ThaiPublica > เกาะกระแส > “มิวเซียมสยาม” จัดนิทรรศการถาวรชุดใหม่ “ถอดรหัสไทย”

“มิวเซียมสยาม” จัดนิทรรศการถาวรชุดใหม่ “ถอดรหัสไทย”

24 พฤศจิกายน 2017


ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้ารายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เข้าชมบางส่วนของนิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรชุดใหม่ที่ “มิวเซียมสยาม” หรือ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ภูมิใจนำเสนอ หลังจากใช้เวลากว่า 1 ปี สำหรับการจัดสร้าง ก่อนจะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 นี้

ในวันนั้น เรามีโอกาสได้เข้าชม 6 ห้อง จากทั้งหมด 14 ห้องจัดแสดง ซึ่งได้สัมผัสถึงบรรยากาศที่น่าตื่นตา ตื่นใจ เพราะเป็นการจัดแสดงนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราว “ความเป็นไทย” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านวัตถุจัดแสดง และรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่ ไม่น่าเบื่อ เต็มไปด้วยแสง สี เสียง จนอาจนึกว่าได้เข้ามาดูโชว์ดีๆสักหนึ่งโชว์

ตัวอย่างห้องนิทรรศการ ไทยตั้งแต่เกิด
ตัวอย่างห้องนิทรรศการ ไทยรึเปล่า

ห้องไฮไลท์ที่น่าดู คือ ห้อง “ไทยตั้งแต่เกิด” ซึ่งออกแบบและนำเสนอความเป็นไทยแต่ละยุคสมัย ผ่านระบบแสง สี เสียง ที่ทันสมัย จากเทคโนโลยี “โมดูลไฮดรอลิก” เทคโนโลยีที่นำระบบไฮดรอลิกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดง ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในพิพิธภัณฑ์ประเทศไทย

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ห้อง “ไทยรึเปล่า?” เป็นที่รวมของคำถามและข้อถกเถียงเรื่องความเป็นไทยตั้งแต่อาหาร การแต่งกาย การแสดง และอื่นๆอีกมากมาย แม้กระทั่งปรากฏการณ์ละครหลังข่าว ที่จะชวนให้คิด วิเคราะห์ และตั้งคำถามว่า ไทยรึเปล่า?

อีกมุมหนึ่งคือ ห้อง “ไทยแปลไทย” ห้องที่เต็มไปด้วยลิ้นชักไม้จำนวนมาก ซึ่งภายในแอบซ่อนเรื่องราวความเป็นไทยแต่ละยุคสมัยต่างๆเอาไว้มากมาย รอให้ผู้ชมมาเปิดลิ้นชักหาคำตอบ ซึ่งได้ทั้งสาระความรู้และความสนุกสนาน ไปพร้อมๆกัน

“ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายมิวเซียวสยาม กล่าวว่า นิทรรศการถอดรหัสไทย จะพาทุกคนไปถอดองค์ความรู้ความเป็นไทย ที่รวบรวมทุกมิติของความเป็นไทยทั้งประเทศ ถ่ายทอดผ่านเรื่องราว วัตถุจัดแสดง และรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่ ให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีตได้

สำหรับไฮไลท์ตัวอย่างห้องนิทรรศการ อาทิ ห้องครัวมีชีวิตผ่านเทคโนโลยีคิวอาร์สแกน พร้อมโมชันกราฟิก สื่อพิพิธภัณฑ์เลเซอร์คัทสามมิติที่จะทำให้เข้าใจวิวัฒนาการเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และซูเปอร์ไฮไลท์เทคโนโลยีโมดูลไฮดรอลิกที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไทยผ่านประวัติศาสตร์สังคม ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับประชาชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน

ซองทิพย์ ยังเล่าว่า นิทรรศการถอดรหัสไทย มีความต่อเนื่องมาจากนิทรรศการเรียงความประเทศไทย ที่จัดแสดงมายาวนานก่อนหน้านี้ แต่บางอย่างเริ่มเก่าไปแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาหลักกับนิทรรศการที่ไม่มีวัตถุโบราณ เพราะมิวเซียมสยามไม่มีอะไรที่เป็นวัตถุโบราณ แต่เป็นเอ็กซิบิชั่นบอร์ด เป็นของจัดแสดง

ดังนั้น นี่คือปัญหาหลักของคนที่ทำนิทรรศการ ว่ามันมีการเสื่อมของอายุ แล้วนิทรรศการเรียงความประเทศไทยทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว เทคโนโลยีบางอย่างมันเสื่อมลง และหาแทนไม่ได้

อย่างไรก็ตามในแง่เนื้อหา คนยังสนใจอยู่มาก และยังมีคนที่พลาดโอกาสมาชมอีกไม่น้อย แต่อยู่ดีๆเราจะเลิกทำเนื้อหาที่เล่า “รากเหง้าความเป็นไทย” ไปเลยก็รู้สึกเสียดาย แต่หากจะทำเนื้อหาแบบเดิม ก็รู้สึกไม่ยุติธรรมกับคนที่จะมาดู ว่าคนที่เคยมาดูแล้ว ก็จะมาอ่านเนื้อหาเดิมๆ

“ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายมิวเซียวสยาม

ดังนั้นเราจึงคิดโจทย์ใหม่ แต่อยู่ภายใต้พื้นฐานเดิม ว่าเราทำเรื่องเรียงความประเทศไทยนั่นแหละ แต่ว่าให้มันเข้มข้นขึ้น ของเดิมเราทำเรื่องรากเหง้าความเป็นไทยว่าคนไทยมาจากไหน เชื้อชาติคนไทยทุกวันนี้ หน้าตาแบบนี้ ไม่ไทยหรอก หมวยมากกว่า จริงหรือเปล่า แล้วหน้าแบบไหนที่เรียกว่าไทย

หรือว่าในเรื่องอาหารไทย กินแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นอาหารไทยแท้ ส่วนผสมมันต้องเป็นยังไง วิธีการปรุงเป็นแบบไหน หรือตัวอักษรไทย คำพูดที่เราพูดกันทุกวันนี้ มันไทยหรือเปล่า แล้วอะไรเป็นตัวบอก อะไรเป็นมาตรฐาน

เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เราเอามาใช้ในเรียงความประเทศไทย แต่เราเปลี่ยนชื่อเป็น “ถอดรหัสไทย” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่คนมาดูจะรู้จักตัวเอง แต่ไม่ได้ดูเพื่อจะไปตัดสินว่าอันไหนถูกหรือผิด อันไหนเป็นไทยหรือไม่ไทย

นิทรรศการที่เราจะได้เห็น เข้าไปแล้วเราจะรู้สึกว่า เออ อันนี้ฉันใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ คือเอาสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรื่องของอาหารการกิน เรื่องของความเชื่อ การแต่งกายที่เห็นปัจจุบัน ที่เราใส่อยู่ทุกวันนี้เลย แล้วก็จะถอดรหัสออกมาว่า สิ่งที่เราใส่อยู่แบบนี้ ทำไมเราถึงเสื้อผ้าแบบนี้ล่ะ แล้วมันเป็นไทยแบบไหน

“เพราะฉะนั้น นิทรรศการถอดรหัสไทย คือนิทรรศการที่เล่าเรื่องของตัวเราเอง ณ ปัจจุบันในการใช้ชีวิต ว่าทำไมเราถึงใช้ชีวิตอย่างนี้ แล้วมันเชื่อมโยงจากอดีตที่ผ่านมาอย่างไร”

ยกตัวอย่างเช่น จะไปเดิมชม “ท่าเตียน” ซึ่งหากย้อนกลับไปตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ก็จะเจอว่าแถวท่าเตียนจะเป็นเหมือนสยามเซ็นเตอร์ จะเป็นที่รวบรวมเป็นที่เกิดอะไรใหม่ๆ

คือสมัยโบราณ ถ้าอะไรที่ชิคมากๆ ใหม่มากๆ ต้องมาจากในวัง วังหลวงคือที่ไหน ก็คือตรงวัดพระแก้ว ออกมาจากตรงนั้นก่อน พอออกมาจากตรงนั้น ใกล้ๆแถวนั้นก็จะมีตลาดที่คนจะมากันคือตลาดท้ายวัง ตลาดท่าเตียน ซึ่งตลาดท่าเตียนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย

ตรงนั้นเป็นแหล่งการค้า ที่มีพ่อค้าแม่ค้า เอาของจากเรือมาลง ก็เกิดการค้า แต่การเกิดการค้า เราไม่ได้ขายของกันอย่างเดียว เวลาพ่อค้าแม่ค้ามา ก็จะเห็นเสื้อผ้าสวยๆ หรือเรื่องการนับถือศาสนาต่างๆ

ดังนั้น ท่าเตียนไม่ได้มีเรื่องการค้าอย่างเดียว การค้าเข้ามาเป็นอันดับแรก แต่มีการนำเรื่องการนำวัฒนธรรมอย่างอื่นเข้ามาด้วย ดังนั้นการเดินไปดูท่าเตียนในวันนี้ จะเห็นการค้าดั้งเดิมที่มีกลิ่นอายอยู่จนถึงปัจจุบัน สัมผัสถึงความเชื่อที่ติดมากับบรรดาพ่อค้าต่างๆ ที่เคยมีอยู่ และมีอยู่ปัจจุบัน

หรืออีกอันหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ก็คือ “วัดโพธิ์” (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) ทำไมวัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็นแบบนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร และหลักฐานที่มีอยู่คืออะไร และจากหลักฐานที่มีอยู่จนกระทั่งมาเป็นปัจจุบัน มันเป็นอะไร

ที่เล่าทั้งหมดนี้ มันยึดโยงกับนิทรรศการถอดรหัสไทย เพราะถอดรหัสไทย เราเล่าตั้งแต่รากเหง้าของมัน จนกระทั่งมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งท่าเตียนเป็นแค่กรุ๊ปปิ้งหนึ่ง แต่นิทรรศการถอดรหัสไทยทั้งหมด เราจะเห็นทั้งหมดของประเทศไทยที่เราเป็นอยู่ เราคิด เราเห็นแบบนี้ เราใช้ชีวิตอย่างนี้ เราเป็นอยู่แบบนี้ เราพูดกันแบบนี้ เป็นเพราะอะไร

ซองทิพย์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดสร้างนิทรรศการให้มีความสมบูรณ์ของเนื้อหาอย่างเต็มที่ ก่อนจะแกรนด์โอเพนนิ่งในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2560

ตัวอย่างห้องนิทรรศการ ไทยชิม
ตัวอย่างห้องนิทรรศการ ไทยวิทยา

ทั้งนี้ นิทรรศการถอดรหัสไทย มีทั้งหมดมี 14 ห้อง โดยแต่ละห้องมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป มีวิธีการเล่าและเทคนิคการนำเสนอที่ต่างกันทั้งหมด

ซองทิพย์ บอกว่า “..เหมือนเราเข้าห้องสวนสนุก แต่ละห้องเป็นห้องที่ไม่ใช่ไปยืนเฉยๆแล้วอ่าน มันจะต้องเอาตัวเองเข้าไปเล่นกับนิทรรศการ มันถึงจะเข้าใจ”

และในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ จะได้เห็นนิทรรศการทั้งหมดเต็มรูปแบบ100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริงๆแล้ว เราพยายามใช้เทคโนโลยีให้น้อย เพราะมีประสบการณ์แล้วว่า จากที่ใช้เทคโนโลยีมาก พอมันเสื่อมหรือตกยุก มันค่อนซ่อมลำบาก

แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีเลย เช่น มีห้องหนึ่งที่เราใช้ระบบไฮดรอลิกเยอะมากๆ ซึ่งคิดว่าเป็นห้องที่ไม่น่าจะมีนิทรรศการที่แห่งไหนในประเทศไทย ที่ใช้ระบบไฮดรอลิกเยอะขนาดนี้ มีความสวยงาม เหมือนได้ดูโชว์หนึ่งโชว์

นี่คือ “ถอดรหัสไทย” นิทรรศการถาวรชุดใหม่ของมิวเซียมสยาม ซึ่งยังมีมุมที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่คุณต้องมาดูด้วยตาตัวเอง