ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ดวงอาทิตย์ Sleepy Mode สร้างภาวะ Global Cooling ดึงโลกเข้าสู่ยุค Little Ice Age ปี 2030

ดวงอาทิตย์ Sleepy Mode สร้างภาวะ Global Cooling ดึงโลกเข้าสู่ยุค Little Ice Age ปี 2030

20 ธันวาคม 2017


ดวงอาทิตย์ที่กำลังอยู่ในโหมดจำศีล แผ่ความร้อนน้อยลง ดึงโลกเข้าภาวะ Global Cooling อุณหภูมิลดลงต่อเนื่อง และสู่ยุค Little Ice Age ปี 2030

ภาวะอากาศหนาวเย็นที่แผ่ปกคลุมไปทั่วประเทศไทยในขณะนี้ เสริมบรรยากาศส่งท้ายปีและต้อนรับปีใหม่ให้รื่นเริงมากขึ้น หลายคนๆ อาจจะภาวนาให้อากาศเย็นสบายแบบนี้ตลอดทั้งปีและตลอดไป ซึ่งความปรารถนานั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นจริงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพราะดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงร้อนแรงแผดเผากำลังเข้าสู่โหมดจำศีล(Sleepy Mode)พลังแสงอาทิตย์ที่จะส่งมาโลกมีความร้อนลดลง โลกได้เข้าสู่ภาวะ Global Cooling และคาดการณ์กันว่าโลกกำลังจะเข้าสู่ยุค Mini Ice Age อีกครั้ง

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังพบว่า Cooling Cycle จะเกิดขึ้นทุกๆ 230 ปี และรอบนี้ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2014 ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิลดลงอีกในปี 2019 ทั้งหมดเป็นผลจากปรากฏการณ์ต่างๆ บนดวงอาทิตย์ที่ลดลงต่อเนื่องซึ่งจะกินเวลา 33 ปี ระหว่างปี 2020-2053 และจะมีผลให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป

ดวงอาทิตย์กำลังอับแสง

รายงานข่าว International Business Times เปิดเผยว่า ดวงอาทิตย์กำลังอับแสง เนื่องจากจุดดำบนดวงอาทิตย์ (sunspot) มีจำนวนลดลง ส่งผลให้ค่ารังสีจากดวงอาทิตย์ (Total Solar Radiance: TSI) ลดลงเช่นกัน

ภาพแสดงค่า TSI ที่มาภาพ
: http://www.ibtimes.com/sun-may-be-dimming-nasa-confirm-declining-luminosity-using-spacexs-payload-2629453

NASA ได้ส่งยานอวกาศ Space X เพื่อไปติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตัวใหม่ที่เรียกว่า NASA’s Total and Spectral Solar Irradiance Sensor (TSIS-1) บนสถานีอวกาศ วัดค่าความเข้มข้น TSI เพื่อการศึกษาต่อเนื่อง

รายงานข่าวอ้างอิงจากข้อมูลของเว็บไซต์ Spaceweather ของ NASA ว่า หลังจากช่วงที่ดวงอาทิตย์มีความเคลื่อนไหวหรือขยันปล่อยพลังงานออกมามากหรือเรียกว่า Solar Maximum ระหว่าง 2012 จนถึงปี 2014 นั้น ดวงอาทิตย์ได้กลับเข้าสู่ช่วงปล่อยพลังงานน้อยที่เรียกว่า Solar Minimum ซึ่งมีผลให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าลดลง 0.1%

Solar Maximum และ Solar Minimum คือ รอบหรือวัฏจักรดวงอาทิตย์ (Solar Cycle) ที่มีปรากฏการณ์การเกิดจุดดำบนดวงอาทิตย์ ซึ่งจุดบนดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและจำนวนตลอดเวลา โดยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นและลดลดสลับกันเป็นรอบๆ ในช่วงที่มีการเกิดจำนวนจุดบนดวงอาทิตย์มากที่สุดเรียกว่าช่วงสูงสุดสุริยะหรือ Solar Maximum หลังจากนั้นจำนวนจุดจะค่อยๆ ลดลงจนถึงต่ำสุด หรือมีจำนวนน้อยลง เรียกช่วงนี้ว่า Solar Minimum ซึ่งแต่ละหรือวัฏจักรกินเวลาทุกๆ 11 ปีรอบ

sunspot บนดวงอาทิตย์ ที่มาภาพ
: https://www.nasa.gov/sites/default/files/20141023_hmiic.jpg

รายงานข่าวเปิดเผยอีกว่า จากข้อมูลที่มีแสดงให้เห็นว่า ดวงอาทิตย์กำลังเข้าสู่วัฏจักร Solar Minimum โดยในปี 2017 นี้วันที่ไม่มี sunspot มีจำนวน 96 วัน หรือประมาณ 27% ขณะที่ค่า TSI ลดไปอยู่ระดับต่ำสุดของปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่ปรากฏการณ์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย อีกทั้งจำนวนวันที่ไม่มี sunspot ยังกินเวลานานถึง 260 วันจาก 365 วันของทั้งปี นับตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์เริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1978 นักวิชาการคาดว่า Solar Minimum รอบนี้จะกินเวลานานถึง 30 ปี

โลกกำลังจะเผชิญกับช่วงพีคที่ไม่มีจำนวน sunspot ในปี 2018-2020 และจากการเก็บค่า TSIนักวิทยาศาสตร์เห็นว่าจำนวนต่ำสุดของแต่ละวัฏจักร 11 ปี นั้นต่ำกว่าระดับต่ำสุดของวัฏจักรก่อนหน้าต่อเนื่อง โดยที่ระดับต่ำของปี 2009 นับว่าเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 1978 ที่เริ่มเก็บข้อมูลมา และหากว่าระดับต่ำสุดของปี 2020 ต่ำกว่าปี 2009 แล้ว นักวิทยาศาสตร์ของ NASA สรุปได้ว่าดวงอาทิตย์กำลังอับแสง

ดวงอาทิตย์ที่ไม่มี sunspot ที่มาภาพ: http://spaceweather.com/images2017/20dec17/hmi1898.gif?PHPSESSID=jtr46rrn4n595nhql6sl75scb3

เมื่อดูจากแถบรังสีของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าปีที่แล้ว การปล่อยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วง Solar Maximum ปี 2012-2014 แม้ว่ากำลังแสงสว่างของดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามวัฏจักรสุริยะ ซึ่งตัวเลข 0.1% ดูแล้วไม่น่ามากมายเท่าไร แต่พลังงานที่ดวงอาทิตย์ให้กับโลกนั้นมีมหาศาลราว 1,361 วัตต์ต่อ 1 ตารางเมตร อีกทั้ง 0.1% มากกว่าพลังงานที่โลกได้รับจากแหล่งอื่นรวมกันเสียอีก

ในปี 2013 รายงานของ NASA ระบุว่า การลดลงของแสงสว่างเพียงเล็กน้อยนี้มีผลต่อชั้นบรรยากาศชั้นบนของโลกและมีผลต่อสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคให้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่าปรากฏการณ์ในสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ลดลง รังสีคอสมิกหรือรังสีจักรวาล(Galactic Cosmic Rays:GCR) เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการก่อตัวของพายุสุริยะ เช่น การปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ (Coronal mass Ejection :CME) ที่จะพัดพารังสีคอสมิคที่กำลังจะเกิดขึ้นออกไป โดยปกติแล้วในช่วง Solar Minimum แล้ว CME จะต่ำและผลกระทบจากรังสีคอสมิคที่มีต่อโลกเพิ่มขึ้นหลายเท่า

Solar Minimum เริ่มปี 2019

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาปรากฏการณ์จุดดำบนดวงอาทิตย์มากว่า 400 ปี ซึ่งทำให้รู้ว่าวัฏจักรสุริยะ โดยเฉลี่ยแล้วกินเวลา 11 ปี ตามรายงานข่าวของ Huffingtonpost แต่ก็มีบางรอบที่กินเวลาเพียง 9 ปี และบางรอบกินเวลานานถึง 14 ปี ขณะที่จุดดำบางครั้งพบน้อยมากคือ 50 จุด แต่บางรอบกลับพบมากถึง 260 จุด และบางครั้งในรอบ Solar Minimum อาจจะใช้เวลานาน 80 เดือนกว่าจุดดำจะเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุด ขณะที่ในรอบ Solar Maximum การเพิ่มขึ้นของจุดดำใช้เวลาเพียง 40 เดือนเท่านั้น

Solar Minimum รอบล่าสุดหมดไปในปี 2008 ปัจจุบันดวงอาทิตย์อยู่ในวัฏจักรสุริยะที่ 24 ซึ่งจะครบรอบในปี 2019 รวมเวลาทั้งหมด 11 ปี อย่างไรก็ตาม Solar Minimum ในวัฏจักรที่ 24 เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2016 เพราะในเดือนกุมภาพันธ์และมิถุนายน วันที่ไม่มีจุดดำบนดวงอาทิตย์มีถึง 2 วัน อีกทั้งในปี 2017 จำนวนวันที่ไม่มีจุดดำก็เพิ่มขึ้นและจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2018 ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2019 ก็จะเริ่มเห็นจุดดำของวัฏจักรที่ 25 และยังคาดว่าจุดดำจะเพิ่มขึ้นมากสุดในปี 2024 แต่ก็ประเมินว่ามีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของจุดดำที่เกิดขึ้นในวัฏจักรที่ 24

วัฏจักรสุริยะรอบที่ 24 ที่มาภาพ: https://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/cycle22cycle23cycle24big.gif

ผลการศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าความแรงของสนามแม่เหล็กลดลงตั้งแต่ปี 2000 และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับต่ำสุดที่จะต้องมีเพื่อรักษาจุดดำบนดวงอาทิตย์ โดยรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปี 2015 ระบุว่า ในวัฏจักรที่ 25 หรือ 26 สนามแม่เหล็กอาจจะไม่แรงพอที่ก่อให้เกิดจุดดำ ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดปรากฏการณ์จุดดำ และอาจจะเข้าสู่ยุค Maunder Minimum คือยุคที่ไม่มีจุดดำ หรือแทบจะไม่มีเลย ซึ่งมีผลให้อุณหภูมิของโลกลดลงเพราะได้รับรังสีลดลงจากดวงอาทิตย์ ไปจนถึงปี 2100 แต่ก็มีรายงานบางชิ้นประเมินว่าในวัฏจักรที่ 25 จุดดำอาจจะเท่ากับหรือมากกว่าวัฏจักรที่ 24 ก็ได้

รายงานข่าวของ Huffingtonpost ยังระบุว่า สำหรับผู้ที่ชื่นชอบแสงเหนือ ช่วงปี 2022-2017 นับเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะไปเฝ้ารอชม

เว็บไซต์ Solar Terrestrial Center of Excellence รายงานว่า จากการเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดของ The Uccle Solar Equatorial Table (USET) พบว่า จุดดำของวัฏจักรที่ 25 ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2016 แต่ก็ไม่ได้หมายความวัฏจักรที่ 24 ได้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะโดยปกติระยะของวัฏจักรเหลื่อมกันได้บางครั้งนานสุดถึง 4 ปี ดังนั้น วัฏจักรที่ 24 จะค่อยๆ สิ้นสุดขณะที่วัฏจักรที่ 25 ก็เริ่มสวนขึ้นมา

Global Cooling ภาวะโลกเย็น

Principia Scientific International เผยแพร่รายงานข่าว Drop In Sunspot Activity A Warning Of Global Cooling ว่า มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ศึกษาข้อมูลย้อนหลัง พบว่าจำนวนจุดดำมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยยิ่งจุดดำมีจำนวนน้อยยิ่งสะท้อนสภาวะโลกเย็น หรือ Global Cooling

แนวโน้มการลดลงของจุดดำเห็นได้ในวัฏจักรที่ 22, 23, 24 โดยพีคสุดของจุดดำในวัฏจักรที่ 24 เกิดขึ้นในปี 2014 แต่ก็มีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของที่เกิดในปี 2012 จึงเป็นเค้าลางของ Global Cooling ไม่ใช่ Global Warming เพราะปรากฏการณ์จุดดำที่ลดลงต่ำนี้ไม่ได้เห็นมาร่วม 200 ปีแล้ว และกำลังเข้าสู่จุดต่ำสุดของวัฏจักรในปี 2019 หรือ 2020

จุดดำที่ลดลงอย่างมากทำให้คาดการณ์ว่าจะอยู่ในรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นใน Maunder Minimum หรือเรียกกันว่า “Little Ice Age” หรือ “Mini Ice Age” ที่เกิดขึ้นในปี 1645 -1715 ช่วงนั้นอากาศในยุโรปและอเมริกาเหนือหนาวจัด แม่น้ำเทมส์ แม่น้ำดานูบ แม่น้ำมอสโคว์กลายเป็นน้ำแข็ง และเป็นช่วงที่จุดดำมีน้อยมาก โดยในรอบ 30 ปีเกิดขึ้นเพียง 50 จุดเท่านั้นจากปกติแล้วช่วง 30 ปีจะเกิดจุดดำถึง 40,000-50,000 จุด

Professor Habibullo Abdussamatov นักฟิสิกส์สุริยะแห่ง Pulkovo Observatory of the Russian Academy of Sciences St. Petersburg รัสเซีย ได้คาดการณ์ไว้หลายปีก่อนถึงสิ่งโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ โดยระบุว่า ความเข้มข้นของรังสีจากดวงอาทิตย์ได้ลดลงแล้ว ขณะเดียวกับอุณหภูมิโลกจะลดลงอย่างช้าๆ ในช่วงปี 2012-2015 พร้อมเข้าสู่ความหนาวเย็นจัดในปี 2050-2060 และจะเป็นอย่างนี้ไปตลอด 50 ปี อีกทั้งย้ำว่าภาวะโลกร้อนที่โลกประสบนั้นเกิดจากความเข้มข้นของรังสีที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจากการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Professor Habibullo Abdussamatov ได้เขียนไว้ในรายงานวิจัยปี 2009 ว่า ปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกับ Maunder Minimum คืออุณหภูมิลดลง ได้เกิดขึ้นมาแล้ว 18 ครั้งในรอบ 7,500 ปี ต่อมาในปี 2013 ได้ระบุไว้ในงานวิจัยที่ปรับเพิ่มเติมว่า โลกกำลังเผชิญกับภาวะอุณหภูมิลดแบบฮวบฮาบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Little Ice Age ปี 2030

Professor Habibullo Abdussamato ยังได้เขียนไว้ในหนังสือว่า Little Ice Age ยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อสิ้นปี 2015 หลังจากผ่านพ้นช่วง Grand Maximum ของวัฏจักรสุริยะที่ 24 และคาดว่า ช่วง Grand Minimum จะเริ่มขึ้นในวัฏจักรสุริยะที่ 27 หรือราวปี 2043 และเริ่มเข้าสู่อากาศหนาวจัดของ Little Ice Age ยุคใหม่ราวปี 2060

กระแสน้ำอุ่น Gulf Stream จะทำให้เกิดความเย็นมากขึ้นในยุโรปตะวันตก ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และแคนาดา การลดลงของ TSI ที่กินเวลากึ่งศตวรรษและผลที่เกิดขึ้น คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศจากร้อนไปสู่ยุคน้ำแข็ง

ก่อนหน้านี้ในปี 2015 งานประชุมทางวิชาการ (National Astronomy Meeting) ของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ได้มีการนำเสนอข้อมูลว่า การลดลงของปรากฏการณ์ทางสุริยะอาจจะนำโลกเข้าสู่ยุค Little Ice Age ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 และ 18

Professor Valentina Zharkova จาก Northumbria University นำเสนอผลงานวิจัยต่อการประชุมว่า ปรากฏการณ์สุริยะที่ลดลงนี้จะมีผลให้อุณหภูมิโลกลดลงต่ำสุดเป็นเวลากว่า 350 ปี โดยในอีก 15 ปีข้างหน้านี้พลังงานความร้อนที่ปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์จะลดลง ซึ่งจะทำให้ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ประสบกับความหนาวเย็น

ช่วงปี 1650-1710 ซึ่งเป็นช่วง Maunder Minimum อุณหภูมิในยุโรปลดลงไปอยู่ที่ระดับติดลบ 7 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่

Professor Valentina Zharkova เชื่อว่าสภาพอากาศหนาวจัดแบบ ช่วง Maunder Minimum ได้เริ่มขึ้นแล้ว ดังจะเห็นจากธารน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นใหม่ น้ำแข็งที่เคลือบน้ำทะเล และการเกาะตัวเป็นน้ำแข็งในแม่น้ำ และทะเลสาบหลายแห่ง จึงได้เตือน

งานวิจัยยังพบว่า ปรากฏการณ์สุริยะที่ลดลงต่ำมากในปี 1645-1715 นั้น แม่น้ำเทมส์ของอังกฤษ และทะเลลบอลติกได้กลายเป็นน้ำแข็ง และยังประเมินว่าปรากฏการณ์สุริยะจะลดลงอีกราว 60% ในอีก 15 ปี ซึ่งหมายความว่าโลกจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งที่กินเวลา 33 ปี

นักวิชาการด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ของรัสเซียได้ร่วมกันนำเสนอผลการวิจัยวิธีใหม่ที่ศึกษาคลื่นแม่เหล็กในดวงอาทิตย์เป็นหลัก โดยพบว่า คลื่นแม่เหล็กเดินทางจากซีกโลกหนึ่งไปยังซีกโลกตรงข้าม จากซีกโลกใต้มาซีกโลกเหนือ และจะทำปฏิกิริยาระหว่างกัน ซึ่งก่อให้เกิดจุดดำ แต่ในวัฏจักรที่ 25 และ 26 คลื่นแม่เหล็กจะแยกตัวจากกันในแต่ละซีกโลก และแยกตัวกันชัดเจนในวัฏจักรที่ 26 ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดจุดดำจึงมีน้อยมาก และจะนำไปสู่การลดลงของปรากฏการณ์ต่างๆ ในดวงอาทิตย์ในปี 2020-2030 ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยเกิดมาก่อนในยุค Maunder minimum ที่เกิดจุดดำเพียง 50 จุดเท่านั้น

น้ำแข็งก่อตัวเร็วกว่าปกติ

แม้จะยังไปเข้าสู่ยุค Little Ice Age แต่ภาวะอากาศเย็นของโลกก็เริ่มขึ้นแล้ว เห็นจากแม่น้ำฮันที่เกาหลีใต้ที่เกาะตัวเป็นน้ำแข็งเร็วกว่าปกติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา หลังจากที่อากาศเช้าวันนั้นลดงจากระดับ 10 องศาเซลเซียสไปต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 71 ปี ซึ่งการเกาะตัวเป็นน้ำแข็งที่เร็วกว่าปกตินี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1946 จากรายงานข่าวของสำนักข่าวยอนฮับ

กรมอุตุนิยมวิทยาเกาหลีใต้ (Korea Meteorological Administration: KMA) ได้ให้ข้อมูลว่า ปีนี้แม่น้ำฮันเกาะตัวเป็นน้ำแข็งเร็วกว่าหน้าหนาวครั้งก่อนถึง 42 วัน เพราะหน้าหนาวครั้งที่แล้วแม่น้ำเกาะตัวเป็นน้ำแข็งเมื่อวันที่ 26 มกราคม และการเกาะตัวกลายเป็นน้ำแข็งของแม่น้ำในหน้าหนาวนี้ยังเร็วกว่าปกติโดยเฉลี่ยถึง 29 วัน

แม่น้ำฮัน ที่มาภาพ
: http://english.yonhapnews.co.kr/national/2017/12/15/0302000000AEN20171215002900315.html
Seoul

อุณหภูมิในเช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2017 ลดลงจาก 10 องศาเซลเซียสไปอยู่ที่ระดับติดลบ 7.5 องศาเซลเซียส และระดับสูงสุดของวันก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 0 องศา

การเฝ้าสังเกตการณ์เกาะตัวเป็นน้ำแข็งของแม่น้ำฮันเริ่มขึ้นในปี 1906 โดยการเกาะตัวเป็นน้ำแข็งที่เกิดเร็วกว่าปกติ คือวันที่ 4 ธันวาคม 1934 และการเกาะตัวที่ช้ากว่าปกติคือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1964

ทางด้านประเทศเดนมาร์ก ที่โดยปกติเดือนกรกฎาคมเป็นหน้าร้อน แต่ในปี 2017 นี้กลับไม่มีหน้าร้อน นับเป็นครั้งแรกที่เกิดสภาวะอากาศแบบนี้ในรอบ 38 ปี ทั้งนี้เป็นข้อมูลจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาของเดนมาร์ก (Danish Meteorology Institute: DMI)

ปกติแล้วหน้าร้อนของเดนมาร์ก คือวันที่อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส หรือ 77 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ในเดือนกรกฎาคมปีนี้กลับไม่มีวันไหนเลยที่อุณหภูมิสูงเท่านี้

นอกจากนี้หน้าร้อนนี้ยังเป็นปีแรกที่เจอแสงอาทิตย์น้อยที่สุดในรอบ 17 ปี และยังเป็นหน้าร้อนแรกที่มีฝนตกมากที่สุดในรอบ 6 ปี

ช่วงหน้าร้อนของเดนมาร์กตั้งแต่มิถุนายน กรกฎาคม และสิ้นสุดสิงหาคม ปีนี้เจอแสงอาทิตย์เพียง 565 ชั่วโมง ขณะที่ปี 2000 เจอแสงอาทิตย์ 540 ชั่วโมง ส่วนปีที่เจอแสงอาทิตย์ต่ำสุดคือปี 1987 ที่มีเวลาเพียง 396 ชั่วโมง ต่างจากหน้าร้อนปี 1947 ที่เจอแสงอาทิตย์ 770 ชั่วโมง

เดนมาร์กเริ่มประสบกับฝนที่ตกมากขึ้นในปี 2011 และกลายเป็นเรื่องปกติที่หน้าร้อนต้องเจอกับฝนตกนับตั้งแต่สิ้นศตวรรษที่ผ่านมา โดยหน้าร้อนปีนี้ปริมาณฝนมีมากถึง 268 มิลลิเมตร จัดว่าเป็นหน้าร้อนที่เปียกปอนด้วยสายฝนมากที่สุดนับตั้งแต่มีการวัดปริมาณฝนในปี 1874

หน้าร้อนของเดนมาร์กปีนี้มีอุณหภูมิเฉลี่ย 15.4 องศาเซลเซียส ใกล้เคียงกับปี 2015 ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 15.2 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ Solar Minimum มีผลต่ออุณหภูมิแล้วยังมีผลต่อแสงเหนือและ Aurora ในหลายพื้นที่ โดย Business Insider รายงานว่า ในช่วง Solar Minimum นั้น แสง Aurora ในหลายภูมิภาคของโลกจะมืดลง และจะยังคงอยู่ในภาวะแบบนี้ไปหลายปี ซึ่งหมายถึงว่าในส่วนอื่นของโลกที่ห่างไกลจากขั้วโลกจะมองเห็นแสงเหนือหรือ Aurora ได้ยาก และไม่ได้หมายความว่าโลกจะปราศจากแสง Aurora เสียเลยทีเดียว เพราะยังคงเดินทางไปขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้ ที่แสง Aurora ยังคงมีให้เห็นในยามค่ำคืน

Aurora ที่แคนาดา ที่มาภาพ
: https://www.nasa.gov/sites/default/files/images/626125main_iss030e097783_full.jpg

อย่างไรก็ตาม Aurora จะกลับมาให้เห็นชัดเจนและเจิดจรัสมากกว่าเดิมในรอบ Solar Maximum หน้า ราวปี 2025