ThaiPublica > คอลัมน์ > จีนกับเสรีภาพสื่อในการนำเสนอข่าวคอร์รัปชัน บทเรียนจาก หลอ ชังผิง (Luo Changping)

จีนกับเสรีภาพสื่อในการนำเสนอข่าวคอร์รัปชัน บทเรียนจาก หลอ ชังผิง (Luo Changping)

19 กันยายน 2014


Hesse004

การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยหลายฝ่ายร่วมมือกันผลักดันแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะการแก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วย “วาทกรรม” หรือมัวแต่นั่งทำเวิร์กชอปนั้นคงยากยิ่งนักที่จะลดปัญหาดังกล่าวลงได้

“สื่อ” นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างเห็นผล เพราะสื่อมีอิทธิพลในการนำเสนอ “ข้อเท็จจริง” มากกว่า “ความเห็น” ของคนขายข่าว

ดังนั้น ยิ่งเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” ต่อความรู้สึกของคนในสังคมด้วยแล้ว สื่อจำเป็นต้องสำนึกเสมอว่าการนำเสนอเรื่องคอร์รัปชันอาจส่งผลกระทบทั้งผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งความน่าเชื่อถือของสื่อเองด้วย

อย่างไรก็ดี ในแง่หลักการแล้ว ดูเหมือนสื่อมวลชนทั่วโลกจะรู้เหมือนกันหมด แต่ในทางปฏิบัติกลับจะเป็นบททดสอบ “จรรยาบรรณ” และคุณธรรมของความเป็นสื่อนั้นด้วย

ประเด็นที่ผู้เขียนเกริ่นมาข้างต้น กำลังเป็นเรื่อง “ท้าทาย” สื่อมวลชนในประเทศจีนที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชันในยุคของ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำที่มุ่งมั่นจะขจัดปัญหาคอร์รัปชันให้ลดลง

ความท้าทายดังกล่าว เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว สื่อมวลชนจีนมี “เสรีภาพ” มากพอที่จะนำเสนอข่าวการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐได้หรือไม่

“เสรีภาพ” ที่ว่านี้ ไม่ใช่คำพูดลอยๆ เท่ๆ เพียงอย่างเดียว หากแต่ในทางปฏิบัติ สื่อมีโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐได้มากน้อยแค่ไหน สื่อจะสามารถกำหนดขอบเขตการนำเสนอข้อเท็จจริงโดยปราศจากความเห็นของสื่อได้อย่างไร สื่อจะได้รับความคุ้มครองในฐานะพยานผู้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ อย่างไร

…พูดง่ายๆ คือ ใครจะมารับประกัน “เสรีภาพ” ในทางปฏิบัติเหล่านี้ให้กับสื่อ

คงไม่มีนักข่าวรายใดต้องการเป็น “วีรบุรุษ” เพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่ต้องมา “ตกนรกทั้งเป็น” ชั่วชีวิตจากการเปิดเผยข่าวทุจริตของข้าราชการขี้ฉ้อ นักการเมืองขี้โกง เพียงไม่กี่คน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมจีนตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาคอร์รัปชันที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างที่ผู้เขียนเคยนำเสนอเรื่องของ Audit Storm ไปแล้วว่า เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของจีนอย่างจริงจัง และยังคงแก้กันเรื่อยมาจนถึงยุคของ สี จิ้นผิง

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายในสังคมจีนต่างต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วย โดยเฉพาะ “สื่อ” ซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในยุคข้อมูลข่าวสาร

เรื่องราวของ “หลอ ชังผิง” (Luo Changping) นักข่าววารสารการเงินฉบับหนึ่งของจีน ซึ่งโด่งดังขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อเขาเป็นผู้กล้าที่จะเปิดโปงพฤติกรรมความไม่โปร่งใสและร่ำรวยผิดปกติของ “หลิว เทียหนัน” (Lie Tienan) อดีตผู้อำนวยการองค์การพลังงานแห่งชาติ (National Energy Agency) และรองประธานกรรมาธิการด้านการพัฒนาและปฏิรูปเศรษฐกิจจีน (Deputy Head of China’s National Development and Reform Commission)

หลิว เทียหนัน นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการวางแผนเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องมาโดนข้อหาคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับเหล่าบิ๊กเนมหลายคนในพรรค เช่น ป๋อ ซีไหล (Bo Xilai)

หลอ ชังผิง ในวัย 33 ปี ทำหน้าที่เป็นนักข่าวสายการเงินจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการวารสาร Caijing วารสารการเงินชื่อดังของจีน ด้วยความที่คลุกคลีกับเรื่องการเงินและเศรษฐกิจ ทำให้หลอใกล้ชิดกับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาพบข้อมูลผิดปกติในการทำธุรกรรมทางการเงินบางอย่างของหลิว เทียหนัน และภรรยา

หลอใช้เวลาประมาณ 1 ปี พยายามสืบค้นที่มาที่ไปของธุรกรรมดังกล่าว จนพบว่า หลิว เทียหนัน และภรรยา มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติและไม่โปร่งใส ซึ่งหลอได้ปรึกษากับทีมบรรณาธิการเพื่อจะนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นสกู๊ปเด่นในวารสาร

หลอ ชังผิง เหยี่ยวข่าวผู้กล้าหาญที่จะเปิดเผยเรื่องคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มาภาพ : http://i1.ytimg.com/vi/LIjRxLpRcfw/0.jpg
หลอ ชังผิง เหยี่ยวข่าวผู้กล้าหาญที่จะเปิดเผยเรื่องคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์
ที่มาภาพ: http://i1.ytimg.com/vi/LIjRxLpRcfw/0.jpg

…แน่นอนว่า วารสารของเขาย่อมสงวนชื่อเสียงเรียงนามของผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการหมิ่นประมาทรวมทั้งกังวลใจต่อความปลอดภัยของสื่อเองด้วย และท้ายที่สุดเมื่อเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ออกมาก็ได้รับความสนใจจากสังคมจีนเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หลอเองยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ เขาเลือกที่จะใช้ “บล็อก” ส่วนตัว เปิดเผยชื่อของหลิว เทียหนัน ซึ่งในเวลาต่อมาข้อมูลในบล็อกของหลอถูกลบทิ้งไปหมด

การเปิดเผยชื่อของหลิวในบล็อกส่วนตัวของนักข่าวนั้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน และขอบเขตการทำงานของสื่อในการต่อต้านคอร์รัปชันอยู่ที่ใด

เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง กรอบการทำงานของสื่อว่าควรจะเปิดเผยรายชื่อบุคคลอื้อฉาวที่พัวพันกับการทุจริตนั้นได้หรือไม่ หากทำได้ควรจะใช้คำพูดในลักษณะใดเพื่อที่จะไม่เป็นการไป “กล่าวหาหรือให้ร้าย”

เพราะอย่าลืมว่า หากกระบวนการยุติธรรมยังมิได้ตัดสินจนสิ้นกระแสความสงสัยแล้ว บุคคลที่ถูกนำรายชื่อมาแสดงต่อที่สาธารณะนั้นย่อมยัง “บริสุทธิ์” อยู่

แต่ที่แน่ๆ พลันที่รายชื่อของหลิวหลุดออกมา ทำให้หลิวเองถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนและถูกจับพร้อมภรรยาในข้อหา “ผิดวินัยร้ายแรง” (Serious violations of law and regulations) เขาโดนไล่ออกและถูกขับออกจากพรรค และท้ายที่สุด “ติดคุก”

ความกล้าหาญของหลอในฐานะผู้ชี้เป้าหรือเป่านกหวีด ดูจะเป็นวีรกรรมต่อต้านคอร์รัปชันที่น่าประทับใจในยุคที่ สี จิ้นผิง ต้องการปัดกวาดแผ่นดินจีนให้สะอาดยิ่งขึ้น แต่ก็เกิดคำถามต่อมาว่า พฤติกรรมของหลอนั้นเหมาะสมหรือไม่ในฐานะของความเป็นสื่อ

สื่อ ควรทำหน้าที่ในฐานะเป็น Whistle Blower คือ ผู้เป่านกหวีด ให้สังคมรู้ว่าเกิดเรื่องทุจริตขึ้นแล้ว และส่งข้อมูลหลักฐานที่เป็นความลับซึ่งยังเปิดเผยไม่ได้ให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชันดำเนินการต่อไป

สื่อ ไม่ควรทำหน้าที่เป็นทั้ง นักสืบ ตำรวจ ป.ป.ช. อัยการ หรือแม้แต่ศาลที่จะพิพากษาใครคนใดคนหนึ่งเสียเอง แม้สื่อ “อาจเชื่อ” โดยบริสุทธิ์ใจและมีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าบุคคลผู้นั้นมีพฤติกรรมขี้ฉ้อทุจริตจริง

วีรกรรมครั้งนี้ของ หลอ ชังผิง ทำให้เขาได้รับรางวัล Integrity Award ในปี 2013 จาก Transparency International ซึ่งทำให้หลอกลายเป็นวีรบุรุษผู้ต่อต้านคอร์รัปชันไปเพียงชั่วข้ามคืน

แต่สิ่งที่ตามมาซึ่งเขาจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต คือ การทำงานในฐานะสื่อที่อาจจะยากขึ้น โอกาสเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อาจจะลำบากขึ้น เพราะไม่มีใครมั่นใจว่าเมื่อให้ข้อมูลกับเขาไปแล้ว รายชื่อทั้งผู้เปิดเผยข้อมูลหรือคนที่ถูกกล่าวหาอาจจะไปปรากฏในบล็อกส่วนตัวของเขาอีกก็ได้

แต่ที่สำคัญคือ ความกังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทั้งเขาและครอบครัวซึ่งคงไม่มีใครกล้ารับประกันได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ ต้นทุนของคนที่ออกมาต่อต้านคอร์รัปชัน

อย่างไรก็ดี บทเรียนของ หลอ ชังผิง ทำให้เราควรหันกลับมามองถึงขอบเขตของความเป็น “สื่อ” ว่า พวกเขาควรจะธำรงตนอย่างไรในการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ที่แน่ๆ โดยการทำหน้าที่แล้วสื่อมิใช่เป็นคนที่จะมาพิพากษาว่าใครถูกหรือใครผิด

…เพราะ แม้การเปิดโปงการคอร์รัปชันจะทำได้ยาก แต่สิ่งที่ทำได้ยากกว่า คือ การพิสูจน์และพิพากษาว่าคนคนนั้นโกงจริง