ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2017#3 : “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชู 3 โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ฟื้นสมดุลประเทศ พร้อมปักหมุดไทยบนแผนที่ SDGs ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

Thailand SDGs Forum 2017#3 : “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชู 3 โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ฟื้นสมดุลประเทศ พร้อมปักหมุดไทยบนแผนที่ SDGs ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

7 กันยายน 2017


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 มูลนิธิมั่นพัฒนาร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงาน “Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDG Map” โดยในช่วงเช้า ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเจ้าภาพหลักในการกำกับดูแลการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Positioning Thailand on SDG Map” หรือปักหมุดประเทศไทยบนแผนที่ของ SDG ว่า

“ในเรื่องที่มีความยิ่งใหญ่เหลือเกินอย่างเรื่องของ Sustainable Development Goals หรือ SDGs คิดว่าในส่วนของผมจะเป็นส่วนที่จะไปเติมแต่งส่งเสริมกับส่วนที่วิทยากรหลายท่านที่ไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้ แต่มีประสบการณ์ จะมาแลกเปลี่ยนกับพวกเราในโจทย์ที่ยิ่งใหญ่ คือ การขับเคลื่อน SDG ไปสู่การปฏิบัติ หรือ SDG in Action ได้อย่างไร

ผมแปล Positioning Thailand on SDG Map เป็นเรื่องของการปักหมุดประเทศไทยบนแผนที่ของ SDG ซึ่งตอนนี้เป็นวาระของโลกได้อย่างไร ผมคิดว่าในส่วนสำคัญที่อยากจะแบ่งปันคงจะเป็นเรื่องของสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นกระบวนทัศน์การพัฒนาที่จะไปเชื่อมโยงกับ SDG

ผมคิดว่าในอดีตที่ผ่าน ศตวรรษที่แล้วมาสู่ศตวรรษปัจจุบัน โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ผมเคยปรึกษาคุณชาย(ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล)ถึงวงจรอุบาทว์อันหนึ่ง คือ Growth to Greed, Greed to Growth คือความโลภอยากจะทำให้เกิดการเติบโตและมีความเชื่อมั่นว่าความโลภนั้นต่างหากที่จะอยากเติบโตและความเติบโตนั้นก็จะทำให้เกิดความโลภ มันอาจจะเป็นวงจรที่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ในที่สุดมันไม่ได้ตอบโจทย์ความเป็นอยู่

ฉะนั้น ต้องถอยหลังกลับไปว่าการพัฒนาในอดีตของเราในศตวรรษที่แล้ว เราพัฒนามุ่งเน้นเรื่องของการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่สร้างต้นทุนกับความเป็นอยู่ของสังคม สร้างต้นทุนแก่สภาพสิ่งแวดล้อม สร้างต้นทุนแก่สติปัญญาของมนุษย์

สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่สมดุล สิ่งที่เกิดขึ้นคือการขาดการบูรณาการกัน เราเกิดการสูญเสียความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติก่อให้เกิดความไม่ยั่งยืน

เราสูญเสียสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้

เราสูญเสียความสมดุลระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีก่อให้เกิดความแปลกแยกอย่างปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น โลกเปลี่ยนมาสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นศตวรรษที่สรุปได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของความสุดโต่ง ทั้งความสุดโต่งทางธรรมชาติ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่ไม่เพียงเท่านั้น เรากำลังอยู่ในโลกของความย้อนแย้ง กฎหลายกฎที่เคยเป็นกฎเหล็กในศตวรรษที่ 20 เริ่มเป็นข้อยกเว้นและข้อยกเว้นหลายๆ อย่างกลายเป็นกฎแทนในปัจจุบัน

ทำนองเดียวกัน เรายังอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน ซึ่งเทคโนโลยีทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราดำเนินการอยู่เกิดการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่เปลี่ยนไม่ได้

เพราะฉะนั้น โจทย์ของรัฐบาลชุดนี้คือการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นจนได้ ดังนั้น เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชาต้องเริ่มต้นที่กระบวนทัศน์การพัฒนาที่ถูกต้อง

ณ วันนี้รัฐบาลชุดนี้พยายามที่จะขับเคลื่อนด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาจากเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่นำมาซึ่งความไม่สมดุลมาสู่เรื่องของแนวคิดที่เราเรียกว่าการพัฒนาที่สมดุลภายใต้หลักคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่กันอย่างสมดุล ทำอย่างไรให้มนุษย์กับมนุษย์อยู่กันอย่างสมดุล ทำอย่างไรให้มนุษย์กับเทคโนโลยีอยู่กันอย่างสมดุล

ดังนั้น เพื่อแปลงโจทย์นี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้พยายามขับเคลื่อนคือเรื่องของการปฏิรูป แต่ประเทศไทยปฏิรูปอย่างเดียวคงไม่พอ มันไม่ใช่เรื่องของการ Reform เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านหรือ Transformation

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจะต้องออกมาเป็นรูปธรรมในรูปแบบของเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเราเรียกว่าเป็น Value-Based Ecosystem เราสรุปบทเรียนในอดีตว่าเรามองธรรมชาติเป็นทรัพยากรและเผาผลาญใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง

วันนี้มีแนวคิดของการเปลี่ยนทรัพยากรจาก Resource เป็น Source หรือธรรมชาติเป็นแค่แหล่งที่จะทำให้เราสามารถอยู่ต่อและเติมเต็ม ภายใต้กลไกที่เราเรียกว่ากลไกของการขับเคลื่อนของการนำกลับไปใช้ใหม่ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Regenerative Growth Engine ได้อย่างไร

โจทย์ระบบเศรษฐกิจไหลเวียน Circular Economy – มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

โจทย์ของรัฐบาลชุดนี้คือการที่จะทำอย่างไรให้สร้างระบบเศรษฐกิจไหลเวียน หรือ Circular Economy เกิดขึ้น เพราะถ้าตัวนี้ไม่เกิดขึ้น เราไม่มีทางได้ความสมดุลของมนุษย์กับธรรมชาติ ถ้าไม่สมดุล วิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ว่าด้วยความยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้น

ทำนองเดียวกัน เรามองว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราจะทำอย่างไรให้กลไกเราขับเคลื่อนไปสู่การมีส่วนร่วมทุกภาค ส่วนนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจกระจายตัวหรือที่เราเรียกว่า Distributive Economy เพื่อปรับสมดุลระหว่างมนุษย์และมนุษย์ เพื่อจะไปสู่ความมั่นคง เพราะถ้าความเหลื่อมล้ำยังเป็นอยู่แบบนี้ โอกาสจะเรียกหาความมั่นคงจะเป็นไปไม่ได้

ในส่วนที่ 3 เราจะต้องแข่งกับโลก และโลกปัจจุบันแข่งกันด้วยเรื่องของผลิตภาพการผลิต แข่งด้วยเรื่องนวัตกรรม เพราะฉะนั้น เราจะปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Innovation-Driven Economy เพื่อทำให้เกิดสมดุลระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด เพื่อที่จะตอบโจทย์เรื่องของความมั่งคั่ง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราขับเคลื่อนคือการถอดรหัสวิสัยทัศน์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พูดถึงอยู่เสมอถึงเรื่องความยั่งยืน ความมั่นคง และความมั่งคั่ง ออกมาเป็นรูปธรรมผ่าน 3 ระบบเศรษฐกิจนี้

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือเรากำลังจะน้อมนำปรัชญาเศรษฐพอเพียงและเอาเรื่องของวิสัยทัศน์ของรัฐบาลชุดนี้ แปลงออกมาให้เป็นรูปธรรม ในระบบเศรษฐกิจไหลเวียน มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการที่ใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั้งคิดมาสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กันอย่างชาญฉลาด

ทำอย่างไรจะให้เปลี่ยนจากการกระจุกตัวของโอกาสและความมั่งคั่งไปสู่การกระจายตัวของโอกาสและความมั่งคั่ง แต่เดิมโลกในศตวรรษที่แล้วขับเคลื่อนด้วยสินทรัพย์ทางการเงิน ด้วยสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ทำอย่างไรจะเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนด้วยปัญญา คือ ทุนมนุษย์กับเรื่องของเทคโนโลยีจะอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมได้อย่างไร

ทั้งหมดคือสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำภายใต้นโยบายที่เราเรียกว่า Thailand 4.0 แต่หลายคนมองว่า Thailand 4.0 เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่นวัตกรรม เป็นเรื่องของการใช้ Digital Technology แต่จริงๆ เรื่องนี้เป็น 1 ใน 3 มิติ 3 ระบบเศรษฐกิจข้างต้น เป็นมิติที่สำคัญและเป็นมิติที่ถ้าเราไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นได้ เราจะอยู่ไม่รอดในอนาคต ไม่ใช่แค่เราจะอยู่ไม่รอด โลกก็จะอยู่ไม่รอดในอนาคตด้วยเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้เน้นคือการสร้างเศรษฐกิจที่เรียกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการเรื่องความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติต่างๆ, การทำให้เมืองที่ต่อไปคนจะมาอยู่ในเมืองมากขึ้นให้เกิดเป็น Smart City ไม่ใช่ Mega Slum, ทำอย่างไรจะนำพลังงานทดแทนมาใช้อย่างชาญฉลาด, ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแนวคิดขององค์กรภาคเอกชนจากเดิมที่ต่างคนต่างทำเพื่อลดต้นทุนโดยการผลักภาระต้นทุนไปข้างนอก ทำอย่างไรให้เปลี่ยนแนวคิดเป็นการลดการทำลาย หรือ Zero Waste จะเป็นคนที่ถูกยกย่อง, ทำอย่างไรให้จะสร้างความสมดุลระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วมนุษย์กับมนุษย์จะสร้างความสมดุลอย่างไร

ถ้าเราทำให้เกิดเศรษฐกิจกระจายตัวได้ เราจะตอบโจทย์ความมั่นคง คือจะทำอย่างไรที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้แค่คนมีรายได้น้อย 40% สุดท้าย วันนี้ถ้าฟังท่านนายกรัฐมนตรีพูด ประชากร 11.7 ล้านคนของประเทศไทยมีรายได้ที่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีจะอยู่ได้อย่างไร

จะทำอย่างไรที่เราจะใช้กลไกแรงจูงใจใหม่ๆ เช่น เรื่องการผลักดันเรื่องของธุรกิจเพื่อสังคม เรื่องของภาษีเงินได้ที่ติดลบ หรือการที่พยายามสร้างความเข้มแข็งของชุมชน หลักคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถูกถอดรหัสออกมาผ่าน Thailand 4.0 ความจริงมีเพียง 2 ประเด็น

อันแรก คือ สร้างความเข้มแข็งจากภายในและเป็นการสร้างจากกลไกประชารัฐ

อันที่ 2 คือ เราต้องอยู่กับโลก ดังนั้นเราจะต้องเชื่อมต่อกับประชาคมโลก

นี่คือสิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมที่กำลังค่อยๆ ผลักดันออกมาของรัฐบาลชุดนี้

เรื่องที่ 3 จึงเป็นเรื่อง Innovation-Driven Economy เพื่อไปตอบโจทย์ความมั่งคั่ง เราจะทำอย่างไรที่จะยกระดับคนไทย เราจะเตรียมเรื่องของการวิจัยและพัฒนาได้อย่างไร คำถามคือนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งพยายามที่จะปรับกระบวนทัศน์พื้นฐานจากเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นการกลับสู่สมดุลภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่าน 3 ระบบเศรษฐกิจ

คำถามคือ 3 ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวข้องอย่างไรกับ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ผมอยากเรียนว่าถ้าเอาทั้ง 17 เป้าหมายมาปักหมุดใน 3 ระบบเศรษฐกิจภายใต้ Thailand 4.0 มันสอดคล้องกันอย่างพอดีและตรงส่วนนี้เป็นหลักประกันที่ทำให้เรามั่นใจว่าเรากำลังขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง มีเป้าหมายที่ถูกต้อง และเป็นเป้าหมายที่เป็นสากล เป็นการพิสูจน์ว่าศาสตร์พระราชาภายใต้การกลับสู่สมดุลมันสอดรับกับกฎเกณฑ์สากล เรียกว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับ SDGs หรือ SEP for SDGs ตรงนี้คือเรื่องสำคัญ

สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดเสมอในเวทีโลกคือ 5P คือประเทศไทยถ้าจะผลักดัน ไม่ใช่แค่พูดแต่ว่าเราทำจริงที่จะช่วยให้โลกดีขึ้น คือ Save the Planet อย่างไร แต่ช่วยโลกอย่างเดียวมันไม่ได้ตอบโจทย์ ทุกอย่างในโลกนี้ถ้ามององค์รวมมันต้องมีเรื่องของความสงบสุข หรือ Secure Peace ด้วย โลกที่เกิดสันติภาพและสามารถจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เป็นเงื่อนไขจำเป็น แต่พร้อมกันนั้นเราจะไปแบ่งปันความมั่งคง หรือ Share Prosperity อย่างไร ทั้งกับประเทศอื่นและภายในประเทศ ท่านถึงมีคำพูดอยู่เสมอว่าเราจะเดินหน้าไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จริงๆ คือหลักของการที่เราจะแบ่งปันความมั่นคั่งร่วมกันอย่างไร

พัฒนา “คน” ตอบโจทย์ สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง-ทุนนิยมสร้างสรรค์

โจทย์เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ยาก แต่โจทย์นี้จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ ทุกอย่างจบที่คน เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้คนของเราเป็น Smart People และ Smart People ไม่ใช่คนรวย ไม่ใช่คนมีโอกาส แต่ต้องเกิดขึ้นได้ทุกคน เพราะฉะนั้น Thailand 4.0 หัวใจคืออยู่ที่การปรับ Mindset ของคนไทย และ Keyword ของคนไทยที่จะไปตอบโจทย์ Thailand 4.0 คือการปฏิวัติความคิด การปฏิรูปตนเอง การทำอย่างไรให้พลเมืองที่เฉื่อยชา ณ วันนี้ มองแต่ตนเอง ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้เป็น Active Citizen แต่การที่จะไปตอบโจทย์ SDG แค่ตื่นรู้ไม่เพียงพอ เราจะต้องปลุกระดมให้คนทุกคนของประเทศเราเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม หรือ Engaged Citizen เพราะถ้าประชาชนโดยทั่วไปไม่เอากับเรามันไม่มีทางเกิด SDG

พลังที่ในที่สุดต้องปลุกให้ตื่นคือพลังประชาชน ทำอย่างไรให้พลเมืองมีส่วนร่วม

ภาพนี้อาจจะเป็นภาพใหญ่แต่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเหลือเกิน เพราะว่าเราเรียกหาประชาธิปไตย แต่เรากำลังเรียกหาประชาธิปไตยที่มันเป็นกระพี้ เรากำลังเรียกหาประชาธิปไตยที่ผมเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยเทียม ในที่สุดจะเกิดวงจรอุบาทว์ของ 3 ป. คือประท้วงต่อต้านจนเกิดการปฏิวัติและในที่สุดก็เป็นประชาธิปไตยเทียม

เพราะฉะนั้น ความเป็นประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับ SDG ตรงที่ว่าเราต้องปลูกฝังให้คนของเราเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม เมื่อมีส่วนร่วมเขาจะมีความเป็นประชาธิปไตย เขาจะเรียกหาประชาธิปไตยของเขาเอง

หน้าที่ตอนนี้ของรัฐบาลคือเปลี่ยนให้คนไทยมีหลักคิดที่ถูกต้อง มีกระบวนทัศน์ของการพัฒนาที่ถูกต้อง เรามีบทเรียนในอดีตเยอะมากที่ทำให้เราไม่ยั่งยืน เพราะว่าเราต้องเลือกระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความเท่าเทียมทางสังคม เพราะฉะนั้น บนหลักคิดนี้ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการปลูกฝังให้คนของเรามีระเบียบวินัยมากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น เคารพกฎหมายกติกามากขึ้น มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างเศรษฐกิจและความเท่าเทียมอย่างที่เราต้องเลือกในปัจจุบัน

ทำนองเดียวกันกับที่เรายังต้องอยู่กับระบอบทุนนิยมและด้วยความที่ไม่มีระบอบไหนที่ดีสุดในโลก แต่ระบอบที่แย่ที่สุดอาจจะเป็นระบอบทุนนิยมแบบตลาด Market-Based Capitalism แต่เราก็ไม่ต้องการอีก ถ้าเราต้องการไปสู่ SDG เราต้องเป็น Humanistic Capitalism คือเป็นทุนนิยมที่เน้นคุณค่าของการเป็นมนุษย์

นั่นคือการต่อยอดจากระบอบทุนนิยมแบบตลาด เติมมันลงไปด้วยการจะทำให้คนของเรามองภาพเชื่อมโยง มีความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็น Caring and Sharing Society ให้เกิดขึ้น เมื่อนั้นระบอบทุนนิยมยังอยู่แต่เป็นระบอบทุนนิยมแบบ Humanistic Capitalism ประกอบกับระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วย โอกาสที่เราจะไปสู่ SDG อยู่แค่เอื้อม

อย่างไรก็ตาม ประเทศเราจะไปสู่จุดนั้นได้พื้นฐานที่แท้จริงคือธรรมาภิบาล แต่ธรรมาภิบาลก็มีหลายอย่าง ในภาครัฐ ในเอกชน ในสังคม แต่ที่สำคัญที่สุดคือธรรมาภิบาลในตนเอง คือปรัชญาของการมีหลักคิดที่ถูกต้อง ถ้าเรามีหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง โอกาสที่เราจะไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงและ Humanistic Capitalism ง่ายนิดเดียว นั้นคือ SDG ผูกพันเชื่อมโยงกับคนและคนที่จะทำให้เกิด SDG ได้จะต้องเป็นคนที่ใช้คุณธรรมจริยธรรมเป็นเครื่องนำทางชีวิตแล้ว มันจะออกมาเองเป็นคนที่มองรอบด้าน มองยาวไม่มองสั้น เขาจะไม่มีทางแลกเปลี่ยนระหว่างประโยชน์ระยะสั้นไปกับเสียประโยชน์ยาว มั่นใจเลยว่าเขาจะเลือกเสียประโยชน์สั้นๆ เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ระยะยาว

สิ่งที่สำคัญคือเรากำลังทำงานที่ท้าทาย ประเทศไทยได้รับการยอมรับตั้งแต่ก่อนสหัสวรรษใหม่แล้วว่าเราไปบรรลุเรื่องของความยั่งยืน ณ วันนี้เป็นขั้นตอนที่ 2 ผมมีโอกาสได้ปรึกษากับคุณชาย(ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล)เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาว่าขึ้นชั้นในระดับที่สร้างเป็นสถาบันภูมิพลในระดับโลกได้ เกือบ 10 ปีแล้ว แต่ ณ วันนี้รูปธรรมได้เกิดขึ้นแล้วภายใต้แนวคิดของ SEP for SDGs เพราะฉะนั้น ตรงนี้สิ่งที่สำคัญคือเรามีหลักคิดหลักปรัชญาในการพัฒนาประเทศผ่านเรื่องของศาสตร์พระราชา เรากำลังจะแบ่งออกเป็น 3 ระบบเศรษฐกิจที่จะสร้างสมดุลระหว่างกัน เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่เหลือคือทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง

หรือ SDGs in Action ตรงนี้ผมเชื่อว่าวัตถุดิบที่สำคัญคือการเปลี่ยน Mindset ของคน แทนที่จะมองแต่ตัวเอง มามองสิ่งแวดล้อม มองคนอื่นบ้าง มันต้องเปลี่ยนเครื่องมือ ต้องเปลี่ยนทักษะ และสำคัญที่สุดคือเปลี่ยนพฤติกรรมของคน คนไทยทุกวันนี้มีจิตสาธารณะก็ไม่น้อย มีเชื้อของสังคมการแบ่งปันอยู่ แต่ถูกบิดเบือนทำให้ด้อยค่าลงผ่านระบบทุนนิยมสามานย์ ผ่านประชาธิปไตยเทียม

วันนี้เราคงยอมไม่ได้ ถ้าเราจะแก้ทั้งที่จะต้องแก้ในระดับของฐานรากแก้ในระดับของโครงสร้าง รูปธรรมรัฐบาลก็มี 10 วาระของ Thailand 4.0 เราจะพบว่าจุดตั้งต้นที่สำคัญไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่จุดตั้งต้นคือคนไทย จะเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร จะไม่ใช่แค่คนที่มีความคิดความอ่าน แต่ต้องคิดมากกว่าตัวเองไปสู่โลกที่กว้างขึ้น สร้างอะไรบางอย่างแก่โลกด้วย เป็นคนที่ทำได้ในทางปฏิบัติด้วย

วันนี้ถ้าต้องปักหมุดประเทศไทยลงไปสู่ SDG แล้ว ทุกอย่างต้อง in action ถ้าคนไทยไม่เปลี่ยน อย่าไปฝันหวานถึง Innovation-driven economy อย่าไปฝันหวานในเรื่องของเศรษฐกิจข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลข้างหน้า เศรษฐกิจใน 3 ระบบที่กล่าวไปข้างต้นจะไม่มีทางเกิดขึ้น

โครงสร้างพื้นฐานต้องพร้อมรองรับคน

สิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเรื่องสำคัญไม่ใช่แค่การสร้าง Value Chains ทั้งหมดที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างไร แต่เราจะกระจายจากบนลงล่าง จากการสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชน ขึ้นมาตำบล ขึ้นมาระดับจังหวัด ระดับภาค และในที่สุดประเทศไทยในประชาคมโลกอย่างไร

ข้อต่อเหล่านี้ไม่มีทางเป็นไปได้ถ้าเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจะถักทอให้เราตอบโจทย์ได้ เรื่องแรกคือโครงสร้างพื้นฐานน้ำ จะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการน้ำเป็น Action-Based Agenda ไม่ใช่เป็นแค่พูดแต่ไม่ทำแบบปัจจุบัน น้ำเป็นหัวใจของทุกสิ่ง วันนี้เรียนว่าเอกชนหลายรายตอบโจทย์สิ่งนี้

แต่ปัญหาจะต่อจิ๊กซอว์อย่างไรระหว่างภาพเล็กและภาพใหญ่คือโจทย์ที่ต้องคิดต่อไป, เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย เรื่องของอินเทอร์เน็ต ดิจิทัล โลจิสติกส์ ทำอย่างไรให้มีการต่อเชื่อมกัน, เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา จากศาสตร์พระราชา จากท้องถิ่นคือปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อตอบโจทย์ความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ ไม่ใช่แค่การวิจัยที่ไปแข่งขันกับโลก แต่ต้องเหมาะสมกับสังคมนั้นๆ ไปสู่การปฏิบัติ

ตรงนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างเป็นตัวอย่าง ผมเองก็มีความคิดอยู่อันหนึ่ง เพราะผมได้รับมอบหมายให้ดูกองทุนหมู่บ้าน ณ วันนี้ กองทุนหมู่บ้านจะดีเลวอย่างไรก็ตาม แต่ครอบคลุมไป 79,000 หมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว แต่ผ่านมาเรามัวแต่ทำเรื่องของการเงิน ให้เขาเอาเงินไปใช้ประโยชน์ แต่เราไม่รู้ว่าถูกเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับโครงสร้างกองทุนว่าทำอย่างไรให้ SDG เข้าไปปฏิบัติอยู่ในกองทุนหมู่บ้านในระดับฐานรากได้ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามองว่าประชารัฐจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในการทำให้หมู่บ้านกินดีอยู่ดี อาจจะตอบ 2-3 ข้อไปก่อน ค่อยเป็นค่อยไป แรงจูงใจของการที่ปรับเปลี่ยนตัวเองไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจแล้ว แต่ปรับเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านและตนเอง ทั้งมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา ผ่านกองทุนหมู่บ้าน

ทั้งหมดคือสิ่งที่อยากจะเรียนในวันนี้ว่าเรามีศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คือศาสตร์พระราชา ที่ ณ วันนี้กำลังจะเป็นศาสตร์สากลสอดรับซึ่งกันและกันอย่างลงตัวระหว่างปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงและ SDGs

วันนี้เราค่อยๆ มีการขับเคลื่อนทุกภาคส่วน เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องรวมพลังกัน ปัญหาไม่อยู่ที่เราไม่มีแนวคิด

แต่ปัญหาคือเราจะยกระดับให้ SDGs เกิดขึ้นกับทุกหย่อมหญ้ากับทุกพื้นที่ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ได้อย่างไร

ป้ายคำ :