ThaiPublica > เกาะกระแส > Freedom of Speech นักวิจัยชี้ “สื่อใหม่” ตอบคำถามให้ได้ว่ามีอะไร “ใหม่”หรือไม่

Freedom of Speech นักวิจัยชี้ “สื่อใหม่” ตอบคำถามให้ได้ว่ามีอะไร “ใหม่”หรือไม่

15 มิถุนายน 2017


13 มิถุนายน 2560 มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จัดเวทีมีเดียคาเฟ่ สื่อสนทนา หัวข้อ Freedom of Speech กับปรากฏการณ์เปิดตัวสอง “สื่อใหม่” โดยมี “อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ” นักวิจัยด้านสื่อใหม่ RCSD มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(ซ้าย) และ “พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ” นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน(กลาง) เป็นวิทยากรร่วมสนทนา

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เปิดเวทีมีเดียคาเฟ่ สื่อสนทนา หัวข้อ Freedom of Speech กับปรากฏการณ์เปิดตัวสอง “สื่อใหม่” โดยมี “อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ” นักวิจัยด้านสื่อใหม่ RCSD มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ “พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ” นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน เป็นวิทยากรร่วมสนทนา

“อรรคณัฐ” มองว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ The Standardอาจเกิดจากความผิดหวังของคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองคล้ายๆ กัน เมื่อเห็นรายชื่อคอลัมน์นิสต์ อย่างอาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ), คุณคำ ผกา (ลักขณา ปันวิชัย), อาจารย์ปองขวัญ (สวัสดิภักดิ์) ฯลฯ ก็คิดว่าน่าจะเป็นสื่อที่เป็นความหวังได้ ถูกจริต ก็คาดหวังว่า The Standard จะสร้างมาตรฐาน ตามมาตรฐานที่คาดหวัง

แต่พอเขาเชิญคอลัมน์นิสต์อีกท่านหนึ่ง ซึ่งไม่คาดหวังว่าเขาจะมาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ก็เลยเกิดการผิดหวัง พอผิดหวังก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถาม แต่คำถามของผมคือ เราไปตั้งคำถามกับเขา เขาจำเป็นต้องตอบด้วยหรือ ในเมื่อมันเป็นพื้นที่ของเขา

เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเอาใครมาเป็นคอลัมน์นิสต์ก็ได้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะบอยคอต มีสิทธิ์ที่จะไม่อ่านก็ได้ มีสิทธิ์ที่จะโกรธเพื่อนเราที่ไปใช้แพลตฟอร์มนั้นก็ได้ คือมันเป็นอิสรภาพของเรา

เข้าใจว่าเพื่อนบางคนรู้สึกผิดหวัง และเป็นห่วงว่าคนที่ไปใช้แพลตฟอร์มร่วมกันกับคนที่เขาไม่ชอบ มันจะเป็นการไปสร้างความชอบธรรมให้อีกฝ่ายหนึ่งในการฟอกตัวเองหรือเปล่า จึงแสดงอาการเป็นห่วงและผิดหวังออกมา ซึ่งก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ขณะที่ปรากฏการณ์ Double Standardเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ผิดหวังหรืออะไร แต่อาจเกิดอาการหมั่นไส้รวมหมู่มากกว่า

ส่วนเรื่องเพจหลัก-เพจล้อ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการประชดประชัน ความมีอารมณ์ขัน มีมากมายเต็มไปหมด โดยเฉพาะใครที่ติดตามการเมืองสหรัฐอเมริกา แม้กระทั่งประเทศไทยก็มี เช่น ผู้จัดกวน, หรือคุณจอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ เจ้าของ Spokedark TV

ในแง่หนึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการรับรู้ให้กับคนที่อาจจะไม่ได้มาอ่านเพราะตัวคอนเทนต์ แต่มาเพราะความตลกขบขัน ถึงกระนั้นการเกิดขึ้นของ Double Standard ก็มีคุณูปการกับ The Standard เช่นกัน คือ ถ้าคุณอยากจะอ่านให้รู้เรื่องว่าเขาแซะอะไร คุณก็ต้องกลับไปอ่านว่าต้นฉบับเขาเขียนอะไร ซึ่งผมคิดว่ามันมีประโยชน์

“การถือกำเนิดขึ้นของสำนักข่าวทั้งหลายเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้อ่าน เพราะในขณะที่สื่อมีอิสรภาพในการนำเสนอเต็มที่ ผู้อ่านก็มีอิสรภาพในการอ่านและจะเชื่อหรือไม่เชื่อ”

ผมไม่มีปัญหาว่าเขาจะเชิญใครมาเป็นคอลัมนิสต์ หรือเพื่อนๆ ที่ไปเป็นคอลัมนิสต์ผมก็ไม่ได้มีปัญหากับเขา เพราะถือว่าเขามีวิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ผมมีปัญหาอยู่นิดเดียวเท่านั้นเองกับเพื่อนๆ หลายคน

แต่คำถามของผมก็คือ เพื่อนๆ คนอื่นที่ไม่ได้เข้าไปเป็นคอลัมน์นิสต์ เข้าไปแสดงความเห็นด้วย เข้าไปให้หัวใจ เข้าไปเชียร์เพื่อนตัวเองที่ไปเป็นคอลัมน์นิสต์ ในขณะเดียวกันก็ไปกดด่าเพจเขา ไปคอมเมนต์ ผมคิดว่าอันนี้ไม่ถูกต้อง มันตลก

คุณยินดีที่เพื่อนคุณได้เข้าไปเป็นคอลัมน์นิสต์ แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่ชอบแพลตฟอร์มที่เพื่อนคุณไปเป็นคอลัมน์นิสต์ ผมคิดว่ามันย้อนแย้ง

“อรรคณัฐ” บอกว่า ผมส่งเสริมให้คนที่อยากจะสื่อสารอะไรก็สื่อสารออกมา เพราะในอนาคตแลนด์สเคปสื่อจะเปลี่ยนไปอีก เช่น องค์กรอย่างประชาไท หรือองค์กรอื่นๆ อาจจะมีข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ไม่สามารถที่จะเติบโตได้ ก็จะมีคนอย่าง คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ จากสำนักข่าวหงวนจัดให้ เป็นการทำไปด้วยอุดมการณ์ ไม่ได้เงินจากสิ่งที่ตัวเองทำ

“ผมคิดว่าในอนาคตเราจะมีแบบนี้ขึ้นมาเยอะขึ้นๆ ผมถือว่าเป็นสื่อใหม่ และผมคิดว่าเป็นเทรนด์ ถนนมันจะมุ่งไปสู่ทางนั้น ผมเรียกว่า individual media คือตัวเองคนเดียวเป็นสื่อ”

ความสับสนเรื่อง “สื่อใหม่”-สื่อเก่า

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยด้านสื่อใหม่เห็นว่า ทุกวันนี้มีความสับสนของคนทั่วไป หรือแม้กระทั่งตัวสื่อเอง ที่มักจะคิดว่าสื่อใหม่หมายถึงช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ โดยมุ่งหมายถึงตัวแพลตฟอร์มอย่างเดียว เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ซึ่งโซเชียลมีเดียก็ฝังตัวอยู่ในอินเทอร์เน็ต ก็เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่พัฒนาออกมาจากอินเทอร์เน็ต

เราไม่สามารถใช้แพลตฟอร์มมาเป็นตัวตัดสินได้ว่า เราเป็นสื่อใหม่หรือเราเป็นสื่อเก่า เพราะถ้าเกิดว่าเราใช้แพลตฟอร์ม ก็จะมีคำถามตามมามากมาย เช่น ตอนนี้อินทอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มใหม่ โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มใหม่ แล้วเรียกตัวเองว่าสื่อใหม่

แต่ในอนาคต ถ้ามีแพลตฟอร์มอื่นที่ใหม่กว่า เขาก็จะจำกัดความ (define) ตัวเองว่าเป็นสื่อใหม่ แล้วตัวเราที่เคยจำกัดความตัวเองว่าเป็นสื่อใหม่ ต่อไปเราจะจำกัดตัวเองว่าเป็นอะไร ฉะนั้น ผมคิดว่ามันมีปัญหาอย่างมาก เวลาที่เราเรียกตัวเองว่าสื่อใหม่ โดยใช้แพลตฟอร์มเป็นตัวตัดสิน

จริงๆ แล้วคำว่าสื่อใหม่ไม่ได้พึ่งมี แต่มีมาตั้งแต่สมัยปี 1920, 1930 สมัยที่พึ่งเริ่มมีวิทยุใหม่ๆ มีปัญญาชนเสนอว่า จริงๆ แล้ววิทยุสมัยก่อนเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ถ้าใช้วิทยุคู่กับโทรศัพท์ มันอาจจะเป็นรูปแบบของการสื่อสารที่คนที่เป็นผู้รับสาร ซึ่งแต่เดิมผูกขาดการเป็นผู้รับอย่างเดียว ก็สามารถที่จะเป็นผู้ผลิตสารได้ คำว่าสื่อใหม่ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนนั้น

ดังนั้น คอนเซปต์ของคำว่าสื่อใหม่ จริงๆ แล้วคือรูปแบบที่เปลี่ยนไป คือการเบลอเส้นแบ่งระหว่างผู้ผลิตคอนเทนต์กับผู้รับสาร คนที่เป็นผู้รับสารก็สามารถจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ นี่คือคอนเซปต์หลักของสื่อใหม่ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ประมาณเกือบ 100 ปีที่แล้ว

แต่พอเทคโนโลยีเปลี่ยน แลนด์สเคปของสื่อก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป มีโทรทัศน์ มีอินเทอร์เน็ต จะเห็นว่าภูมิทัศน์ของการใช้สื่อก็เปลี่ยนไป ซึ่งก็เป็นการต่อสู้ระหว่างการผูกขาดการเป็นผู้สร้างคอนเทนต์กับการผูกขาดการเป็นผู้รับ กับการที่พยายามจะสลายเส้นแบ่งระหว่างสองอันนี้

ดังนั้น จะไปดูที่ตัวแพลตฟอร์มอย่างเดียวไม่ได้ เช่น จะไปดูที่ตัว Facebook หรือ Line อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูที่พฤติกรรมด้วย อย่างเช่น ถ้าผมสื่อสารออกไปทาง Facebook แล้วมีคนพยายามมาปฏิสัมพันธ์กับผม แต่ผมไม่ได้สนใจหรือไม่ได้ไปโต้ตอบ ดีกรีความเป็นสื่อใหม่มันก็จะน้อยลง ทั้งๆ ที่ตัวแพลตฟอร์มมันเอื้อให้เกิดสิ่งนั้นได้ แต่ว่าเราก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์มัน มันก็ไม่ควรจะถือว่าตัวเองเป็นสื่อใหม่

เพราะฉะนั้น ไม่เฉพาะตัวแพลตฟอร์มอย่างเดียว แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย ดังนั้น ผมพยายามเสนอว่า เวลาที่เราจะเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อใหม่ มันมีคำจำกัดความอะไรที่เราใช้ในการเรียก

ถ้าใช้ตัวแฟลตฟอร์มอย่างเดียว ถามว่าผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์ เป็นสื่อใหม่หรือไม่ รูปแบบการนำเสนอหรือการผลิตก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไหร่ ช่องทางก็คือออนไลน์ ถ้าใช้ตัวแฟลตฟอร์มมอง เขาก็สามารถที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อใหม่ได้ ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่าก็ไม่ได้ใหม่อะไร

เหตุที่ต้องมี “สื่อใหม่”

ส่วนที่ว่าทำไมต้องมีสื่อใหม่หรือสื่อทางเลือก “อรรคณัฐ” อธิบายว่า โมเดลเดิมๆ ของการเป็นสื่อคือหารายได้ด้วยการขายตัวเอง สมมติเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ขายสิ่งพิมพ์โดยที่เอารายได้จากการขายสื่อสิ่งพิมพ์นั้นมาหล่อเลี้ยงองค์กร สินค้าคือเนื้อข่าว เป็นแบบนี้เสมอมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาแลนด์สเคปได้เปลี่ยนไป รูปแบบในการสร้างรายได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่รูปแบบการสร้างรายได้คือการขายสิ่งพิมพ์นั้น เปลี่ยนเป็นการขายโฆษณา การขายโฆษณาหมายความว่า นับคนที่เป็นผู้ฟัง ผู้ติดตาม (audience) ในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ (asset) ของเขา เวลาที่หนังสือจะไปขายก็ต้องบอกว่าพิมพ์กี่ฉบับ มีคนอ่านเท่าไหร่ ทุกวันนี้คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อใหม่ก็เป็นลักษณะอย่างนั้นเหมือนกัน ดูยอดฟอลโลเวอร์ ดูยอดไลค์เป็นหลัก

“สื่อเปลี่ยนคนที่เข้าไปติดตามคอนเทนต์ของเขาให้กลายมาเป็นสินทรัพย์ของเขาในการที่จะไปขาย มันก็จะเริ่มมีความยุ่งยากอย่างนี้ตามมา ก็เลยมีปัญหาในเรื่องของความโปร่งใส จะเชื่อมโยงกับจริยธรรมของคนเป็นสื่อ”

ถ้าเกิดว่าคุณรับเงิน รายได้ของคุณมาจากการโฆษณา แล้วมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณจะต้องวิพากษ์วิจารณ์คนที่เป็นเจ้าของเงิน คนที่มาซื้อโฆษณาคุณ คุณจะทำข่าวไหม ก็เลยมีการพัฒนาการของสื่อ คนที่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา เขาก็พยายามเสนอทางเลือกใหม่ๆ ออกมา

นิยามความเป็น “สื่อใหม่”

นักวิจัยสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมเรื่องสื่อใหม่ว่า ผมสนันสนุนให้ใครจะนิยามตัวเองว่าอะไรก็ได้ แต่ผมก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เรียกเขาว่าเป็นสื่อใหม่ อย่าง The Standard, Double Dtandard, The Matter, The Momentum, หรือ The101.world ผมไม่ได้คิดว่าเขาเป็นสื่อใหม่ในความคิดของผม

เขาอาจจะเป็นสื่อทางเลือกในแพลตฟอร์มใหม่ แต่ผมจะไม่เรียกเขาว่าสื่อใหม่ เพราะว่าสำหรับผม คนที่จะเป็นสื่อใหม่มันมีคุณค่าบางอย่างที่ต้องมีมากกว่าที่พวกเขามี คนที่เรียกตัวเองว่าสื่อใหม่ อย่างน้อยเขาต้องตอบได้ว่าเขามีอะไรใหม่ นอกจากไปอยู่ในแพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งใครก็อยู่ในแพลตฟอร์มนั้นได้

ก่อนหน้านี้ได้ทำงานวิจัยศึกษาสื่อในประเทศไทย เช่น ไทยพับลิก้า, TCIJ, ประชาไท ฯลฯ พบว่า แต่ละสื่อไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อใหม่ และสื่อเหล่านี้มีอะไรบางอย่างที่เป็นลักษณะร่วมอยู่ในดีกรีที่แตกต่างกัน

เช่น 3 อย่างที่ผมคิดว่าเขามีและเป็นสิ่งที่สำคัญ คือ 1. พยายามที่จะ “ลดทอนความเป็นสถาบันสื่อ” คำว่าสถาบันในที่นี้ก็หมายความทุกอย่าง ทั้งตัวองค์กร วิธีการบริหารงาน และไม่ได้มีคนที่ทำหน้าที่ในการจะเป็น gatekeeper หรือจะเป็นคนตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องของการเซ็นเซอร์ ถึงมี ก็มีน้อยมาก

2. “เป็นอิสระจากทุน” ก่อนหน้านี้มีการครหาสื่อมากเวลาไปรับเงินจากการโฆษณา ถามว่าสื่อเหล่านี้มีรายได้จากไหน ก็พบว่าเขามีรูปแบบธุรกิจ (business model) ที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง

เช่น บางคนก็ไปรับจ้างทำรายงานให้กับหน่วยงานอย่างยูเอ็น เพื่อที่จะเอารายได้จากส่วนนั้นมาใช้ในกิจกรรมของการเป็นสื่อของตัวเอง หรือขายเสื้อยืดบ้าง หรือรับเงินจากแหล่งทุน ซึ่งก็ไม่พ้นข้อครหาว่ารับเงินต่างชาติ แต่ว่าเขาก็ไม่ได้สนใจ เพราะเขารู้ว่าเขามีความโปร่งใส

บางคนก็รับจ้างผลิตคอนเทนต์เป็นเหมือนโกสต์ไรเตอร์ แต่ก็เอาเงินที่ได้จากการขายคอนเทนต์มาใช้ในองค์กรสื่อของตัวเอง นี่คือรูปแบบของเขาที่พยายามอย่างมากที่จะเป็นอิสระจากทุน

3. “ลดทอนความเป็นมืออาชีพ” ความเป็นมืออาชีพในที่นี้ไม่ได้หมายความคุณไม่ทำงานหรือขี้เกียจ แต่มืออาชีพในลักษณะที่ว่า สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพ เมื่อก่อนจะต้องเรียนนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชน

“แต่กรณีศึกษาของผมพบว่า เขาไม่ได้สนใจสิ่งนั้นเลย เขามองเรื่องของสื่อเป็นเพียงแค่ตัวกลางใน การส่งข่าวสาร (message) ไปยังผู้อ่าน ผู้ฟัง เขาสนใจตัว message มากกว่าช่องทางการนำเสนอ”

“หลักๆ คือมี 3 อย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่าอาจจะเอามาใช้ในการจำกัดความความเป็นสื่อใหม่ได้ ส่วนเนื้อหาดีหรือไม่ดี ผู้ติดตามจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าคุณห่วยหรือว่าคุณดี ถ้าคุณดี เขาก็ติดตามต่อ เขาอาจจะเอาเงินมาให้ บริจาคเงิน แต่ถ้าเกิดว่าคุณห่วย เขาก็ไม่เสียเวลาดู”

“เพราะฉะนั้น สื่อต่างๆ เหล่านี้ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด จะเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อใหม่ ต้องกลับไปถามตัวเองก่อนว่าคุณมีอะไรที่ใหม่หรือเปล่า หรือคุณแค่ผลิตซ้ำความเป็นสื่อเก่าแต่ อยู่บนช่องทางใหม่เท่านั้นเอง”

สื่อใหม่ เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมได้ดีกว่าสื่อเก่า?

ด้าน “พิมพ์สิริ” มองปรากฏการณ์เปิดตัว 2 สื่อใหม่ว่า ไม่แน่ใจกับคำพูดที่ว่า ลักษณะของสื่อใหม่ที่ทำได้ดีกว่าสื่อเก่าคือมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า คือมีพื้นที่ให้ผู้รับสารสามารถโต้ตอบหรือผลิตคอนเทนต์ในแบบของตัวเองได้ โดยประชาธิปไตยในที่นี้คือ มีพื้นที่ให้คนพูดกับมีวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม

ซึ่งหากมองปรากฏการณ์นี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำกล่าวนี้ก็อาจจะจริง เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศก็พยายามออกกฎหมายควบคุมสื่อ เป็นกฏหมายใหม่ที่ออกมาควบคุมพื้นที่ตรงนี้โดยเฉพาะ ฉะนั้น คำถามคือมันมีอะไรในพื้นที่ ที่ผู้กุมอำนาจรู้สึกว่าต้องควบคุม

“ดังนั้น ถ้าพูดถึงสื่อใหม่ อาจจะมีส่วนคล้ายกับสื่อเก่า แต่ส่วนที่มีเพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ “วัฒนธรรมการมีส่วนร่วม” และ “การเปิดพื้นที่” ให้ใครใดๆ ก็ตาม ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีชื่อเสียง หรือไม่จำเป็นต้องเป็นบรรณาธิการ คุณเป็นใครก็ได้ ถ้ามีเรื่องจะพูด”

และเมื่อภูมิทัศน์หรือสนามของสื่อเปลี่ยนไป โดยสนามของสื่อใหม่ไม่ได้ถูกควบคุมด้วยโดยคนใดคนหนึ่ง ต่อให้คุณพกเงิน 300 ล้านบาท หรือเป็นผู้เล่นใหญ่โตมาจากสื่อเก่า ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะควบคุมสื่อใหม่ได้ ซึ่งเห็นจากกรณี The Standard และ Double Standard ซึ่งมีข้อดีคือ เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม

พิมพ์สิริ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณี The Standard ก็มาจากสื่อเก่า ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจธรรมชาติที่เปลี่ยนไปจริงๆ ของแพลตฟอร์มใหม่ พอมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่มีคนรับสารผลิตคอนเทนท์ของตัวเองหรือตอบโต้ได้แบบทันท่วงที ก็เป็นเรื่องที่เขาอาจจะยังไม่เข้าใจเท่าที่ควรว่ามันเปลี่ยนไปมากจริงๆ

“ดังนั้น ถ้าหากมองการลงทุนหรือการออกตัวของ The Standard เขาอาจจะมาจากสื่อเก่าที่ขายรวมแพคเกจใหญ่ ทั้งบุคลิกผู้นำองค์กร, บุคลิกของทีม, จุดยืน ฯลฯ ซึ่งเขาก็ยกวิธีขายแบบนั้นทั้งก้อนมาใช้กับการอยู่ในแพลตฟอร์มใหม่”

“ส่วนตัวเห็นว่าเขาเคยประสบความสำเร็จมากๆ มาจากโมเดลเดิม โมเดล a day ที่ประสบความสำเร็จมากในการขาย แต่พอมาแนวทางเก่าในพื้นที่ใหม่ คนไม่เห็นด้วย อาจจะทั้งกับวิธีขาย หรือเนื้อหาที่นำเสนอ ก็มีการโต้กลับทันที”

Freedom of Speech ในสื่อใหม่

อย่างไรก็ตาม “พิมพ์สิริ” เห็นว่า การเกิดขึ้นของสื่อใหม่หรือสื่อทางเลือกจำนวนมาก ไม่น่าจะมีผลอะไรมากกับผู้อ่าน ต่อให้ไม่อ่าน The Matter , ไม่อ่าน The Momentum, ไม่อ่าน The101.world, ไม่อ่าน The Standard, หรือ Double Standard ก็ไม่เป็นอะไร

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันน่าจะเป็นปรากฏการณ์เรื่องพื้นที่มากกว่าการมีอยู่ของสื่อเหล่านั้น คือ ก็จะมีการพูดคุยกันว่า การเสนอบอยคอตโดยชาวเน็ต จริงๆ แล้วไปจำกัดเสรีภาพของสื่อหรือเสรีภาพของคนใดคนหนึ่งหรือเปล่า

เช่นเดียวกับในต่างประเทศเองก็มีการถกเถียงว่า การไปเสนอบอยคอตสำนักพิมพ์ เสนอบอยคอตสำนักข่าว หรือเสนอบอยคอตใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นการไปลิดรอนเสรีภาพของเขาหรือเปล่า

“แต่กรณี The Standard ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคน แต่เป็นบุคคลกับบุคคล คือ ไม่ได้มีเครื่องมือหรือไม่ได้มีอำนาจอะไรใหญ่โต ซึ่งหากมองในแง่สิทธิมนุษยชนถือว่าทำได้ เป็นเสรีภาพในการแสดงออกอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนมันไม่เหมือนรัฐกับคน คือเราไม่ได้จะไปแจ้งความเขาหรือจับเขาเป็นตัวประกัน แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกบอกว่า คุณก็ทำได้ แต่เราไม่สนับสนุน”

“พิมพ์สิริ” บอกว่า การมีพื้นที่แบบนี้ในสภาวะที่สังคมไทยเป็นแบบนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ในการโต้ตอบและตรวจสอบ เพราะพื้นที่ท้ายข่าวจะมีพื้นที่เล็กๆ ที่ให้คนเข้าไปแสดงความรู้สึก เข้าไประบาย ซึ่งพื้นที่ในทางกายภาพจริงๆ วันนี้มันไม่มีแล้ว แต่พื้นที่ดังกล่าวในสื่อใหม่ยังมีที่ทาง มีพื้นที่ให้หายใจได้มากกว่าพื้นที่กายภาพ