ThaiPublica > เกาะกระแส > โมเดลเมืองเชื่อมอาเซี่ยน – ขยับหัวเมือง ด่านชายแดน”อุดร-แม่สอด-ยะลา” เป็น Hub Asian – เชื่อมโลก

โมเดลเมืองเชื่อมอาเซี่ยน – ขยับหัวเมือง ด่านชายแดน”อุดร-แม่สอด-ยะลา” เป็น Hub Asian – เชื่อมโลก

31 สิงหาคม 2014


เมื่อ 28 ส.ค.57 ในวาระครบรอบ 65 ปี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘การปรับตัวของเมืองเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน’ โดยมีนายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีอุดรธานี นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และนายเทอดเกียรติ ชินวรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด ร่วมเสวนา

อุดรฯ เตรียมเป็น Medical Hub ของสปป.ลาว

นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีอุดรธานี กล่าวถึงสภาพจังหวัดอุดรธานีว่า ไม่ใช่เมืองชายแดนแต่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่เติบโตควบคู่กับการพัฒนาด้านชายแดน จากอุดรธานีไปหนองคาย 40 กิโลเมตร จากหนองคายไปเวียงจันทน์ 15 กิโลเมตร จึงมีการพัฒนาด้านการค้าและการเชื่อมสัมพันธ์กับลาว หากมองในแง่ของความเป็นเพื่อนบ้านและประชาคมอาเซียน หรือเออีซี อุดรธานีมีความพร้อม มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจ มีประชากรประมาณ 130,000 คน มีชุมชน 101 ชุมชน 54,000 ครัวเรือน ถือว่ามีประชากรหนาแน่นปานกลาง การเตรียมตัวด้านเศรษฐกิจมีการลงทุนมากมาย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีธุรกิจคอนโดมีเนียมเกิดขึ้น 3,500 ยูนิต

“มีการลงทุนด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานน้ำตาล ด้านโลจิสติกส์ที่จะข้ามไปฝั่งลาว และลาวมาไทย เกิดการลงทุนท้องถิ่น เช่น ผ้าโอทอป มีการเชื่อมโยงระหว่างการขนส่งมวลชน มีรถบัสจากวังเวียง – เวียงจันทน์ – อุดร วันละ 1 เที่ยว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการคมนาคม นอกจากนี้สนามบินนานาชาติ 18 ไฟลท์/วัน เฉลี่ยครึ่งชั่วโมงขึ้นลง 1 ครั้ง” นายอิทธิพนธ์กล่าว

นายกเทศมนตรีจ.อุดร กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีนักลงทุนจำนวนมาก ที่ยังมีศักยภาพกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหนองคาย หนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น รวมถึงการเข้ามาของลาว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความท้าทายของเมืองที่จะตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น เรื่องการเติบโตอย่างไรทิศทางของเศรษฐกิจ การกำหนดผังเมืองที่ยังไม่ทันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะ การบำบัดน้ำเสีย สิ่งเหล่านี้สอดคล้องไปกับการพัฒนาของเอกชนซึ่งจะเร็วไปกว่าการรองรับปัญหาต่างๆ ของเมือง

นายอิทธิพนธ์ ยังมองว่าการพัฒนาเมืองต้องพัฒนาเป็น 3 ส่วน 1. โครงสร้างพื้นฐาน 2. การปรับทัศนคติของคน และ 3. การเรียนรู้ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องสอดคล้องไปด้วยกันคือ

1) โครงสร้างพื้นฐาน การปรับภูมิทัศน์ การระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ทำการเชื่อมท่อไปยังเทศบาลใกล้เคียง เรื่องขยะก็ยังเป็นส่วนสำคัญ เรามีขยะจาก 34 หน่วยงาน 8,500 ตันต่อเดือน เฉลี่ย 200 กว่าตันต่อวัน มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการทิ้งขยะเพื่อลดค่าใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาล

“ในอนาคตอุดรฯจะเป็น Medical Hub (ศูนย์กลางด้านสุขภาพ) ของ สปป.ลาว การพยาบาลของฝั่งลาวค่อนข้างมีปัญหาเครื่องมือที่ไม่ทันสมัย เทคนิคการแพทย์ต่างๆ จะเห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนมาลงทุนที่อุดรฯ ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเอกชนในพื้นที่และโรงพยาบาลกรุงเทพฯ – อุดร ก็ไปตั้งอยู่ที่โน่น เราจึงมีการจัดการขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์ของอีก 6 จังหวัด ในพื้นที่ในการจัดการขยะติดเชื้อด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ยังมีการดูคุณภาพการบริโภค มีโรงชำแหละเนื้อที่ได้มาตรฐานของคนในพื้นที่ เรื่องความปลอดภัยสำหรับผู้ที่จะเข้ามาลงทุน เรามีกล้องซีซีทีวี (กล้องวงจรปิด) ของเมืองเชื่อมโยงกับ call center ร้อยกว่าจุดในเขตพื้นที่ อย่างไรก็ตามในชุมชนทั้ง 101 ชุมชนนั้นมีการสร้างเครือข่าย อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) เพื่อดูแลความปลอดภัยในชุมชน ในการตรวจสอบดูแลพื้นที่ของตัวเอง โดยอาจมีการสนับสนุนงบประมาณและหรือมีการจัดการได้งบฯ จากในชุมชนกันเอง รวมถึงเรื่องการดับเพลิงและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย

ตามด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม มีสวนสาธารณะเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง มีการสร้าง Asean Park ซึ่งอาจจะมีพันธุ์ไม้สัญลักษณ์ต่างๆ ของอาเซียน ปีหน้าเราจะพัฒนาเป็นศูนย์อาเซียนเพื่อความหลากหลาย พร้อมทั้งเรื่องของสุขภาพ มีสนามกีฬาของเทศบาล สนามหญ้าเทียม ฟุตซอล เทนนิส บาสเก็ตบอล และมีโรงพยาบาลของเทศบาลซึ่งกำลังจะเปิดในปลายปีนี้

2. การปรับทัศนคติ (Mindset change) ในการบริการเราเปลี่ยนเป็น Smart Service ใช้แท็บเล็ตในการรับคำร้อง กรอกเอกสาร ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็มีการให้บริการที่พัฒนาศักยภาพมากขึ้น ใช้อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ตรวจวัดขณะที่นั่งรอ รวมถึงการให้ความบันเทิงขณะที่รอตรวจสุขภาพ เปิดพื้นที่ในการให้บริการแห่งใหม่ เพื่อรองรับการรับโอนสัญชาติ ต่างด้าว คนไทยเชื้อสายเวียดนาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของการพัฒนาและการบริการซึ่งต้องปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และบุคคลากรในกิจกรรมต่างๆ

ขณะเดียวกันเราก็ส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรม อย่างที่พูดว่ามีคนไทยหลายเชื้อชาติในพื้นที่มาก ในการดึงดูดความเป็นอุดรฯ การรำบวงสรวง การส่งเสริมการท่องเที่ยว ถนนคนเดินโอทอปให้เยาวชนมาขายสินค้า มีการส่งเสริมเรื่องอาเซียนโดยมีครูคนจีน มีห้องสมุดประชาชน ระบบไอที ระบบหนังสือ หนังสืออาเซียน ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์เมือง

ศูนย์กลางการค้าโลกระหว่างแอคเมคส์และบิมสเทคอยู่ที่แม่สอด

Web
นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด กล่าวถึงการผลักดันตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่า”ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีนายชวน หลีกภัย ประกาศให้แม่สอดเป็นพื้นที่ชายแดนเพื่อการค้าขายอย่างยาวนาน มาสมัยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อปี 2547 กฎหมายกำลังจะออกก็ยุบสภา แล้วก็มาสมัยนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช แล้วก็มานายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กฎหมายกำลังจะออกสุดท้ายก็คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ประมาณ 6 รัฐมนตรี ข้อมูลทั้งหมดสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของเทศบาลแม่สอด

นายเทอดเกียรติ กล่าวว่า แม่สอดมีการปรับตัวเมืองเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการทำประชาคมยาวนานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเขต เศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นผู้พิจารณากฎหมายเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งยังมีทีมงานวิจัยในการทำร่างกฎหมายเศรษฐกิจพิเศษและแผนแม่บท โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฎแม่สอด สถาบันพระปกเกล้า และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะคสช. ก็เห็นด้วย ในการให้แม่สอดเป็นพื้นที่สำคัญของชายแดนที่ต้องพัฒนา

ในเรื่องการบริหารจัดการที่จะแก้ปัญหาจุดแข็งจุดอ่อนได้ คือ ต้องออกกฎหมายพิเศษให้ได้ เพื่อตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยมีเจ้าภาพคือรัฐบาล ดูแลส่งเสริมการค้าการลงทุน ดูแลเรื่องแรงงาน แต่ว่าเรื่องท้องถิ่นพิเศษเมื่อคนและโรงงานมาอยู่มากๆ ท้องถิ่นและเทศบาลเริ่มจะไม่ไหว ในแม่สอดตามทะเบียนราษฎร์ทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีชื่ออยู่ 60,000 คน แต่นอกจากนั้นไม่มีทะเบียนชื่ออีก 3-4 แสนคน สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อการดูแลขององค์กรปกครองท้องถิ่น

“ในอ.แม่สอด มีการส่งออกบนสะพาน 50,000 ล้าน (ถูกกฎหมาย) และใต้สะพานอีก 50,000 ล้าน (ผิดกฎหมาย) ตอนนี้ทหารพยายามเอาขึ้นสะพานมาให้หมด แต่พอขึ้นสะพานแล้วมีปัญหา เพราะว่าสะพานเราเล็กมาก สร้างมาหลายปีแล้วตอนนั้นมีมูลค่าส่งออก 4 พันล้าน ตอนนี้แสนล้าน ถนนในพม่ามาไทยคดเคี้ยวมาก ต้องไปวันหนึ่งกลับวันหนึ่ง ถ้าสามารถทำถนนให้ดีได้สามารถเพิ่มเป็น 2 แสนล้าน เพราะสินค้าไทยไปถึงอินเดีย”

สภาอุตสาหกรรมและหอการค้าจ. ตาก มองว่าเขตพิเศษเป็นสะพานเชื่อมเส้นทาง จุดแข็งที่คนในพื้นที่มองเส้นทาง East-West Economic Corridor: EWEC (เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก ที่เชื่อมโยง เวียดนาม ลาว ไทย พม่า) เป็นระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกต่อไปในอนาคต ซึ่งจากมุกดาหารไปแม่สอด 791 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 10 ชั่วโมงกว่าด้วยเส้นทางที่คดเคี้ยวไปมา แต่ก็มีแนวทางของคสช. ที่เสนอว่าทำไมไม่ตัดให้ตรง ที่เจาะอุโมงค์ได้ก็เจาะเสีย อย่างเวียดนามเจาะอุโมงค์หลายที่ จากเว้ไปดานังปกติใช้เวลา 1 ชั่วโมงกว่า แต่เมื่อเจาะอุโมงค์แล้วใช้เวลา 8 นาที กับ 20 วินาที ไปเห็นกับตามาแล้ว เหลือระยะทางแค่ 6 กิโลเมตร เราจึงต้องมีการพัฒนาเส้นทางเพื่อแชร์กับสิงค์โปร์ สินค้าส่งออกของเรา 960 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 4-5 พันล้านบาท ของเว้ประมาณพันกว่าล้านดอลลาร์ แต่ของสิงคโปร์เป็นแสนๆ ล้านดอลลาร์

จุดแข็งที่สำคัญของแม่สอด คือ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระหว่าง แอคเมคส์ (ACMECS หรือ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวะดี เจ้าพระยา แม่โขง: Aeyawadee-Chaopraya-Mekong Economic Coorperation) กับ บิมสเทค (BIMSTEC หรือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ: Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ทั้งแอคเมคส์และบิมสเทคต่างก็เป็นประเทศในเอเชียที่ตกลงกันเรื่องการค้า 14 สาขา ใน 17 ประเทศ

หากดูในแผนที่ นครแม่สอดอยู่บริเวณด้านซ้ายของแผนที่ แอคเมคส์อยู่ด้านขวารวมกับเออีซีจะมีจำนวนประชาประมาณ 610 ล้านคน ด้านซ้ายคือบิมสเทค เป็นประเทศในอ่าวเบงกอล ซึ่งมีประชากร 1,300 กว่าล้านคน เราจะเป็นสะพานเชื่อม ข้อมูลเป็นข้อมูลจากการศึกษา ดังนั้นจุดสำคัญของโลกจบที่แม่สอด ตอนนี้อินเดียและพม่ากำลังจับมือกันเปิดเส้นทางไฮเวย์ซึ่งสามารถไปถึงยุโรปได้ แม่สอดเป็นทางที่จะไปอินเดียทางบกได้ นี่คือจุดแข็งของแม่สอด

ยะลาโมเดล 4C: Connectivity, Cleanness, Compact, Culture

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวถึงบริบทของยะลาที่ต่างจากแม่สอดและอุดรธานี เนื่องจากมีวิกฤติเรื่องความไม่สงบที่เกิดขึ้น สองเมืองข้างต้นมีแรงดึงดูดการลงทุนค่อนข้างมากทั้งเรื่องภูมิศาสตร์ที่ตั้งและอะไรต่างๆ ยะลามีปัญหาเรื่องการย้ายคนเข้าออก ในอดีตเคยคิดว่าเราดีกว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนในเรื่อง Decentralised (กระจายอำนาจ) แต่อาจจะไม่ดีมากนัก ดีกว่ามาเลเซีย ดีกว่าสิงคโปร์ แต่กับฟิลิปปินส์เขาดีกว่าบางส่วนในเรื่องของอำนาจ ทรัพยากรและงบประมาณในสัดส่วน แต่มาวันนี้ชักไม่แน่ใจ เพราะวิธีคิดที่เกิดขึ้นในบ้านเราปัจจุบันเลยมองค่อยข้างลำบาก

เมืองยะลาเป็นตัว Connectivity (การเชื่อมต่อ) แบบ Sub-Regional (อนุภูมิภาค) จากเบตงไปปีนังเมืองท่าใหญ่อันดับ 2 ของมาเลเซีย จากปีนังมาเบตง 1 ชั่วโมงเศษ จากเบตงมายะลาใช้เวลา 2 ชั่วโมงเนื่องจากทางคดเคี้ยว จากยะลาไปสุไหโกลกซึ่งเป็นเมืองชายแดนที่ติดกลันตัน ซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองโดยพรรคฝ่ายค้าน 2 ชั่วโมงมองไปทางปัตตานี ห่างจากยะลา 38 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมมลายู

“กังวลว่ายะลาในอนาคตจะยืนอย่างไรเพราะเราไม่มีทรัพยากร สิ่งหนึ่งที่พยายามมองคือเรื่อง Connectivity มีข้อเสนอเรื่องการขุดอุโมงค์ใช้เงินประมาณ 4 พันกว่าล้าน จะทำให้จากยะลาไปเบตงใช้เวลา 1.20 ชั่วโมง สิ่งที่จะออกไปทางอันดามัน คือไปออกปีนังเราจะได้เปรียบขึ้นมา ขณะเดียวกันได้เสนอรัฐบาลว่าไม่ต้องการรถไฟความเร็วสูง แต่ขอรางคู่ที่ทำเวลาได้”

ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com
กล้วยหิน ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com

การปรับตัวของเมืองในเรื่อง Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) เป็นปัญหาอย่างมาก และในข้างหน้าจะอยู่ได้ด้วย 4C นี้

1. Connectivity การเชื่อมโยง Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) หรือ Social Media เป็นสิ่งสำคัญ เทศบาลนครยะลาเราได้มองเรื่องการนำสิ่งที่เป็นท้องถิ่นมาทำให้ดี ด้วยเงินงบประมาณที่มี และพยายามเอามาจดลิขสิทธิ์ไว้หมด ยกตัวอย่างกล้วยหิน ลักษณะคล้ายๆ กล้วยป่าซึ่งมีลักษณะพิเศษที่ที่อื่นไม่มี เอามาเลี้ยงใช้นกหัวจุก ซึ่งผลิตภัณฑ์จากกล้วยนี้จะไปญี่ปุ่น จะมีการวางขายในร้านมูจิ (MUJI) ร่วมกับอ็อกแฟม (OXFAM) ขายทั่วโลกและเงินกลับเข้าชุมชน เป็นของยะลา ทุกวันนี้เงินท้องถิ่นไม่พอก็ต้องมีวิธีการสนับสนุนจากเงินเหล่านี้

2. Cleanness ต้นไม้ต้องเป็นออร์แกนิก ป้ายรุงรังต้องเอาออกให้หมด สิ่งเหล่านี้คือเทรนด์ของโลก ต้องมีผังเมืองที่สวยงาม ยะลาถือเป็นที่แรกที่จัดที่ดินได้สำเร็จ

3. Compact ทำเมืองไม่ให้ใหญ่มาก ไม่ใช่แค่เชิงโครงสร้าง แต่รวมไปถึงการบริหารต้องเป็นราชการ ลำดับขั้นให้น้อยที่สุด

4. Culture ทราบหรือไม่ว่าคนซาอุฯ รู้จักปัตตานีมากกว่าประเทศไทย มีรายงานหนึ่งระบุว่าคนมาเลเซียอยากมาเที่ยวปัตตานี้เพราะเป็นต้นกำเนิดของมลายู นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดเพื่อรักษาเมืองไว้ เพื่อเพิ่มมูลค่าในอนาคต ขายความเก่า เมืองต้องปรับตัว นอกจากการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจแล้ว คนยะลาไม่ต้องทำอะไรมาก รู้มลายูอยู่แล้ว ต้องศึกษาเพิ่มคืออังกฤษ และจีนได้ก็ยิ่งดี