ThaiPublica > คนในข่าว > “นรีภพ สวัสดิรักษ์” บรรณาธิการสกุลไทย ในความทรงจำ 62 ปี กับฉบับสุดท้าย 28 ตุลาคมนี้

“นรีภพ สวัสดิรักษ์” บรรณาธิการสกุลไทย ในความทรงจำ 62 ปี กับฉบับสุดท้าย 28 ตุลาคมนี้

25 ตุลาคม 2016


thaipublica-สกุลไทย

“ปรากฏการณ์ความพ่ายแพ้ของสื่อสิ่งพิมพ์ ความท้าทายต่อวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทย” เป็นหัวข้อเสวนาหนึ่งในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หนึ่งในผู้เสวนาวันนั้นมี “นรีภพ สวัสดิรักษ์” บรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย ที่ฉบับสุดท้ายจะวางแผง 28 ตุลาคม 2559นี้

“นรีภพ สวัสดิรักษ์” กล่าวบนเวทีเสวนาว่า “ขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นห่วงและให้กำลังใจมาตลอด ดิฉันขอเริ่มต้นพูดประโยคแรกประโยคหนึ่งก่อน ก่อนที่จะเล่ารายละเอียดให้ฟัง นั่นคือ ดิฉันมีความมั่นใจว่าสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษยังคงอยู่ได้ เราไม่ถึงกับพ่ายแพ้ ยังไม่เรียกว่าพ่ายแพ้ แต่จะคงอยู่อย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราต้องหารือปรึกษากันอีกที”

“ในฐานะที่เป็นคนทำหนังสือ คนทำหนังสือก็ต้องเดินหน้าตลอด เราถอยหลังไม่ได้ ทำไมสกุลไทยประกาศยุติว่าฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย ผู้คนถึงตอบรับกันทั่วประเทศ ทำไมสกุลไทยถึงเป็นสถาบัน เริ่มมาตั้งแต่ยุคแรกที่สกุลไทยเปิดตัววันที่ 1 พฤศจิกายน 2497 เราเป็นหนังสือที่ให้สาระบันเทิงสำหรับครอบครัว เป็นเวทีวรรณกรรม โดยมีนวนิยายเป็นหลัก และคอลัมน์ปกิณกะต่างๆ ในยุคแรกเรามีนวนิยายทั้งหมด 8 เรื่อง 8 ท่านที่เขียน เป็นนักเขียนผู้ชายทั้งนั้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีนักเขียนปรากฏนามขึ้น เช่น ก.สุรางคนางค์, ชอุ่ม ปัญจพรรค์, สุวัฒน์ วรดิลก นั้นเป็นช่วงในทศวรรษแรก ปี 2497-2523″

“นรีภพ”เล่าว่าหลังจากนั้น สกุลไทยเปิดเวทีนักเขียนมากขึ้น เมื่อเปิดให้มีเวทีนักเขียนมากขึ้น นวนิยายก็มากขึ้นตามลำดับ ทุกวันนี้เรามีนักเขียนนวนิยาย 20 กว่าท่าน ปัจจุบันลงนวนิยายจาก 8 เรื่อง เป็น 15 เรื่อง เราสร้างนักเขียนขึ้นมา เรียกว่านักเขียนรุ่นใหญ่ นักเขียนรุ่นกลาง และนักเขียนรุ่นที่กำลังแสดงตัว คือรุ่นใหม่ อีกอย่าง อัตลักษณ์ของสกุลไทยก็คือ เป็นนิตยสารฉบับแรกที่ลงรูปพระราชวงศ์ เรายึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนี้เป็นจุดยืนของเรา ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในวาระโอกาสต่างๆ ก็จะมีผู้อ่านมาขอคำปรึกษาในเรื่องของการเขียนคำถวายพระพร คำราชาศัพท์ ว่าใช้อย่างไร เรากลายเป็นสถาบันซึ่งผู้อ่านให้ความเชื่อถือ ให้ความมั่นใจกับเรา”

“หลังจากที่เราประกาศยุติไป มีกำลังใจและความห่วงใยเข้ามามากมาย มีเสียงของผู้อ่านโทรศัพท์เข้ามาที่บริษัททุกวัน ทุกวันนี้ก็ยังมีจดหมายเข้ามาจำนวนมาก บางท่านบอกว่า ขึ้นราคาเป็น 100 บาทก็ไม่เป็นไร ขอให้สกุลไทยอยู่ได้ ขึ้นค่าสมาชิก ก็ขอให้ขึ้น ถ้าอยากจะขึ้น ยอมเป็นสมาชิกเพื่อให้สกุลไทยอยู่ได้ เหล่านี้คือเสียงตอบรับจากผู้อ่านของเรา ดิฉันถึงเชื่อมั่นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงอยู่ได้ เพราะกลุ่มผู้อ่านของเราอยู่ในช่วงอายุ 30-80 ปี”

ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้อ่านรุ่นใหม่ ดิฉันเพิ่งได้รับจดหมายจากผู้อ่าน เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาเขียนมาทั้งหมด 3 ฉบับ ฉบับแรกใช้คำว่า “สาววัยรุ่นกลุ่มสารคดี” คือเขาอ่านสารคดีในนิตยสารสกุลไทย และตั้งกลุ่มขึ้นมา แสดงความเห็นส่งมาที่กองบรรณาธิการ พอ 2-3 อาทิตย์ต่อมา ดิฉันได้รับจดหมายฉบับที่สอง ใช้ชื่อเดียวกันว่า “สาววัยรุ่นกลุ่มนวนิยาย” แสดงความเห็นในนวนิยายต่างๆ ที่เขาอ่าน เขาบอกว่านวนิยายเรื่องนี้กินใจเขามาก ขอยกตัวอย่างเรื่อง ลายสลักอักษรา ของกฤษณา อโศกสิน ซึ่งเล่าบันทึกชีวิตตั้งแต่ก้าวย่างชีวิตเป็นนักเขียน ท่านเป็นนักเขียนของสกุลไทยตั้งแต่ยุคแรก ชีวิตการทำงานเป็นแบบอย่างให้นักเขียนรุ่นหลังๆ ได้ทำงาน คล้ายๆ เป็นต้นแบบให้กับคนรุ่นหลังในการทำงาน นี่คือกระแสของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในสกุลไทย เป็นนักศึกษา ไม่ก็เป็นลูกหลาน เพราะว่าหนังสือของเราเป็นหนังสือสำหรับครอบครัว จึงมีตั้งแต่ปู่ย่าตายาย คุณพ่อคุณแม่ ลูกหลาน ลูกเขาก็ได้อ่านได้จับต้อง”

thaipublica-สกุลไทย1

ดิฉันเห็นสกุลไทยมาตั้งแต่ดิฉันเล็กๆ ฉะนั้น การจับต้องหนังสือ การผูกพันกับนักเขียนเป็นสิ่งที่ให้ความรู้สึก ให้อารมณ์มาก เราอ่านเรื่องนี้แล้วเราร้องไห้ เราอ่านเรื่องนี้แล้วสอนอะไรเรา สื่อสิ่งพิมพ์นั้นให้ความรู้สึกกับเรา ให้ความผูกพันกับเรา

ดิฉันไม่ทราบ ดิฉันอาจจะเป็นรุ่นเก่าก็ได้ เพราะตอนนี้ก็อายุ 61 ปีแล้ว ผูกพันกับสิ่งพิมพ์มาตั้งแต่เล็ก ดังนั้น การที่เราจับหนังสือขึ้นมาสักเล่ม กลิ่นหมึก กลิ่นกระดาษ มันมีเสน่ห์ จับต้องได้ ตัวหนังสือ ตรงนี้เราอ่านแล้วเรากลัว เราหยุดอ่านไว้ เดี๋ยวเรามาอ่านต่ออีก คือเราไปที่ไหนก็สามารถสัมผัสหนังสือได้ ในขณะเดียวกัน ตัวอักษรที่มาทางดิจิทัล ดิฉันไม่ทราบว่าคนรุ่นใหม่ได้สัมผัสดิจิทัลแล้วจะมีความรู้สึกเหมือนดิฉันหรือเปล่า

อย่างหนึ่ง สังคมในยุคนี้ดิฉันมองว่า ยังมองไม่เห็นคุณค่าของนิตยสารซึ่งเป็นเอกสารอย่างหนึ่งในการบันทึกสังคมของเมืองไทย นิตยสารเล่มหนึ่ง นวนิยายก็เหมือนการศึกษาชีวิตของคนเรา ก็มีเรื่องราวมากมาย เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมเมืองไทยในยุคหนึ่ง ดิฉันขอฝากถึงคณะรัฐบาลชุดนี้ว่าได้มองเห็นความสำคัญตรงนี้หรือเปล่า ขออนุญาตพูดว่าสกุลไทยนั้นนอกจากจะลงนวนิยายเป็นหลักแล้ว คอลัมน์ต่างๆ บทความต่างๆ สารคดีต่างๆ ยังเป็นการกระจายข่าวสารให้กับเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของประชาชนหรือว่าของคณะรัฐบาล หรือกระทรวงต่างๆ เรามีทั้งกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร ที่เรานำเสนอมาตลอด

คุณไม่ต้องลงมืออะไรเลย แต่คุณใช้สื่อเล่มเดียวช่วยสื่อกระจายการทำงานของคุณ คุณมองเห็นความสำคัญตรงนี้หรือเปล่า ดิฉันไม่หวังว่าเขาจะมาอุ้มชูเรา แต่ว่าขอให้มองเห็นความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์คือวัฒนธรรมหนังสือ วัฒนธรรมการอ่านเป็นรากแก้วของสังคม ถ้าคุณจะสร้างคุณภาพของคนในประเทศของคุณ คุณจะต้องสร้างให้คนรู้จักการอ่านให้มากขึ้น

ดิฉันเพิ่งมาทำหน้าที่บรรณาธิการได้ 10 กว่าปี แน่นอน คนทำหนังสือก็ต้องรักหนังสือ ทำด้วยหัวใจ เมื่อหัวใจเราถูกกระชากออกไป ทำไมเราถึงจะต้องยุติ เราก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา ทำไมเราถึงต้องยุติ ดิฉันเคยให้ข่าวไปพอสมควรแล้ว ว่าเราได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ยุคต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540

ช่วงแรกสกุลไทยจะมียอดพิมพ์ประมาณ 200,000 เล่มต่อสัปดาห์ พอในช่วงต้มยำกุ้ง ยอดลดเหลือประมาณ 80,000 เล่มต่อสัปดาห์ สกุลไทยเป็นรายสัปดาห์ แน่นอนโฆษณาลดลงตามลำดับ พอในช่วงปี 2544 ก็ดาวน์ลงมาเรื่อยๆ จนปี 2548 โฆษณาลดลงๆ เรามองจุดนี้มาตลอด แล้วเราทำอย่างไร เมื่อโฆษณาลดลง เราจะขึ้นราคาหนังสือไหม เราขึ้นแค่สองครั้ง จาก 40 บาท ปัจจุบัน 55 บาท ซึ่งผู้อ่านบางท่านก็บอกว่าถูกเกินไป

ช่วง 4-5 ปีหลัง เราก็คิดว่าเราจะขึ้นราคาหนังสือไหม มีการประชุมกันในคณะผู้บริหาร คือเราไม่อยากปัดภาระตรงนี้ให้ผู้อ่าน เราพยายามปรับปรุงเรื่องราวเนื้อหาในเล่ม อาจจะลดหน้ากระดาษ สลับหมุนเวียนคอลัมน์ต่างๆ นิยายเรื่องนี้จบก็ยังไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาแทน ใช้วิธีการทำงานอย่างนี้ ขณะเดียวกัน สื่อยุคใหม่เข้ามาแทนที่ เมื่อสื่อยุคใหม่มีความเข้มข้นมากเท่าไหร่ นิตยสารก็ยิ่งต้องเข้มข้นมากเท่านั้น เราก็ปรับคอลัมน์ต่างๆ ให้เข้ากับสื่อยุคใหม่ เข้ากับคนรุ่นใหม่

นางนรีภพ สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย
นางนรีภพ สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย

“เราพยายามปรับปรุงเช่นนี้มาตลอด 4-5 ปี จนสุดท้ายเราแบกภาระหนักหนาสาหัสแบบนี้ไม่ไหว ก็เลยมีการประชุม และประกาศยุติในฉบับที่ 3237 ซึ่งจะวางแผงวันที่ 31 ตุลาคม และทราบมาว่าเขาจะออกเร็วขึ้นเป็นวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ทางฝ่ายจัดจำหน่ายจะมารับหนังสือที่บริษัท คิดว่าวันศุกร์ที่ 28 คงวางแผงแล้ว”

อย่างไรก็ตาม “นรีภพ” ได้เล่าต่อหลังงานเสวนาเพิ่มเติมอีกว่าสกุลไทยก่อตั้งเมื่อปี 2497 บรรณาธิการในช่วง 2-3 ปีแรก คือ คุณลมูล อติพยัคฆ์ ต่อมาปี 2502 คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ ผู้เป็นแม่ของ”นรีภพ” ก็มารับช่วงต่อเป็นบรรณาธิการ จนถึงปี 2547 โดยตนนั้นมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการในปี 2548 เพราะคุณแม่เสีย สำหรับผู้ที่ก่อตั้งสกุลไทยคือ คุณประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ และปัจจุบัน เจ้าของคือ คุณสันติ ส่งเสริมสวัสดิ์ มีลักษณะการทำงานที่เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน”

ในช่วงปี 2540 ที่มีสัญญาณถึงวิกฤติบางอย่าง เธอกล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่าเนื่องจากยังเป็นการทำงานของคุณแม่เป็นหลัก ตนจึงไม่ได้คุยลงลึกเท่าไหร่ การปรับตัวในช่วงนั้นมีเพียงขึ้นราคาหนังสือจาก 40 บาท เป็น 45 บาท ซึ่งสกุลไทยนั้นจะขึ้นราคาทีละ 5 บาท กล่าวได้ว่าจากอดีตถึงปัจจุบัน มีการขึ้นราคาเพียง 4 ครั้งเท่านั้น

“ไม่ได้คุยกับคุณแม่กันลงลึกมาก เพราะว่าก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของการทำงานของคุณแม่ บางทีคุณแม่ก็พูดให้ฟัง แล้วเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของสกุลไทยด้วย ก็ถามว่า มีผลกระทบต่อสกุลไทยไหม ก็มีผลกระทบทำให้เรา… ช่วงนั้นมีการเพิ่มราคาหนังสือ 40 บาท เป็น 45 บาท คือเราจะเพิ่มทีละ 5 บาท 40, 45 แล้วก็มา 55 บาท”

ในส่วนของความเป็นออนไลน์ สกุลไทยยังไม่ได้มีแผนจะเปิดตัวในรูปแบบดิจิทัลเต็มตัว หรือเป็นนิตยสารออนไลน์ ส่วน “สกุลไทยออนไลน์ดอทคอม” ก็ยังไม่ใช่นิตยสาร มีไว้เพียงลงบทความเก่าๆ ในสกุลไทย โดยมองว่ากลุ่มผู้อ่านสกุลไทย 80-90% ยังเป็นผู้อ่านที่ชินกับสื่อสิ่งพิมพ์อยู่

การจะเปิดสกุลไทยออนไลน์แบบเป็นนิตยสารเต็มตัวจึงเป็นเพียง “คิดอยู่นะคะ” จากปากของบรรณาธิการ พร้อมยืนยันว่า “มีศักยภาพพอ แต่ต้องดูกลุ่มผู้อ่านด้วย”

เมื่อถามถึงความรู้สึกของพนักงาน “สกุลไทย” เธอกล่าวว่า “ก็ร้องไห้ เสียดาย ผูกพันกันมานาน เพราะว่าเป็นพนักงานเก่าแก่ บางคนก็อยู่มานาน ก็เสียดาย เพราะผูกพันกัน”

“พนักงานของสกุลไทยมีประมาณ 70 กว่าคน บางท่าน คนที่ยังรุ่นๆ อยู่ก็สมัครงานต่อในด้านที่เกี่ยวกับความถนัดของเขา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีอายุ ก็จะกลับบ้าน” นรีภพกล่าว

สำหรับตัวของเธอเองนั้นจะทำอะไรต่อไป เธอบอกว่าคงจะมีเวลาเขียนหนังสือมากขึ้น ยังอยู่ในแวดวงหนังสือ เพราะนอกจากบทบาทของบรรณาธิการ เธอคือนักเขียนสารคดีซึ่งเคยมีงานเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมล้านนามาก่อน

พร้อมกันนั้น เธอก็เล่าต่อถึงปฏิกิริยาตอบรับของผู้อ่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สกุลไทยยังไม่มีแผนจะเปิดเป็นออนไลน์ว่า “หลังจากที่เราประกาศยุติไป ก็มีจดหมายจากผู้อ่านเข้ามาเยอะมาก ทุกสัปดาห์ มีเสียงโทรศัพท์เข้ามามาก ทุกคนให้ความเห็นว่า ขึ้นราคาก็ยอม ขึ้นค่าสมาชิกก็ยอม แต่ออนไลน์อย่าทำ ขอให้ยังเป็นสกุลไทยแบบนี้ เป็นหนังสือที่จับต้องได้”

เธออธิบายถึงการที่ทุกคนพูดถึงสกุลไทยว่าเป็นตำนานจากความเข้าใจส่วนตัวว่า นอกจากจะเป็นนิตยสารเล่มแรกที่ลงภาพพระราชวงศ์อย่างต่อเนื่อง ความหลากหลายของเนื้อหา และที่สำคัญคืออายุของนิตยสาร 62 ปี ซึ่งทำให้นักเขียนหลายท่านพูดถึงการปิดตัวนี้ว่า เสียดาย หรืออย่าง กฤษณา อโศกสิน ผู้เขียนนวนิยายลงสกุลไทยมาถึง 54 ปี ได้แสดง “ความอาลัยอย่างท่วมท้น” โดยกล่าวว่า

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมาหลายสิบทศวรรษนั้น ดิฉันเคยได้ยินคำว่า “สายฟ้าฟาด” หรือมิฉะนั้นก็ “ปลดฟ้าผ่า” ผ่านหูผ่านตาไปมาอยู่เนืองๆ แต่ถ้าถึงกับฟาดลงมาตรงๆ บนร่างกายหรือหัวใจของตัวเองนั้น คงจะต้องนับนิ้วกันสักนิด…หนึ่ง…สอง…สาม…สี่…ที่อาจสาหัสขนาดน้ำตานองหน้า

จากนั้นก็หลงลืมไปด้วยกาลเวลา

แต่ พ.ศ. 2505 นั้น เป็นปีที่ไม่เคยหายไปจากความระลึกถึง เนื่องด้วยคือปีที่ดิฉันแลเห็นตนเองเดินตามคุณประกาศ วัชราภรณ์ เพื่อนนักเขียนอาวุโสขึ้นบันไดชัน ค่อนข้างมืด ของตึกแถวบนถนนบำรุงเมืองไปสู่ชั้นสองอันเป็นกองบรรณาธิการบริษัทอักษรโสภณ ผู้ผลิต ‘นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์’ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2497 ได้พบผู้จัดการ คุณเกษม ส่งเสริมสวัสดิ์ แต่ยังไม่พบผู้อำนวยการ คุณประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ ผู้พี่ชาย ครั้นแล้ว คุณประกาศก็ออกปากฝากดิฉันเข้าเป็นนักเขียนหน้าใหม่ด้วยค่าเรื่องครั้งแรกตอนละ 250 บาท มีผลงานที่ได้รับการเผยแพร่มาแล้ว 13 เรื่องจาก ‘ศรีสัปดาห์’ และ ‘สตรีสาร’ เป็นประกัน โดย ‘สตรีสาร’ กำลังตีพิมพ์ ‘น้ำผึ้งขม’ ในปีนั้น

ดิฉันได้รับการต้อนรับจากสกุลไทยอย่างดียิ่งจนต้องขอบคุณเรื่อยมากระทั่งทุกวันนี้ ต่อจากนั้น จึงได้ส่งนวนิยายเรื่องแรก ‘ชลธีพิศวาส’ เป็นประเดิมทันที โดยสกุลไทยลงตีพิมพ์ให้อย่างเร็วจนดิฉันเองก็แปลกใจ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นามปากกา ‘กฤษณา อโศกสิน’ ‘กัญญ์ชลา’ ‘สไบเมือง’ ที่ต่อมา ดิฉันเกิดอารมณ์ประทับใจอยากเขียนนวนิยายแนวธรรมะ ก็ได้ลงตีพิมพ์ต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน โดยไม่เคยขาดหายไปแม้เพียงหนึ่งสัปดาห์ มีผู้อ่านเป็นกำลังใจ ติดตามผลงานอย่างสม่ำเสมอตลอดมา

จาก พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2559 คือปีนี้ ชีวิตการเขียนหนังสือของดิฉันอันมีเวทีใหญ่คือสกุลไทยรายสัปดาห์รองรับนับได้ทั้งสิ้น 54 ปี เป็น 54 ปีที่อาจกล่าวได้เต็มปากว่าอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกับญาติสนิทมิตรสหาย อันได้แก่ คุณประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง และคุณสันติ-วราภรณ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ ทายาทผู้สืบทอดกิจการ พร้อมพรักด้วยเพื่อนนักเขียนทั้งรุ่นเดียวกัน รุ่นน้อง ลงมาจนถึงรุ่นหลาน

มีผู้อ่านเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ขับเคลื่อน

บรรณาธิการบริหารผู้ล่วงลับ คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ และคุณนรีภพ สวัสดิรักษ์ จิระโพธิรัตน์ ผู้รับช่วงต่อตำแหน่งนี้ย่อมทราบดี

ครั้นแล้ว ทุกชีวิตก็เดินทางมาถึงวันสุดท้าย วันที่สายฟ้าได้ฟาดลงบนเส้นทางของนิตยสารอายุ 62 ปี จนถึงแก่ต้องปิดตำนานอันเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญอีกหน้าหนึ่งของโลกนิตยสารไทยลงในฉบับสุดท้าย 3237 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559

ขอได้รับความรักความอาลัยอย่างท่วมท้นจากนักเขียนคนหนึ่งของนิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์ กฤษณา อโศกสิน”

เมื่อถามย้ำว่า “การยุติ” นี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่ ยื้อไม่ไหวจริงๆ หรือ นรีภพกล่าวว่า “เราถึงภาวะที่หนักหนาสาหัส เราแบกภาระนี้ไม่ไหวแล้ว เราจำเป็นต้องประกาศยุติการจัดทำสกุลไทย”

นรีภพยังยืนยันว่า การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ใช่ข้อผิดพลาด เป็นด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้โฆษณาลดน้อยไปด้วย โฆษณาเทไปที่ดิจิทัล หนังสืออยู่ได้ก็ด้วยโฆษณา ขณะเดียวกัน ผู้อ่านของเรายังคงที่ ผู้อ่านไม่ลด

นรีภพกล่าวว่า “ก็เสียดาย เสียดายเวทีวรรณกรรม คล้ายๆ ว่าเป็นไม้ใหญ่ของวงการนักเขียน เสียดาย เสียดายมาก ในฉบับสุดท้ายเราก็ทำในธีม ‘ความทรงจำ’ ซึ่งเราก็ไม่อยากจากไปในแบบความเศร้า เราก็ให้ความสุขแก่ผู้อ่านจนถึงวาระสุดท้าย”

สำหรับอนาคตของสกุลไทย จะหวนกลับมาอีกหรือไม่ นรีภพเองหวังไว้อย่างนั้น “หวังว่านะคะ หวังว่าอย่างนั้น” แต่ก็ไม่ได้บอกอะไรกับเรามากไปกว่านี้

นรีภพบอกว่า จุดเด่นของ “สกุลไทย” คือ “เรายึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ และนโยบายหลักของเรา คือ นวนิยาย ซึ่งเหมือนกระดูกสันหลังของคน แล้วที่เป็นอัตลักษณ์ของสกุลไทย คือ ภาษา ดังนั้นเรื่องที่จะเข้ามา วรรณศิลป์ต้องใช้ได้ ต้องผ่านการกลั่นกรอง กว่าจะถึงมือผู้อ่าน อย่างที่อาจารย์ไพฑูรย์ ธัญญา บอกว่าใครได้ลงสกุลไทย คือรู้สึกว่าดีมาก

เราก็จัดการประกวดนวนิยายมาหลายยุค ทั้งประกวดด้านร้อยกรองบ้าง เรื่องสั้นบ้าง ก็มีนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ส่งเข้ามา บางท่านก็ไม่เคยเขียนมาก่อนก็ได้รับรางวัล เพราะว่าเรื่องของเขาดี เรื่องจับใจ สนุก ก็ผ่านแล้ว คือคุณภาพต้องมา ถ้าภาษาดี คุณภาพมา ตามมาเรื่อยๆ ภาษาดี วรรณศิลป์ดี ตัวภาษา เวลาเราเขียนหนังสือ ตัวหนังสือหรือสำนวนของคนคนนั้นจะเป็นตัวบ่งบอกความคิดของคนนั้น ถ้าเขาเขียนดี แสดงว่าคนนี้มีความคิดลึก มีความคมลึก ความคิดของเขาคม

นางนรีภพ สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย
นางนรีภพ สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย

ในเรื่องของความเฉพาะของเนื้อหาเรื่องราชวงศ์ นรีภพกล่าวว่า ตนจบจิตรลดารุ่น 4 เป็นรุ่นน้องของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นรุ่นพี่ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

“เพราะอยู่มาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เราก็เลยใกล้ชิดกับท่าน และได้เข้าเฝ้าในงานโรงเรียนทุกปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จมางานโรงเรียน เราก็ได้ใกล้ชิดกับพระองค์ท่าน เพราะโรงเรียนเราตอนที่อยู่ตอนนั้นไม่ได้ใหญ่มาก ตอนนั้นเข้าไปเมื่อตอน ป.5 เจ้าฟ้าหญิงองค์เล็กอยู่ ป.4 สมเด็จพระเทพพระรัตน์ฯ อยู่ ป. 6 แล้วก็เขามีชั้นละห้องเอง ป.5 1 ห้อง ป.4 1 ห้อง แล้วนักเรียนไม่เยอะ”

“อย่างตอนจบ มศ.5 แผนกศิลป์ มีแค่ 7 คน วิทย์มีแค่ 20 คน ฉะนั้น ห้องหนึ่งมีประมาณ 30 กว่าคน เขารับไม่เยอะช่วงนั้น สอบเข้าแล้วเข้าได้ แต่ช่วงหลังก็มีหลายห้องเยอะขึ้น ให้โอกาสกับคนข้างนอกเข้ามาเรียน ก็ถือว่าเป็นโชคดี วาสนาดี ที่ได้เข้าไปเรียน และได้เข้าเฝ้า เวลาวันเฉลิมฯ ที เราก็เดินจากโรงเรียนไปตำหนักจิตรลดา ก็เรียกว่าไม่ไกลนะ คือ บางทีชั่วโมงพลศึกษา คุณครูก็จะพาเดินจากโรงเรียนไปพระตำหนัก เพราะพระตำหนักด้านหลังจะเป็นสระบัวใหญ่ๆ คุณครูก็ให้วิ่งรอบ บางทีก็เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯท่านยืนดูตรงหน้าต่าง ดูว่าพวกเราทำอะไรกัน หรือวันเฉลิมของพระองค์ท่าน เราก็เดินจากโรงเรียนไปถวายพระพรที่พระตำหนัก ก็คือความใกล้ชิดกับราชวงศ์ แล้วก็คุณแม่ท่านก็มีเพื่อนเป็นพระพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ความใกล้ชิดตรงนี้ พอมาทำหนังสือสกุลไทย ก็เลยขอเรื่องท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน เขียนมาให้ คือการได้รับโอกาสตรงนี้ ทำให้ผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวที่ไม่เคยอ่านมาก่อน ของราชวงศ์”

“ตื่นเช้ามา สมเด็จพระราชินีทำไข่ดาวให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ข้างๆ มีหนังสือพิมพ์วางอย่างนี้ คือผู้ที่ใกล้ชิดเขียนลง อันนี้เป็นมุมมองหนึ่งซึ่งประชาชนทั่วไป อยากจะอ่านในชีวิตธรรมดาของท่าน ที่ไม่ใช่ภาพข่าวทั่วไป อันนี้คือเราก็ต้องขอบคุณทุกท่านที่เขียนเรื่องของราชวงศ์ให้เรา ก็มาในช่วงหลัง อย่างคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ซึ่งท่านก็เขียนเรื่องของราชวงศ์มาตลอด ท่านเป็นราชบัณฑิต เป็นศิลปินแห่งชาติ ท่านควบคุมคอลัมน์สโมสรสมานมิตรในสกุลไทย ซึ่งเป็นคำกลอน ท่านเขียนคำถวายพระพรมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ช่วงหลังท่านมาเขียนเรื่องของราชวงศ์ เขียนเรื่องของพระราชภารกิจ เราก็ได้ผู้ที่ใกล้ชิดท่านมาเขียน” นรีภพเล่าถึงเนื้อหาอันเป็นจุดเด่นหนึ่งของสกุลไทย

นี่เป็นอีกบันทึกหน้าหนึ่งของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทย