เปิดฉากสามวันแรก (13-15 พ.ย.)ด้วยยอดประชาชน 47,460 คน ที่ให้ความสนใจตอบ 6 ตำถาม ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์รุนแรงถึงเบื้องหลังคำถามชุดนี้
กลุ่มการเมืองมองไปทางเดียวกันว่านี่เป็นสัญญาณการเปิดหน้าก้าวสู่ถนนการเมือง ของพล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ผ่านกลไกการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2561
ชัดเจนจากคำถาม ข้อที่ 1 ว่า จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่
และ 2. การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ของคสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้ว
จังหวะเดียวกับที่มีกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมือง “พรรคพลังชาติไทย” ที่ถูกมองว่าเป็นนอมนีของ คสช. และพบการออกตัวเคลื่อนไหวในหลายพื้นที่แล้ว
แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะออกมาปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวข้องกับกับพรรคพลังชาติไทย แต่ก็เปิดช่องระบุว่าหากจำเป็นต้องตั้งพรรคก็ต้องตั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่จำเป็น
ชวนให้นึกถึงท่าทีของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ที่เคยระบุก่อนหน้านี้ว่าหากจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง
ทั้งหมดยิ่งทำให้ข้อกังขาเรื่อง “สืบทอดอำนาจ” และ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ชัดเจนมากขึ้น
นำมาสู่ท่าทีของพรรคการเมืองที่ออกมาเรียกร้อง ให้ คสช. เปิดหน้าลงสนามการเมืองแบบไม่เอาเปรียบคู่แข่ง ในวันที่ คสช.ยังไม่ยอมปลดล็อคให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจะมีผลบังคับใช้เรียบร้อย
ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า การที่คสช.จะประกาศว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งมาตรา 29 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
รวมทั้ง มาตรา 56 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆเพื่อเป็นการให้คุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
“ไม่ได้มีเจตนาทางการเมือง ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับนักการเมือง แค่หวังสร้างหลักคิดให้กับประชาชน ได้เลือกพรรคการเมืองที่ดี นักการเมืองที่ดี” พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจง
4 คำถาม กับข้อครหา “ยื้อเลือกตั้ง”
ทว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับการใช้ “คำถาม” เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ก่อนหน้านี้ 26 พ.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ เคยงัดชุดคำถาม 4 ข้อ ว่า 1. ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่2. หากไม่ได้ จะทำอย่างไร
3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง
และ4. ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร
จากการเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 12-23 มิ.ย. มีผู้มาแสดงความเห็นทั้งสิ้น 220,804 คน จังหวัดที่มีผู้แสดงความคิดเห็นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี 27,843 คน ขอนแก่น 20,658 คน และสกลนคร 16,658 คน
ส่วนรายละเอียดถูกส่งต่อไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งยังไม่มีการเปิดเผย และอาจไม่มีใครสนใจรายละเอียดเท่าไหร่นัก
เมื่อคำถามชุดนี้ถูกมองว่าเป็นการ “โยนหินถามทาง” เช็คทิศทางลมว่าประชาชนคิดอย่างไรหากการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไปจากโรดแม็ป
สถานการณ์ขณะนั้นเกิดความอึมครึมเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ออกมาแสดงความชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่แน่ มีเพียงแค่บอกว่าทุกอย่างจะเดินไปตามโรดแม็ป
ชุดคำถามนี้จึงยิ่งทำให้พรรคการเมืองวิตกว่าจะเป็นเพียงแค่การหวังอาศัยเสียงสะท้อนจากประชาชนเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
คำถามพ่วง ปูทาง นายกฯ คนนอก
แต่ “คำถาม” ที่ดูจะส่งผลต่อทิศทางการเมืองอย่างชัดเจนที่สุด หนีไม่พ้น คำถามพ่วงที่ใช้ประกอบการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559
ที่มาของคำถามนี้มีจุดเร่ิมต้นจากสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ที่ส่งต่อมายัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนจะมีมติเอกฉันท์ 152 เสียงเห็นด้วยกับการให้ตั้งคำถามเพื่อประกอบการทำประชามติ โดยมีเนื้อหา
“เห็นด้วยหรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรก ตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบบุคคลสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ”
ประเด็นนี้ถูกถล่มอย่างรุนแรงว่าอาจเป็นการเปิดประตูให้กับ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ซึ่งมีที่มาจาก คสช. ได้
ประการแรก เดิมในการเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องใช้เสียงเฉพาะ สส. ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายกับการรวมเสียงข้างมากเลือกนายกฯ โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งใหม่ ที่มองว่าจะทำให้ลักษณะพรรคการเมืองเบี้ยหัวแตกได้ไง่าย
ประการที่สอง ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ สว. ชุดแรก 250 เสียง มาจาก การคัดเลือกของ คสช. ดังนั้น จึงถือเป็นแต้มต่อสำคัญที่เมื่อรวมกับ สส.ไม่เท่าไหร่ก็สามารถกุมเสียงข้างมากเกิน 376 จากเสียงสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 เสียง
แต่ก่อนหน้านั้นหลายคนเชื่อว่าคำถามพ่วงไม่น่าจะผ่านประชามติ แต่สุดท้ายผลการลงประชามติออกมา 58.07% เห็นด้วยกับคำถามพ่วง ทิ้งห่าง 41.93 % ที่ไม่เห็นด้วย
กลายเป็น “ตัวแปร” ที่จะมีบทบาทกำหนดทิศทางการเมืองในอนาคตอย่างมีนัยยะสำคัญ
โจทย์ 50 ข้อ ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมปฏิรูปประเทศอย่างยั่งยืน
ไม่เพียงแค่ “คำถาม” ก่อนหน้้านี้ ในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2560 พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งโจทย์ 50 ข้อชวนทุกฝ่ายร่วมคิด สร้างประวัติศาสตร์ปฏิรูปประเทศ อย่างยั่งยืน
“วันนี้ผมจะฝากให้คิดตาม ไม่ใช่คำถาม ไม่ต้องการคำตอบ ในอีก 50 ประเด็น เพื่อจะได้เข้าใจว่า รัฐบาลและคสช.มองปัญหาของประเทศ สำหรับตั้งเป็นโจทย์ในการทำงานขับเคลื่อนประเทศ ปฏิรูปประเทศในปัจจุบันนี้อย่างไรและถ้าท่านมีโอกาสเป็นรัฐบาล หรือมีโอกาสบอกตนในเวลานี้ท่านคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายต่างๆก็มีหลายเรื่องด้วยกัน 50 เรื่อง วันนี้ยกมาแค่ 50 ข้อ”
อาทิ อาทิ 1.การพัฒนาประเทศ ทำอย่างไรให้เจริญเติบโต อย่างยั่งยืน
4.การกระจายรายได้และความเจริญ ลงไปสู่พื้นที่ ทุกระดับ อย่างทั่วถึง บางพื้นที่ยังเหลื่อมล้ำอยู่ ถนนหนทางก็ยังไม่เท่าเขา แล้ววันนี้ทุกคนก็อยากจะให้เท่ากัน เป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องทำทุกอย่างให้เท่าก่อน หลังจากเท่ากันแล้วก็จะขยายขึ้นมาให้มากขึ้น
5. การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ – รัฐวิสาหกิจ จะต้องคุ้มค่าโปร่งใส มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
23.การทำให้เด็กและเยาวชนของชาติ เจริญเติบโตบนพื้นฐานของการมี “ความรู้คู่คุณธรรม” ในการที่จะเป็น “พลเมือง” ที่ดีของประเทศ ในอนาคต
32.การแก้ปัญหาที่หมักหมมยาวนาน คู่ชุมชนเมืองและกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนแออัดและการจราจรติดขัด เหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ
45.การทำให้ประเทศไทย CLMV อาเซียนเข้มแข็งไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในลักษณะเป็น”หุ้นส่วนยุทธศาสตร์”
50.การทำให้คนไทยยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยตลอดไป ไม่เสื่อมคลาย เพื่อจะเป็น “หลักชัย” ของประเทศ
ทั้งหมด ดูจะสอดรับไปกับ กลไกสำคัญอย่าง คณะกรรมการปฏิรูป และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งขึ้นมารับไม้ต่อและเดินหน้าทำงานไปต่อไปหลังเลือกตั้ง
เมื่อร้อยเรียงจากคำถามที่ผ่านมาทั้งหมดของพล.อ.ประยุทธ์ ตลอดจนแม่น้ำสายต่างๆ ที่ทำงานสอดรับกันอย่างเป็นระบบ ล้วนแต่สะท้อนว่าคำถามเหล่านี้อาจไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบ
หลายคำถามมีคำตอบอยู่ในใจ หลายคำถามเป็นการถามนำหวัง โน้มน้าวให้ผู้ฟังคล้อยตาม จนยากจะตอบเป็นอื่นได้
ยิ่งหากนำชุดคำถามเหล่านี้มาเรียงร้อย จะกลายเป็น “จิ๊กซอว์” ที่เชื่อมต่อจนเห็นภาพใหญ่
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการ “สืบทอดอำนาจ” ที่แว่วดังขึ้นเรื่อยๆ