ThaiPublica > คอลัมน์ > บุคลิกภาพท้าทายนโยบายรัฐ

บุคลิกภาพท้าทายนโยบายรัฐ

14 กันยายน 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

เราสังเกตเห็นกันมานานว่าคนขัดสนมักใช้เงินไปมากในเรื่องไม่เป็นเรื่องโดยเชื่อว่าเป็นการเพิ่มสถานะในสังคม เช่น แขวนพระบนสร้อยคอทองคำเส้นใหญ่ ใส่แหวนทองคำหรู ขี่บิ๊กไบค์ กินอยู่ไปทางโก้หรู และเราก็เห็นอีกเช่นกันว่าบางคนในฐานะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น อะไรคือตัวอธิบายข้อแตกต่าง และเมื่อฐานะเขาดีขึ้นเขายังใช้จ่ายแบบเดิมหรือไม่ คำตอบเหล่านี้จะช่วยให้นโยบายเศรษฐกิจในการช่วยเหลือคนขาดแคลนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองคิดดูง่ายๆ ว่าถ้าช่วยเหลือด้วยวิธีเดียวกัน คือ ให้เงินสดแก่คนทั้งสองกลุ่มเหมือนกันจะเกิดผลอย่างใดขึ้น

บทความในนิตยสาร Psychological Science เมื่อเร็วๆ นี้ของ Dr.Blaine Landis และ Dr.Joe Gladstone แห่ง University College มาจากการศึกษาข้อมูลของเจ้าของบัญชีธนาคารในอังกฤษ 700 คน ในปี 2014 โดยดูว่าแต่ละคนใช้จ่ายซื้อสิ่งใดบ้างโดยแยกออกเป็นสินค้าชนิดเพิ่มสถานะในสังคม (ของแบรนด์เนม ท่องเที่ยวต่างประเทศ เครื่องไฟฟ้า เครื่องประดับ) และสินค้าชนิดตรงกันข้าม เช่น ซื้อของลดราคา สินค้าในชีวิตตามปกติ จากนั้นก็นำข้อมูลเหล่านี้มาหาสหสัมพันธ์กับรายได้และประเภทของบุคลิกภาพ คือ extroverts (คนชอบแสดงความรู้สึก) กับ introverts (คนเก็บความรู้สึกไม่แสดงออก)

สิ่งที่พบนั้นยืนยันความสงสัยที่มีอยู่แล้วและให้ภาพที่ชัดขึ้น กล่าวคือ คนที่มีฐานะไม่ดี หากเป็นคน extroverts จะใช้สัดส่วนของรายจ่ายไปในเรื่องการเพิ่มสถานะสูงกว่าคน introverts แต่สำหรับคนฐานะดีแล้วทั้ง extroverts และ introverts ใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าวไม่แตกต่างกันมากนัก โดย extroverts ก็ยังเป็นคนใช้จ่ายมากกว่าอยู่ดี

extroverts กับ introverts มีลักษณะนิสัยใจคออย่างไรจึงทำให้เกิดการใช้จ่ายในเรื่องการเพิ่มสถานะแตกต่างกันไม่ว่าในระดับรายได้ใด

extroverts หมายถึงคนที่มีลักษณะสำคัญอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้

    (ก) สนุกสนานกับการพูดคุยกับเพื่อน สมาชิกในครอบครัว ฯลฯ กล้าที่จะเป็นคนเริ่มการพูดจากับคนแปลกหน้า ชอบมีเพื่อนใหม่ๆ และเรียนรู้ชีวิตของเขา ใช้การพูดเป็นเครื่องมือในการจัดระบบความคิดและไอเดีย นอกจากนี้มักมีเพื่อนกว้างขวาง อีกทั้งสนุกสนานกับการพูดจาสังสรรค์
    (ข) มีพลังและตื่นตัวจากการได้พบปะสังสรรค์กับผู้คน มีความสุขกับการใช้เวลากับคนอื่นถ้าให้เลือกระหว่างใช้เวลาอยู่คนเดียวกับอยู่กับเพื่อน extroverts จะเลือกอย่างหลัง
    (ค) ชอบแก้ไขปัญหาโดยการหารือกับคนอื่น การพูดถึงปัญหาช่วยให้สามารถเข้าใจความลึกซึ้งของปัญหาตลอดจนเห็นทางเลือก extroverts จะรู้สึกผ่อนคลายหลังจากงานหนักเมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนหรือครอบครัว
    (ง) คนอื่นจะเห็นว่า extroverts เป็นมิตรกับผู้คนและเข้าถึงได้ง่ายเนื่องจาก extroverts ชอบการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเป็นพิเศษ ดังนั้น คนอื่นจึงมีทางโน้มที่จะเห็นว่าเป็นคนกันเอง
    (จ) มีลักษณะเปิดกว้างและผู้คนรู้สึกว่า extroverts ยินดีที่จะแชร์ความคิดและความรู้สึกกับเขาเสมอ และด้วยความรู้สึกนี้ extroverts จึงดูเป็นคนที่ไม่ลึกลับและเข้าถึงได้ง่าย

ลักษณะของ extroverts ต่างๆ เหล่านี้มีดีกรีที่ไม่เท่ากันในแต่ละคน มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้ว extroverts จะเป็นคนมีความสุขจากการพบปะพูดจากับผู้คนทั้งเพื่อนเก่าและมิตรใหม่

ส่วน introverts นั้นมี 5 ลักษณะดังต่อไปนี้

    (ก) มีความสุขกับการมีเวลาเป็นของตนเอง เวลาว่างชอบจะทำอะไรคนเดียว เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นเกม ฯลฯ เวลาเช่นนี้ introverts ถือว่าเป็นสิ่งมีค่า
    (ข) คิดออกในยามที่อยู่คนเดียว ถึงแม้จะไม่รังเกียจการถกเถียงและวิพากษ์ยามทำงานร่วมกันกับคนอื่น แต่ introverts จะคิดอะไรได้ทะลุยามที่อยู่คนเดียว
    (ค) มีความสุขกับการอยู่เงียบๆ คนเดียวมากกว่าการใช้เวลากับคนอื่นโดยเฉพาะการสังสรรค์กับคนกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนแปลกหน้า
    (ง) มีเพื่อนสนิทไม่มากคนเนื่องจากไม่ชอบคบหาคนมากหน้าอย่างฉาบฉวย ชอบที่จะมีเพื่อนสนิทที่รู้ใจกันน้อยคน
    (จ) คนอื่นมักคิดว่า introverts เป็นคนเงียบและยากที่จะเข้าถึง หรือแม้แต่บางครั้งเข้าใจว่าเป็นคนขี้อาย คนหยิ่ง ไม่เป็นมิตร (ฉ) เป็นคนเก็บความรู้สึกไว้กับตนเองไม่ชอบที่จะแชร์หรือหารือกับคนอื่นในการแก้ไขปัญหา

การเป็น extroverts มิได้หมายถึงการเป็นคนเก่งกล้า และ introverts มิได้หมายถึงคนเงียบ ขี้อาย ไม่เป็นมิตร ทุกคนมีลักษณะทั้งสองอย่างผสมกันในดีกรีที่แตกต่างกัน มิได้สุดโต่งในทุกลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ดีเราพอจะแยกออกได้คร่าวๆ เป็นสองบุคคลิกภาพ

งานศึกษาของ Landis และ Gladstone ตีความได้ว่า extroverts ที่เป็นคนขัดสนที่พยายามแสวงหาสถานะทางสังคมที่สูงขึ้นเพื่อให้คนอี่นๆ เห็นและประทับใจเนื่องจากการพบปะสังสรรค์กับคนเหล่านี้เป็นกิจวัตรที่เขาชอบและทำอยู่เป็นประจำ ความรู้สึกของเขาโยงใยมากกับความรู้สึกของคนอื่นที่มีต่อเขา ดังนั้นการมี “เฟอร์นิเจอร์” ประดับร่างกาย บ้าน ชีวิตประจำวัน ฯลฯ ทำให้เขา “รู้สึกดี” และเป็น “สิ่งจำเป็น” สำหรับตัวเขา

ส่วน introverts นั้นความรู้สึกของเขาโยงใยกับความรู้สึกของคนอื่นน้อยกว่าสนใจเรื่องของตนเอง ปรารถนาอยู่กับตนเองมากกว่าใช้เวลากับคนอื่น การมี “เฟอร์นิเจอร์” มีความสำคัญต่อตัวเขาน้อยกว่า

นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใด extroverts ที่ขาดแคลนจึงหมกมุ่นกับการใช้เงินเพื่อ “เฟอร์นิเจอร์” เพื่อยกสถานะมากกว่า introverts การเข้าใจเช่นนี้มีผลต่อการใช้นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในเรื่องดังต่อไปนี้

    (ก) หากช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยด้วยเงินสดเหมือนกันทั้ง extroverts และ introverts แล้วเงินจะละลายหายไปอย่างไร้ประโยชน์ในหมู่ extroverts การช่วยเหลือในรูปคูปอง อุดหนุนค่า น้ำ ไฟ ตั๋วเดินทาง ฯลฯ จะเป็นวิธีการที่เหมาะสมกว่า

    (ข) เน้นการให้ความรู้ในเรื่องการใช้จ่ายและการออมแก่คนขัดสนที่มีลักษณะ extroverts เป็นพิเศษเนื่องจากมีทางโน้มในการซื้อ “เฟอร์นิเจอร์” สูงกว่า

    (ค) ในการปล่อยสินเชื่อเพื่อ startups ทั้งหลาย การกลั่นกรองบุคลิกภาพเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจมากขึ้นเพราะมีทางโน้มที่ extroverts จะใช้เงินผิดประเภทมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นคนบุคลิกภาพใดก็ตาม ต่างมีข้อเด่นและข้อด้อยด้วยกันทั้งสิ้น บางคนอาจมีบุคลิกภาพที่ผสมปนเปกันจนแยกออกได้ยาก ประเด็นสำคัญก็คือการที่แต่ละคนเข้าใจบุคลิกภาพของตนเองและพยายามเสริมข้อด้อยของบุคลิกภาพนั้นๆ เพื่อให้เกิดผลดีแก่ตนเองมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

สิ่งสำคัญของมนุษย์นั้นมิได้อยู่ที่การแข่งขันให้เด่นดังกว่าเพื่อนหรือคนที่ไม่เป็นมิตรกับตน หากอยู่ที่ความพยายามให้เป็นคนที่ดีกว่าที่ตนเองเป็น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 5 ก.ย. 2560