ThaiPublica > เกาะกระแส > DIB Talk ธุรกิจคิดต่าง (1) : ณัฐพงศ์ เทียนดี Spokedark TV – อัดผู้ชมให้อยู่หมัด มัดใจให้อยู่ และจะต่อยอย่างไรให้เจ็บนาน

DIB Talk ธุรกิจคิดต่าง (1) : ณัฐพงศ์ เทียนดี Spokedark TV – อัดผู้ชมให้อยู่หมัด มัดใจให้อยู่ และจะต่อยอย่างไรให้เจ็บนาน

4 ธันวาคม 2015


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 บริษัท ป่าสาละ จำกัด จัดเสวนา Do it Better Talk (DIB Talk) ครั้งที่ 3 เป็นการเสนอความคิดของคนที่อยากทำให้โลกดีขึ้น ด้วยธุรกิจคิดต่าง (Do it Better by Unconventional Business) โดยมีวิทยากร ได้แก่ ณัฐพงศ์ เทียนดี จากสถานีโทรทัศน์ออนไลน์ SpokeDark.TV, สายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา จากโรงแรมบ้านท้องทราย เกาะสมุย, แสงเดือน ชัยเลิศ จาก Elephant Nature Park จ. เชียงใหม่ เจ้าของรางวัล Hero of Asia จากนิตยสาร Time, วรวิทย์ ศิริพากย์ จากปัญญ์ปุริ (Panpuri) และ ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ จาก ชูใจ กะกัลยาณมิตร

นายณัฐพงศ์ เทียนดี
นายณัฐพงศ์ เทียนดี

“ณัฐพงศ์ เทียนดี” เล่าถึงความเป็นมาของ Spokedark TV ว่า เดิมจาก iHere TV แล้วแตกตัวมาเป็น Spokedark TV ถือว่าเป็นสื่อออนไลน์ในยุคแรกๆ ผู้ก่อตั้ง คือ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์, จรรยา วงศ์สุรวัฒน์, วรชาติ ธรรมวิจินต์, นภัสสร บุรณศิริ และตน โดย 3 คนในกลุ่มมีอาชีพเดิมเป็นดีเจ จึงอยากมีรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเอง

มีอุปสรรคแรกเริ่มคือการนำเสนอความคิดนี้ไปที่สถานีโทรทัศน์ซึ่งอิงกับอำนาจรัฐบาล และไม่มีทุนจำนวนหนึ่ง ดังนั้นจึงหาช่องทางอื่น ก็คืออินเทอร์เน็ต ที่เข้าถึงคนทั่วไปได้ และมีโปรดักชั่นเฮ้าส์อยู่แล้ว ก็เอื้อต่อการทำรายการ ยุคนั้นคนดูยังมีน้อย คลิปหนึ่งมีเพียง 20-30 วิวถือว่าดีแล้ว หากมียอดวิวถึง 100 วิว ถือว่าเกินคาด

ณัฐพงศ์กล่าวว่า “ความคิดของทีมงานมีไม่จำกัด ทำงานครีเอทีฟ มันเลยเพ้อ มีความคิดการผลิตรายการมากมาย ก็เอาไปเดโมกับช่อง และช่องก็บอกว่าขายไม่ได้หรอก จึงคิดกันในกลุ่มว่ารายการเราก็ดีนะ ทำไมช่องไม่ให้เราพิสูจน์ตัวเองเลย จึงพยายามปรับเอารายการพวกนั้นมาทำในอินเทอร์เน็ต ซึ่งอีกปัจจัยที่สำคัญคือความอยากที่จะสื่อสารกับคน ชอบแสดงตัวตน อยากให้คนอื่นรู้ว่าฉันคิดอย่างนี้ อยู่เฉยๆ ไม่ได้ รวมๆ ก็คือเป็นพวกสื่อสารมวลชนนั่นแหละ

ประกอบกับว่ายูทูบเข้ามาพอดี จึงคิดว่านอกจากเราจะอัปลงเซิร์ฟเวอร์แล้ว เรากระจายไปในยูทูบด้วย อีกเรื่องคือ ค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ราคาแพง และตอนนั้นยังไม่มีรายได้ ซึ่งในยูทูบฝากไฟล์ฟรี มีคนดูเพิ่มขึ้นในยูทูบ

ในยุคแรก หลังจากมียูทูบสักพักก็มีเฟซบุ๊ก เริ่มมีคนมาติดตาม ก็ยังขายยากอยู่ เพราะมีคนไลค์ในเฟซบุ๊กเพียง 5,000 คน แต่ก็มั่นใจว่าขายได้ เข้าหาลูกค้าด้วยความมั่นใจ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เราก็ไปทุบโต๊ะ บอกว่าผมมั่นใจมากครับ รายการของเรามีคนดูมากและมีคนติดตามถึง 5,000 คน แต่ละคลิปมีคนดูหลัก 5,000 คน ถ้าคุณมาซื้อโฆษณากับเรา เทียบกับการซื้อใบปลิว ลองคำนวณดู ค่าพรีเซนเตอร์ ค่าถ่าย ค่าคนแจกใบปลิว ค่าพิมพ์ ซื้อกับเราแล้วราคาถูกกว่า ทุกคนอึ้ง ถามกลับมาว่ารายการออกอากาศวันไหน ผมบอกว่าออนไลน์ครับ ออกอากาศ 24 ชั่วโมง

แล้วมีผังรายการไหม ไม่มีครับ แล้วใครดู สถิติในยูทูบจะจำแนกได้ว่ามีเพศอะไร วัยอะไร ทุกคนก็เงียบไป ท่ามกลางความเงียบ มีคนหนึ่งที่ดูวัยรุ่น ก็พูดมาว่า 5,000 คน ถ้ารักกันจริง มันก็โอเคนะ สรุปว่าได้งานครับ งานแรกประมาณ 200,000-300,000 บาท ก็ถือว่าโอเค ก็เป็นจุดเริ่มต้นขึ้นมาได้

เมื่อพูดถึงโอกาส การเห็นโอกาสข้างหน้าเราว่าอินเทอร์เน็ตกำลังมา แม้ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตจะช้ามาก แต่ผมเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมันต้องเร็วแน่นอน เพราะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในบ้านเราต้องไม่หยุดอยู่แค่นี้ แล้วคนต้องเริ่มเสพ เพราะฉะนั้นเราทำก่อนเลย

“เมื่อเห็นโอกาส เราก็เหมือนเห็นแสงรำไร จงวิ่งเข้าไป และแสงนั้นจะตัดสินเองว่าเราเป็นแมลงเม่าหรือนกพญาไฟ” ผมคิดเมื่อคืนเอง คือเราอย่านอนอยู่เฉยๆ โดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ต้องวิ่งเข้าไปลองดู ถ้าเราตายเป็นแมลงเม่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเราเจอแสงไฟใหม่ก็วิ่งเข้าไปใหม่ เพราะเรายังไม่ตาย

ก็คือผมเปรียบเสมือนว่าพวกคุณจอห์น วิญญู คุณโมเม คุณพล่ากุ้ง เขาก็อยากทดลอง ในการเห็นโอกาสข้างหน้า ในการพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งสมัยนั้นการมีสื่อของตัวเองมันตลก คือคุณเป็นดีเจ คุณมีความสามารถในการพูด คุณก็ต้องไปพูดในบูทดีเจ กระจายเสียงออกเสาสูงๆ เป็นพิธีกรก็ไปช่องทีวี แล้วก็ต้องไปถ่ายรายการเป็นเรื่องเป็นราว กว่าจะออกอากาศได้

แต่โอกาสจากอินเทอร์เน็ตมันทำให้คนตัวเล็กๆ อย่างเราสามารถสื่อสารกับใครก็ได้ในโลก ทุกวันนี้ผมพูดไปมันธรรมดา แต่คุณคิดกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มันเป็นเรื่องเพ้อฝัน ใจความก็คือ ถ้าเราทำก่อนเราก็จะได้เปรียบ ก็คิดว่าตรงนี้ก็เป็นอีกจุดเริ่มต้นของ Spokedark TV เช่นกัน ในการเห็นโอกาสนี้ ซึ่งก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นแมลงเม่า ยังไม่ไปไหนเลยตอนนี้

หลังจากเริ่มต้นมาแล้ว มันมีจุดหักเหของ Spokedark TV คือ ความดื้อด้านไม่ยอมเลิก เป็นสิ่งที่อยากจะบอกกับใครที่อยากลองทำอะไรใหม่ๆ เป็นปรัชญาของคุณจอห์นและคุณโรซี่ พยายามทำเข้าไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และอีกจุดหักเหคือ การมาของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งมาบรรจบพอดี ทำให้แต่ก่อนคนดูแค่ภาพหนึ่งก็โหลดนาน วีดิโอไม่ต้องพูดถึง มันกินค่าเน็ต แล้วใครจะยอมจ่ายเงินค่าเน็ต

พอมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การเสพข้อมูลขนาดใหญ่เป็นเรื่องธรรมดา คนเลยหันมาดูวิดีโอกันมากขึ้น

จุดหักเหต่อมาคือ พฤติกรรมของผู้ใช้อุปกรณ์สื่อสารเปลี่ยนไป สมัยก่อนคนถือมือถือก็จะมีคนหาว่ากระแดะ เว่อร์ เป็นนักธุรกิจหรือไง เดี๋ยวนี้ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อสื่อและผู้ผลิตอย่างเรา ทำให้เข้าถึงคนได้ง่าย

และแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ใหม่ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ พินเทอร์เรสต์ กูเกิลพลัส เป็นต้น ตรงนี้ช่วยได้มาก เพราะทำให้เกิดการส่งต่อและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ก่อนคนดูมีหลักพัน เดี๋ยวนี้เป็นหลักแสน บางคลิปของโมเมพาเพลิน ไม่รู้ผู้หญิงจะดูอะไรกันนักหนา ดูกันป็นล้าน โดยเฉพาะช่วงเขียนคิ้ว มันมีสถิติวัดนะ ว่าวินาทีไหนที่คนดูเยอะที่สุดและซ้ำที่สุด แสดงว่าผู้หญิงชอบดูโมเมเขียนขอบตาเยอะมาก

นายณัฐพงศ์ เทียนดี
นายณัฐพงศ์ เทียนดี

ลมใต้ปีกของสื่อเก่าก็เป็นอีกจุดสำคัญ คือสิ่งที่เราไม่คาดฝัน บางทีเราปรามาสสื่อเก่า ใครจะอ่านหนังสือ ใครจะฟังวิทยุ ใครจะดูทีวี ที่ไหนได้ ทำมาสักพักมีคนรู้จักในอินเทอร์เน็ต แต่ก็หาเงินไม่ได้ เพราะเอเจนซี่ไม่รู้จัก

แต่พอมีสื่อนิตยสารมาสัมภาษณ์ เท่านั้นแหละ เอเจนซี่ ที่ผมพยายามคลานเข้าไปให้ซื้อโฆษณา ก็แห่โทรศัพท์เข้ามา ซื้อโฆษณา มาทำความเข้าใจว่ารายการทีวีในอินเทอร์เน็ตมันเป็นอย่างไร เราก็อธิบายสร้างความเข้าใจกับเอเจนซี่ไปเรื่อยๆ จนเริ่มเข้าใจ เริ่มมาซื้อ

เพราะฉะนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันจะไม่มีสื่อใหม่อย่างเรา ถ้าไม่มีสื่อเก่าในวันนั้น ที่เขามาช่วยสนับสนุนให้เอเจนซี่รู้จักเรา และผมเชื่อว่าทุกวันนี้เอเจนซี่ก็ยังอ่านสกุลไทย สุดสัปดาห์ ตามร้านตัดผมทั่วไป ก็อยากจะบอกกับคนที่จะเริ่มว่าสื่อหนังสือยังได้ผลอยู่ อย่ามองแต่สื่อยุคใหม่อย่างเดียว ต้องใช้สื่อให้กระจายครอบคลุม

เทคนิคการทำรายการให้โดนใจในอินเทอร์เน็ต คือ ธรรมชาติของคนในอินเทอร์เน็ตมักจะไม่ค่อยเยิ่นเย้อ อย่ามาฟุตเวิร์ก ให้เข้ามาต่อยเปรี้ยงเลย เข้ามาแล้วใส่ข้อมูลให้เร็วที่สุด แล้วดึงกลับมา แล้วต่อยไปใหม่ อย่าให้เขาดูไปเรื่อยๆ ว่ามันพูดอะไรของมัน ช้าจัง คนจะปิดเร็วมาก

คนในอินเทอร์เน็ตเป็นคนที่ใจร้อน ซึ่งแปลก เขาเป็นคนหนุ่มสาวนี่แหละ ที่อยู่ข้างนอกปกติก็ใจเย็น แต่พอเข้าอินเทอร์เน็ต ช้าไม่ได้เลย ปิดเลย พูดไม่เข้าหูก็ด่าเลย เป็นเหมือนไบโพลาร์

ฉะนั้น เราต้องปรับการผลิตของเราให้เท่าทันกับผู้เสพ ใครอยากทำรายการในอินเทอร์เน็ต ต้องเตรียมเรื่องที่จะพูด เข้าประเด็นให้เร็ว ถ้าจะยาว ต้องมีสูตรคือ “หนึ่ง สอง สาม ต่อย หนึ่ง สอง สาม ต่อย” ไปอย่างนี้ รายการนาน 30 นาที ให้ทำอย่างนี้

สังเกตจอห์น วิญญูกับพ่อหมอจะเร็วมาก เพราะถ้าช้า คนไม่อยู่ ฉะนั้น ถ้าจะทำยาวให้ต่อยถี่ๆ ถ้าจะทำสั้นให้ต่อยครั้งเดียว

ปัจจุบันหนักขึ้นอีก เพราะเฟซบุ๊กมีการแชร์ จะต่อยอย่างไรให้เจ็บนาน ให้รู้สึกว่ามันเจ๋งมากต้องแชร์ ซึ่งยากมาก ในทางการตลาดมันยากขึ้นอีก แต่เล่าให้ฟังว่ามันต้องมีสเต็ปแบบนี้ในการทำให้คนกระจายต่อ สรุปคือต่อยก่อนได้เปรียบ

อีกกลยุทธ์คือ อัดผู้ชมให้อยู่หมัด มัดใจให้อยู่ คือเราต้องทำตัวให้อยู่กับเขาตลอด ต้องทำให้ต่อเนื่อง ไม่ได้เงินก็ต้องทำไป เพราะว่าทุกวันนี้ที่ทำก็ยังไม่ได้เงินมาก แต่ก็ทำไป ทำให้มันอยู่ เพราะคนดูเปิดมา ต้องเจอ จอห์น วิญญู, โมเม, ทราย เจริญปุระ, พลอย หอวัง

อีกอย่างคือ การหาอารมณ์ร่วมในห้วงเวลาหนึ่งของสังคม คือ ในช่วงแรกๆ ที่ทำรายการเจาะข่าวตื้น พูดคุยข่าวทั่วไป คนไม่ค่อยสนใจ แต่พอพูดข่าวที่เป็นสถานการณ์บ้านเมือง ก็มีคนสนใจกันมาก

อีกประการคือ ต้องจริงใจและซื่อสัตย์กับผู้ชม เพราะพฤติกรรมของคนในอินเทอร์เน็ตนั้นใจร้อน ถ้าโฆษณา ก็ต้องบอกว่าโฆษณา เราทดลองมาแล้วว่าจริง เพราะถ้าคนในอินเทอร์เน็ตไม่พอใจ ก็จะคอมเมนต์ต่อว่าทันที อย่างตอนที่ไม่ได้บอกว่าคลิปนี้ขายของ ก็โดนคอมเมนต์ต่อว่ามา 3 อันรวด แต่พอเปลี่ยนชื่อเป็น เก้าอี้เสริม ตอน ขายของ เท่านั้นแหละ ก็ได้คอมเมนต์จากผู้ชมในทางบวกว่า ขายของเก่งจัง สนุกจัง

อีกข้อหนึ่งคือ ทดลองการนำเสนอใหม่อยู่เสมอ พอเราทำรายการยาวๆ แล้วคนติดแล้ว ก็ลองเปลี่ยนมาทำรายการสั้นๆ บ้าง เช่น ทำรายการคลายเครียด

“เมื่อผู้ชมคือฐานเสียง โลกออนไลน์คือสังคมประชาธิปไตย” คือ ในการทำรายการในอินเทอร์เน็ต การได้ดิสไลค์หรือไลค์ มันเหมือนมีคนโหวตให้เรา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฟังเขา ดูว่าอันไหนไลค์ ดิสไลค์ มากน้อยอย่างไร ถ้าอันไหนไลค์มาก ก็ทำแบบนั้นต่อไป แล้วผมเชื่อว่า ทำในอินเทอร์เน็ตมันสบายใจดี ไม่มีเซนเซอร์มากนัก เราไม่ต้องคำนึงถึงภาษาสุภาพขนาดนั้น แต่คนที่ตัดสินก็คือผู้ชม ถ้าเขาเกลียดเรา เขาก็อาจรีพอร์ท คลิปเราก็หายไป

สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้คือ การยืนหยัดในกระแสตลาดสื่อออนไลน์ ฟังผู้ชมได้ แต่อย่าเขวในแนวทางของตัวเอง ให้มุ่งมั่นต่อไปในสิ่งที่คุณเชื่อ อย่าลืมหาเงินกินข้าวบ้าง แต่ก็อย่าลืมกลับมาทำรายการต่อ

เพราะผมเห็นมาบ้าง พอเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา ออกไปรับงาน แล้วไม่ทำคลิปฟรีแล้ว ทำแต่คลิปโฆษณา หรือหายไปเลย เขาก็จะหายไปจากวงการ แล้วพอจะกลับเข้ามาก็ยากแล้ว

ต่อมาคือ พยายามรักษาฐานผู้ชมเดิมไว้ และสร้างฐานผู้ชมใหม่เสมอ ถ้าเริ่มมีรายได้แล้วก็ปันเงินมาโฆษณาบ้าง เดี๋ยวนี้การโฆษณามันง่ายมากในการเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ อย่างเฟซบุ๊ก ถ้าคุณชอบเรื่องรถ จะสร้างฐานคนดูเป็นเรื่องรถ คุณโฆษณาเนื้อหารายการของคุณ เข้าไปที่กลุ่มคนชอบรถ คุณก็จะได้ลูกค้ากลุ่มนั้นมาเลย และขายสปอนเซอร์ได้ทันที

และอย่าลืมเรียนรู้จากคนอื่น เพราะเดี๋ยวนี้มันเติบโตไวมาก และเปลี่ยนตลอด อย่างกรณีของเราเอง แต่ก่อนอาจจะเป็นคนแรกๆ แต่เดี๋ยวนี้เราเองก็ไม่ใช่ที่หนึ่งแล้ว ต้องมีคนที่มีคนดูเยอะมากกว่าเรา แต่สิ่งที่เราเป็นอยู่ เราแค่ทำมันมานานและเรายังอยู่แค่นั้นเอง

อย่าลืมผูกมิตรกับเจ้าของแพลตฟอร์ม ศึกษายูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ให้ดี ถ้ามีตัวแทนเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยก็ไปทำความรู้จักไว้ เราอยู่หลายๆ แพลตฟอร์มก็ยิ่งกระจายความเสี่ยง

นายณัฐพงศ์ เทียนดี

“โลกเปลี่ยนไปแล้ว ผู้ทรงอิทธิพลความคิดในปัจจุบันเผยแพร่ความคิดจากห้องนอน” หมายถึง โลกต้องการความคิดใหม่ๆ อยู่ตลอด ผมเชื่อว่าทุกคนมีแนวคิด ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ก็ลุกออกมาจากที่นอนบ้าง ใช้เครื่องมือสื่อสารของตัวเอง ถ่ายรูป ข้อความ อะไรออกไป ผมเชื่อว่ามีคนฟังคุณจากทั่วทุกมุมโลก เผื่อวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะเติบโตขึ้นมา

และหากมีตัวตนจากการสื่อสารนั้นแล้วสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย ซึ่งทุกวันนี้ก็มีหลายช่องทาง จริงๆ แล้วเรื่องเงินเราต้องเอาไว้ทีหลัง เราต้องทำด้วยความอยากของเราก่อน”

จุดยืนของ Spokedark TV แค่อยากจะสื่อสารที่เราเชื่อและคิด ดึงความคิดของคนให้ฟังสิ่งที่เราคิด อยากให้ทุกคนมีเสียงที่จะพูด

ปัจจุบันทุกคนมีสื่อในมือ ก็ควรมีโอกาสได้พูด เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ตื่นตัวแต่ไม่มีช่องทางการสื่อ การที่เราทำรายการนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้เขาเห็นว่ามันก็ทำได้นะ

และการนำเสนอความคิดแบบ Spokedark TV ที่ให้ความสนุกกับคนรอบข้างได้ ใช้เปลือกของอารมณ์ขัน ความสนุกมาครอบแก่นของเนื้อหาสาระไว้ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม การเมือง วัฒนธรรม ก็ทำได้

นี่คือความยั่งยืน คือ ในแง่สื่อ เราพยายามจะส่งต่อความคิดนี้ การสื่อสาร วัฒนธรรมการวิจารณ์ การกล้าจะพูด มันต้องอยู่ต่อไปในสังคม

อนาคตกำลังทำรายการเป็นภาษาอังกฤษเพื่อขายตลาด ขายกับต่างชาติได้ เพราะแพลตฟอร์มที่ใช้อยู่ก็เป็นระดับ global และได้มีเงินทุนมาทำสิ่งที่ชอบต่อไป