ThaiPublica > คอลัมน์ > ตายอย่างไม่ให้ลูกหลานหมดตัว

ตายอย่างไม่ให้ลูกหลานหมดตัว

8 กุมภาพันธ์ 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

คำสอน “ไม่ให้จนก่อนตาย” น่าจดจำเพื่อนำไปเตรียมตัวก่อนสู่วัยสูงอายุ ล่าสุดเกิดทางโน้มในเอเชียที่ค่าทำศพแพงมากขึ้นทุกทีจนเกิดคำสอนว่า “อย่าตายให้ลูกหลานหมดตัว” ผู้คนเขาทำอย่างไรกันเพื่อไม่ให้การตายของตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่นจนเกินไป และในเส้นทางที่เขาทำกันมีแง่คิดดี ๆ ปนอยู่ไม่น้อย

ในอ่าวโตเกียวในช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา จะมีเรือลำเล็กจำนวนมากลอยออกไปพร้อมกับญาติใกล้ชิดและโปรยดอกไม้พร้อมกับเถ้าถ่านกระดูกของผู้ตายลงในทะเล มีความเป็นไปได้สูงว่าครอบครัวนี้เลือกงานศพชนิดไม่มีสิ่งฟุ่มเฟือยก่อนหน้าที่จะเผา เมื่อมองไปจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ก็มีปรากฏการณ์คล้ายกันคือไม่ฝังศพอีกต่อไป

ผู้คนในแนว “อารยธรรมจีน” เหล่านี้ฝังร่างผู้เสียชีวิตที่รักนับถือ โดยทำเป็นฮวงซุ้ย หรือสุสานมานับร้อย ๆ ปี แต่การขาดพื้นที่ว่างในสุสาน (หากมีเงินจ่ายมาก ๆ ก็มีพื้นที่ว่างเสมอ) ค่าใช้จ่ายในพิธีศพ ตลอดจนขนาดของครอบครัวที่เล็กลง (มีจำนวนคนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายน้อยลง) ทำให้หันมาใช้การเผาศพแบบที่ผู้คนในแนว “อารยธรรมอินเดีย” ทำกันมายาวนานเช่นกัน

ลองดูตัวเลขของผู้มีโอกาสเป็น “ศูนย์กลาง” ของงานศพกันสักนิด ประมาณร้อยละ 60 ของคนสูงอายุทั่วโลกอาศัยอยู่ในบริเวณเอเชียปาซิฟิก สำหรับญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทยก่อนถึงปี 2050 หรือประมาณอีก 30 ปีเศษมากกว่า 1 ใน 10 ของประชากรจะมีอายุมากกว่า 80 ปี สำหรับสัดส่วนของผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวเลขจะเพิ่มจากประมาณร้อยละ 10 ในปัจจุบัน เพิ่มเป็นร้อยละ 21 ในปี 2050ในบริเวณประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสำหรับเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือตัวเลขเดียวกัน จะเพิ่มจากร้อยละ 17 เป็นประมาณร้อยละ 37

สถิติเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนจาก “ฝัง” มาเป็น “เผา” นั้น สามารถสร้างกระแสความนิยมขึ้นได้มาก ในโลกปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปก็หันสู่ทิศทางนี้มากขึ้น

ลองดูตัวอย่างญี่ปุ่นว่าพิธีศพมีค่าใช้จ่ายสูงเพียงใด ในปี 2016 คนตาย 1.3 ล้านคนซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง พิธีศพแบบดั้งเดิมเจ้าภาพต้องจ่ายเงินประมาณ 1-2 ล้านเยน(290,000-580,000 บาท) ในปี 2015 พิธีศพแบบดั้งเดิม (ถ้าเต็มพิธีก็คือมีการเคารพศพทั้งคืนพร้อมพิธีกรรม) มีสัดส่วนร้อยละ 59 ของงานพิธีทั้งหมด แต่ปี 2017 สัดส่วนนี้ลดลงเหลือร้อยละ 52.8 เนื่องจากหันมาใช้พิธีไม่ฟุ่มเฟือย และค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยก็ลดลงด้วยจาก 2.31 ล้านเยน (670,000 บาท) ในปี 2007 เหลือ 1.96 ล้านเยน (568,000 บาท)ในปี 2016 (ค่าโปรยเถ้าถ่านในทะเลเริ่มราคาที่ 50,000 เยน (14,500 บาท))

ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นจำนวนมากอย่างท่วมท้นเช่นเดียวกับคนเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ใช้การเผา การเลือกอยู่ตรงที่จะเก็บเถ้าถ่านอย่างไร จะเก็บใส่โถไว้ในช่อง “คอนโด” ที่เก็บรวมไว้เป็นอาคารพิเศษ หรือใส่โถฝังดินและมีเสาหินบอกชื่อ หรือโปรยลงในสวน ในป่า หรือลงทะเล (ที่เรียกว่าวิธี green)

ในฮ่องกง งานพิธีศพธรรมดา ๆ นอกจากจะสูงถึง 55,000 เหรียญฮ่องกง (220,000 บาท) แล้ว ยังต้องหาพื้นที่ว่างในสุสานเพื่อใส่เถ้ากระดูกลงในโถและฝังดิน คนทั่วไปต้องคอยพื้นที่ว่างกันเป็นปีและเสียเงินอีกเป็นแสน ๆ บาท นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายดูแลรายปีอีกต่างหาก คนจีนฮ่องกงจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการวิธี green เพราะยังต้องการพื้นที่ในสุสานให้บรรพบุรุษเพื่อทำพิธีเช็งเม้งประจำปี งานทำความสะอาดเสาหินและบริเวณรอบ ตลอดจนพิธีกรรมคือความแยบคายของวัฒนธรรมจีนในการเชื่อมต่อประวัติศาสตร์ระหว่างบรรพบุรุษกับลูกหลานอย่างสำคัญ

พิธีศพไม่ว่าในประเทศไหน จริง ๆ แล้วทำเพื่อคนอยู่มากกว่าญาติผู้วายชนม์ บ้างก็ทำเพื่อหน้าและเพื่อความยิ่งใหญ่ของลูกหลาน (ไม่กล้าทำน้อยไปเพราะกลัวว่าตนเองจะดูไม่รวยในสายตาของสังคม) แต่ที่ทำเพื่อตั้งใจให้เป็นเกียรติแก่ผู้ตายก็มีเช่นกัน ความพอดีเหมาะสมอยู่ตรงไหน เป็นสิ่งที่คณะเจ้าภาพต้องตัดสินใจกันเอง

ในญี่ปุ่นได้เกิดธุรกิจ drive-in เพื่อเคารพศพ กล่าวคือไม่ต้องลงจากรถ (คนไปร่วมงานอาจสูงอายุจนลงจากรถลำบาก) หากขับรถเข้าไปในบริเวณที่ประกอบพธีเปิดกระจกมองเข้าไปเห็นห้องพิธี มอบซอง และธูปไปปักหน้าศพ ทักทายเจ้าภาพและก็ขับออกมา สะดวกทั้งเจ้าภาพที่หาที่จอดรถให้ไม่ได้ และผู้ไปร่วมงานที่ไม่ต้องหาที่จอดรถ เมื่อเข้าใจกันเช่นนี้จึงเป็นที่ยอมรับกันได้ ต่อไปธุรกิจเช่นนี้อาจแพร่กระจายจนมีการเลียนแบบกันในหลายประเทศก็เป็นได้

นิตยสาร Nikkei Asian Review ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้เล่าเรื่องราวของพิธีศพที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจโดยเฉพาะเรื่องการจัดงานเลี้ยงก่อนตายของ Mr.Satoru Anzaki อดีตประธานกรรมการบริษัทเครื่องจักรก่อสร้างวัย 80 ปีผู้กำลังจะตายด้วยโรคมะเร็งเพื่อขอบคุณเพื่อน ๆ ก่อนที่จะไม่สามารถขอบคุณได้

Anzaki ผู้ปฏิเสธการรักษาโดยสิ้นเชิง มีความคิดว่าเขามีชีวิตมาคุ้มค่าแล้ว มีเพื่อน ๆ อีกมากมายที่เขาต้องกล่าวลา เขามีลำดับความสำคัญในใจเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต จึงปฏิเสธการรักษาที่เจ็บปวดทรมาน เขาลงประกาศเชิญเพื่อน ๆ มางานเลี้ยงนี้ ปรากฏว่ามีคนมาร่วมงานถึงพันคนโดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน

งาน pre-funeral นี้อาจเป็นธุรกิจขึ้นได้ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่หลายคนอาจมีชีวิตถึง 100 ปี หากรอจนถึงวันสุดท้าย อาจไม่มีเพื่อนเหลือมางานศพ การเลี้ยงลาก่อนตายเช่นนี้จึงมีความเป็นไปได้

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและสับสนจนรู้สึกหวาดหวั่น ความสามารถควบคุมบางสิ่งโดยเฉพาะชะตาชีวิตของตนเองก่อนถึงวาระสุดท้ายดูเหมือนจะเป็นสิ่งน่าพึงปรารถนามากกว่าการมีชีวิตยืนยาวอย่างไม่รู้ว่าจะจบลงในลักษณะใด นอนอยู่บนเตียงมีสายระโยงระยาง? นอนหลับไปเลย? ป่วยกระเสาะกระแสะเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น? ฯลฯ

ถ้าเป็นชาวพุทธแล้วกลัวการพูดถึงเรื่องความตายก็เรียกได้ว่ายังไม่เข้าถึงแก่น การไม่พูดถึงมันมิใช่จะว่าไม่ตาย ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าจะตายโดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อยู่ต่อไปได้อย่างไร ในหลายกรณีพิธีศพที่สิ้นเปลืองคือหนทางหนึ่งที่จะทำให้ลูกหลานหมดตัวได้อย่างไร้สาระ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 6 ก.พ. 2561