ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมความประทับใจเเรกจึงน่ากลัว

ทำไมความประทับใจเเรกจึงน่ากลัว

13 สิงหาคม 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ไม่ทราบคุณผู้อ่านเคยได้ยิน cognitive bias ที่มีชื่อว่า anchoring effect (anchor ที่เเปลเป็นภาษาไทยว่าสมอเรือนั่นเอง) กันหรือเปล่าครับ

anchoring effect (หรือที่ผมชอบเรียกมันว่า “the first impression” หรือความประทับใจเเรก effect) เป็นการใช้เรียกอาการ “เชื่อปักใจ” ของคนเราไปกับสิ่งของ หรือภาพพจน์ หรือวิธีการคิดที่เราสร้างขึ้นมาตอนที่ประสบกับสิ่งนั้นๆ หรือคนนั้นๆ หรือไอเดียนั้นๆ เป็นครั้งเเรกจนเกินไป เเละ anchoring effect ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะไม่เปลี่ยนเเปลงความคิดของตนเองถึงเเม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายว่าเขาควรจะเปลี่ยนความคิดดั้งเดิมที่เขามีมาตั้งนานเเล้ว

ผมจะขอยกตัวอย่างบางตัวอย่างของ anchoring effect มาให้ดูกันนะครับ

อย่างเเรกเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวหน่อย ผมจำได้ว่าผมต้องใช้เวลานานมากเลยกว่าจะโน้มน้าวให้น้องสาวของผมยอมรับฟังในสิ่งที่ผมพูดเวลาที่ผมพูดถึงทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์เเละการบริหารธุรกิจให้เธอฟัง (ถึงเเม้ว่าผมจะเรียนจบเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์มา มีตำเเหน่งเป็นถึงศาสตราจารย์ทางด้านนี้ เเละเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ติดระดับโลกในเรื่องของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็ตาม) เวลาคุยกันเรื่องธุรกิจทีไร น้องสาวของผมมักจะเชื่อคนอื่น (ที่อาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญหรือความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เสียเท่าไหร่นัก เเต่อาจจะเคยมีประสบการณ์นิดๆ หน่อยๆ ในการทำธุรกิจ) มากกว่าผมทุกที นั่นก็เป็นเพราะว่าในจิตใต้สำนึกของน้องสาวผมนั้น first impression ที่เธอมีให้กับผมมันไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก เเต่เป็นพี่ชายที่ตอนเด็กๆ เคยขี้เเย อ่อนเเอ ร้องไห้บ่อยๆ ต่างหาก

ตัวอย่างที่สอง เป็นเหตุการณ์ที่เราสามารถพบเห็นกันได้ทั่วไป นั่นก็คือผู้ใหญ่หลายๆ คนในสังคมของเราไม่สามารถที่จะมองลูกหลานของตนได้ว่าพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่เเละไม่ใช่เด็กน้อยที่ไร้เดียงสาอีกต่อไปแล้วนะ เเละด้วยเหตุผลนี่นี่เอง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ ครั้งที่ไอเดียหรือวิถีการคิดของลูกหลานมักจะถูกพ่อเเม่เเละผู้ใหญ่หลายๆ คนเเสดงถึงความไม่เห็นด้วย หรือให้น้ำหนักน้อยกว่าที่ควรจะให้ ก่อนที่จะฟังเหตุผลของพวกเขาด้วยซ้ำไป นั่นก็เป็นเพราะว่าพ่อเเม่หลายๆ คนมักจะไม่สามารถทิ้ง first impression ที่พวกเขามีต่อลูกหลานของตัวเองได้

ตัวอย่างที่สาม เป็นตัวอย่างที่ได้มาจากการทดลองในห้องเเล็บจริงๆ ของเเดเนียล คาห์เนมาน (Daniel Kahneman) เเละเอมอส ทเวอร์สกี้ (Amos Tversky) ซึ่งในการทดลองนี้เขาทั้งสองได้ให้เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งคำนวนผลคูณของเลขดังต่อไปนี้ในหัวโดยใช้เวลาเเค่ 5 วินาทีเท่านั้น

1 x 2 x 3 x 4 x 5 x 6 x 7 x 8

เเละเขาก็ให้เด็กนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งคำนวนเลขดังต่อไปนี้โดยใช้เวลาเพียง 5 วินาทีเท่ากัน

8 x 7 x 6 x 5 x 4 x 3 x 2 x 1

ปรากฏว่าคำตอบที่นักเรียนกลุ่มเเรกคำนวนได้ เมื่อเฉลี่ยเเล้ว เท่ากับ 512

ส่วนคำตอบที่นักเรียนกลุ่มที่สองได้ เมื่อเฉลี่ยเเล้ว เท่ากับ 2,250 (คำตอบที่ถูกต้องก็คือ 40,320 นะครับ)

สรุปก็คือ เรามักที่จะปักใจ หรือให้น้ำหนักกับข้อมูลที่เราพบเจอตอนเเรกๆ มากจนเกินไป ซึ่งก็อาจจะทำให้การตัดสินใจอะไรๆ ของเราในอนาคตไม่ optimal อย่างที่มันควรจะเป็นได้นะครับ

เพราะฉะนั้น เรามาลองตั้งคำถามให้กับตัวเองดูว่า มีอะไรบ้างในชีวิตเราที่เราน่าจะเจอกับ anchoring effect ในการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน

อ่านเพิ่มเติม

Tversky, A. and Kahneman, D., 1975. Judgment under uncertainty: Heuristics and biases. In Utility, probability, and human decision making (pp. 141-162). Springer Netherlands.