ThaiPublica > คอลัมน์ > ฟังแต่เนิ่นๆ ปัญหาไม่เกินแก้

ฟังแต่เนิ่นๆ ปัญหาไม่เกินแก้

26 กุมภาพันธ์ 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

Michael Moore: If you were to talk directly to the kids at Columbine or the people in that community, what would you say to them if they were here right now?
Marilyn Manson: I wouldn’t say a single word to them I would listen to what they have to say, and that’s what no one did.

ไมเคิล มัวร์: ถ้าได้พูดอะไรกับเด็กๆ ที่โคลัมไบน์หรือผู้คนในย่านนั้น ถ้าตอนนี้พวกเขาอยุ่ที่นี่ คุณจะพูดอะไรกับพวกเขา
มาริลิน แมนสัน: ผมคงไม่พูดอะไรเลย ผมคงฟังว่าพวกเขาจะพูดอะไร และนั่นคือสิ่งที่ไม่มีใครทำ

บทสนทนาดังกล่าวเกิดขึ้นในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Bowling for Columbine (2002) ภาพยนตร์สารคดีที่สร้างโดยไมเคิล มัวร์ ที่เล่าย้อนถึงเหตุการณ์วัยรุ่นสองคนซึ่งเป็นนักเรียนในโรงเรียนโคลัมไบน์ เมืองโคลัมไบน์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา พวกเขากราดยิงเพื่อนนักเรียนด้วยกันก่อนจะฆ่าตัวตาย ไมเคิล มัวร์ ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ และในตอนหนึ่ง เขาได้สัมภาษณ์มาริลิน แมนสัน นักร้องเพลงอินดัสเทรียลร็อกชื่อดัง ผู้ตกเป็นจำเลยสังคม ถูกกล่าวหาว่าเพลงของเขากระตุ้นให้วัยรุ่นสองคนก่อเหตุการณ์นั้นขึ้น

ความสำคัญของบทสนทนานี้อยู่ที่สิ่งที่มาริลิน แมนสัน ตอบไมเคิล มัวร์ เพราะนั่นคือมุมมองของเขาต่อสิ่งที่เป็นปัญหาหรือกำลังเผชิญกับปัญหา เขาจะ “ฟัง” มัน และเขาเชื่อว่าเพราะไม่มีใครฟังปัญหานั่นแหละ จึงได้เกิดปัญหาขึ้นมา

ดูบทสนทนาดังกล่าวได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=cYApo2d8o_A

ไมเคิล มัวร์ สัมภาษณ์มาริลิน แมนสัน ที่มาภาพ: http://www.peregolibri.it/scolastic/wp-content/uploads/2011/07/boulingskolumb.jpg
ไมเคิล มัวร์ สัมภาษณ์มาริลิน แมนสัน ที่มาภาพ: http://www.peregolibri.it/scolastic/wp-content/uploads/2011/07/boulingskolumb.jpg

การฟังคืออะไร (มิติของการสื่อสาร)

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่โดยทั่วไปแล้วคนเรามักสับสนการ “ได้ยิน” กับ “การฟัง” ลำพังมีเสียงเข้าหูพอให้รู้ว่สเป็นเสียงอะไรนั้นไม่ใช่การฟัง แต่นั่นคือการได้ยิน

ในระดับของคนกับคน หรือพูดให้แคบลงมาอีกคือคนที่คุยภาษาเดียวกัน การฟังคือการที่สมองแปลได้ว่าคลื่นเสียงที่ส่งมาสั่นสะเทือนกระดูกสามชิ้นในรูหูนั้นคือคำว่าอะไร ระดับต่อไปคือการเข้าใจว่าคำแต่ละคำนั้นเมื่อมารวมกันแล้วกลายเป็นข้อความว่าอะไร มีความหมายว่าอย่างไร นี่คือระดับเบื้องต้นที่สุดของการ “ฟังรู้เรื่อง” คือการสามารถเข้าใจว่าเสียงพูดนั้นเป็น “คำ” ที่มี “ความ” ว่าอย่างไร

แต่ในขั้นต่อไปที่ยากขึ้นก็คือ บ่อยครั้ง คนเราไม่ได้มีความสามารถจะสื่อสารถ้อยคำในใจได้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งด้วยข้อจำกัดในความชำนาญในการใช้ภาษา รวมทั้งความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกและความนึกคิดของตัวเอง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีที่บางทีก็เจตนาลีลาไม่ตรงไปตรงมาในเรื่องที่เล่าด้วยเหตุผลต่างๆ นานา (เช่น เล่าเรื่องตัวเองแต่ขัดเขินจนต้องเกริ่นนำว่าเป็นเรื่องสมมติ) เหล่านี้ทำให้การฟังเป็นเรื่องยากขึ้น เพราะในกรณีเช่นนี้แล้ว “ความ” ของผู้พูดจะมีสองระดับ ระดับแรกคือความหมายตามข้อความที่เกิดจากการผสมกันของคำต่างๆ แต่ในระดับที่ลึกลงไปอีกชั้นนั้นก็คือ “นัย” ของเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อสาร หรือพูดให้ง่ายเข้าก็คือ สามารถ “จับประเด็น” ของผู้พูดได้ ว่ากำลังพยายามจะบอกอะไรกับเรา (แต่แน่นอนว่าตรงนี้ก็เป็นเรื่องสองฝั่ง เพราะบางทีนั้นผู้พูดก็ไม่ได้มีประเด็นอะไร)

เพราะฉะนั้น ในมิติของการสื่อสารแล้ว การฟังก็คือการที่อย่างน้อยที่สุดเราสามารถเข้าใจได้ว่าผู้พูดกำลังพูดอะไร โดยเราเข้าใจมันจากคำและความหมายที่เกิดจากคำ

การฟังคืออะไร (มิติทางสังคม)

เรามักพูดถึงการฟังกันในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสาร แต่ลึกลงไปกว่านั้น การฟังเป็นเรื่องของ “พื้นที่” ทางสังคม การฟังทำให้เกิดพื้นที่ขึ้น เป็นการให้พื้นที่กับเสียงที่ได้รับการฟัง การพูดออกไปคือรูปแบบหนึ่งของการพยายามสร้างพื้นที่ให้กับอารมณ์ความคิดความรู้สึกของตนเอง และการรับรู้ได้ว่าสิ่งที่ตัวเองพูดออกไปนั้นได้รับการฟังจะทำให้คนเรารู้สึกมีที่ทางในสังคม มีตัวตน ไม่ใช่ความว่างเปล่าที่ไม่มีที่สถิต

เรื่องนี้สำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อการฟังนั้นไม่ใช่การฟังเฉยๆ แต่คือการ “ฟังปัญหา” ในการรับฟังปัญหาของผู้อื่นนั้น สำนวนหนึ่งที่จำเป็นก็คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ทว่า ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นมักกลายเป็นว่าเรา “เอาใจเราไปใส่ใจเขา” เสียมากกว่า

สิ่งสำคัญในการฟังปัญหาของผู้อื่นก็คือ หากเราจะเข้าใจความรู้สึกของการเผชิญกับปัญหาอขงเขาได้ เรามีแต่ต้องพยายามคิดจากเงื่อนไขแวดล้อมและข้อจำกัดของเขา ไม่ใช่จากเงื่อนไขแวดล้อมหรือข้อจำกัดของเรา

“ไม่มีขนมปังก็กินเค้กสิ”

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเค้กแพงกว่าขนมปัง และขนมปังนั้นคือของกินราคาถูกที่สุดที่คุณสามารถซื้อกินเพื่อให้มีชีวิตรอดไปวันๆ พอวันหนึ่ง คุณไม่มีเงินซื้อขนมปังขึ้นมา ก็มีคนที่มีเงินมากกว่าพูดกับคุณด้วยประโยคข้างต้น ไม่มีขนมปังก็กินเค้กสิ นั่นล่ะคือตัวอย่างของการไม่ฟัง และเป็นการไม่ฟังในรูปแบบของเอาใจเราไปใส่ใจเขา

ไม่ว่าพระนางมารี อองตัวแนต จะตรัสประโยคดังกล่าวออกมาจริงหรือไม่ แต่พระเศียรของพระนางก็ได้หลุดกระเด็นไปในยามที่กิโยตินสับลงมาที่พระศอเมื่อปี ค.ศ. 1793 และนี่คงพอจะเป็นตัวอย่างหลวมๆ ที่ช่วยให้เห็นได้ว่า การไม่ให้พื้นที่แก่ปัญหาด้วยการฟัง โดยเฉพาะอย่างเมื่อฟังแล้วยังไม่คิดถึงปัญหาจากมุมข้อจำกัดของผู้พูด สามารถส่งผลร้ายแรงได้มากขนาดไหน

นี่คือสิ่งที่ทำให้คำตอบข้างต้นของมาริลิน แมนสัน น่าประทับใจมาก เพราะสิ่งแรกที่เขาเลือกจะทำต่อสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ เขาจะฟัง (แน่ละว่า ไม่มีอะไรรับประกันว่าจากนั้นเขาจะเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือเอาใจเราไปใส่ใจเขา แต่นี่คือความตั้งใจเริ่มต้นที่ดี ลองนึกดูสิว่า จะมีสักกี่คนที่ตอบคำถามนี้แบบนี้ หลายคนคงตอบไปในทางว่าตัวเองจะพูดอะไรเสียมากกว่า จริงไหม)

เราควรจะฟังในฐานะของการให้พื้นที่

จากที่กล่าวมาทั้งหมด การไม่ฟังจึงเป็นการไม่ให้พื้นที่ เป็นการทำให้เสียงไม่ได้รับการได้ยิน ยิ่งไปกว่านั้น หากฟังแล้วไม่พยายามเข้าใจปัญหาจากเงื่อนไขข้อจำกัดที่แวดล้อมชีวิตผู้พูด จนพูดวิธีแก้ปัญหาออกไปด้วยมุมมองของตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว ก็จะยิ่งทำให้เป็นการปิดกั้นพื้นที่การมีตัวตนของคนอื่นไปด้วย

การไม่ฟังปัญหาของผู้อื่น เมื่อเราทำครั้งหนึ่ง สำหรับตัวเราอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนการกินข้าวให้ผ่านๆ ไปสักมื้อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเราทิ้งไว้เบื้องหลังก็คือปัญหาที่ไม่มีที่ทางในการระบายออก ไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสมตามศักยภาพและข้อจำกัดของผู้ที่ประสบปัญหา เรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในระดับของคนกับคน (ก็ไม่แน่นักว่าจะเล็ก เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าคนที่ไม่มีที่ทางในสังคมจนถึงที่สุด วันหนึ่งเขาจะลุกขึ้นมาทำอะไร) แต่ในระดับของคนกับรัฐแล้วละก็ หากรัฐไม่ฟังเสียงของพลเมือง จะแก้ปัญหาหรือทำอะไรก็ดีแต่ใช้มุมมองของตัวเอง เมื่อทำอย่างนี้ไปนานวันเข้า ปัญหาอันเกิดจากการที่เสียงจำนวนมากถูกจำกัดพื้นที่ในการแสดงออกก็อาจกลายเป็นความตึงเครียดรุนแรงที่แฝงเร้นอยู่ในสังคม และเมื่อผสมกันมากเข้า พอมีปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการระเบิดออกขึ้นมา ถึงวันนั้นเราคงไม่อจจินตนาการได้ว่าจะเกิดอะไร

เอ๊ะ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในรอบสิบปีที่ผ่านมา ก็คงพอจะเห็นกันบ้างแล้ว ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง