ThaiPublica > เกาะกระแส > กสศ. เปิดตัว “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ปฏิรูปการเรียนการสอนสร้าง “นวัตกรสายอาชีพ” 2500 ทุน เริ่มปีการศึกษา2562

กสศ. เปิดตัว “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ปฏิรูปการเรียนการสอนสร้าง “นวัตกรสายอาชีพ” 2500 ทุน เริ่มปีการศึกษา2562

19 พฤศจิกายน 2018


นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียนจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเรียนต่อสูงกว่ามัธยมปลายเพียงร้อยละ 5 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยครอบครัวทั่วไปที่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 32 กสศ. จึงมีโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” เพื่อช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเรียนต่อสายอาชีพและมีงานทำทันทีเมื่อจบการศึกษา ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเป็นโครงการลักษณะพันธมิตรกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สร้างกำลังคนสายอาชีพ ให้มีสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้ความสำคัญกับสาขา STEM [วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology)  วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)] รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะอาชีพการทำงานตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น

“ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนนอกจากจะสร้างกำลังคนรุ่นใหม่สายอาชีพราวรุ่นละ 2,500 คนแล้วยังเป็นการสร้างโอกาสสู่การศึกษาระดับสูงแก่นักเรียนที่มีศักยภาพแต่มีอุปสรรคทางรายได้ของครอบครัว โครงการยังมุ่งปฏิรูปการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาสายอาชีพ ให้สามารถผลิตกำลังคนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและภาคธุรกิจ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0” นายสุภกร กล่าว

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กระทรวงแรงงานประมาณการว่าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC สิบปีจากนี้ (พ.ศ. 2561-2570) ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานสายอาชีพเป็นอันดับสูงสุด ร้อยละ 44 จำนวนราว 80,000 คน ขณะที่ต้องการวุฒิปริญญาตรีราวร้อยละ 33 กสศ. มีภารกิจหลักในการสร้างเสริมโอกาสแก่เด็กและเยาวชนผู้ขาดโอกาสซึ่งมีจำนวนถึงรุ่นละ 150,000 คน ผลการวิเคราะห์คะแนน PISA พบว่านักเรียนช้างเผือกของไทยมีประมาณ 3% แต่หากขจัดอุปสรรคด้านทุนการศึกษาจำนวนนักเรียนช้างเผือกจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% กสศ. จึงสนับสนุนทุนให้นักเรียนที่มีศักยภาพสูงเรียนต่อสายอาชีพ โดยในขั้นตอนแรกจะคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่สนใจและมีแผนดำเนินงานที่ดีที่สุดก่อน จากนั้นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจะพัฒนาการเรียนการสอน เช่น ระบบทวิภาคี ระบบดูแลนักศึกษา เป็นต้น เพื่อจัดรับสมัครนักศึกษาให้ทันในปีการศึกษา 2562

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในแง่ผลประโยชน์ที่จะได้รับ กสศ. ได้คำนวณผลตอบแทนของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง จากนักเรียนผู้รับทุน 2500 ทุน ในปีแรก จากข้อสมมติฐานว่าผู้รับทุนทุกคนทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี จะคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value – NPV ) ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรืออัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ Internal Rate of Return อยู่ที่ร้อยละ 10 โครงการนี้ยังสร้างผลประโยชน์ทางอ้อมให้แก่ผู้รับทุน เช่น ผู้รับทุนมีความพึงพอใจในงานเพิ่มขึ้น อัตราการออกจากการศึกษาของสายอาชีพน้อยกว่าการศึกษาประเภทอื่น และมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ผลประโยชน์ในแง่ของนายจ้าง ผลลัพธ์ของโครงการจะสามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตของบริษัทให้สูงขึ้น และประหยัดต้นทุนของบริษัทในการสรรหาแรงงานทักษะ และลดอัตราการเข้าออกของพนักงานในบริษัท ขณะที่แง่เศรษฐกิจภาพรวม จะช่วยให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของรัฐ การเพิ่มรายได้ภาษี และลดปัญหาความยากจน

“โครงการนี้ถือว่ามีความคุ้มทุนอย่างมาก เพราะเป็นการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เหมือนเป็นการเกาถูกที่คัน ผลิตคนป้อนตลาดแรงงานได้อย่างทั่วถึง รวมถึงทำให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 มากขึ้น”

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยยังยึดติดกับภาพลักษณ์ของเด็กอาชีวะในเรื่องความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย การสูญเสียชีวิต ตรงนี้ทำให้สัดส่วนการเรียนสายอาชีพถดถอยลงมาโดยตลอด ประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับสายสามัญศึกษาที่อยู่ประมาณ ร้อยละ 60-70 สวนทางกับทิศทางการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งที่เส้นทางหลักที่จะเป็นกระดูกสันหลังของประเทศในทศวรรษหน้า คือการเรียนในสายสัมมาอาชีพ แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องนี้มาก

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. จึงเป็นความก้าวหน้าสำคัญที่จะช่วยปฎิรูประบบการเรียนการสอนสายอาชีพให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาไปที่สถาบันการศึกษาให้เป็นสถาบันเฉพาะทาง มีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ และจุดเด่นอีกเรื่องของโครงการ คือ การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีที่มีคุณภาพสูง เน้นการเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติงานจริง ผ่านความร่วมมือกับสถานประกอบการ ชุมชนท้องถิ่น นักศึกษาจะมีทักษะด้านปฏิบัติ เมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถทำงานได้ทันทีและมีโอกาสจ้างงานสูง ซึ่งมีสถาบันของเอกชนกับรัฐหลายแห่งเป็นต้นแบบและเป็นตัวอย่างที่ดี ในการผลิตนักศึกษาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานกับระบบโรงงานอุตสาหกรรม

“โครงการนี้จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเด็กอาชีวะ ที่สังคมมองว่านิยมใช้ความรุนแรง เป็นเด็กประเภท 2 ไม่มีแก่นสาร ให้เป็นนวัตกรสายอาชีพ เด็กกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นคนที่ตอบโจทย์อนาคตของประเทศ กสศ. จะเป็นตัวหนุนเสริมสำคัญในการยกระดับคุณภาพอาชีวะเวลานี้ได้เป็นอย่างดียิ่ง” ศ. ดร.สมพงษ์ กล่าว

สำหรับ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” จะสนับสนุนงบประมาณผ่านสถาบันการศึกษาประกอบด้วย ทุนสำหรับพัฒนาสถาบันการศึกษาที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกตามคุณภาพ (Competitive Grants) ประมาณ 50 แห่ง ซึ่งต้องพัฒนาหลักสูตรที่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ สายอาชีพที่กำลังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในท้องถิ่นหรือจังหวัด รวมถึงสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจำนวน 2,500 ทุนต่อปีที่ผ่านการคัดเลือกโดยสถาบันการศึกษา โดยเปิดกว้างให้สถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาสายอาชีพจากทุกสังกัด ทั้งนี้ กำหนดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่ วันที่ 15-28 ธันวาคม 2561 และสามารถติดตามข่าวสารที่ www.EEF.or.th หรือ สายด่วน โทร. 02-079-5475 กด 2 ในวันและเวลาราชการ

ป้ายคำ :