สฤณี อาชวานันทกุล
หมายเหตุ: ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ของ The Matter
ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึง VICE Media จากแคนาดา ขวัญใจคนรุ่นมิลเลนเนียลทั่วโลก และมองว่าความสำเร็จของ VICE มาการที่ค่ายนี้ ‘รู้จัก’ คนรุ่นใหม่จริงๆ พูดความจริง กล้า ‘แหกขนบ’ และทำสิ่งใหม่ๆ ตามพื้นเพนิตยสารนอกกระแสของกลุ่มผู้ก่อตั้ง และไปอยู่ในที่ที่มิลเลนเนียลอยู่ ไม่ใช่ทำแต่เว็บไซต์แล้วรอให้พวกเขามาอ่านเอง
การเขียนถึง VICE ทำให้คิดต่อไปว่า สื่อที่เปรียบได้กับ VICE ของเมืองไทยคือค่ายไหน? สื่อสำนักไหนที่มีเนื้อและรูปแบบ ‘โดนใจ’ มิลเลนเนียลไทย และสนใจที่จะนำเสนอข่าวสารบ้านเมืองที่เป็นเรื่องไกลตัวแบบ VICE ด้วย ไม่ใช่จำกัดแค่เนื้อหาที่ ‘ปลอดภัย’ (และสปอนเซอร์สบายใจ) แนวไลฟ์สไตล์หรือบันเทิงอย่างเช่นรีวิวร้านอาหาร มือถือรุ่นใหม่ ฯลฯ
ผู้เขียนคิดว่าคำตอบนี้ ณ ปี 2560 คือสำนักข่าวน้องใหม่ไฟแรง (เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2559) ชื่อ The Matter ซึ่งมีทั้งเว็บไซต์ และเพจเฟซบุ๊ก แต่ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางหลักในการนำเสนอเนื้อหาและสร้างรายได้
The Matter คล้ายกับ VICE ตรงที่นำเสนอข่าวและเนื้อหาต่างๆ อย่าง ‘โดนใจ’ คนรุ่นมิลเลนเนียล รวมถึงรุ่นอื่นๆ ที่ชอบเนื้อหาแนวนี้ ตั้งแต่รูปแบบ (กราฟฟิกประกอบสวยๆ ประกอบเนื้อหาทุกชิ้น เตะตาตั้งแต่แรกพบ และวิธีเขียนแบบเป็นกันเอง สนุก) การเลือกเนื้อหา (ตั้งแต่ประเด็น ‘ปัจเจก’ มาก อย่างเช่นวิธีหางาน ชีวิตรัก การแบ่งเวลา ฯลฯ ไปจนถึงประเด็นสังคมใหญ่ๆ และเรื่องราวแวดล้อมการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ เช่น เกม เทคโนโลยี การขนส่งสาธารณะ วัฒนธรรมไอดอล ฯลฯ) ไปจนถึง ‘น้ำเสียง’ (เนื้อหาหลายชิ้นรวมถึงสไตล์ภาพประกอบมีลักษณะ ‘แซะ’ หรือล้อเลียนผู้มีอำนาจ หน่วยงานราชการ ฯลฯ อย่างทีเล่นทีจริง)
จุดที่แตกต่างคือ The Matter เน้นเนื้อหาที่เป็นตัวหนังสือกับภาพนิ่ง ไม่ใช่คลิปวีดีโอแบบ VICE และยังแทบไม่มี ‘ข่าวมือหนึ่ง’ (original news) ที่มาจากการทำข่าวของผู้สื่อข่าวเอง เนื้อหาข่าวส่วนใหญ่เป็นข่าว ‘มือสอง’ คือนำเนื้อหาจากสื่ออื่นๆ ทั้งไทยหรือเทศ มาเรียบเรียงและนำเสนอใหม่ในสไตล์ของตัวเอง โดยไม่ลืมที่จะให้เครดิตสื่อต้นทาง
เข้ากับสโลแกนของค่ายที่ว่า “make news relevant” (ทำข่าวให้สำคัญ)
ระดับความนิยมของ The Matter วัดได้คร่าวๆ จากยอดไลก์เพจเฟซบุ๊กกว่า 410,000 คนในระยะเวลาเพียงปีเศษ ระดับ engagement (ความสนใจมีส่วนร่วมของคนอ่าน) ค่อนข้างสูง ดูจากยอดแชร์และการเข้ามาคอมเม้นท์ถกเถียงกันท้ายเนื้อหาหลายชิ้น แต่ตัวเลขที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ สื่อเล็กๆ ทีมงานไม่ถึงสิบคนค่ายนี้อยู่อันดับ 8 ในรายชื่อ “บริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดในไทย” ประจำปี 2017 จากการสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่กว่า 2,300 คน โดยบริษัท WorkVenture (https://www.workventure.com/) ท่ามกลางไอทีรายใหญ่อย่าง Line, Agoda, Lazada และ Wongnai
นับเป็นเครื่องยืนยันความเป็น ‘ขวัญใจ’ ของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
ทีปกร ‘แชมป์’ วุฒิพิทยามงคล หนุ่มวัย 32 ผู้ก่อตั้ง บรรณาธิการ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบประจำ The Matter เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ในเดือนสิงหาคม 2559 หรือภายในสองเดือนหลังจากที่เปิดตัวเว็บว่า เขานิยาม The Matter สั้นๆ ว่า “ข่าวที่เราอยากอ่าน” และขยายความว่า “บางทียังไม่มีข่าวที่เรารู้สึกว่านำเสนอในทางที่เราสนใจ หรือว่ามันมีข่าวที่เราสนใจ แต่วิธีการพลิก(ประเด็น)เหมือนไม่ได้คุยกับเรา ข่าวเองก็ยังมีความ ‘แข็ง’ สำหรับเราในเรื่องวิธีการเขียน …การเรียนนักข่าวเมื่อก่อนก็คืออย่าเอาอารมณ์เข้าไปใส่ อะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าตัวสื่อออนไลน์มันทำให้เราทุกคนก้าวเข้ามาเป็นคล้ายๆ citizen journalism [สื่อพลเมือง] ได้ง่ายขึ้น ….ผมรู้สึกว่าเมื่อมันมีสื่อทุกอย่างให้คนเลือกเชื่อ ก็เลือกเชื่อในสิ่งที่มันตรงกับตัวเอง แต่สิ่งที่สื่อทุกข้างต้องทำก็คือนำเสนออย่างตรงไปตรงมา อย่ามั่วหรืออย่าไปเต้าข่าวอะไรขึ้นมาเท่านั้นเอง …อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของความสวย […] คุณสามารถทำข่าวให้สวยได้โดยไม่ต้องไปทำลายความน่าเชื่อถือของข่าวนั้นก็ได้”
แชมป์กล่าวในบทสัมภาษณ์ชิ้นเดียวกันว่า ในแพล็ตฟอร์มเฟซบุ๊กซึ่งใครๆ ก็ทำเพจทำสื่อเองได้ด้วยต้นทุนที่ถูกแสนถูก และดังนั้นจึงมีสื่อทางเลือกเกิดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด “สิ่งที่อยู่ได้ ผมว่ามันคือคาแร็กเตอร์” ที่ชัดเจนเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งตรงกับคำให้สัมภาษณ์บนเว็บไซต์ Way เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ของ ณัฐชนน ‘แบงค์’ มหาอิทธิดล หัวหอกอีกคนของ The Matter ซึ่งรับจัดการด้านธุรกิจ ที่ว่าเขาอยาก “ให้แบรนด์เรา [The Matter] แข็งแรงพอที่จะพูด…ได้อย่างเสรี …คอนเทนต์ที่มันไม่ปรุงแต่งก็ยังอยู่ในโลกนี้ได้”
แชมป์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาอยากนำเสนอข่าวด้วยมุมมองแบบโฆษณา คือคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนสนใจเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด ในอนาคต “อยากไปให้ถึงจุดที่ข่าวข่าวหนึ่ง ถ้ามันลงแรงได้เยอะ ..อยากทำให้มันมี interactive มากขึ้น หรือว่าใช้สื่อ[อื่น]เข้ามาร่วมด้วย”
นับจากวันนั้นมาหนึ่งปี วันนี้โมเดลธุรกิจของ The Matter มั่นคงหรือยัง และเจอความท้าทายอะไรบ้าง?
แชมป์ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า ปัจจุบันรายได้ของ The Matter มาจากการสร้างและเผยแพร่ ‘แอดเวอร์ทอเรียล’ (advertorial หมายถึงบทความเชิงโฆษณาที่มีสปอนเซอร์) บนเฟซบุ๊กของตัวเองเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้จากการผลิตเนื้อหาป้อนบริษัทอื่นบ้าง แต่ไม่มาก โดยหลักๆ ‘แบงค์’ จะเป็นคนบริหารจัดการแอดเวอร์ทอเรียล แยกออกมาจากเนื้อหาของ The Matter ตั้งแต่ต้น เพื่อรักษาความเป็นอิสระ
เขาบอกว่าการแบ่งงานกันทำแบบนี้ใช้ได้ค่อนข้างดีภายใน แต่คนอ่าน The Matter หลายคนอาจยังแยกแยะไม่ได้ระหว่างเนื้อหาที่เป็นแอดเวอร์ทอเรียล กับเนื้อหาของกองบรรณาธิการ อย่างไรก็ดี The Matter ก็พยายามแปะป้ายบอกให้ชัดเจน เช่น ขึ้นหัวกราฟฟิกว่า Matter x [ชื่อสปอนเซอร์] และตั้งเป้าจำกัดเนื้อหาแอดเวอร์ทอเรียลไว้ไม่ให้เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ของเนื้อหาทั้งหมด
ถึงแม้ The Matter วันนี้จะมีความมั่นคงทางการเงินแล้ว แชมป์มองว่าก็ยัง ‘ไม่ยั่งยืน’ เพราะรายได้ยังต้องพึ่งพาอัลกอริธึมของเฟซบุ๊กเป็นหลัก วันหนึ่งเฟซบุ๊กอาจเปลี่ยนอัลกอริธึมการแสดงเนื้อหาในทางที่กระทบต่อรายได้ของค่ายก็เป็นได้
แชมป์บอกว่า วันนี้ The Matter ทำได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของการเป็นค่ายสื่อที่เขาคาดหวัง สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการผลักดันทีมงานให้พัฒนาและยกระดับการนำเสนอตลอดเวลา ตอนนี้เขาทำทีมข่าวขึ้นมา และตั้งเป้าว่าจะผลิต ‘ข่าวมือหนึ่ง’ ให้ได้ 35 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาทั้งหมดใน The Matter
ส่วนการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ อย่างเช่นแอพพลิเคชั่น หรือเครื่องมือเชิงวารสารศาสตร์ข้อมูลมาช่วยในการนำเสนอข่าวนั้น แชมป์บอกว่าแนวทางเหล่านี้ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะต้นทุนการพัฒนาสูงจนไม่คุ้ม แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ ถ้ามีองค์กรอื่นมาช่วยแบกรับต้นทุนการพัฒนาและฝึกอบรมนักข่าว
แชมป์ตบท้ายว่า ในปีหน้าคือ 2018 The Matter จะผลิตเนื้อหาที่ขับดันด้วยข้อมูลเป็นหลัก (data-driven) และเนื้อหาที่เป็นคลิปวีดีโอ ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้ผู้เขียนมองว่า วันนี้สื่อขวัญใจมิลเลนเนียลไทยกำลังสยายปีก จากการ “make news relevant” ซึ่งพวกเขาทำได้อย่างดีเยี่ยม ไปสู่การ “make relevant news” (ทำข่าวที่สำคัญ) มากขึ้น รวมถึงกำลังพยายามหาวิธีปลดแอกตัวเองออกจากอิทธิพลของอัลกอริธึมเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพูดถึงข้อมูล คำถามต่อไปคือ มีสื่อค่ายไหนบ้างหรือไม่ที่ใช้ข้อมูลอย่างช่ำชอง และใช้เป็นช่องทางหารายได้อย่างมั่นคง?
โปรดติดตามตอนต่อไป.