ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้นำศาสนา-ผู้นำแห่งจิตวิญญาน บทบาทในโลกโซเชียล เชื่อมโลกเชื่อมความเป็นมนุษย์

ผู้นำศาสนา-ผู้นำแห่งจิตวิญญาน บทบาทในโลกโซเชียล เชื่อมโลกเชื่อมความเป็นมนุษย์

17 ธันวาคม 2017


ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/narendramodi/

ย้อนกลับไปราวสิบปีก่อน ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำทางศาสนา มักจะหลีกเลี่ยงการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการให้สาธารณชนรู้ความเคลื่อนไหว ไม่ต้องการให้เกิดการแสดงความเห็นที่ขัดแย้ง รวมทั้งรักษาสถานะความเป็นผู้นำให้มีความน่าเชื่อถือ แต่ปัจจุบันผู้นำเหล่านี้ที่ได้ก้าวสู่โลกโซเชียลมีเดีย กลับได้แรงสนับสนุนจากโซเชียลมีเดียให้คงสถานะผู้นำ เพิ่มความน่าเชื่อถือ เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน จนกลายเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลทางความคิด ที่มีผู้ให้ความสนใจติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวหลายสิบล้านคนทั่วโลก เพราะโซเชียลมีเดียสามารถเข้าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ เข้าถึงคนได้อย่างกว้างขวาง

ในเวทีการเมืองโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที จากอินเดีย จัดว่าเป็นผู้นำที่ติดอันดับต้นๆ ที่มีประชากรทั่วโลกให้ความสนใจติดตามข่าวความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง และเมื่อหันมาใช้โซเชียลมีเดียก็กลายเป็นผู้นำโลกที่มีคนติดตามความเคลื่อนไหวจนติดอันดับต้นๆ ผ่านโซเชียลมีเดียเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ยืนยันได้จากคำพูดของประธานาธิบดีทรัมป์เองระหว่างการประชุมหารือแบบทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีอินเดียที่ทำเนียบขาวที่กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจที่จะประกาศให้สื่อ พลเมืองอเมริกา และพลเมืองอินเดีย รู้ว่านายกรัฐมนตรีโมทีและตัวเขาเป็นผู้นำโลกในโซเชียลมีเดีย พร้อมอ้างอิงจำนวนผู้ติดตามนับหลายล้านคน

ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า การใช้โซเชียลมีเดียยังช่วยให้ทั้งตัวเขาและนายกรัฐมนตรีอินเดียได้รับรู้ความต้องการจากพลเมืองของตัวเองโดยตรง

ประธานาธิบดีทรัมป์และนายกรัฐมนตรีโมที มีผู้ติดตาม (Follower) จำนวนมากทั้งทวิตเตอร์ (Twitter) และเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยประธานาธิบดีทรัมป์มีผู้ติดตาม Twitter ในชื่อ @realDonaldTrump จำนวน 32.8 ล้านคน ขณะที่นายกรัฐมนตรีโมทีที่มีชื่อบัญชีว่า @narendramodi มีผู้ติดตาม 31 ล้านคน ส่วนใน Facebook นายกรัฐมนตรีโมทีกลับนำหน้าประธานาธิบดีทรัมป์ ด้วยจำนวนผู้ติดตาม 41.8 ล้านคน ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์มีผู้ติดตาม 23.6 ล้านคน

โป๊ปฟรังซิสติดท็อปทรี

ผู้นำทางศาสนาที่เป็นผู้นำในการใช้โซเชียลมีเดียของโลกคือ พระสันตะปาปาองค์ที่ 266 หรือพระสันตะปาปาฟรังซิส หรือโป๊ปฟรังซิส (Pope Francis) โดยวิทยุวาติกัน หรือ Vatican Radio รายงานว่า แอกเคาต์ Twitter ของโป๊ปฟรังซิสที่ใช้ชื่อว่า PopeFrancis@pontifex มีผู้ติดตามจำนวน 40 ล้านคนใน 9 ภาษาด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่มีต่อโป๊ปฟรังซิสจากทั้งคนทั่วไป คริสตศาสนชน คนในศาสนาอื่น รวมทั้งผู้นำทางการเมือง

Twitter เป็นช่องทางที่โป๊ปฟรังซิสใช้ติดต่อกับผู้คนทั่วโลกด้วยตัวเอง และเพราะแสดงให้เห็นว่าโป๊ปฟรังซิสสืบสานเจตนารมณ์พระสันตปาปาองค์ก่อนที่ต้องการเป็นคริสตศาสนชนคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในโลกดิจิทัลผ่านโซเชียลมีเดีย

พระคุณเจ้า Dario Edoardo Viganò ที่ประสานงานการใช้ Twitter และ Instagram ของโป๊ปฟรังซิสให้ความเห็นว่า โป๊ปฟรังซิสให้ความสำคัญกับ Social Profile อย่างมาก โดยตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังก่อนที่จะทวีตข้อความอะไรออกไปเพราะใส่ใจต่อความสัมพันธ์ โดยโป๊ปฟรังซิสมักจะแทนตัวเองด้วยคำว่า grandfather ที่ตามหลังเทคโนโนโลยี แต่ก็เข้าใจดีว่าในโลกใบนี้ยังมีโลกแห่งโซเชียลมีเดียที่ประกอบไปด้วยผู้คน

โป๊ปฟรังซิสจัดได้ว่าแบบอย่างของการใช้โซเชียลมีเดียและใช้อินเทอร์เน็ตในฐานะเป็น “เครือข่ายการเชื่อมคนไม่ใช่การเชื่อมสาย” ดังที่เขียนไว้ในข้อความที่ส่งออกไปในวัน World Day of Social Communications

ข้อความที่โป๊ปฟรังซิสสื่อส่ารผ่านแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีหลากหลาย บางครั้งยกมาจากคัมภีร์ไบเบิล บางครั้งสะท้อนการคำสอนของพระเจ้า รวมไปถึงแนวคิดทางจิตวิญญานต่าง เช่น I encourage all of you to live the joy of your mission by witnessing to the Gospel wherever you are called to live and work” ซึ่งได้ทวีตไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้านั้นได้ทวีตขอบคุณ Follower ในโอกาสครอบ 5 ปีของการใช้Twitter เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ว่า “Thank you for following @Pontifex which turns five years old today. May social media always be spaces that are rich in humanity!”

ทวีตขอบคุณผู้ติดตามในโอกาสครบ 5 ปี ที่มาภาพ
: Pope Francis@Pontifex

Twitter ของโป๊ปฟรังซิสเดิมเป็นแอกเคาต์ของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เปิดใช้ในปี 2012 โดยมีชื่อปรากฏว่า Benedicto XVI@Pontifex ต่อมาโป๊ปฟรังซิสได้ใช้ต่อแต่เป็น Pope Francis@Pontifex

นอกเหนือจาก Twitter แล้วโป๊ปฟรังซิสยังใช้ Instagram เป็นเครื่องมือในการติดต่อกับผู้คนอีกด้วย ในชื่อ @Franciscus โดยมีผู้ติดตาม Instagramถึง 5 ล้านคน นับจากเปิดตัวในปี 2015 จาก รายงานของ National Catholic Reporter โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ the Vatican Secretariat for Communication ซึ่ง Followers ในInstagram มีอายุช่วง 25-34 ปีมาจากสหรัฐอเมริกาและบราซิลเป็นส่วนใหญ่

Instagram ของ โป๊ปฟรังซิส ที่มาภาพ
: https://www.instagram.com/franciscus/?hl=en

สำนักข่าว CBS รายงานว่า แม้ในแถลงการณ์ของโป๊บฟรังซิสจะยอมรับว่า อินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสอย่างมหาศาลทั้งในการเผชิญหน้ากันหรือการสร้างความเป็นปึกแผ่นและมีข้อดี เป็นของขวัญจากพระเจ้า และเป็นผู้ใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร แต่โป๊ปฟรังซิสก็ไม่ยอมใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการสื่อสาร

ผู้บริหารเฟซบุ๊กได้เคยเข้าคารวะโป๊ปฟรังซิสและขอให้ใช้เฟซบุ๊ก แต่วาติกันก็ปฏิเสธเพราะมีโอกาสที่จะมีการแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสมขึ้นได้

สำหรับผู้สนใจโป๊ปฟรังซิสยังสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลความเคลื่อนไหวได้ผ่านแอปพลิเคชัน คือ The Pope App ที่พัฒนาและเปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2013 ทั้ง android และ iOS ได้ฟรี โดยมีการอัปเดตไปล่าสุดในปี 2016 ซึ่งมีให้ดาวน์โหลดถึง 5 ภาษา คือ English, Dutch, French, German, Italian

The Pope app เป็นช่องทางที่สะดวกในการติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวทุกรูปแบบของโป๊ปฟรังซิส มีทั้งคำกล่าวในวาระงานสำคัญ รูปภาพ วีดีโอ กำหนดการ ข่าวสารทุกอย่างจากวาติกัน รวมไปถึงไลฟ์สดผ่านเว็บสตรีมมิง

The Pope App

แม้จะมี The Pope app แต่โป๊ปฟรังซิสบอกว่า ความสุขนั้นดาวน์โหลดไม่ได้ และไม่สามารถดาวน์โหลดลงสมาร์ทโฟนได้เหมือนกับแอป แม้แต่การอัปเดตล่าสุดก็ไม่สามารถนำมาซึ่งอิสรภาพและความรักที่ยิ่งใหญ่ได้ ทั้งนี้ เป็นคำพูดที่โป๊ปฟรังซิสกล่าวกับเหล่าเยาวชนที่เข้าเยี่ยมชมนครวาติกันในปี 2016

รายงานข่าว NCR อ้างข้อมูลของ Twiplomacy.com ซึ่งจัดอันดับผู้นำโลกที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียลเปิดเผยว่า โป๊ปฟรังซิสตามหลังประธานาธิบดีทรัมป์ในแง่จำนวนผู้ติดตาม โดยมีจำนวนน้อยกว่าเพียง 200,000 คนเท่านั้น แต่ก็ติดอันดับสามของโลกที่เป็นผู้นำที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดีย เพราะทุกครั้งที่ทวีตไปจะมีการรีทวีตเฉลี่ยประมาณ 41,000 ครั้ง

โป๊ปฟรังซิสยังรุกเข้าดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อ Missio ซึ่งเป็นคำในภาษาลาตินมีความหมายเดียวกับ Mission เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านฟีเจอร์ GoFundme หรือบริจาคเงินผ่านฟีเจอร์ GiveDirectly ช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือสนับสนุนโบสถ์คาทอลิกในแอฟริกาและเอเชีย Missio เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการกุศลหรือ charity app

ทะไลลามะ เปิดตัวแอป

สมเด็จพระเทน ซิน เกียตโซ องค์ทะไลลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณสูงสุดองค์ที่ 14 ของชาวทิเบต วัย 82 ปีเป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแนวคิด คำสอน ความเคลื่อนไหวผ่านหลายช่องทางทั้ง Twitter, Facebook, Instagram

ล่าสุดวันที่ 12 ธันวาคม เว็บไซต์ทางการขององค์ทะไลลามะรายงานข่าวว่า ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน Dalai Lama app ให้ดาวน์โหลดฟรีบนระบบ iOS เพื่อเป็นช่องทางรับทราบ ข่าวสาร คำสอน แนวคิด ความเคลื่อนไหว การเดินทาง ทั้งในรูปแบบภาพ วิดีโอ และไลฟ์สดผ่านวิดีโอสตรีม

Dalai Lama app

ฟีเจอร์ของ Dalai Lama app ครอบคลุมทั้งข่าวสาร กำหนดการเดินทาง กิจกรรมขององค์ทะไลลามะ รูปภาพต่างๆ วิดีโอ ไลฟ์สด ชีวิตความเคลื่อนไหว คำสอนต่างๆ

รายงานข่าว Thedailymail เปิดเผยว่า Dalai Lama app ถูกบล็อกไม่ให้ดาวน์โหลดใน Apple’s China store ซึ่งหมายถึงว่าชาวทิเบตส่วนใหญ่จะไม่สามารถดาวน์โหลด app นี้ได้

องค์ทะไลลามะได้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการสื่อสารแนวคิด คำสอนต่างๆ มาหลายปี ทั้งช่องทาง Facebook, twitter, instagram โดยเริ่มใช้ Twitter ในปี 2010 ในชื่อ @DalaiLama ปัจจุบันมีผู้ติดตาม 16.6 ล้านคน

ทวีตของ Dalai Lama

นอกจากนี้ยังสื่อสารผ่าน Facebook ในชื่อ Dalai Lama ทั้งในรูป วิดีโอ ภาพนิ่ง แนวคิด กิจกรรมต่าง รวมไปถึงข้อความที่ทวีต ซึ่งขณะนี้มีผู้กดไลค์ 13,851,555 คน มีผู้ติดตาม 13,522,858 คน และในปี 2014 ได้เพิ่ม Instagram อีกช่องทางหนึ่ง ปัจจุบันมีผู้ติดตาม 931,000 คน

Dalai Lama Facebook

ในปีเดียวกันนั้น องค์ทะไลลามะได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ก็ขอเตือนว่าอย่าให้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ชี้นำชีวิต โดยหากไม่มีเทคโนโลยี มนุษย์เราก็ไม่มีอนาคต แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสเทคโนโลยี จนสูญเสียความรู้สึกของมนุษย์ไป