ThaiPublica > คอลัมน์ > สิทธิ อินเทอร์เน็ต และการพัฒนา : ข้อคิดจาก Stockholm Internet Forum 2015

สิทธิ อินเทอร์เน็ต และการพัฒนา : ข้อคิดจาก Stockholm Internet Forum 2015

9 พฤศจิกายน 2015


สฤณี อาชวานันทกุล

วันที่ 21-22 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญไปร่วมงาน Stockholm Internet Forum ประจำปี 2015 ย่อว่า SIF 2015 ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

งานนี้จัดโดย SIDA องค์กรพัฒนาภาครัฐของสวีเดน วัตถุประสงค์ของงานตรงกับสโลแกน “Internet Freedom for Global Development” – เชื้อเชิญคนจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ดำเนินนโยบาย นักพัฒนา นักสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญไอที บริษัทโทรคมนาคม บริษัทอินเทอร์เน็ต คนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ มาหารืออภิปรายกันว่า อินเทอร์เน็ตที่ “เสรี เปิด และปลอดภัย” จะส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาทั่วโลกได้อย่างไร ปีนี้ผู้จัดกล่าวว่าเน้นประเด็นเรื่องเพศ จึงพยายามเชิญผู้หญิงมาร่วมมากเป็นประวัติการณ์

วงเสวนาเรื่องความรุนแรงทางเพศออนไลน์ ในงาน Stockholm Internet Forum 2015 ที่มาภาพ: สฤณี อาชวานันทกุล
วงเสวนาเรื่องความรุนแรงทางเพศออนไลน์ ในงาน Stockholm Internet Forum 2015 ที่มาภาพ: สฤณี อาชวานันทกุล

วงอภิปรายในงานทุกวงล้วนแต่น่าสนใจ และหยิบประเด็นร้อนที่ล้วนแต่อยู่ ณ “พรมแดน” ความรู้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับผลกระทบและศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในมิติต่างๆ ส่วนรูปแบบก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่การกล่าวสุนทรพจน์ วงเสวนาบนเวที วงคุยย่อย วงเสวนาปัจจุบันทันด่วนตามความสนใจ (unConference) ฯลฯ

วันนี้ผู้เขียนอยากสรุปประเด็นน่าสนใจบางประเด็นที่ได้ฟังในงาน SIF มาเล่าสู่กันฟัง ในสังคมที่วิวาทะว่าด้วยอินเทอร์เน็ต เศรษฐกิจดิจิทัล หรือสังคมดิจิทัลโดยรวมยังไม่รอบด้าน และยังไม่มองการณ์ไกล

ว่าด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม (equal access)

ผู้ร่วมเสวนาทุกคนดูจะเห็นตรงกันว่า วันนี้รัฐบาลทุกประเทศควรรับประกันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน เพราะโลกออนไลน์เป็นทั้งเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งรองรับสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างเช่นสิทธิการแสดงออก สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง ฯลฯ

วันนี้คนที่เข้าอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เข้าจากมือถือเป็นหลัก สัญญาณ 2G ครอบคลุมประชากรกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ทั้งโลก ส่วน 3G ครอบคลุมราว 70 เปอร์เซ็นต์

ผู้เข้าร่วมจากองค์กรพัฒนาเอกชนบางท่านเสนอว่า “จุดคานงัด” สำคัญคือการเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศรับประกันว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็น “สิทธิ” ของประชาชน และเป็น “สิทธิมนุษยชน” ที่รัฐต้องคุ้มครอง

อย่างไรก็ดี ผู้เข้าร่วมหลายคนค้านว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ใช่และไม่ควรถูกจัดให้เป็น “สิทธิมนุษยชน” เพราะสิทธิมนุษยชนนั้นถูกระบุชัดเจนแล้วในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อินเทอร์เน็ตเพียงแต่เป็นเวทีหรือเครื่องมือที่เอื้อให้เราได้ใช้สิทธิเหล่านั้น

ผู้เข้าร่วมจากตะวันออกกลางท่านหนึ่งกล่าวว่า การเรียกอินเทอร์เน็ตว่าเป็นสิทธิมนุษยชนอาจ “อันตราย” ด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลประเทศเผด็จการอย่างอิหร่านอาจประกาศง่ายๆ ว่า “ดูสิ ประชาชนทุกคนในประเทศเราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วนะ” แต่เป็นอินเทอร์เน็ตที่รัฐเซ็นเซอร์และควบคุมอย่างเคร่งครัด ในโลกจริงยังละเมิดสิทธิประชาชนอย่างกว้างขวาง

ด้วยเหตุนี้ การดูแต่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวจึงไม่พอ เราต้องถามด้วยว่า ประชาชนได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต *แบบไหน* และเราต้องมองต่อไปด้วยว่า จะเน้นเพียง “ความสามารถ” (ในการเข้าถึงโลกออนไลน์) ไม่ได้ แต่ต้องสร้าง “ศักยภาพ” ของประชาชนในการใช้อินเทอร์เน็ต (รวมถึงการรู้เท่าทันรัฐ ฯลฯ) ด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มต้นนานก่อนจุดที่เปิดจอเข้าเน็ต เช่น ในสถานศึกษา ฯลฯ

ส่วน “วิธีการ” ที่รัฐจะรับประกันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็มีหลายทางเลือกด้วยกัน บางท่านชี้ว่าควรปล่อยเป็นเรื่องของกลไกตลาด ให้เอกชนนำ เพราะรัฐด้อยประสิทธิภาพกว่า อย่างเช่นโมเดลของอเมริกา อีกบางท่านชี้ว่าโมเดลที่ให้รัฐเป็นผู้ผลักดันหลัก เอกชนเดินตาม ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ดังตัวอย่างเกาหลีใต้ซึ่งทำสำเร็จมาแล้ว

วันนี้มีโครงการส่งเสริมการขยายการเข้าถึงเน็ตจำนวนมาก ที่น่าสนใจมีอาทิ Alliance for Affordable Internet และ Internet.org (วันนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Free Basics) โครงการหลังเป็นของยักษ์ใหญ่เฟซบุ๊ก (Facebook) ซึ่งถูกหลายฝ่ายโจมตีว่าจะเพิ่มอำนาจผูกขาดให้เฟซบุ๊กและละเมิดหลัก “ความเป็นกลางทางเน็ต” (net neutrality)

ผู้เขียนมองว่าการถกเถียงเรื่องนี้สุดท้ายขึ้นอยู่กับคำถาม “อินเทอร์เน็ตเป็น “สินค้าสาธารณะ” (public good) หรือไม่?” ถ้าคำตอบต่างกันก็น่าจะมองต่างมุมกันด้วย

ผู้เขียนจะเขียนถึงโครงการเหล่านี้และข้อถกเถียงเรื่อง net neutrality ในโอกาสต่อไป

หน้าเว็บ Free Basics ของเฟซบุ๊ก
หน้าเว็บ Free Basics ของเฟซบุ๊ก

ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การพัฒนา และความเป็นส่วนตัวออนไลน์

ผู้เข้าร่วมหลายคนเสนอว่า โจทย์ใหญ่วันนี้คือจะทำอย่างไรให้องค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานพัฒนา และสถาบันการเงินบรรจุประเด็นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและความเป็นส่วนตัว เข้าไปในนโยบายพัฒนาภาคไอซีทีของแต่ละหน่วยงาน เช่น สินเชื่อที่ธนาคารโลกปล่อยกู้ให้กับโครงการขยายบรอดแบนด์ในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการนั้นจริงๆ (ไม่ใช่กลายเป็นการเปิดช่องให้รัฐละเมิดสิทธิมากขึ้น เช่น ใช้เครื่องมือสอดแนมทุกคนออนไลน์ หรือจับกุมคนคิดต่าง)

วันนี้ธนาคารโลกยังไม่บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในนโยบายการปล่อยสินเชื่อขององค์กร Human Rights Watch เสนอว่าธนาคารโลกควรประเมินความเสี่ยงต่อเสรีภาพการแสดงออก ความเป็นส่วนตัว และสิทธิมนุษยชนพื้นฐานข้ออื่นๆ ก่อนที่จะอนุมัติโครงการที่มีไอซีทีเป็นส่วนประกอบ และยกประเด็นกังวลขึ้นมาหารือกับรัฐบาลของประเทศลูกหนี้

ผู้เข้าร่วมบางท่านเสนอว่า คำถามใหญ่คือ “ปทัสถาน” หรือค่านิยมของอินเทอร์เน็ตคืออะไร เราอยากให้มันปลอดภัยมากขึ้นหรือน้อยลง? คนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกรัฐบาลเผด็จการคุกคามอยู่แล้วควรได้รับการปกป้องคุ้มครองมากขึ้น ในแง่นี้ การเข้ารหัส (encryption) และความเป็นนิรนาม (anonymity) เป็นเครื่องมือสำคัญของนักสิทธิและประชาชนทุกคน เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสองสิ่งนี้

ตัวแทนจาก Global Network Initiative (GNI) แนวร่วมของภาคเอกชนเสนอว่า เราต้องมีกฎหมายที่ดีกว่านี้ เช่น วันนี้ยังไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศที่นิยาม “หัวรุนแรง” (extremist) หรือ “ก่อการร้าย” (terrorist) อย่างชัดเจน รัฐบาลหลายประเทศจึงตีความเข้าข้างตัวเองเพื่อจำคุกนักข่าว และประชาชนที่คิดต่างจากรัฐ

ผู้เข้าร่วมจาก Privacy International เสริมว่า ความยุ่งยากส่วนหนึ่งเกิดจากการที่หลายธุรกิจยังไม่ได้มาร่วมวง เช่น บริษัทโทรคมนาคมวันนี้หลายบริษัทมาร่วมถกเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่บริษัทที่ขายอุปกรณ์สอดแนมให้รัฐยังไม่แยแส

Frank LaRue กล่าวปาฐกถาในงาน Stockholm Internet Forum 2015 ที่มาภาพ: สฤณี อาชวานันทกุล
Frank LaRue กล่าวปาฐกถาในงาน Stockholm Internet Forum 2015 ที่มาภาพ: สฤณี อาชวานันทกุล

แฟรงค์ ลารู (Frank LaRue) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนกับโลกออนไลน์ชั้นแนวหน้าของโลก กล่าวสุนทรพจน์ปิดงานอย่างน่าคิด ความบางตอนว่า

“วันนี้สิทธิมนุษยชนทั่วโลกถูกคุกคาม แต่มันมีอยู่จริงและเป็นสิ่งเดียวที่หลอมรวมมนุษย์ทั้งมวลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน …บางคนอ้างว่าเสรีภาพการแสดงออกนั้นขัดแย้งกับการรักษาความมั่นคงของชาติ แต่ความจริง…ไม่ขัดแย้งกันเลยถ้าหากรัฐกำหนดขั้นตอนการสอดแนมที่ยุติธรรม ชัดเจน โปร่งใส ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานคนละองค์กรกับองค์กรที่ทำหน้าที่สอดแนม และมีกลไกตรวจสอบดูแล

“เสรีภาพการแสดงออกนั้นสำคัญเสมอ เพราะถ้าหากเราไม่รักษามันไว้ สุดท้ายเราก็จะลงเอยด้วยระบอบเผด็จการ.”