ThaiPublica > เกาะกระแส > กลุ่มเพศทางเลือกเสนอแก้กฎหมายสมรส ให้ทุกเพศจดทะเบียนได้ แก้ปัญหาปิดกั้นสิทธิการใช้ชีวิตคู่

กลุ่มเพศทางเลือกเสนอแก้กฎหมายสมรส ให้ทุกเพศจดทะเบียนได้ แก้ปัญหาปิดกั้นสิทธิการใช้ชีวิตคู่

15 มีนาคม 2015


กลุ่มเพศทางเลือกเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เรื่องการสมรส ให้บุคคลสามารถสมรสกันได้มิใช่เพียงแค่คู่รักชาย-หญิงเท่านั้น หลังเผชิญปัญหาข้อกำจัดทางกฎหมายที่ปิดกั้นสิทธิทางมรดก ทางธุรกิจ-ธุรกรรม และการรักษาพยาบาล ซึ่งทำให้ขาดความมั่นคงในชีวิตคู่ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิการเป็นคู่สมรส

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 มูลนิธิอัญจารี ร่วมกับ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดเสวนาเรื่อง “แนวทางการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองครอบครัวที่หลากหลาย”

เสวนา "แนวทางการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองครอบครัวที่หลากหลาย" ณ เดอะคอนเน็คชั่น ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558
เสวนา “แนวทางการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองครอบครัวที่หลากหลาย” ณ เดอะคอนเน็คชั่น ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558

นางสาวอัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอัญจารี กล่าวว่า ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เรื่องการสมรส ให้ผู้ที่สมรสกันได้นั้นคือบุคคลใดๆ มิใช่จำกัดเฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น เพื่อให้ความรักของคนกลุ่มคนมีกฎหมายรับรองสิทธิ เนื่องจากการทำงานของมูลนิธิในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนสิทธิของคู่รักกลุ่มหญิงรักหญิง ชายรักชาย ผู้ที่รักสองเพศ และผู้ที่รักข้ามเพศ (LGBT) พบว่า คู่ชีวิตของหลายคนมีปัญหาและน่าเป็นห่วงเนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ จึงไม่สาสามารถกระทำการใดๆ ในฐานะคู่สมรสได้เลย เช่น การเซ็นยินยอมการรักษาในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเร่งด่วน การกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านซื้อรถ สิทธิการแบ่งทรัพย์สิน เช่น สินสมรสกรณีเลิกรากันไป หรือสิทธิการรักษาพยาบาลที่คู่สมรสพึงได้จากคู่สมสที่เป็นข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ การรับบุตรบุญธรรม การฟ้องร้องคดีแทนกัน ในกรณีที่คู่เสียชีวิตแล้วไม่ได้ทำพินัยกรรมทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของพ่อแม่ผู้เสียชีวิต

นอกจากนี้ การจดทะเบียนสมรสเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชีวิตคู่ เพื่อให้มีหลักประกันในการดำเนินชีวิต เพราะการใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันเฉยๆ โดยขาดหลักประกันนั้นลำบากมาก เช่น ซื้อบ้านไม่ได้ต้องเช่าอยู่เรื่อยๆ ไปเพราะกู้ร่วมไม่ผ่าน กู้คนเดียวก็รายได้ไม่พอ หรือหากคู่ชีวิตซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิต ทรัพย์สินเหล่านั้นก็ตกเป็นของพ่อแม่หรือญาติผู้ตาย โดยที่คู่ชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ตามกฎหมายแม้ว่าจริงๆ แล้วจะเป็นทรัพย์สินที่สร้างร่วมกันมา

“ปัญหาสำคัญคือ สังคมมีทัศนคติเปิดรับเฉพาะความรักแบบชาย-หญิง โดยไม่เปิดกว้างว่าความรักเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเพศ แม้แต่เพศเดียวกัน กรณีเจ็บป่วยแพทย์และพยาบาลยังมองว่าคู่รักเพศเดียวกันเป็นคนอื่น ไม่ใช่ญาติ จึงไม่มีสิทธิในชีวิตของอีกฝ่ายที่จะเซ็นยินยอมการรักษา รวมถึงกรณีเลิกรากันกฎหมายก็มองว่าคู่รักเพศเดียวกันเป็นเพื่อนกันจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่คู่รักชาย-หญิงเรียกว่าสินสมรส หรือในกรณีคู่เสียชีวิตก็ไม่มีสิทธิในมรดกเช่นกัน” นางสาวอัญชนากล่าว

ด้านนางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ ผู้ประสานงานมูลนิธิ สคส. กล่าวว่า ปัญหาในปัจจุบันคือสังคมไม่ออกแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลายเพราะยังมองไม่เห็นว่าในสังคมมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ซึ่งเหตุผลที่ต้องออกมาเรียกร้องให้มีกฎหมายรับรองเนื่องจากการใช้ชีวิตคู่ของคนที่ไม่ใช่คู่รักชาย-หญิงขาดความมั่นคงในชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าทะเบียนสมรสไม่ได้รับรองว่าคู่สมรสจะรักกันนานแม้แต่คู่รักชาย-หญิง แต่ทะเบียนสมรสจะรับรองสิทธิของคู่รักทุกคู่ และจะทำให้สังคมมองเห็นความหลากหลายทางเพศและความสัมพันธ์ที่หลากหลายได้อย่างครอบคลุม

“เราเรียกร้องเพื่อให้สังคมยอมรับความสัมพันธ์ที่หลากหลาย มีกรอบความคิดคำว่าครอบครัวที่หลากหลาย ซึ่งต่างจากกรอบความคิดพ่อแม่ลูกแบบเดิมๆ ซึ่งกฎหมายจะเป็นหลักประกันจากรัฐที่สำคัญ” ผู้ประสานงานมูลนิธิ สคส. กล่าว

นางสาวธนาภร คำศรี พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นคู่รักหญิงรักหญิงกล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วต้องสูญเสียคู่ชีวิตไปเนื่องจากไม่มีสิทธิเซ็นยินยอมให้แพทย์รักษาคู่ชีวิตที่หมดสติกะทันกันขณะเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้าเนื่องจากโรคหอบหืดจนสมองขาดออกซิเจน ซึ่งกว่าจะตามหาญาติของคู่ชีวิตเจอและมาเซ็นยินยอมได้ใช้เวลานานถึง 4 วัน เนื่องจากไม่เคยได้รู้จักครอบครัวของคู่ชีวิตเลยตลอด 8 ปีที่ใช้ชีวิตคู่กันมา

“หลังจากทราบว่าแฟนหมดสติก็รีบมาที่โรงพยาบาล แต่เมื่อมาถึงก็ไม่สามารถเซ็นยินยอมการรักษาไม่ได้แม้จะบอกว่าอยู่ด้วยกันมา 8 ปีแล้วพยาบาลก็ไม่ยินยอม หลังจากนั้นจึงพยายามค้นหาญาติแฟนด้วยตนเองจนกระทั่งพบพี่สาวแฟน ก็ไปแจ้งข่าวซึ่งพี่สาวแฟนก็กล่าวเพียงรับรู้และบอกว่าจะให้ลูกสาวของแฟนมาเซ็นเอกสารให้ ซึ่งญาติแฟนคงคิดว่าเราไปหาเพื่อโยนภาระให้เขา หลังจากนั้นลูกสาวและครอบครัวของแฟนก็มาที่โรงพยาบาลแล้วเซ็นยินยอมให้ แต่รักษาได้เพียง 10 วันแฟนก็เสียชีวิต” นางสาวธนาภรกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ระหว่างที่คบกันแฟนไม่เคยพาตนไปหาครอบครัวเลย และเพิ่งทราบภายหลังว่าแฟนทิ้งลูกสาวมาตั้งแต่ลูกอายุกว่า 10 ปี และไม่ได้ติดต่อกันเลย ดังนั้นการที่ลูกสาวเขามาเซ็นยินยอมสุดท้ายพยาบาลก็ต้องมาซักประวัติคนไข้กับตนเพราะลูกสาวไม่ทราบข้อมูลใดๆ จึงกลายเป็นความเจ็บปวดที่โรงพยาบาลยอมรับฟังเราเป็นคนสุดท้ายทั้งๆ ที่เราคือคู่ชีวิตกัน อีกทั้งการรักษาในครั้งนี้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารักษาตามอาการเพราะสมองคนไข้ไม่ตอบสนองแล้ว โดยที่แฟนไม่สามารถใช้สิทธิการรักษาในฐานะของคู่สมรสของพนักงานรัฐวิสาหกิจได้ สุดท้ายสิ่งที่สามารถทำได้ให้คู่ชีวิตคือการจัดงานศพให้เพียงเท่านั้น

ด้านนางสาวรุ่งทิวา ตังคโนภาส นักธุรกิจซึ่งเป็นคู่หญิงรักหญิง กล่าวว่า ใช้ชีวิตคู่มากว่า 10 ปีแล้ว โดยคู่ชีวิตอายุน้อยกว่า 15 ปี แต่ก็อยู่ด้วยกันมาอย่างมีความสุขและต่อสู้กับอุปสรรคทางกฎหมายมาด้วยตัวเองตลอด การที่ไม่มีกฎหมายมารับรองสิทธิสมรสทำให้ชีวิตคู่ยากลำบากมาก เนื่องจากทำธุรกิจร่วมกัน อยู่บ้านหลังเดียวกัน มีความจำเป็นต้องกู้เงินร่วมกันเพื่อสร้างธุรกิจแต่ก็ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งตัวเองมีลูกติดด้วยแต่ก็ไม่สามารถจดทะเบียนให้คู่ชีวิตรับลูกเป็นบุตรได้ตามกฎหมาย

“ธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบันซื้อต่อมาจากเจ้านายเก่าของแฟนราคา 10 ล้านบาท แต่เรากู้ร่วมกันไม่ได้ จึงแก้ปัญหาด้วยการเจรจาขอผ่อนกับเจ้านาย แต่จ่ายเงินก้อนก่อน 5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งจะผ่อนหมดเมื่อเดือนที่ผ่านมา และเมื่อทำธุรกิจร่วมกันมาเรื่อยๆ ก็ติดปัญหาเรื่องธุรกรรมต่างๆ สุดท้ายจึงแก้ปัญหาโดยให้แม่รับแฟนเป็นบุตรบุญธรรม เรื่องลูกของเราก็ต้องการให้เป็นลูกของแฟนด้วยแต่ก็ทำไม่ได้ทางกฎหมาย เพราะหากลูกไปเป็นบุตรบุญธรรมของแฟนแล้วสิทธิความเป็นแม่ของเราก็หมดไปด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีปัญหากังวลเรื่องทรัพย์สินที่ทำร่วมกันมาว่าจะแบ่งเป็นมรดกได้อย่างไรหากเกิดกรณีเสียชีวิต เพราะบริษัทแห่งนี้เราช่วยกันสร้างขึ้นมาหากจะต้องตกไปเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยุติธรรม” นางสาวรุ่งทิวากล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ในเบื้องต้น ครอบครอบครัวของทั้งสองฝ่ายไม่ยอมรับความรักของเรา โดยทางครอบครัวเราแม่ก็มองว่าเด็กจะมาหลอกเราหรือเปล่า จริงใจหรือเปล่า เพราะว่าเรามีครอบครัวมีลูกมาก่อนแล้ว ในขณะที่บ้านแฟนเป็นคนจีนซึ่งไม่ยอมรับความรักของเราเลยและแฟนก็หนีออกจากบ้านมาแต่ตัวแล้วมาสร้างชีวิตคู่ร่วมกันกับเรา อยู่บ้านเดียวกัน รักแม่และลูกของเรา จนกระทั่งมีวันนี้