1721955

ช่วงเปิดศักราชใหม่ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวไหนจะช็อคโลกเกินกว่า กรณีสังหารหมู่ในปารีสอีกแล้ว เมื่อกลุ่มคนร้ายบุกยิงออฟฟิศนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด อย่างเลือดเย็นจนมีผู้เสียชีวิต 12 ราย อันเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากจะเอ่ยถึงสารคดีฝรั่งเศสเล็กๆเรื่องนี้ C’EST DUR D’ÊTRE AIMÉ PAR DES CONS หรือ IT’S HARD BEING LOVED BY JERKS ซึ่งเคยเข้าฉายสายพิเศษในเทศกาลหนังเมืองคานส์ เมื่อปี 2008 หนังที่เน้นการไต่สวนนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด กรณีตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนพาดพิงศาสดามูฮัมหมัด ชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่ละเลงเลือดคราวนี้เอง
คดีนี้เกิดขึ้นในปี2007 เพราะทางนิตยสารตีพิมพ์ภาพล้อ อันเป็นที่ขุ่นเคืองใจแก่โลกมุสลิม โดยฝ่ายโจทก์คือกลุ่ม Great Mosque ในปารีส หรือคณะมุสลิมโลก และสมาพันธ์องค์กรมุสลิมแห่งฝรั่งเศส ท่ามกลางสื่อต่างๆที่กรูกันมาทำข่าวนี้กันอย่างครึกโครม
3 ภาพสำคัญในคดีนี้ หนึ่งคือภาพท่านศาสดาถือระเบิดโพกผ้าคลุมศรีษะ ซึ่งเคยถูกตีพิมพ์ใน จีลแลนส์ โปสเตน หนังสือพิมพ์ของเดนมาร์กมาก่อนแล้ว สองเป็นภาพปก ชาร์ลี เอ็บโด ที่วาดโดย กาบู(ฌ็อง กาบูต์) ด้วยคำโปรยว่า “มูฮัมหมัดประกาศศาสนาโดยพวกฟันดาเมนทอลิสต์” (fundamentalist -พวกยึดติดหลักการ คำนี้มีนัยยะถึง พวกหัวรุนแรงสุดโต่งที่บังคับให้ผู้อื่นนับถือศาสนาตามตน) และภาพสุดท้ายคือ ภาพศาสดากุมขมับพูดว่า “มันยากที่จะถูกรักโดยพวกเชี่ยๆ” อันเป็นที่มาของชื่อสารคดีเรื่องนี้ด้วย
ฝ่ายทนายฝั่งโจทก์คือ ฟรานซิส สไปซ์เนอร์ ที่ปรึกษาของฌาคส์ ชีรัค ประธานาธิบดีในเวลานั้น ส่วนทนายฝั่งจำเลยคือ จอร์จ คีจแมน อดีตรัฐมนตรีสมัยฟรังซัวส์ มิตเตอร์รองด์ และผู้ถูกสอบสวนประกอบด้วย นักวาดการ์ตูน คาบู, ชาร์บ, โวลินสกี, ริสส์ (สามคนแรกเสียชีวิตในเหตุกราดยิงปีนี้) รวมถึง ฟิลิป วาล อดีตบรรณาธิการบริหาร (หลังจากคดีนี้ได้ลาออกไปเป็นผู้กำกับรายการวิทยุตั้งแต่ปี2009)
ระหว่างไต่สวนหนังตัดสลับกลับไปเล่าปมสำคัญที่ทำให้นิตยสารเล่มนี้เล่นแรงและพุ่งเป้าโจมตีชาวมุสลิม (แม้ว่าปกติจะโจมตีทุกศาสนาและทุกขั้วทางการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) คือเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2004 กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้สังหารเธโอ ฟาน ก๊อก ผู้กำกับหนังชาวดัตช์ ในอัมสเตอร์ดัม อันเนื่องมาจากเขากำกับหนังสั้นเรื่อง Submission ในปีนั้น ซึ่งโจมตีการกดขี่เพศหญิงในหมู่ชาวมุสลิม, ตามด้วยในเดือนกันยายน 2005 หนังสือพิมพ์ในเดนมาร์กตีพิมพ์ภาพล้อศาสดา 12 ภาพ, เดือนกุมภา 2006 หนังสือพิมพ์ฟร็องซ์-ซัวร์ ในฝรั่งเศสตีพิมพ์ภาพทั้งชุดดังกล่าวขึ้นปก ไล่เลี่ยกับในอีกหนึ่งสัปดาห์ ชาร์ลี เอ็บโด วางจำหน่ายฉบับพิเศษที่มีภาพล้อศาสดาขึ้นปก อันนำไปสู่การไต่สวนในปี2007 ที่เป็นหัวใจของสารคดีเรื่องนี้
แดเนียล เลอคองเต ผู้กำกับได้เปิดเผยถึงการทำหนังเรื่องนี้ว่า “ไม่กี่เดือนก่อนการไต่สวน ผมได้เขียนบทความชื่อว่า ‘ขอบคุณชาร์ลี’ ลงในหนังสือพิมพ์ลิเบเรชัน ทำให้ฟิลิป วาล โทรมาขอบคุณผม และขอให้ผมช่วยไปขึ้นให้การในคดีนี้ด้วย ผมเลยอยากจะทำออกมาเป็นสารคดีเรื่องนี้”
แต่ศาลไม่อนุญาตให้ถ่ายทำในห้องพิจารณาคดี ทางเลือกของเลอคองเตจึงเป็นการสัมภาษณ์ในช่วงก่อน-หลังการไต่ส่วน และในห้องรอระหว่างการสืบพยาน ซึ่งเขาก็ฉลาดพอที่จะไม่เทประเด็นของหนังให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง แม้ว่าพยานฝ่ายชาร์ลี เอ็บโด จะมีมากกว่า หรือว่าในช่วงแรกคณะลูกขุนส่วนใหญ่จะเห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ก็ตามที
หนังถ่ายทอดแบบคลิปข่าวให้เห็นการเชือดเฉือนปะทะคารมกันทั้งในและนอกศาล เมื่อมีชาวมุสลิมปราดเข้าไปจวกกลุ่มของฝ่ายจำเลย หรือเมื่อ วาล ได้ให้การติดตลกว่า “ก็ไม่อยากจะพูดอย่างเหยียดๆหรอกนะว่า คนพวกนี้ไม่มีหัวในทางจะเข้าใจเรื่องตลกล้อเลียนได้” ขณะที่ทนายฝั่งโจทก์ก็โต้กลับว่า “สองภาพในบรรดาการ์ตูนเหล่านี้ ใช้น้ำหมึกในการเชื่อมโยงมุสลิมเข้ากับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง สิ่งนี้ต่างหากที่เรียกว่าเหยียด”
ท้ายสุดทางนิตยสารพ้นผิดด้วยเหตุผลว่า ภาพการ์ตูนสองในสาม ไม่ได้มีเป้าโจมตีกลุ่มมุสลิม แต่โจมตีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ขณะที่ภาพปกที่ให้ศาสดาถือระเบิดนั้น เมื่อพิจารณาบริบทในฉบับนั้นก็พบว่ามีประเด็นกล่าวหาพวกฟันดาเมนทอลิสต์มากกว่าจะโจมตีชาวมุสลิม
วาล ได้แสดงทัศนคติน่าสนใจไว้ในหนังว่า “อย่าเถียงกับผมเรื่องภาพการ์ตูน แต่ทบทวนดูเถิดว่าเสรีภาพในการพูดยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่” ขณะที่ชาวมุสลิมก็ได้แสดงจุดยืนในความเชื่อของเช่นกันว่า “คุณมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น ตราบเท่าที่ไม่ไปละเมิด หรือดูหมิ่นผู้ที่มีความเชื่อต่างจากคุณ”