ThaiPublica > เกาะกระแส > ทรงดนตรี วันที่รอคอย

ทรงดนตรี วันที่รอคอย

28 ตุลาคม 2016


อานิก อัมระนันทน์

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/anik.amranand?fref=ts
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/anik.amranand?fref=ts

ความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างพสกนิกรไทยกับองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพื้นฐานจากพระราชกรณียกิจที่มากมายและล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตลอดจนการวางพระองค์ในแบบที่ประชาชนรู้สึกว่า “เข้าถึง” ในช่วงหลังๆ ประชาชนจำนวนมากรู้สึกใกล้ชิดและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณจนพากันขนานพระนามว่า “พ่อหลวงของแผ่นดิน”

พสกนิกรจำนวนมากมีทั้งประสบการณ์ตรง และประสบการณ์ทางอ้อมเกี่ยวกับพระองค์จากการรับรู้ข่าวสารกับการบอกเล่าสิ่งเหล่านั้นจากผู้มีประสบการณ์ตรง ด้วยทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ทุ่มเทมาก หากสามารถนับจำนวนคนที่มีประสบการณ์ตรงที่ได้มีสัมผัสพระองค์ท่านได้ ก็คงไม่แปลกใจถ้าส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนคนธรรมดาๆ โดยเฉพาะผู้ยากไร้และผู้อยู่ห่างไกลทุกหัวระแหงมากกว่ากลุ่มคนที่มีฐานะหรือฐานันคร

ประชาคมกลุ่มหนึ่งที่พระราชทานโอกาสให้ได้ “เข้าถึง” คือเหล่านิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งก็มาจากหลายภูมิภาคหลากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นกลุ่มที่จะมีบทบาทหรือผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและสังคมในอนาคต นอกจากการเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองในอดีตเมื่อยังมีมหาวิทยาลัยไม่มากนัก ยังพระราชกรณียกิจพิเศษคือ การเสด็จทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ที่มหาวิทยาลัยหลักๆ ของรัฐ

หนึ่งนั้นคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ รวม 11 ปี ปีละครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2506 – 2516 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญถวายงานเป็นโฆษกทุกปี

จากการบอกเล่าของนักศึกษายุคนั้น “วันทรงดนตรี” เป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง หลายคนพูดว่าเป็นวันที่ “มีความสุขมาก” “รอคอยกันทุกปี” เป็นที่ “ติดตาตรึงใจ” นอกจากพระปรีชาสามารถทางดนตรีที่ประจักษ์แล้ว ที่มีความหมายยิ่งคือ บรรยากาศของงานที่มีความสนุกสนานและอบอุ่น พระองค์พระราชทานเพลง “ยูงทอง” และพระราชทานปลูกต้นหางนกยูงซึ่งกลายเป็นสัญญลักษณ์ใหม่ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย

นักศึกษาไปร่วมกันอย่างล้นหลาม ดร.เสรี วงศ์มณฑาเล่าถึงบรรยากาศว่า “โอ้โหย สนุกสนานมาก เราไปอออยู่หน้าประตูตั้งแต่ประตูยังไม่เปิด…ก็ต้องแย่งกัน เข้าไปรอต้องพกเสบียงเข้าไป คือได้ที่นั่งถ้าลุกก็เสียม้าอ่ะ …ครั้งหนึ่งได้นั่งแทบพระบาทเลยคือแย่งที่นั่งได้บนเวที”

มีบรรยากาศของการให้นักศึกษามีส่วนร่วม เช่น ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุลเล่าว่าปีหนึ่ง ดร.อดุลกราบบังคมทูลว่า “ปีนี้ธรรมศาสตร์มีคนดีอยู่คนนึง เต้นเก่งมาก ขอประทานพระราชานุญาตให้เชิญขึ้นมาเต้น แล้วเพื่อนผมที่ชื่อเนื่องพรก็ขึ้นไปเต้น พระเจ้าอยู่หัวทรงยืนเป่าแซ๊กโซโฟนให้เต้น ท่านไม่ถือพระองค์เลย”

คุณเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยาในฐานะผู้หนึ่งที่ได้เคยตามเสด็จทรงดนตรีในมหาวิทยาลัยต่างๆ เล่าว่า ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีความเป็นกันเองอยู่แล้ว แต่ธรรมศาสตร์มี ดร.อดุลเป็นพิธีกรที่ “เป็นคนกล้า มีลูกเล่น มีการโต้ตอบกันอย่างสนุกสนาน ทำให้ทุกครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จมาทรงดนตรีจะมีความเป็นกันเองมากขึ้นระหว่างครูอาจารย์ นักศึกษา และพระองค์ท่าน”

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเล่าว่า ดร.อดุลเป็นโฆษกที่ “ได้มีการพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในหอประชุมใหญ่ หยิกหยอกระหว่างบรรทัดอย่างมีสไตล์ที่สุภาพ…จนทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลุกจากพระที่นั่งไปที่ไมโครโฟนด้านหน้าเวที และทรงหยอกล้อแซวกลับอยู่หลายครั้ง สร้างความครื้นเครงมีเสียงเฮฮาและปรบมือเป็นระยะๆ”

จากพระราชดำรัสในงานทรงดนตรีที่สามารถค้นหาอ่านได้ (บางปี) ในเว็บไซต์ของสำนักราชเลขาธิการ จะเห็นว่าทรงทันสมัยมากๆ ทรงพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ประชาธิปไตย การเดินขบวน การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น หรือวิกฤตการณ์ผู้ก่อการร้ายบุกจับตัวประกันในสถานทูตอิสราเอลที่กรุงเทพฯ

ทรงพระราชทานข้อคิดหลายๆอย่าง รวมทั้งทรงเตือนสติและใช้พระอารมณ์ขันทั้งในเรื่องเบาๆ และเรื่องหนักๆ เช่น ปี2512 หลังจากการเลือกตั้งที่ “จวนจะมีรัฐบาลใหม่แล้วด้วย จะเป็นรัฐบาลใหม่เก่าเก่าใหม่ก็๋ไม่ทราบ (เสียงปรบมือ) ..แต่อย่างไรๆ เราก็ต้องมี… หลังจากมีรัฐบาลก็จะขาดอีกอย่างคือการยึดอำนาจ แต่…จะมีความจำเป็นหรือเปล่า…”

ในปี 2516 ทรงทราบว่ามีความขัดแย้งบางอย่าง “ถ้าท่านมีข้อขัดแย้งอะไรต่างๆ ก็ขอให้ช่วยกันคิด แล้วก็ปรองดองกัน หรือแม้จะโต้กันก็โต้อย่างมีเหตุผล แล้วปัญหาก็จะสลายไปเอง …ถ้ามัวแต่คิดที่จะโต้แย้งแล้วเอาหัวชนฝา ฝาอาจจะพัง และเมื่อฝาพังเราก็จะไม่มีที่อาศัย”

ทรงเน้นย้ำว่ามิได้พระราชทานโอวาทแบบเก่าที่สำเร็จรูป ที่ผู้ใหญ่มาสั่งผู้น้อยว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พระองค์พระราชทานโอวาทแบบสมัยใหม่คือ ให้กลับไปคิดต่อเองที่บ้าน

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานความเป็นกันเองทำให้ทรง “เข้าถึง” นิสิตนักศึกษา จึงไม่แปลกที่ในเหตุการ์คับขัน 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษาว่ายน้ำข้ามคูรอบวังสวนจิตรลดาเข้าขอพึ่งพระบารมี แล้วก็ “เข้าถึง” พระองค์ อันเป็นปัจจัยสำคัญให้คลี่คลายวิกฤตและเปิดศักราชใหม่ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของประเทศไทย

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2559 (ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิใช่ขององค์กรใด)