ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ถอดรื้อมายาคติที่ไม่ยั่งยืน : บทเรียนจาก “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” (1)

ถอดรื้อมายาคติที่ไม่ยั่งยืน : บทเรียนจาก “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” (1)

7 สิงหาคม 2014


สฤณี อาชวานันทกุล

ละสายตาจากเรื่องยุ่งๆ ของการเงินที่ยังไม่ยั่งยืนในไทยชั่วคราว หันมาดูสถานการณ์ของภาคการเงินนอกบ้านเรากันบ้าง

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กับวิกฤตยูโรโซนที่ทำให้ทั้งโลกปั่นป่วนเมื่อหลายปีก่อนเริ่มทุเลาความรุนแรง หายไปจากพาดหัวในหน้าสื่อ แต่หลังฉากการถกเถียงเรื่องการปรับปรุงระบบกำกับดูแลภาคธนาคารก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ถึงแม้คนที่อยู่นอกภาคการเงินอาจมองไม่เห็น

ในบรรดาข้อเสนอที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่า “จำเป็น” ต้องทำที่สุดเพื่อปรับปรุงระบบธนาคารและลดความเสี่ยงที่มันจะฉุดลากเศรษฐกิจโลกไปอยู่ปากเหวอีก คือการเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำที่ธนาคารต้องมี เป็น “เบาะกันกระแทก” ลดความเสี่ยงที่จะล้มจากการมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า capital requirement

ข้อเสนอนี้มีเหตุมีผลอย่างยิ่ง แต่ยากมากที่จะเกิดเป็นรูปธรรม เพราะนอกจากจะต้องฝ่าด่านการล็อบบี้อย่างไม่ขาดสายของธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกแล้ว ผู้เสนอยังต้องถอดรื้อกำแพงแห่งมายาคติที่นายธนาคารหลายคนสร้างขึ้นมาให้คนหลงเชื่อ และอีกหลายคนก็สับสนคิดไปเองว่ามายาคติคือความจริงเพราะท่องตามๆ กันมาช้านาน

มายาคติที่กีดกันการปรับปรุงระบบกำกับดูแลธนาคารคืออะไร? หนังสือที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด และเขียนอธิบายให้คนนอกวงการธนาคารเข้าใจง่ายที่สุด คือ The Bankers’ New Clothes (“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” ตั้งชื่อเลียนนิทานดังเรื่อง “เสื้อใหม่ของพระราชา” เพราะสื่อนัยเดียวกัน) เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์การเงินชื่อดังสองคน คือ ดร. อนัท แอดมาที (Anat Admati) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ดร. มาร์ติน เฮลวิก (Martin Hellwig) จากมหาวิทยาลัยบอนน์ในเยอรมนี

ปก "The Bankers' New Clothes" โดย Anat Admati & Martin Hellwig
ปก “The Bankers’ New Clothes” โดย Anat Admati & Martin Hellwig

นอกจากจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถล้นเหลือในการ “ย่อย” เรื่องยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ผู้เขียนทั้งสองยังมีบทบาทโดยตรงในวิวาทะและเวทีถกเถียงเชิงนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลภาคการเงินการธนาคาร โดยแอดมาทีเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาการคลี่คลายเชิงระบบ สถาบันประกันเงินฝากอเมริกัน (FDIC Systemic Resolution Advisory Committee) ส่วนเฮลวิกนั้นเป็นประธานคนแรกของคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการความเสี่ยงเชิงระบบยุโรป (European Systemic Risks Board) หน่วยงานภายใต้สหภาพยุโรป ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาหลังวิกฤตยูโรโซน

แอดมาทีกับเฮลวิกตั้งใจเขียน “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” ในภาษาง่ายๆ ให้คนธรรมดาเข้าใจ เพราะอยากให้ทุกคนในสังคมได้มีส่วนร่วมในเวทีอภิปราย และอยากถอดรื้อมายาคติอีกประการที่ว่า ประเด็นทางการเงินการธนาคารเป็นเรื่อง “สลับซับซ้อน” ที่ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญและด็อกเตอร์ทั้งหลายเท่านั้น

เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ แอดมาทีกับเฮลวิกอยากให้ทุกคนตื่นตัวว่า ระบบธนาคารยังอันตรายและเปราะบางไม่ต่างจากก่อนเกิดวิกฤต แต่วิธีแก้เชิงนโยบายไม่ถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เรารู้แล้วว่าควรแก้ไขอย่างไร สาเหตุสำคัญก็เพราะมายาคติที่ยังครอบงำวิธีคิดของผู้ดำเนินนโยบายและนายธนาคารจำนวนมาก

หนังสือเล่มนี้ได้รับการกล่าวขวัญและสรรเสริญอย่างมากมายตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 แต่โชคร้ายที่มายาคติต่างๆ ที่ผู้เขียนเพียรชี้ให้เห็นในหนังสือ ก็ยังคงครอบงำวิวาทะเรื่องการกำกับดูแลธนาคารต่อไป ส่งผลให้แอดมาทีกับเฮลวิกตัดสินใจ “อัพเดท” เนื้อหาในหนังสือ ด้วยการเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “The Parade of the Bankers’ New Clothes Continues: 23 Flawed Claims Debunked” (พาเหรดของเสื้อใหม่นายธนาคารยังดำเนินต่อไป: บทหักล้างข้ออ้าง 23 ข้อที่ไม่ถูกต้อง) ให้ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์ของหนังสือ

Admati กับ Hellwig สองผู้เขียน "The Bankers' New Clothes" ที่มาภาพ: http://blog.tagesanzeiger.ch/wp-content/uploads/sites/11/2013/02/Nevermind_HeAd.jpg
Admati กับ Hellwig สองผู้เขียน “The Bankers’ New Clothes” ที่มาภาพ: http://blog.tagesanzeiger.ch/wp-content/uploads/sites/11/2013/02/Nevermind_HeAd.jpg

มายาคติหลักๆ และข้อหักล้างมีอะไรบ้าง? ผู้เขียนจะคัดสรร แปลและเรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

มายาคติ 1: ทุน (capital) คือเงินที่ธนาคารกันเอาไว้เป็น “เงินสดสำรอง” เหมือนกับเงินสดที่เราๆ ท่านๆ กันไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

ผิดเพราะอะไร? ทุนในภาคธนาคารนั้นเป็นแหล่งทุนประเภทหนึ่ง สามารถนำไปใช้ปล่อยกู้และลงทุนได้ ไม่ต้องเก็บไว้เฉยๆ เพียงแต่ภาคธนาคารเรียกทุนนี้ว่า capital ขณะที่ธุรกิจอื่นเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” หรือ equity แอดมาทีกับเฮลลิกชี้ว่า ธนาคารปกติใช้ทุนของตัวเองไม่ถึงร้อยละ 10 ในการลงทุนต่างๆ ขณะที่ธุรกิจอื่นมักจะต้องใช้ทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ในการลงทุน นอกจากนี้ บริษัทที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากยังแทบไม่มีหนี้สินใดๆ เลย

มายาคติ 2: ข้อเสนอให้ธนาคารกันเงินสดสำรองเท่ากับร้อยละ 15 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารนั้น ไม่ทำให้ธนาคาร “ปลอดภัย” กว่าเดิม เช่นเดียวกัน ข้อเสนอให้เพิ่มระดับทุนขั้นต่ำของธนาคารเป็นร้อยละ 15 ก็จะไม่ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ๆ ในภาคการธนาคารเหมือนกัน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนความสับสนระหว่างทุนของธนาคาร (capital) กับเงินสดสำรอง (cash reserve) ดังที่กล่าวไปข้างต้นในมายาคติ 1

ทุนของธนาคารไม่ใช่เงินสดสำรอง แต่เป็นแหล่งทุนของธนาคาร ข้อกำหนดเรื่องทุนสำรองนั้นไม่ได้บังคับว่าธนาคารจะต้องถือสินทรัพย์อะไรบ้าง ไม่ได้บังคับว่าธนาคารต้องเพิ่มเงินสดสำรองในมือ (คือเอาไปปล่อยกู้แสวงกำไรไม่ได้) ในเมื่อข้อกำหนดปัจจุบัน และแม้แต่ภายในข้อเสนอในระบบ Basel III ปล่อยให้ธนาคารมีทุนขั้นต่ำเพียงร้อยละ 3 ของสินทรัพย์ทั้งหมด การเพิ่มข้อกำหนดนี้เป็นร้อยละ 15 (ดังเช่นร่างกฎหมาย Brown-Vitter ในอเมริกาเรียกร้องให้บังคับกับธนาคารที่ใหญ่ที่สุดหกแห่งในประเทศ) ก็จะทำให้ธนาคารปลอดภัยกว่าเดิมมาก ตัวเลข 15% นี้ยังต่ำกว่าสัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์ที่ถือกันว่า “ปกติ” สำหรับบริษัทในธุรกิจอื่นที่แข็งแกร่งทางการเงินด้วยซ้ำไป เมื่อมีส่วนทุนมากขึ้น ธนาคารก็จะสามารถซึมซับผลขาดทุนได้มากกว่าเดิมมาก ลดความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นจะล้มละลาย ร้อนให้รัฐต้องมาอุ้ม

ในทางกลับกัน ข้อกำหนดเรื่องเงินสดสำรองในมือ (reserve requirement) มีประโยชน์ในแง่ความปลอดภัยน้อยกว่าข้อกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำ (capital requirement) มาก ยกเว้นว่ามันจะสูงมากๆ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าธนาคารหนึ่งมีเงินฝาก (เป็นหนี้สินของธนาคาร เพราะเป็นเงินของผู้ฝากเงิน) 97,000 ล้านบาท มีส่วนทุน 3,000 ล้านบาท (เท่ากับว่ามีหนี้สิน 94,000 ล้านบาท) การมีเงินสดสำรองในมือ (นับเป็นสินทรัพย์) อยู่ 15,000 ล้านบาทก็จะไม่ช่วยให้ธนาคารรอดเลย ถ้าขาดทุน 4,000 ล้านบาทจากหนี้เสียและผลขาดทุนจากการลงทุนอื่นๆ เพราะผลลัพธ์จะกลายเป็นว่ามีสินทรัพย์ 96,000 ล้านบาท ล้มละลายเพราะส่วนทุนติดลบ (3,000-4,000 = -1,000 ล้านบาท) เช่นเดียวกับที่เจ้าของบ้าน “จมน้ำ” (under water) ถ้าหากภาระการผ่อนบ้านมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าของบ้าน (คนอเมริกันจำนวนมากจึงยอมให้ธนาคารยึดบ้านในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์)

แต่ถ้าหากธนาคารมีเงินฝาก 85,000 ล้านบาท มีส่วนทุน 15,000 ล้านบาท มันก็จะสามารถซึมซับผลขาดทุน 4,000 ล้านบาทได้อย่างสบายๆ โดยไม่เสี่ยงที่จะล้มละลายแต่อย่างใด

มายาคติ 3: ข้อเสนอให้ธนาคารเพิ่มสัดส่วนทุนขั้นต่ำนั้นเพียงแต่ตั้งอยู่บนทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ (Modigliani-Miller theorem) ซึ่งใช้กับโลกจริงไม่ได้เพราะสมมุติฐานของทฤษฎีนี้ไม่สมจริง

ผิดเพราะอะไร? ทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ บอกว่าภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ ส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับส่วนทุนของบริษัทใดก็ตาม (เช่น ไม่ว่าจะเลือกใช้หนี้ 80 ทุน 20 หรือหนี้ 10 ทุน 90 ฯลฯ) จะไม่ส่งผลต่อมูลค่าของบริษัทและต้นทุนในการระดมทุน (cost of capital)

กราฟแสดงผลพยากรณ์ของทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ - ไม่ว่าสัดส่วนหนี้สินต่อทุนจะเปลี่ยนไปเพียงใด ต้นทุนทางการเงิน (weighted average cost of capital) จะไม่เปลี่ยนตามไปด้วย
กราฟแสดงผลพยากรณ์ของทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ – ไม่ว่าสัดส่วนหนี้สินต่อทุนจะเปลี่ยนไปเพียงใด ต้นทุนทางการเงิน (weighted average cost of capital) จะไม่เปลี่ยนตามไปด้วย

แต่แอดมาทีกับเฮลลิกชี้ชัด (ผ่านการยกตัวอย่างมากมายในหนังสือ) ว่า ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้คือ ในตลาดการเงินที่ทำงานได้ดี อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง และระดับความเสี่ยง (ตลอดจนอัตราผลตอบแทนที่สะท้อนความเสี่ยงระดับนั้น) ของหลักทรัพย์อะไรก็ตาม (เช่น หุ้น) ที่ออกโดยบริษัท ก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับทุน พูดอีกอย่างคือ ยิ่งบริษัทมีหนี้มากเมื่อเทียบกับส่วนทุน ความเสี่ยงของบริษัทก็ยิ่งสูง นักลงทุนก็จะยิ่งเรียกร้องอัตราผลตอบแทนสูงๆ ในการลงทุน

ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงอะไรก็ตามที่พูดถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Equity ย่อว่า ROE) ที่นักลงทุนต้องการ ราวกับว่ามันสถิตเสถียรไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นอิสระจากส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนของบริษัท จึงเป็นข้อถกเถียงที่บกพร่องระดับฐานคิดเลยทีเดียว

ใน “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” แอดมาทีกับเฮลวิกอธิบายเงื่อนไขในโลกจริงอีกหลายข้อที่หักล้างสมมุติฐานที่ว่าส่วนผสมหนี้กับทุนไม่สำคัญ เช่น กฎหมายภาษีอาจทำให้บริษัทอยากใช้หนี้มากกว่าทุนก็ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนทั้งสองก็ย้ำว่า มายาคติข้อนี้หักล้างข้อเสนอว่าธนาคารควรมีทุนขั้นต่ำมากกว่าเดิมไม่ได้ เพราะข้อเสนอนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนไม่สำคัญ แต่ตั้งอยู่บนการเปรียบเทียบต้นทุนกับประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ จากการมีส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนระดับต่างๆ ของธนาคาร แอดมาทีกับเฮลวิกสรุปว่า การให้ธนาคารใช้หนี้สินมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนทุนในการดำเนินธุรกิจนั้น เป็นต้นทุนมหาศาลที่สังคมต้องแบกรับโดยไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย.

Admati & Hellwig ยืนยันว่าระบบการเงินโลกยังเปราะบางและอันตรายไม่ต่างจากก่อนเกิดวิกฤต ที่มาภาพ: http://www.toobighasfailed.org/wp-content/uploads/2013/01/anat-admati-martin-hellwig-the-bankers-new-clothes1.png
Admati & Hellwig ยืนยันว่าระบบการเงินโลกยังเปราะบางและอันตรายไม่ต่างจากก่อนเกิดวิกฤต ที่มาภาพ: http://www.toobighasfailed.org/wp-content/uploads/2013/01/anat-admati-martin-hellwig-the-bankers-new-clothes1.png