ThaiPublica > คอลัมน์ > “มุขมนตรี” ก็ติดคุกได้

“มุขมนตรี” ก็ติดคุกได้

16 ตุลาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิดสิ่งแปลกใหม่ขึ้นในอินเดีย นั่นก็คือมุขมนตรีรัฐ Tamil Nadu ซึ่งเป็นที่รักใคร่ของประชาชนถูกศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ในข้อหาคอร์รัปชัน คนระดับนี้ในประเทศกำลังพัฒนาติดคุกติดตะรางกันได้อย่างไร

Jayalalithaa Jayaram (ขอเรียกว่า JJ) หรือชื่อที่ชาวบ้านเรียกอย่างรักใคร่ว่า “Amma” ซึ่งแปลว่า “แม่” ปัจจุบันมีอายุ 66 ปี เธอมีความงามสวยผ่องสมวัยเพราะในอดีตเธอเป็นดาราภาพยนตร์ชื่อดังของรัฐนี้ โดยเล่นหนังตั้งแต่อายุ 15 ปี มา 150 เรื่อง

JJ ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นอเมริกันคนนี้เรียนหนังสือในโรงเรียนฝรั่ง เธอเรียนเก่งมากแต่ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยถึงแม้จะได้รับทุนก็ตาม แม่ของเธอซึ่งเป็นหม้ายเพราะพ่อ JJ ตายตั้งแต่เธออายุ 2 ขวบ เป็นนักแสดง จึงผลักดันเธอเข้าสู่วงการจนมีชื่อเสียงโด่งดัง

เธอเล่นการเมืองตอนอายุ 34 ปี ในปี 1982 โดยทำงานให้พรรค AIADMK ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ของรัฐ ในปี 1989 เธอก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐและได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในเวลาต่อมา

Jayalalithaa Jayaram ที่มาภาพ : http://images.canberratimes.com.au/
Jayalalithaa Jayaram
ที่มาภาพ: http://images.canberratimes.com.au/

ในปี 1991 เธอก็ได้รับเลือกเป็นมุขมนตรี (นายกรัฐมนตรีของรัฐ) ของ Tamil Nadu เมื่อพรรคของเธอที่จับมือกับพรรค Indian National Congress ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นหลังจาก Rajiv Gandhi นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคร่วมของเธอถูกสังหารไม่กี่วัน กระแสคะแนนเห็นใจทำให้เธอได้เป็นมุขมนตรีครั้งแรก

JJ ได้รับเลือกตั้งเป็นมุขมนตรีรวมทั้งหมด 3 ครั้ง คือ 1991-1996/2002-2006 และ 2011 ถึงปลายเดือนกันยายน 2014 เมื่อมีคำตัดสินของศาลที่ทำให้เธอต้องหลุดจากตำแหน่งทันที เนื่องจากเมื่อปลายปี 2013 ศาลสูงของอินเดีย (supreme court) ได้มีคำตัดสินสำคัญ ห้ามนักการเมืองที่ศาลตัดสินจำคุก 2 ปีขึ้นไปดำรงตำแหน่งการเมืองหรือลงเลือกตั้งอีก

ทันทีที่ศาลตัดสินจำคุกเธอก็ถูกคุมขังเข้าคุกทันที เธอกำลังขออุทธรณ์ แต่ระหว่างนี้ก็ต้องนอนในคุก ในวันตัดสินของศาลแฟนๆ กว่า 5,000 คน มาเป็นกำลังใจ และเมื่อทราบคำตัดสินก็ร้องไห้คร่ำครวญกันยกใหญ่

ในคดีที่ใช้เวลาถึง 18 ปีนี้ ศาลระบุว่าเธอมีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 330 ล้านบาท ที่อธิบายแหล่งที่มาไม่ได้ (ส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งคือที่ดิน 5,000 ไร่ ทองคำ 30 กิโลกรัม ส่าหรี 12,000 ชุด) จำเลยคนอื่นๆ ที่ถูกตัดสินว่าทุจริตคอร์รัปชันร่วมกับเธอก็คือคนสนิท หลานชาย และหลานสาว ตลอดจนลูกชายที่เธอขอมาเลี้ยง ซึ่งปัจจุบันเธอไม่นับเป็นลูกอีกต่อไป

ลูกชายคนนี้เธอแต่งงานให้ในปี 1991 หลังจากเธอเป็นมุขมนตรีไม่นาน การแต่งงานครั้งนี้ได้สร้างสองสถิติที่บันทึกไว้ใน Guinness World Record กล่าวคือ มีคนมาร่วมงานแต่งงานมากที่สุด (จอที่ตั้งไว้ถ่ายทอดภาพในงานมีผู้ชม 150,000 คน) และมีงานเลี้ยงแต่งงานที่ใหญ่ที่สุด เมื่อผู้คนพูดกันว่าเธอเอาเงินทองจากไหนมาจัดงานสุรุ่ยสุร่ายแบบนี้ เธอก็บอกว่าฝ่ายนั้นซึ่งเจ้าสาวเป็นหลานปู่ของดาราภาพยนตร์ชายที่มีชื่อเสียงมากของรัฐ Tamil Nadu เป็นผู้จ่าย

เธอมีชื่อเสียงอื้อฉาวในเรื่องคอร์รัปชันมายาวนานพอควร แต่เธออธิบายเสมอว่าเธอบริสุทธิ์ คำกล่าวหาเป็นการทำลายกันทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม (ฟังดูคุ้นจัง) ในปี 2001 เธอลงเลือกตั้งไม่ได้เพราะศาลตัดสินจำคุกเธอ 5 ปี ในข้อหาหนึ่งที่สำคัญก็คือการครอบครองทรัพย์สินของรัฐโดยมิชอบ แต่ต่อมาในปี 2002 เธอก็พ้นคำตัดสินในบางข้อหาจนสามารถลงเลือกตั้งได้และกลับมาเป็นมุขมนตรีอีกครั้ง

ในอินเดีย การที่นักการเมืองใหญ่ไม่ว่าในระดับรัฐหรือระดับประเทศติดคุกในข้อหาคอร์รัปชันนั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด คดีของคนกลุ่มนี้มีมากแต่ใช้เวลายาวนานจนจำเลยตายหรือไม่ก็ผู้คนลืมไปแล้ว และในที่สุดก็แค่ “เขกเข่า” แล้วก็เลิกกันไป คนติดคุกก็มีแต่ปลาซิวปลาสร้อย เมื่อ JJ ซึ่งเป็นนักการเมืองดังของรัฐ Tamil Nadu และเป็นที่รู้จักกันดีในระดับชาติติดคุกข้อหาคอร์รัปชัน กลุ่มต่อต้านคอร์รัปชันในอินเดียซึ่งมีอยู่มากพอควรจึงรู้สึกยินดี แต่ก็ระมัดระวังคำพูดเพราะกลัวหน้าแตก เนื่องจากไม่รู้ว่าจะติดจริงหรือไม่ และติดนานเท่าใด

ผู้คนรู้จัก JJ ก็เพราะรัฐ Tamil Nadu มีประชากร 72 ล้านคน (มี Chennai หรือ Madras ซึ่งเป็นชื่อเก่าเป็นเมืองหลวง) เป็นรัฐของชาวทมิฬผู้มีผิวสีเข้มข้นกว่าคนอินเดียทั่วไป (พวกเดียวกับทมิฬที่อยู่ในศรีลังกาซึ่งถูกปราบไปโดยพวกสิงหลเมื่อ 4-5 ปีก่อน) และเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ใน 29 รัฐของอินเดีย (รัฐใหญ่สุดคือ Maharashtra มีประชากร 110 ล้านคน มี Mumbai หรือ Bombay ซึ่งเป็นชื่อเก่าเป็นเมืองหลวง)

การติดคุกของมุขมนตรีรัฐใหญ่ผู้มาจากรัฐเพื่อนบ้าน คือ Karnataka (เธอจึงไม่มีผิวสีเดียวกับชาวทมิฬ) เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วอินเดียและทั่วโลก คาดว่าสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วเมื่อผู้คนเห็นว่าคนใหญ่โตก็ติดคุกได้เพราะบังอาจแปลงอำนาจที่ตนมีเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณชนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

ถ้าคนใหญ่คนโตประพฤติมิชอบแล้วไม่ถูกลงโทษ ก็จะไม่ยำเกรงและจักประพฤติซ้ำอีกเสมอ ปัญหาคอร์รัปชันก็แก้ไม่ได้ เหตุผลหนึ่งที่ไม่ถูกลงโทษกันในประเทศกำลังพัฒนาก็เพราะผู้คนในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่มี “กำแพงใจ” ว่าคนใหญ่โตโดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักการเมืองนั้นติดคุกไม่ได้

ยาหยุดคอร์รัปชันได้ชะงัดในระยะสั้นในสังคมเราก็คือการส่งสัญญาณให้ประชาชนรู้ว่าภาครัฐเอาจริงในเรื่องคอร์รัปชันผ่านการเร่งรัดคดีคอร์รัปชันทั้งหลายในอดีตที่ค้างอยู่โดยสนับสนุนการลงโทษคนทำผิดอย่างเด็ดขาดและทันใจ นอกจากนี้ก็เอาคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองที่มีหลักฐานชัดเจนว่าคอร์รัปชันในคดีใหม่ๆ มาลงโทษอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม

เราจะปราบปรามคอร์รัปชันกันได้ก็ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของภาคประชาชนในความรู้สึกเดียวกับคำกล่าวของมหาตมะคานธีที่ว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ใครเดินผ่านเข้ามาในใจของฉันด้วยเท้าที่สกปรก” (I will not let anyone walk through my mind with their dirty feet)

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์อาหารสมอง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม 2557