ThaiPublica > เกาะกระแส > NBTC Watch ชี้ 1 ปีหลังได้ใบอนุญาต 3G – AIS ราคาไม่ลดตามกำหนด

NBTC Watch ชี้ 1 ปีหลังได้ใบอนุญาต 3G – AIS ราคาไม่ลดตามกำหนด

2 กรกฎาคม 2014


เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2557 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแถลงรายงานวิจัยและเสวนาในหัวข้อ ‘สถานการณ์ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.: ซิมดับ 3G คุกกี้รัน ฯลฯ’ ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอ “งานศึกษา NBTC Policy Watch ติดตามราคาค่าบริการ 3G ภายหลังการให้บริการ 1 ปีพบว่าค่าบริการ 3G ส่วนใหญ่ยังลดลงไม่ถึง 15% ตามที่ กสทช. กำหนด”

ในรายงานระบุ ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่านความถี่ 2.1 GHz (คลื่น3G) ใหม่ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายลดราคาค่าบริการแพคเกจลงร้อยละ 15 จากราคาค่าบริการ 2G สำหรับแพคเกจการให้บริการเดิม และสำหรับแพคเกจการให้บริการใหม่ให้มีราคาไม่น้อยกว่าเกณฑ์กลางที่กำหนด ประกอบด้วย

ปรับลดค่าโทรศัพท์

โครงการ NBTC Policy Watch เคยได้เสนอวิธีการเพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงราคา ได้ข้อสรุปว่า

● ประการแรก แพคเกจใหม่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากกว่าการลดราคา
● ประการที่สอง แพคเกจบางรายการราคาจะไม่ลดลง เนื่องจากอัตราที่ผู้ประกอบการเก็บสำหรับบริการประเภทต่างๆ ในแพคเกจเหล่านั้นเดิมก็มีค่าต่ำกว่าอัตราค่าบริการอ้างอิงที่ กสทช. ประกาศใหม่อยู่แล้ว
● ประการที่สาม อัตราค่าบริการสำหรับปริมาณการใช้ที่เกินจากแพคเกจมีราคาสูงเกินอัตราขั้นสูงที่กำหนดและยังไม่ได้ลดลง

ปัญหาการลดราคา 3G คือ บริการขายพ่วงเป็นแพคเกจ แต่ราคาอ้างอิงเป็นรายประเภท ทำให้ตรวจสอบยาก แพคเกจบางแพคเกจราคาต่ำกว่าราคาอ้างอิงอยู่แล้ว ทำให้ราคาไม่ลดลง และเป็นไปได้ที่แพคเกจที่คนใช้งานมากราคาอาจจะลดไม่มาก ผู้ประกอบการรายได้ไม่ลดลง คนส่วนใหญ่ไม่ได้จ่ายลดลง

วิธีการวัดการเปลี่ยนแปลงราคา ต้องสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของผู้บริโภค ที่ใช้บริการหลากหลายประเภท ทั้งเสียงและข้อมูล ต้องสอดคล้องกับลักษณะของสินค้าที่ซื้อขาย กล่าวคือต้องใช้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาของแพคเกจที่นำเสนอได้

ดร.พรเทพเสนอวิธีการคิดแบบการสร้าง ‘ตะกร้าราคา’ สร้างลักษณะการใช้บริการที่หลากหลายสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น โทรน้อย เน็ตมาก โทรปานกลาง เน็ตน้อย โทรมาก เน็ตปานกลาง ฯลฯ เรียกปริมาณการใช้แบบต่างๆ ที่ศึกษา ว่า ‘ตะกร้าราคา’ จะได้ทั้งหมด 24 ตะกร้า ดังตารางข้างล่างนี้

ปริมาณการใช้ต่อเดือน
ตะกร้าราคา

วิธีการคำนวณ
1. แพคเกจรายเดือนของผู้ประกอบการแต่ละราย
2. แพคเกจ 2G ใช้เดือนพฤษภาคม 2556 เป็นฐาน
3. ในแต่ละรูปแบบการใช้ สมมติให้ผู้บริโภคสามารถเลือกแพคเกจที่เหมาะสม กล่าวคือราคาถูกที่สุดตามการใช้งานได้ (full rationality)
4. หากปริมาณการใช้งานมากกว่าแพคเกจกำหนด ส่วนที่เกินคิดราคาตามอัตราค่าใช้บริการเกินแพคเกจ

กรณีอินเตอร์เน็ตแบบ unlimited ให้ใช้ปริมาณข้อมูลที่ได้ความเร็วสูงสุดมาคำนวณเท่านั้น (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ราคาลดลงเฉลี่ย AIS

ราคาลดลงเฉลี่ยของtrue

ในรายงานพบว่า มีเพียงบริษัท DTAC เท่านั้นที่ราคาค่าบริการโดยเฉลี่ยลดลงมากกว่า 15% โดยหากเปรียบเทียบแพคเกจค่าโทรเดือนล่าสุด (มิถุนายน 2557) กับเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า DTAC มีค่าบริการลดลงประมาณ 24% TRUE มีค่าบริการลดลงประมาณ 14% ในขณะที่ AIS ลดลงเพียง 8% เท่านั้น โดยพบว่าแพคเกจการให้บริการของผู้ให้บริการแต่ละรายไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท AIS นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงแพคเกจค่าบริการรายเดือนเลยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นมา

ราคาลดลงเฉลี่ยของDTAC

นอกจากนี้ การที่ กสทช. ประกาศอัตราอ้างอิงที่ประกาศเป็นรายบริการนั้นไม่สอดคล้องกับลักษณะการให้บริการในอุตสาหกรรมที่คิดราคาเป็นแพคเกจซึ่งการให้บริการเสียงและข้อมูลถูกผูกรวมกัน ไม่สามารถแยกซื้อบริการแต่ละประเภทแยกกันได้ ทำให้ทั้งผู้บริโภคและ กสทช. ไม่สามารถตรวจสอบว่าในแต่ละแพคเกจบริการใดคิดราคาเกินกว่าราคาอ้างอิง