ThaiPublica > คอลัมน์ > ปรากฏการณ์ “ตูนฟีเวอร์”

ปรากฏการณ์ “ตูนฟีเวอร์”

16 ธันวาคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/kaokonlakao/photos/

ปรากฏการณ์ที่คนไทยนับล้านร่วมบริจาคเงินและเอาใจช่วยให้กระทำการสำเร็จเช่นการวิ่งของตูน หรืออาทิวราห์ คงมาลัย ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และมีนัยสำคัญหลายประการ

ขณะที่เขียน ตูนวิ่งถึงสุพรรณบุรีบ้านเกิด วิ่งมาแล้ว 29 วัน เป็นเวลา 254 ชั่วโมง รวม 1,400 กิโลเมตร จากเป้าหมายคือเบตงถึงแม่สาย 2,191 กิโลเมตร (วิ่งไปได้แล้ว 64 กว่าเปอร์เซ็นต์ อีกไม่กี่วันก็จะบรรลุเป้าหมาย 2 ใน 3 ของระยะทาง) ได้รับเงินบริจาคแล้วประมาณ 650 ล้านบาท จากเป้าหมาย 700 ล้านบาท หรือ 93 เปอร์เฃ็นต์ของเป้าหมาย (ณ 15 ธันวาคม 2560 เงินบริจาค 834 ล้านบาท วิ่งถึง จ.ตาก)

พูดง่ายๆ ก็คือวิ่งมาได้เกือบ 2 ใน 3 ของระยะทาง แต่ได้รับเงินบริจาคแล้วเกือบ 100 เปอร์เฃ็นต์ของเป้าหมาย สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่ามันเกิดอะไรขึ้น

สาเหตุของ “ตูนฟีเวอร์” น่าจะมาจากไม่ต่ำกว่า 5 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก คนไทยบ่มเพาะจิตใจมาแล้ว 1 ปีเต็มจากความตั้งใจ “ทำความดีเพื่อพ่อหลวง” ความดีที่อยู่ในจิตใจของคนไทยโดยทั่วไปสุกงอมเต็มที่ เมื่อตูนออกมาวิ่งเพื่อรับบริจาคเงินมันจึงเป็นโอกาสของการหล่นผล็อย คนไทยมีความสุขที่ได้ทำความดี ไม่ว่าจะบริจาคเงินมากน้อยเท่าใดก็ตาม

ปัจจัยที่สอง ตูนเองเป็นนักร้องร็อกเกอร์ชื่อดังที่ถูกใจเยาวชนและคนในวัยกลางคนอยู่แล้ว วงดนตรีของพวกเขาจัดอยู่ในระดับแนวหน้าของวงการ เมื่อปลายปี 2559 เขาก็ได้วิ่งการกุศล 10 วัน รวม 400 กิโลเมตร ได้รับเงินบริจาค 63 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลบางสะพานอย่างประสบความสำเร็จยิ่ง ด้วยความบากบั่นไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย ผู้คนเห็นความเสียสละและความจริงใจของเขา เมื่อเขามาวิ่งจากใต้สุดสู่เหนือสุดของประเทศ ระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร จึงมีคนเชื่อถือและพร้อมที่จะสนับสนุนโดยเฉพาะเอกชนรายใหญ่ทั้งหลายที่ต้องการทำ CSR อยู่แล้ว

ปัจจัยที่สาม บุคลิกภาพของตูนในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน ไหว้อย่างงดงาม มีกิริยา มารยาท พูดจาสุภาพอย่างถูกกาลเทศะ มีความจริงใจและมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย ชีวิตส่วนตัวก็ไม่อื้อฉาวเป็นที่ยอมรับในวงการ อีกทั้งแฟนสาว ก้อย (รัชวิน วงศ์วิริยะ) ก็สวยน่ารัก วิ่งไปยิ้มไปอยู่ข้างแฟนอย่างไม่ท้อถอย อีกทั้งไม่มีชื่อเสียงเสียหาย ได้รับการศึกษาที่ดีทั้งคู่ ทั้งหมดจึงผสมกันเป็นแรงสร้างศรัทธาต่อตัวบุคคลและสิ่งที่เขาทำเป็นอย่างดี

ปัจจัยที่สี่ การเป็นดาราดังอยู่แล้ว รู้จักคุ้นเคยกับทุนใหญ่ มีเครือข่ายในวงการบันเทิงและสื่อกว้างขวาง ทำให้ได้รับทุนสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่ง สามารถจัดทีมแพทย์ ทีมจัดการได้อย่างเต็มชุด แถมมีรถยนต์และอุปกรณ์ประกอบสมบูรณ์ โดยเฉพาะการส่งภาพออกทางโซเชียลมีเดีย เปิดทุกช่องการบริจาค (ยกเว้นผ่านผูกขานกพิราบเท่านั้น)

ปัจจัยที่ห้า สังคมไทยโดยเฉพาะเยาวชนขณะนี้โหยหิว “ฮีโร่” หรือ “ไอดอล” ดังนั้นใครที่โดดเด่น โด่งดัง โดยเฉพาะกระทำความดีและมีภาพลักษณ์ที่ดีเช่นตูน จึงกลายเป็นบุคคลในดวงใจโดยปริยาย ปัจจุบันคนรุ่นกลางคนและเยาวชนขาด “ไอดอล” ประเภทคนดีที่สามารถใช้เป็นจุดอ้างอิงในชีวิต (เหมือนกับช่างไม้ต้องมีระดับน้ำอ้างอิงไว้ที่หนึ่งเสมอเวลาปลูกบ้าน) ดังนั้นจึงหันไปหา “เน็ตไอดอล” “นักกีฬา” “นักแสดง” หรือศิลปินดารา ฯลฯ ตูนก้าวออกมาอย่างถูกจังหวะของความต้องการ

สิ่งที่ตูนทำนั้นก่อให้เกิดผลไม่น้อยกว่า 3 ประการ คือ หนึ่ง ปลุกเร้าให้คนไทยคิดถึงการทำความดี การเสียสละ การมีจิตอาสา ฯลฯ ยิ่งขึ้น แฟชั่นนี้เป็นเรื่องดีที่สังคมไทยต้องการ แรงกระตุ้นเช่นนี้เป็นระยะๆ ตูนเป็นตัวอย่างที่เยาวชนจดจำและอยากเลียนแบบ

สอง ปลุกให้ผู้คนตื่นขึ้นมาดูแลสุขภาพตัวเอง การวิ่งกำลังกลายเป็นแฟชั่นของคนหนุ่มสาวเช่นเดียวกับการขี่จักรยาน และการออกกำลังกาย (นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ ก็มีส่วนในเรื่องนี้) ซึ่งเป็นผลดีต่อตนเองและสุขภาพการเงินของประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว

การวิ่งวันละ 50-70 กิโลเมตรของตูน สร้าง “new normal” สำหรับนักวิ่งทั้งหลาย เดิมวิ่งวันละ 5-6 กิโลเมตรก็ดูเป็นภารกิจที่ใหญ่หลวงแล้ว พอเห็นตูนกับก้อยและพรรคพวกวิ่งสบายๆ วันละ 10 เท่าตัวของระยะทางที่ตนเองวิ่ง จึงรู้สึกว่าเป็นภารกิจที่เล็กลงไปมาก กล้าที่จะวิ่งไกลขึ้น

การเริ่มบางอย่างก่อให้เกิดผลอย่างไม่น่าเชื่อ ตูนบอกว่าเขาเริ่มวิ่งจากงานวิ่งที่ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) จัดเมื่อ 5 ปีก่อน

สาม การเปลี่ยนมาดูแลสุขภาพตนเองยิ่งขึ้นก่อให้เกิดผลดีต่อการให้บริการสาธารณสุขของไทย เพราะเป็นการลดด้านดีมานด์และการได้รับทรัพยากรแพทย์และเงินทุนมากขึ้นก็คือการเพิ่มซัพพลาย

การหาเงินเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลนั้นเป็นเรื่องที่เขาทำกันเป็นประจำทั่วโลก เนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลใดในโลกที่สามารถมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยได้ทุกชิ้น มีบ้างขาดบ้างเป็นเรื่องปกติเนื่องจากเทคโนโลยีการแพทย์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีราคาแพงมากเพราะเป็นธุรกิจผูกขาด การวิ่งของตูนครั้งนี้จึงมิใช่การแสดงว่าสาธารณสุขไทยแย่จนต้องหาเงินด้วยวิธีนี้ หากแต่เป็นการแสดงออกซึ่งความรักของประชาชนที่จะช่วยเพื่อนมนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

การวิจารณ์ว่าการวิ่งหาเงินสนับสนุนโรงพยาบาลเช่นนี้มิใช่เรื่องยั่งยืน และมิใช่หนทางที่ถูกต้องในระยะยาวนั้นถูกต้อง แต่เมื่อคนร่วมโครงการเขามีความตั้งใจที่จะทำความดีหาเงินช่วยสนับสนุนเพื่อลดความขาดแคลนไปบ้าง แล้วจะไปว่าเขาได้อย่างไร ตัวผู้วิจารณ์เองก็ไม่ได้ออกแรง ไม่ได้วิ่ง ไม่โดนแดดร้อนและนั่งสบายในห้องแอร์ ถึงวิจารณ์ก็ควรให้กำลังใจกัน บางสิ่งที่พูดนั้นถูกต้องอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ควรพูดอย่างผิดกาลเทศะบั่นทอนคนตั้งใจดี

ตามประสาคนที่อยากเห็นตูนวิ่งถึงแม่สายก็อยากบอกว่าเป้าหมายของตูนนั้นมีสองประการ คือ หนึ่ง วิ่งให้ถึงแม่สาย สอง หาเงินให้ถึงเป้า 700 ล้านบาท เป้าที่สองนั้นถึงแน่นอนอยู่แล้ว และอาจทะลุถึง 1,000 ล้านบาท เอาด้วย จึงไม่ต้องกังวล สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือประการแรกคือวิ่งให้ถึงแม่สาย

จากที่ฟังตูนพูดเข้าใจว่าเขาเป็นนักกีฬา เขาเชื่อมั่นว่าวิ่งถึงแน่นอนและต้องให้ถึงภายใน 25 ธันวาคมด้วยตามเป้าเขาถึงจะ “ชนะ” อย่างไรก็ดี การรับเงินบริจาคของตูนไปจากประชาชนนั้นเปรียบเสมือนการสัญญาว่าจะวิ่งให้ถึงแม่สายโดยผู้ให้ไม่ได้คำนึงว่าจะถึงเมื่อใด ตูนจึงอยู่ภายใต้แรงกดดันมากพอควร เมื่อวิ่งนานวันเข้ากำลังแรงย่อมอ่อนล้า มีโอกาสเจ็บป่วยสูงหากไม่ระวังตัว (วิ่งเร็วๆ และหยุดโดยไม่อุ่นเครื่องขาลงอาจทำให้หน้ามืดเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจได้) สิ่งที่ประชาชนต้องการคือไปให้ถึง อย่าเอาการไปถึงเป้าหมายภายในกำหนดเวลาเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากตูนเร่งมือเกินไปก็อาจล้มเหลวไปไม่ถึงในที่สุดก็เป็นได้

ตูนเสียสละมากจากการวิ่งครั้งนี้ ถึงทำได้สำเร็จแล้วก็อาจมีผลต่อร่างกายโดยเฉพาะการปวดขาและเข่าในระยะยาวต่อไป ผู้เขียนขอชื่นชมการเสียสละและการกระทำดีครั้งนี้ ขอเชียร์ว่า “พี่ตูนสู้ๆ” ซึ่งหมายถึงขอให้ต่อสู้เอาชนะใจตนเองจากการต้องการ “ชนะ” ซึ่งอาจทำให้ตนเองแพ้ในที่สุดก็เป็นได้

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/kaokonlakao/photos/

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 12 ธ.ค. 2560