหมาะ โดยเฉพาะจริงจังกับการจัดหนังสือมาก ครั้งหนึ่งเป็นลมไปสองชั่วโมงและได้ยินเสียงลึกลับบอกว่าให้พิจารณาดูสิ่งของต่างๆ ให้ดีกว่านี้ เธอจึงเข้าใจความผิดพลาดของตัวเธอทันที กล่าวคือเธอมองหาแต่สิ่งที่จะทิ้ง แต่สิ่งที่ควรทำก็คือมองหาสิ่งที่เธอต้องการเก็บไว้ การแยกสิ่งของที่ทำให้มีความสุขจากสิ่งของอื่นๆ คือหัวใจของการจัดบ้านให้เป็นระเบียบ
สำหรับเล่มที่สองนั้น Gow ให้คำแนะนำดังต่อไปนี้
1) การจะมีชีวิตที่มีคุณค่านั้นมีได้เพียงครั้งเดียวเพราะมีชีวิตเดียว ต้องตั้งไว้เป็นอุดมการณ์ อย่าเป็นทาสของบริโภคนิยมและทาสของการตลาด มิฉะนั้นจะซื้อของเกินจำเป็น
2) แยกของที่มีอยู่รุงรังเป็น (ก) ของมีประโยชน์ต้องใช้อยู่ทุกวัน (ข) ของที่มีความหมายทางจิตใจ (ค) ของเล็กๆ น้อยๆ น่ารัก (ง) สิ่งที่เหลือจากข้างต้นคือขยะ ทำไปทีละห้องโดยเป้าหมายคือเหลือเฉพาะข้อ (ก)
3) จินตนาการว่าหากเกิดไฟไหม้ หรือน้ำท่วมทำลายของที่มีความหมายทางจิตใจจนหมดแล้วจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้หรือไม่ คำตอบคือได้ ดังนั้นควรถ่ายรูปสิ่งของเหล่านี้ไว้ให้ดีเพื่อให้เตือนนึกถึงความหลัง และโยนสิ่งของเหล่านี้ทิ้งไปเพราะภาพเตือนให้นึกถึงความหลังได้เช่นกัน
4) คิดคำนวณว่ามนุษย์คนหนึ่งต้องใช้ของแต่ละชิ้นมากมายเพียงใดในชีวิต เมื่อถึงจุดนี้ก็จะเหลือข้อ (ก) ให้พิจารณาเลือกว่าจะเป็น minimalist สไตล์สุดโต่งเพียงใด
“เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นที่รู้จักกันก่อนหนังสือ 2 เล่มนี้ออกมา สามารถนำมาประยุกต์กับปัญหาที่สองนักเขียนเสนอได้เป็นอย่างดี minimalist สไตล์ “พอควร” “ไม่ประมาท” “พึ่งตนเอง” ให้ความกว้างและความคล่องตัวในทางความคิดมากกว่า
แนวคิด minimalist สอดคล้องกับข้อเขียนของผู้เขียนในคอลัมน์นี้ที่มีชื่อว่า “จัดบ้านก่อนตาย” เมื่อ 2 ตุลาคม 2561 (ดูได้ที่ varakorn.com ไปที่ “ข้อเขียนจากกรุงเทพธุรกิจ”) ซึ่งนำแนวคิดจากหนังสือชื่อ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning (2018) โดย Margaret Magnusson มาขยายความ
minimalism ให้ข้อเตือนใจในเรื่องการไม่สะสมสิ่งของจนล้นบ้าน เป็นภาระแก่คนอยู่ข้างหลังและทำให้กังวลเพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าคนอื่นๆ เขาจะ “ไยดี” กับสิ่งของที่ตนรักสะสมไว้เมื่อตนเองได้จากไปแล้วอย่างไร
ประการสำคัญที่สุดก็คือการมีสมบัติมากและบริโภคมากคือการทำร้ายโลกทางอ้อมด้วยการใช้ทรัพยากรและสร้างขยะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เมื่อสามารถอยู่ได้และมีความสุขได้ด้วยความจำกัด แล้วจักเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามทำไมให้เป็นภาระแก่คนอื่นและโลกเล่า
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 9 เม.ย. 2562