ThaiPublica > คนในข่าว > เจซินดา อาร์เดิร์น ผู้นำที่ได้รับยกย่องทั่วโลก ในวันที่มืดมนที่สุดของนิวซีแลนด์

เจซินดา อาร์เดิร์น ผู้นำที่ได้รับยกย่องทั่วโลก ในวันที่มืดมนที่สุดของนิวซีแลนด์

20 มีนาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ไปร่วมไว้อาศัยที่มัสยิด เมืองเวลลิงตัน ที่มาภาพ : theguardian.com

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา อาจเป็นวันที่มืดมนที่สุดของนิวซีแลนด์ แต่เจซินดา อาเดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงอายุเพียง 38 ปีของประเทศนี้ กลับกลายเป็นแสงสว่างที่ส่องออกมาอย่างสดใสในยามที่ประเทศเผชิญกับฝันร้าย ในเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มีมือปืนคนผิวขาวบุกเข้าไปยิงคนมุสลิมในมัสยิด 2 แห่ง ในเมืองไครสต์เชิร์ช ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน และบาดเจ็บอีก 50 คน

นับตั้งแต่ได้รับการแจ้งเหตุร้ายที่เกิดขึ้น เจซินดา อาเดิร์น ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก ในการวางตัวเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นท่าทีของความสุขุมเยือกเย็น จิตใจที่มีเมตตาธรรม และความเห็นอกเห็นใจต่อคนที่ประสบเคราะห์กรรม หนังสือพิมพ์ New York Times เขียนไว้ว่า วิสัยทัศน์ของเจซินดา อาเดิร์น ที่มองการเมืองเป็นเรื่องการดูแลช่วยเหลือ ถูกทดสอบจากการสังหารหมู่ที่เลวร้ายสุดของนิวซีแลนด์

คำกล่าวของเธอที่ประนามมือปืน กลายเป็นคำพูดที่ส่งเสียงก้องไปทั่วนิวซีแลนด์ เธอยังประกาศอย่างรวดเร็วว่าจะแก้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้นเรื่องอาวุธปืน เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ โทรศัพท์แสดงความเสียใจต่อเธอ และถามว่าสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนนิวซีแลนด์อย่างไรได้บ้าง เธอกล่าวตอบว่า “ให้เห็นอกเห็นใจ และมีความรักต่อชุมชนมุสลิม”

หลังจากเกิดเหตุการณ์ได้ 1 วัน ในวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม เจซินดา อาเดิร์น ก็บินไปเมืองไครสต์เชิร์ช ที่ศูนย์ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพของเมือง ที่เป็นของหน่วยงานองค์กรเอกชน NGO เธอได้กล่าวข้อความในนามของคนนิวซีแลนด์ทุกคน ที่แสดงออกถึงความรักและการให้การสนับสนุนว่า “นิวซีแลนด์รวมเป็นหนึ่งเดียวในความเศร้าโศกนี้”

ในการพบปะกับผู้นำชุมชนมุสลิม และครอบครัวของคนที่เสียชีวิต เธอให้ความมั่นใจในเรื่องการจัดการเรื่องการฝังคนตายตามธรรมเนียมศาสนา เธอกล่าวถึงคำพูดที่ได้ยินจากคนที่มีชีวิตรอดว่า “สิ่งนี้ไม่ใช่นิวซีแลนด์ที่พวกเขารู้จัก นี่ก็ไม่ใช่นิวซีแลนด์ที่เรารู้จัก” หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มัสยิดได้ไม่นาน อาเดิร์นกล่าวว่า “พวกเขาคือพวกเรา หลายคนที่ได้รับผลกระทบเป็นสมาชิกชุมชนผู้อพยพของเรา นิวซีแลนด์คือบ้านของพวกเขา”

เจซินดา อาเดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ที่มาภาพ : https://www.freepressjournal.in/world/new-zealand-pm-jacinda-ardern-vows-gun-law-change/1483490
ที่มาภาพ : https://corporatedispatch.com/news/new-zealands-prime-minister-jacinda-ardern-a-young-leader-in-spotlight-again-but-its-different-nyt/

ผู้นำอายุน้อยที่สุด

เมื่อเดือนตุลาคม 2017 เจซินดา อาเดิร์น ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่อายุน้อยสุดในรอบ 150 ปีของนิวซีแลนด์ และเป็นผู้นำที่ทำให้นิวซีแลนด์ มีภาพลักษณ์ของประเทศ ที่มีพลังความคิดของคนรุ่นใหม่ นโยบายรัฐเป็นแบบก้าวหน้า ในยุคสมัยที่ประเทศตะวันตกอื่นๆ มีผู้นำแบบอนุรักษ์นิยม การเมืองมีการแบ่งขั้วเป็นฝักเป็นฝ่าย และมีนโยบายที่อยู่โดดเดี่ยวมากขึ้น

เจซินดา อาเดิร์น ปัจจุบันอายุ 38 ปี เติบโตในเมืองเล็กๆ ของนิวซีแลนด์ ศึกษาที่มหาวิทยาลัย Waikato ในสาขาการสื่อสารการเมืองและประชาสัมพันธ์ เธอเข้าร่วมกับพรรคแรงงานตั้งแต่อายุ 17 ปี หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตทั้งหมดทำงานที่เกี่ยวกับการเมือง เคยอยู่ในคณะทำงานของโทนี แบลร์ สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และในคณะทำงานของนางเฮเลน คลาร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาในปี 2008

เมื่อปีที่แล้ว เธอเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่พาบุตรสาวที่มีอายุ 3 เดือนไปร่วมประชุมประจำปีของสหประชาชาติ ภาพที่เธออุ้มลูกเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ถูกนำไปเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ทั่วโลก เพราะเป็นภาพสัญลักษณ์ที่มีพลังเกี่ยวกับบทบาทผู้หญิงในฐานะผู้นำ และในฐานะของมารดาในสถานที่ทำงาน

เจซินดา อาร์เดิร์น ก้าวขึ้นเป็นผู้นำนิวซีแลนด์ด้วยการหาเสียงที่สร้างทั้งความหวังและการเปลี่ยนแปลง เธอสัญญาว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนนิวซีแลนด์ดีขึ้น โดยการขจัดความยากจนของเด็กที่มีอยู่กว่า 2 แสนคน ทำให้แม่น้ำกลับมาสะอาดจนคนสามารถลงไปว่ายน้ำได้ใหม่ สร้างบ้านพักที่คนสามารถเป็นเจ้าของได้ และเตรียมคนหนุ่มสาวเพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ผ่านการศึกษาฟรีในระดับมหาวิทยาลัย

เธอเคยให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ของอังกฤษว่า “กรณีของเบร็กซิตและทรัมป์บอกกับฉันว่า เรามีความไม่มั่นคงทางการเงินที่ดำรงอยู่ในหลายประเทศ นักการเมืองมีทางเลือกคือการตอบสนองปัญหาความไม่มั่นคงนี้ ด้วยการมีแผนงานที่แสดงถึงการมีอนาคตสำหรับคนทำงานและคนหนุ่มสาว เมื่อเผชิญกับโลกาภิวัตน์และระบบอัตโนมัติ”

เจซินดา อาร์เดิร์น ก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนที่ 40 ของนิวซีแลนด์อย่างรวดเร็ว เมื่อผู้นำพรรคแรงงานเสนอให้เธอขึ้นมาเป็นผู้นำพรรค เธอเองปฏิเสธถึง 7 ครั้ง ในการสำรวจความนิยมของคนนิวซีแลนด์ เธอมีคะแนนนิยมสูง ทำให้พรรคแรงงานมีความหวังที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล หลังจากที่เป็นฝ่ายค้านมาแล้ว 3 สมัย แต่ตัวเธอเองต้องการที่จะเป็นรัฐมนตรี ดูแลกิจการเกี่ยวกับเด็ก แต่หลังจากเธอยอมรับตำแหน่งผู้นำพรรค ภายใน 1 เดือน ความนิยมในพรรคแรงงานก็พุ่งขึ้น 19%

คู่แข่งทางการเมืองมองว่า ความนิยมของคนนิวซีแลนด์ต่อเจซินดา อาร์เดิร์น เป็นแค่ “ละอองดาว” และอีกไม่นานก็จะเลือนหายไป แต่การคาดการณ์นี้ผิดพลาด เพราะผู้หญิงและเยาวชนให้การสนับสนุนแนวคิดและวิสัยทัศน์ของเธอ ความนิยมในตัวเธอทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความหลงใหลในเจซินดา” (Jacindamania) ภาพลักษณ์ของเธอเหมือนกับนักการเมืองแบบบารัก โอบามา, แอมานุแอล มาครง และจัสติน ทรูโด

เจซินดา อาร์เดิร์น ไปเยี่ยมมัสยิด เมืองเวลลิงตัน ที่มาภาพ : theguardian.com

แบบอย่างของผู้นำ

ในบทความของ The Washington Post ชื่อ New Zealand’s prime minister wins worldwide praise for her response to the mosque shootings รายงานว่า การสังหารหมู่ที่มัสยิด 2 แห่งที่ไครสต์เชิร์ช ทำให้ “ความหลงใหลในเจซินดา” พัฒนาออกมาในมิติใหม่อีกแบบหนึ่ง

ในวันเสาร์หลังจากเกิดเหตุเพียง 1 วัน เจซินดา อาร์เดิร์น ได้ไปเยี่ยมชุมชนมุสลิม เธอสวนเสื้อดำและมีผ้าคลุมศีรษะแบบมุสลิมที่เรียกว่าฮิญาบ สื่อมวลชนชาวอิหร่านในสหรัฐฯ ชื่อ Negar Mortazavi เขียนว่า “ผู้นำที่เข้มแข็ง นายกรัฐมนตรี ไปเยี่ยมครอบครัวมุสลิมที่กำลังโศกเศร้าโดยสวมฮิญาบ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเคารพ เธอบอกพวกเขาว่า คุณคือพวกเรา”

ไม่เพียงการแต่งตัวของเธอเท่านั้นที่ได้รับคำชมเชยจากนานาชาติ หลายคนชื่นชมเธอที่กล่าวให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการทำศพของเหยื่อ 50 คน การให้เงินช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อ และดำเนินการอย่างรวดเร็วในเรื่องการเข้มงวดอาวุธปืน

นายซาดิก ข่าน (Sadig Khan) นายกเทศมนตรี นครลอนดอน นำรูปที่เจซินดา อาร์เดิร์น สวมกอดผู้หญิงมุสลิมมาขึ้นในทวิตเตอร์ของเขา พร้อมกับเขียนข้อความว่า เมื่อเธอมาเยือนที่ทำการมหานครลอนดอนปีที่แล้ว เธอได้กล่าวถึงความสำคัญของสังคม ที่ให้ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของ (inclusivity) และความเท่าเทียมกัน การกระทำที่เกิดขึ้นสั่นสะเทือนต่อแก่นของประเทศที่เปิดกว้างและหลากหลาย และผมรู้ว่าชาวลอนดอนยืนเคียงข้างกับประชาชนของไครสต์เชิร์ช

นายจอนนี เกลเลอร์ (Jonny Geller) ผู้มีอาชีพเป็นนายหน้าให้นักเขียนในอังกฤษ เขียนลงในโซเชียลมีเดียว่า “คุณคาดคิดหรือไม่ว่าจะมีผู้นำประเทศที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ ขอบคุณ เจซินดา อาร์เดิร์น ที่ทำให้โลกเรากลับไปคิดถึงเรื่องที่ว่า ผู้นำคืออะไร และผู้นำสามารถที่จะทำอะไร” ข้อความนี้มีคนกดไลก์ 58,000 คน

ภาพของเธอที่กลายเป็นตัวแทนความรู้สึกของคนทั่วไปคือ เมื่อเธอไปเยือนครอบครัวของผู้เคราะห์ร้าย เป็นภาพที่เธอตั้งใจฟัง ด้วยใบหน้าที่เจ็บปวด และมือสองข้างจับกันแน่น ภาพนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้นำ เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ และที่มีเมตตาธรรม ภาพนี้ถ่ายโดยนายเติร์ก ฮากรีฟส์ (Kirk Hargreaves) ที่เป็นช่างภาพของสำนักงานเมืองไครสต์เชิร์ช ที่ต่อมามีการแชร์กันไปทั่วโลก

เจซินดา อาร์เดิร์น เป็นผู้นำที่ยึดถือคุณค่าในเรื่อง ความเห็นอกเห็นใจ ที่มีต่อคนที่ประสบปัญหาต่างๆ เธอให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า “การจะรักษาความเข้มแข็งของประชาธิปไตยได้ ประชาชนต้องมีความเชื่อในสิ่งนี้ และพวกเขาต้องเชื่อมั่นในตัวนักการเมือง ความคิดที่กล่าวว่า อำนาจเดินไปด้วยกันไม่ได้กับความคิดเรื่องความเห็นอกเห็นใจ และความมีเมตตา สิ่งนี้คือประเด็นที่ข้าพเจ้าปฏิเสธที่จะยอมรับ”

เอกสารประกอบ

Jacinda Ardern’s Progressive Politics Made Her a Global Sensation, The New York Times, September 26, 2018.
Jacinda Ardern Pitched New Zealand’s Charms, The New York Times, March 16, 2019.
New Zealand’s prime minister wins worldwide praise for her response to the mosque shootings, The Washington Post, March 18, 2019.