ThaiPublica > คอลัมน์ > “พัฒนาการ” ของการตีความ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

“พัฒนาการ” ของการตีความ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

14 กันยายน 2015


สฤณี อาชวานันทกุล

ขึ้นชื่อว่า “กฎหมาย” คนเรามักจะส่ายหน้าด้วยความระอาใจกับปัญหาคนไม่เคารพกฎหมาย โดยไม่ตั้งคำถามกับ “ตัวบท” ของกฎหมายว่ามันสร้างประโยชน์อันใดให้กับใคร วิธีบังคับใช้และวิธีตีความของศาลยุติธรรมหรือไม่ ก่อความเสียหายมากกว่าประโยชน์หรือเปล่า แนวทางการตีความของศาลมีพัฒนาการไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือไม่

ในบรรดากฎหมายไทยทั้งหมด พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) เป็นกฎหมายที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเจ้าหน้าที่ และละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนคนธรรมดาในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่องตลอดมา ความที่บางมาตรา โดยเฉพาะ มาตรา 14(1) ซึ่งระบุว่าการ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” เป็นความผิด ถูกนำไปใช้ในการฟ้องหมิ่นประมาทจำนวนมาก

ทั้งที่เจตนารมณ์ของมาตรานี้ ดังผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนร่างกฎหมายเคยอธิบายให้ผู้เขียนฟัง มิได้ต้องการให้ใช้กับ “เนื้อหา” การแสดงออกใดๆ แต่ต้องการปราบมิจฉาชีพออนไลน์ที่หลอกเอาพาสเวิร์ดของคน ด้วยการส่งอีเมลหลอกว่ามาจากธนาคารหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง (phishing) หรือสร้างเว็บปลอม (farming) ขึ้นมาหลอกให้ผู้ใช้ใส่ข้อมูลที่ตนต้องการ

เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอาญา ซึ่งความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารยังไม่รวมการปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

“ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” และ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ในมาตรา 14(1) ตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย จึงหมายถึงอีเมลปลอมหรือเว็บหลอกทำนองนี้ มิใช่เนื้อหาการแสดงออก เช่น คำพูดหรือข้อความใดๆ ที่ปรากฎออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยของศาลอาญาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ตีความมาตรานี้ในทางที่ครอบคลุมการหมิ่นประมาทด้วย ส่งผลให้มีการใช้มาตรานี้ฟ้องร้องด้านเนื้อหาเป็นจำนวนมาก

งานวิจัยหัวข้อ “ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) พบว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2550 ถึง ธันวาคม 2554 มีคดีความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ขึ้นถึงชั้นศาล แบ่งเป็นความผิดด้านเนื้อหา 215 คดี มากกว่าความผิดด้านระบบ 62 คดี ถึง 3.5 เท่า ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้มุ่งปราบปรามอาชญากรรมต่อระบบเป็นหลัก

งานวิจัย “ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”  โดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่มาภาพ: http://ilaw.or.th/node/1798
งานวิจัย “ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” โดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่มาภาพ: http://ilaw.or.th/node/1798

อันที่จริง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 กำหนดฐานความผิดเรื่องหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับในกรณีแรก และกำหนดโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทในกรณีหลัง (เนื่องจากการหมิ่นประมาทโดยโฆษณา (ผ่านสื่อ) มีผู้รับรู้มากกว่า อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า จึงกำหนดบทลงโทษสูงกว่า)

ฐานความผิดตามมาตรา 14 ใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกนำไปใช้ผิดเจตนารมณ์โดยฟ้องหมิ่นประมาทกันมากมายนั้น มีโทษหนักกว่าในกฎหมายอาญามาก คือจําคุกไม่เกินห้าปี ปรับหนึ่งแสนบาท

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329-330 ยังระบุข้อยกเว้นไว้ เช่น การหมิ่นประมาทที่กระทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต หรือหากการหมิ่นประมาทนั้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องรับโทษ

แต่ความผิด (ที่ศาลตีความว่าผิด) ในมาตรา 14(1) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นั้น แม้ในกรณีที่ชัดเจนว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ จะไม่สามารถยกประเด็นเหล่านี้ในการสู้คดีได้เลย แถมยังไม่ใช่ความผิดที่ยอมความได้ ส่งผลให้คดีรกศาลโดยไม่จำเป็น

ในปี 2556 สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เคยเสนอแก้ไขมาตรานี้ เพื่อขจัดความคลุมเครือและปิดกั้นการนำไปใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาท โดยเสนอแก้ตัวบทให้ชัดว่า เจตนารมณ์ของมาตรานี้คือการจัดการกับ phishing และ farming เท่านั้น –

“ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งทั้งหมดหรือบางส่วน ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริงและทำให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่เสนอแก้ก็มีปัญหาอื่นๆ อีก (เช่น กำหนดให้ลำพังการ “ครอบครอง” สื่อลามกอนาจารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย) และก็ไม่เคยผ่านสภา

โชคดีที่ในปี 2558 เราได้เห็นผลคำพิพากษาคดีสำคัญสองคดี ซึ่งศาลตีความในทางที่ค่อนข้างพ้องกับเจตนารมณ์ของผู้ร่าง

คดีแรก ในเดือนมีนาคม 2558 ศาลพิพากษายกฟ้อง นางสาวรสนา โตสิตระกูล คดีที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตามมาตรา 14 โดยตัดสินว่า “ข้อความดังกล่าว…เกิดจากความเชื่อที่จำเลยแสดงออกตามที่เห็น รู้ หรือคิด อันถือเป็นการแสดง “ความเห็น” อันมีลักษณะแตกต่างไปจากการแสดง “ข้อเท็จจริง” …เมื่อจำเลยมีความเห็นและเชื่อเช่นนั้น การที่จำเลยถ่ายทอดเป็นข้อความดังกล่าว จำเลยย่อมถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องตามแหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งก็คือตัวจำเลยเอง ข้อความพิพาทจึงไม่อาจเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จได้” (รายละเอียดอ่านได้ในข่าวประชาไท)

รสนา โตสิตระกูล ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=3229242
รสนา โตสิตระกูล ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=3229242

คดีที่สอง ในเดือนกันยายน 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ต มีคำพิพากษายกฟ้อง นายอลัน จอร์น มอริสัน และนางสาวชุติมา สีดาเสถียร สองผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ภูเก็ตหวาน จากคดีที่กองทัพเรือเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หลังจากภูเก็ตหวานได้เผยแพร่รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ (ซึ่งต่อมาข่าวชิ้นนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ รางวัลอันทรงเกียรติที่สุดของวงการสื่อมวลชน) ว่า กองทัพไทยได้รับประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ที่อพยพทางเรือเข้ามาในไทย (รายละเอียดอ่านได้ในข่าวมติชนออนไลน์)

ศาลระบุว่า “ไม่ปรากฏว่าข้อความใดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน และไม่เป็นความผิดตามหมวดความมั่นคงของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328”

สองนักข่าว "ภูเก็ตหวาน" ผู้ถูกกองทัพเรือฟ้องตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่มาภาพ:  http://www.serichon.us/wp-content/uploads/2015/07/a_1704.jpg
สองนักข่าว “ภูเก็ตหวาน” ผู้ถูกกองทัพเรือฟ้องตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่มาภาพ: http://www.serichon.us/wp-content/uploads/2015/07/a_1704.jpg

เนื้อหาที่ถูกฟ้องในสองคดีนี้ ชัดเจนว่าเป็นทั้งการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต และทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเข้าข่ายข้อยกเว้นโทษฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา

พูดง่ายๆ คือ ถ้าใช้เพียงกฎหมายอาญา ศาลน่าจะมองว่าจำเลยทั้งสองคดีนี้ไม่ผิด

ผู้เขียนขอแสดงความชื่นชมต่อคณะผู้พิพากษาในคดีสองคดีนี้ และหวังว่าศาลอื่นๆ จะใช้เป็น “บรรทัดฐาน” ในการพิจารณาคดีหมิ่นประมาทที่อ้าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สืบไปในอนาคต

เพื่อคุ้มครองการแสดงออกโดยสุจริตในโลกออนไลน์ และส่งเสริมการทำงานของสื่อพลเมืองและสื่อใหม่ทั้งหลาย.

ป้ายคำ :