หากพูดถึง “การ์ตูน” ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหนังสือ หรือถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “อนิเมชัน” ในสายตาของผู้ใหญ่หลายคนนั้นมักมองภาพของการ์ตูนว่าเหมาะสำหรับเด็ก ไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระที่สามารถสะท้อนอะไรได้ ถ้าเทียบกับวรรณกรรม งานเขียนอื่นๆ หรืองานที่อยู่ในรูปของภาพยนตร์ อาจเพราะตัวภาพของการ์ตูนไม่ใช่ภาพจริง ทำได้อย่างมากคือ “ภาพเสมือน” และการ์ตูนดังหลายเรื่องก็มักเป็นการบอกเล่าเรื่องเหนือจริง มาจากจินตนาการของผู้สร้าง ทำให้ทัศนคติในการมอง “การ์ตูน” ถูกจดจำในภาพของเรื่องเพ้อฝัน
แต่การเล่าเรื่องราวของการ์ตูน ก็มีส่วนสะท้อนเรื่องราวการดำเนินชีวิตของผู้คนผ่านการบอกเล่ากิจวัตรของตัวการ์ตูนต่างๆ ทำให้ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ สภาพสังคมของคนในยุคสมัยนั้นๆ อันเป็นยุคสมัยที่ผู้เขียนดำรงชีวิตอยู่ หรือยุคสมัยที่ผู้เขียนอ้างอิงถึง รูปแบบของวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต จะสื่อออกมาถึงอัตลักษณ์และวิถีของชาติผู้สร้างการ์ตูน
โดยเฉพาะการ์ตูนญี่ปุ่น เราสามารถเห็นบริบทการดำรงชีวิต ค่านิยม สภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ รวมไปถึงความเชื่อของผู้คนผ่านภาพและเนื้อหาของการ์ตูน สิ่งที่เราเห็นเป็นปกติในการ์ตูนแทบจะทุกเรื่องคือ การใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง และทั้งที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นแหล่งผลิตรถยนต์รายใหญ่ติดอันดับโลก แต่การเดินทางของเหล่าตัวละครส่วนใหญ่จะใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นหลัก น้อยนักที่เราจะเห็นตัวละครเหล่านี้ใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง
เราเห็นสิ่งที่น่าสนใจในการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่นหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม (ไม่นับการ์ตูนที่ตั้งใจสื่อถึงเรื่องนี้โดยตรง)
อีกสิ่งที่เราพบได้บ่อยๆ ไม่เพียงแต่ในการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม หรือภาพยนตร์ญี่ปุ่น ก็ต้องมีฉากของการห่อข้าวกล่อง เราไม่ค่อยเห็นภาชนะบรรจุนมที่ทำจากพลาสติก และอีกหลายเรื่องที่เล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตในชนบท เราก็จะเห็นการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ
รวมไปถึงเรื่องการทิ้งขยะก็ต้องมีการแยกขยะ ซึ่งการแยกขยะที่ญี่ปุ่นเขาทำจริงจัง ไม่ใช่แค่แยกแล้วไปกองทิ้งวันไหนก็ได้ ในการ์ตูนโยทซึบะที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เราจะเห็นว่าวันเก็บขยะแต่ละประเภทถูกกำหนดไว้ แต่ละท้องที่จะมีกำหนดการเก็บขยะแจกให้ชาวบ้าน จะนำขยะไปทิ้งสะเปะสะปะข้ามวันข้ามคืนไม่ได้เด็ดขาด
“โยทซึบะ”เป็นอีกหนึ่งการ์ตูนเบาสมองแต่สะท้อนการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นให้เราเห็นได้เป็นอย่างดี นอกจากฉากพื้นฐานที่เราเห็นทั่วไปในการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ตามที่เกริ่นมาข้างต้น ในเรื่องนี้เราจะเห็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมผ่านตัวละครต่างๆ อาทิ การซื้อของแล้วไม่รับถุงพลาสติก การมีพื้นที่นาในหมู่บ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นการปรับตัวของเมืองที่ยืดหยุ่นให้กับพื้นที่การเกษตร
เรื่องการ “รีไซเคิล” ที่มีให้เห็นอยู่ตลอดในการ์ตูนเรื่องนี้ อย่างการนำขวดแก้วมาใช้เป็นแจกันดอกไม้ การพูดถึงภาวะโลกร้อน และพยายามลดการใช้เครื่องปรับอากาศ เรื่องของการบ้านปิดเทอมที่เด็กๆ เลือกหัวข้อที่สนใจเป็นการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ การนำกล่องกระดาษมาใช้เป็นกล่องของเล่นของโยทซึบะ การในเศษผ้ามาประดิษฐ์ตุ๊กตา การนำเศษไม้มาประดิษฐ์ของใช้ เป็นต้น
สำหรับ “การ์ตูน” หากดูดีๆ แล้ว นอกจากจะเป็นแหล่งแหล่งบันเทิง ช่วยสร้างเสริมจินตนาการ ยังช่วยปลูกฝังค่านิยมดีๆ บางประการให้กับผู้อ่าน ผู้รับชมไปโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะจิตสำนึกในการรักษาสภาพแวดล้อม