ThaiPublica > คอลัมน์ > ปล่อยนก บุญหรือบาป

ปล่อยนก บุญหรือบาป

22 กุมภาพันธ์ 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=CaV2vAPk8VQ
ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=CaV2vAPk8VQ

“ปล่อยนก ปล่อยปลา” เป็นสำนวนไทยซึ่งหมายถึงการปล่อยให้เป็นอิสระ พ้นจากการผูกมัด หรือการไม่ถือสาหาความ ไม่เอาผิด คำพูดนี้มาจากสิ่งที่ชาวพุทธกระทำกันมาช้านานในการปล่อยนกปล่อยปลาเพื่อเป็นการทำบุญ โดยหารู้ไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นโดยแท้จริงแล้วเท่ากับเป็นการทำบาปเพราะก่อกรรมทำเข็ญสัตว์

ในสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ คลิปสั้น “ปล่อยนก บุญหรือบาป” แพร่กระจายในโลกโซเชียลมีเดียอย่างหนัก ผู้เขียนได้ดูแล้วชอบมากเพราะตรงกับความคิดเห็นส่วนตัวที่มีมานาน คลิปนี้มีประโยชน์เพราะจะทำให้คนไทยตระหนักว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นตรงข้ามกับสิ่งที่เราตั้งใจอย่างน่าตกใจ

คลิปสั้นๆ นี้ถามว่า การให้อิสระภาพแก่นกที่ถูกจับมาเพื่อให้คน (จ่ายเงิน) ปล่อยนั้นคือการให้ซึ่งเสมือนการได้บุญหรือไม่ คำตอบก็คือมันมิได้เป็นการให้ หากเป็นการสร้างความทุกข์ทรมาน ทำให้ชีวิตพลัดพราก เกิดความตาย และนั่นคือบาป ถ้าไม่มีพิธีกรรมปล่อยนกกันก็ไม่มีใครจับนกมาใส่กรงให้ปล่อย และบาปก็ไม่เกิดขึ้น

ผู้ทำคลิปนี้คือสมาคมต่อต้านการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีคุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นักธุรกิจใหญ่ใจบุญ เป็นนายกสมาคม ซึ่งสมาคมนี้ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557

การปล่อยนกปล่อยปลาในสังคมพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่ว่าไทย ลาว กัมพูชา เมียนมาฯลฯ โยงใยกับเรื่องเล่าถึงผลบุญจากการให้ชีวิตของสามเณรติสสะ ศิษย์ของพระสารีบุตร ผู้มีชะตาถึงฆาตใน 7 วัน แต่ด้วยอานิสงส์จากการช่วยปลาในสระน้ำที่แห้งขอดกับการปล่อยเก้งจากแร้วของนายพรานจึงทำให้หลุดพ้นจากชะตากรรม

การให้ชีวิตในสังคมพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็มีเช่นกัน โดยผูกโยงกับพระสูตร “สุวรรณประภาสสูตร” หรือ “กิมกวงเม้งเก็ง” ซึ่งเริ่มปรากฏในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์เหลียงฝ่ายเหนือ (ค.ศ. 412-427) ดังนั้น การปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า ฯลฯ ในวัฒนธรรมจีนจึงมีการทำกันอย่างกว้างขวาง

สังคมปล่อยนกปล่อยปลาให้ความสุขอิ่มอกอิ่มใจในผลบุญจากการปล่อยให้สัตว์เป็นอิสระเป็นมาอย่างช้านานจนเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้รักสัตว์ในโลกตะวันตก ในปี 2012 นิตยสาร Scientific American อันมีชื่อเสียงมีบทความเรื่องพิธีกรรมของชาวพุทธในเอเชียในการปล่อยนก ที่ทำร้ายชีวิตสัตว์ตามธรรมชาติ

ข้อเขียนนี้บรรยายถึงชีวิตของชาวพุทธที่ชอบปล่อยนกยามเมื่อมีคนเจ็บไข้ มีทุกข์ มีเคราะห์ หรือสะสมบุญกุศล การกระทำนี้เรียกว่า “merit releases” (การปล่อยเพื่อให้ได้บุญ) ผู้เขียนได้ติดตามการปล่อยนกในกรุงพนมเปญอยู่ 13 เดือนจนได้ตัวเลขว่า ในแต่ละปีมีสัตว์ที่ผ่านการค้าเพื่อปล่อยในระดับท้องถิ่นนี้ไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัว อีกทั้งพบว่ามีนก 57 พันธุ์ที่ถูกจับอยู่ในกรง หลายพันธุ์อยู่ในรายการที่ใกล้สูญพันธุ์ นี่เป็นเพียงสถิติจากเมืองเดียวเท่านั้น

สำหรับฮ่องกงมีคนประเมินไว้ว่า ในวัดพุทธที่ฮ่องกงทั้งหมดมีการปล่อยนกไม่ต่ำกว่าปีละ 580,000 ตัว ตัวเลขของเอเชียทั้งหมดไม่มีใครศึกษาไว้ว่ามีจำนวนเท่าใด แต่คาดว่าน่าจะเกิน 5-10 ล้านตัวต่อปี ในบ้านเรานั้นมีอยู่ดาษดื่นในเกือบทุกวัดใหญ่ๆ ที่มีงานบุญ หากใช้ตัวเลขจากพนมเปญเป็นฐาน ตัวเลขน่าจะเป็นนับล้านตัวต่อปี

ในบ้านเรา กลุ่มนกกระติ๊ด (คล้ายนกกระจาบ) ซึ่งเป็นนกตัวเล็ก เป็นที่นิยมมากเพราะสามารถจับได้ครั้งละเป็นร้อยเป็นพัน ไม่กินพื้นที่กรงถึงแม้จะตายง่ายสักหน่อย วิธีจับก็คือใช้แหทอดในทุ่งนาตอนกลางคืนที่นกเหล่านี้นอนรวมกลุ่มกันบนพื้น เมื่อติดแหไนล่อนก็ต้องปลดแกะออก จำนวนหนึ่งก็จะตาย เมื่อขนส่งก็ตายอีก และเมื่อใส่กรงรอคนปล่อยก็ตายอีก เคยมีการคำนวณของสมาคมหนึ่งของไทยว่าจาก 100 ตัวที่ถูกจับมานั้น ที่ได้รับอิสรภาพกลับคืนไปมีประมาณ 10 ตัว

The Institute of Supervising Animal Epidemic Control of Guangzhou ในจีนประมาณว่าร้อย 90 ของนกที่ใช้ใน merit releases ตาย

ประการสำคัญก็คือ การจับและซื้อขายนกกระติ๊ดนั้นผิดกฎหมายอาญาเพราะเป็นสัตว์คุ้มครอง ทั้งผู้จับและผู้ค้ามีโทษทั้งปรับและจำ แต่เราก็เห็นการลักลอบทำธุรกิจนี้ซึ่งมีกำไรงดงาม ตัวหนึ่งได้ราคาปล่อย 30-50 บาท ต้นทุนตกประมาณ 5-10 บาท

การ “ทำบุญ” เช่นนี้จึงเป็นการทำลายสัตว์ตามธรรมชาติ รบกวนวงจรชีวิตและความสงบสุขของมัน เป็นการทารุณสัตว์อย่างมิต้องสงสัย และสำหรับนกนั้นอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสสารพัดชนิดได้ (ที่ร้ายแรงคือไข้หวัดนก H5N1)

สัตว์อื่นที่ปล่อย เช่น เต่า หอยขม ปลาไหล ฯลฯ ก็อาจมิใช่การทำบุญเช่นกัน เพราะหากปล่อยเต่าในน้ำเชี่ยวที่ไม่มีตลิ่งให้เกาะก็จะตาย หอยขมต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะ เช่น บึง คลอง ไม่ใช่แม่น้ำ ปลาไหลอยู่ไม่รอดในน้ำไหลแรง และปลาที่ซื้อจากตลาดและปล่อยในแม่น้ำก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะอาจช็อกในน้ำที่มีอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากที่เคยเติบโตมาได้

ถ้าไม่มีการซื้อ (จ่ายเงินเพื่อปล่อย) สัตว์ที่ถูกจับเหล่านี้มาก็จะไม่มีการจับมาเสนอขายอย่างแน่นอน เข้าทำนองดีมานด์สร้างซัพพลาย ลองจินตนาการว่าถ้าชาวพุทธทุกคนกระทำ merit releases ในรูปแบบอื่น (ปลดปล่อยอารมณ์โกรธ โลภ หลง หรือไม่บริโภคเนื้อสัตว์แทนการปล่อยสัตว์ที่ถูกจับมา) เราก็จะไม่เห็นการทารุณสัตว์ในวัดอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่นอน

การไถ่ชีวิตโคกระบือราคาสูงที่นิยมทำกันอย่างกว้างขวางก็เช่นกัน ผู้ที่รู้สึกอิ่มเอิบในบุญว่าได้ไถ่ชีวิตสัตว์แล้วนั้นเคยติดตาม ถามไถ่ หรือไปดูให้รู้แน่แก่ใจหลังจากนั้นหรือไม่ว่ายังมีชีวิตอยู่จริง อยู่ที่ไหน และมีความเป็นอยู่อย่างไร การได้ความอิ่มใจเพราะได้ไถ่ชีวิตโคกระบือแล้วโดยไม่ดูตอนจบนั้นไม่น่าถือว่าเป็นการทำบุญอย่างแท้จริง

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ได้สรุปเรื่องการทำบุญปล่อยชีวิตสัตว์ไว้อย่างเหมาะสมยิ่ง ดังข้อความต่อไปนี้

“…….หากพิจารณาในเรื่องของบุญบาปตามหลักพุทธศาสนา เคยบอกว่าการทำบุญปล่อยชีวิตสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ ต้องทำด้วยจิตมุ่งเป็นกุศลจริงๆ แต่ถ้านำสัตว์มาปล่อยแล้วอธิษฐานว่าสาธุ ขอให้การปล่อยนี้ ขอให้อายุยืน ขอให้ถูกหวย ขอให้หายซวย สิ่งนี้ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์เพราะมีเจตนาเคลือบแฝง เป็นการปล่อยเขาเพื่ออยากให้เราดีขึ้น เพื่ออยากให้เราหายทุกข์ หายโศก หายซวย อย่างนี้มันไม่ใช่การทำบุญ แต่เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นการลงทุนทางจิตวิญญาณก็ได้ เพราะเจตนาจริงๆ ไม่ได้ต้องการช่วยเหลือเขา แต่ต้องการช่วยตัวเองต่างหากโดยยืมชีวิตเขามาเป็นเครื่องมือ

ถ้าท่านเมตตาจริงๆ นะ ปล่อยให้นกอยู่บนฟ้า ปล่อยให้ปลาอยู่ในน้ำ นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ปล่อยให้สัตว์ได้อยู่อย่างสัตว์ นั่นแหละคือการปล่อยนกปล่อยปลาที่แท้จริง…….”

หมายเหตุ: ตีพิพม์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.ฉบับ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 21 ก.พ. 2560