ThaiPublica > คนในข่าว > “สมนึก จงมีวศิน” ต้นแบบโมเดล “ธรรมนูญอ่าวอุดม” จากนักอนุรักษ์วัด วัง บ้าน สู่นักวิจัยชุมชน สู้กับ”ยักษ์”เพื่ออนุรักษ์ชุมชน

“สมนึก จงมีวศิน” ต้นแบบโมเดล “ธรรมนูญอ่าวอุดม” จากนักอนุรักษ์วัด วัง บ้าน สู่นักวิจัยชุมชน สู้กับ”ยักษ์”เพื่ออนุรักษ์ชุมชน

20 มีนาคม 2014


ชื่อของกลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออก, วาระเปลี่ยนตะวันออก เป็นการรวมกลุ่มของภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับภัยที่มาพร้อมกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ทำให้หลายคนกลายมาเป็นนักวิจัยชุมชน เก็บรวบรวมข้อมูล หลักฐาน ข้อเท็จจริงเพื่อต่อสู้กับผู้ประกอบการ”ยักษ์ใหญ่”ที่ทำให้เกิดมลพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในนั้นมีชื่อ”อาจารย์เขียว”หรือ ดร.สมนึก จงมีวศิน เป็นที่รู้จักในหมู่นักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมของภาคตะวันออก โดยมีพื้นฐานความรู้การจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความชอบในงานอนุรักษ์โบราณสถาน วัด วัง บ้าน ทั้งในกรุงเทพฯ อยุธยา จันทบุรี ลพบุรี ฯลฯ มาโดยตลอด

เมื่อทำไประยะหนึ่งก็ก่อเกิดคำถามในใจขึ้นมาว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งปลูกสร้างนั้นหนีกันไม่พ้น ถ้า 3 สิ่งนี้ไม่สมดุลกันก็จะเกิดปัญหา ในฐานะที่เรียนด้านสถาปัตยกรรมและทำงานอนุรักษ์ การอนุรักษ์วัด วัง บ้านไว้ได้แต่ไม่มีคนอยู่ แล้วเราจะอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างนั้นไปเพื่ออะไร เก็บไว้ให้ใคร”

ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิจัยชุมชน
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิจัยชุมชน

การกระตุกต่อมคิดทำให้อาจารย์เขียวขยายงานอนุรักษ์ที่ทำอยู่รุกคืบไปยัง “ชุมชน” โดยเชื่อว่าหากชุมชนมีรากฐานที่แข็งแรง จะทำให้การอนุรักษ์ใดๆก็ยั่งยืน

ด้วยเห็นว่าสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับงานอนุรักษ์ จึงได้เริ่มทำจากชุมชนบ้านเกิดของตนเองจนกลายเป็น “ธรรมนูญชุมชนอ่าวอุดม”โมเดลต้นแบบการจัดการชุมชนที่หลายพื้นที่นำไปประยุกต์ใช้

แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้อาจารย์เขียวทำงานกับชุมชนมากขึ้นก็คือ “แม่” อาจารย์เขียวเล่าวว่า”เพราะแม่ชอบช่วยเหลือคนและเป็นคนบอกให้ผมไปช่วยเหลือคนอื่น เนื่องจากเห็นว่าชาวบ้านถูกรังแก สมัยที่ผมทำวิจัยเรียนปริญญาเอกแม่ลงพื้นที่ชุมชนกับผมด้วย แล้วเห็นว่ามีบ้านเก่าทรุดโทรมผุพังหลายหลังหลายแห่ง ซึ่งแม่ผมไปทุกที่เลย ไปๆ มาๆ สรุปแล้วผมทำงานอนุรักษ์ชุมชนรวม 11 แห่งตามที่แม่บอก โดยทำให้เกิดการท่องเที่ยวเพื่อมีรายได้เข้าชุมชนมาบูรณะบ้าน โบสถ์ ฯลฯ”

ไทยพับลิก้า : อยากให้อาจารย์เล่าถึงธรรมนูญชุมชนอ่าวอุดม

อ่าวอุดมมีท่าเรือรวม 6 แห่ง ขนส่งสินค้าเทกอง สินค้าเกษตร จนถึงถ่านหิน ก๊าซ น้ำมัน ซึ่งก่อมลพิษให้กับชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่จึงทำ “ธรรมนูญชุมชนอ่าวอุดม” ขึ้น ซึ่งเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี 2556 โดยมีต้นแบบมาจาก พ.ร.บ.ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันพื้นที่อ่าวอุดม ทั้งชุมชน ภาคอุตสาหกรรม ท่าเรือ มีความร่วมมือกัน มีการทำประชาพิจารณ์ การเซ็นข้อตกลง (MOU) ร่วมกันที่จะใช้ธรรมนูญฉบับนี้

จากธรรมนูญสมัชชาสุขภาพเขาทำอยู่แล้วแต่เน้นเรื่องสุขภาพ เราก็มาดัดแปลงทำเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยการ “เปลี่ยน me เป็น we” คือ ทำให้คนที่เป็นปรปักษ์กับเรามาทำงานร่วมกันให้ได้

อย่างชลบุรี จะปฏิรูปให้ไม่มีอุตสาหกรรมเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมมาลงทุนแล้ว ดังนั้น เราต้องทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมและภาคประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ประโยคทองที่ผมชอบพูดคือ “ชาวบ้านปรับตัวมานานแล้ว ถึงเวลาที่อุตสาหกรรมต้องปรับตัวบ้าง” ถ้าทั้งสองฝ่ายปรับตัวก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และอยู่ร่วมกันได้ ส่วนอะไรที่รุนแรงเกินไป ชาวบ้านรับไม่ได้ แล้วอุตสาหกรรมก็ไม่มั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก็ไม่ควรนำอุตสาหกรรมนั้นเข้ามา ซึ่งทุกฝ่ายต้องพูดคุยและตกลงร่วมกัน

ดังนั้น อ่าวอุดมมีบริษัทท่าเรือ 6 แห่ง ตอนนี้ได้เซ็น MOU กับชุมชนแล้ว 3 แห่ง คือ บริษัทสยามคอมเมอร์เชียล ซีพอร์ท จำกัด, บริษัท, เจ.ซี.มารีน เซอร์วิส จำกัด และบริษัทเคอรี่ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นั้นยังไม่ได้เซ็นโดยอ้างว่าเป็นบริษัทมหาชน

“แต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เจอผู้บริหารของเอสโซ่ จึงบอกไปว่า บริษัทเป็นมหาชนหรือไม่ไม่น่าจะเกี่ยวกับความสามารถที่จะเซ็นข้อตกลงร่วมกัน เพราะเป็นความจริงใจของบริษัทด้านผู้บริหารเขาก็บอกว่าจะกลับไปคุยก่อน ส่วนไทยออยล์กับ ปตท. ผมคิดว่าถ้าเอสโซ่เซ็น MOU ทั้ง 2 บริษัทก็น่าจะเซ็นตาม ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า 3 บริษัทนี้จะไม่ได้เซ็นข้อตกลงร่วม แต่ก็มาทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น นอกจากนี้ เทศบาลนครแหลมฉบังก็มาเซ็นข้อตกลงร่วมกับเราด้วย เหมือนเป็นสักขีพยานและเป็นกรรมการกลาง”

“ธรรมนูญอ่าวอุดมเริ่มทำเมื่อปลายปี 2554 พอเสร็จเรียบร้อยก็สามารถต่อรองกับผู้ประกอบการได้ทันที ล่าสุด ท่าเรือบริษัทเคอรี่ฯ ที่กำลังจะขยายเฟส 4 ทำประชาพิจารณ์ไปครั้งที่ 3 แล้ว ขณะที่ชุมชนก็ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อเอาข้อมูลไปยันไว้ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ถึง 3 ครั้งเช่นกัน จนในที่สุดทางบริษัทเคอรี่ฯ ก็ถอดใจกับท่าเรือเฟส 4 แล้ว เพราะเห็นว่าจะเกิดปัญหาและผลกระทบมาก อีกเหตุผลคือเรื่องเศรษฐกิจที่ท่าเรือขยายไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ จึงต้องชะลอโครงการ แต่ที่ผมได้ยินมาคือไม่สร้างท่าเรือเพิ่มแล้ว นี่คือนิมิตหมายที่ดีเรื่องแรก”

เรื่องที่สองคือ บริษัท เจ.ซี.มารีนฯ ซึ่งขนถ่านหิน ตกลงที่จะขนส่งโดยทำระบบปิด ในระหว่างที่ออกแบบระบบปิดนั้น ระบบเปิดที่ทำอยู่ก็จะคลุมให้ดีที่สุด มีคนผลัดเวรกวาดถนนตลอดเวลา ไม่ให้มีฝุ่นตก ถ้าลมแรงก็หยุดขน ก่อนการขนก็จะแจ้งให้กรรมการชุมชนทราบล่วงหน้า 1 สัปดาห์ การมีธรรมนูญชุมชนนั้น จุดประสงค์หนึ่งคือ เพื่อรักษาพื้นที่ โดยชุมชนไม่สนใจว่าคุณขนถ่ายสินค้าอะไร แต่สินค้านั้นต้องปลอดภัย แม้ว่าทางบริษัทจะทำตามใบอนุญาตแล้ว แต่ก็ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย”

สำหรับระบบปิดดังกล่าวทางบริษัท เจ.ซี.มารีน ให้ชุมชนไปร่วมออกแบบด้วย ฉะนั้นระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ได้จึงเป็นของชุมชนเอง ซึ่งที่อ่าวอุดมกลายเป็นโมเดลแรกๆ ของการขนถ่ายถ่านหินระบบปิด ที่ท่าเรือในจังหวัดอื่นๆ เช่น อยุธยา สามารถนำไปใช้ได้

นอกจากนี้บริษัท เจ.ซี.มารีนฯ ยังยินดีที่จะตั้งกองทุน โดยจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งจากปริมาณการขนถ่านหิน เพื่อให้ชาวบ้านตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้รักษาพยาบาลและให้เบี้ยเลี้ยงชีพรายเดือนแก่คนชรา ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านได้ไปจดแจ้งกองทุนสวัสดิการแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่มีใครมาเบิกเงินตรงนี้ไปใช้โดยรอจดแจ้งและตั้งกรรมการให้เรียบร้อยก่อน

“ผมได้ชวนพี่น้องของเราทั้งหมด มาร่วมทำธรรมนูญชุมชนและธรรมนูญสุขภาพแบบอ่าวอุดมเพิ่มอีก 15 พื้นที่ บางพื้นที่ที่ไม่มีภัยคุกคามก็ทำเรื่องการดูแลสุขภาพ โดยกำหนดเป็นกฎกติกาของชุมชน เช่น วิธีการปลูกข้าว การทำให้พื้นที่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร หรือมีอะไรบ้างที่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้ในอนาคตหรือห้ามเกิดขึ้นในชุมชน”

ชุดข้อมูลอ่าวอุดมของชุมชน
ชุดข้อมูลอ่าวอุดมของชุมชน

“ล่าสุดผมก็ไปบรรยายที่ชุมชนตำบลบ้านปึก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เพื่อให้ชาวบ้านเตรียมพร้อมรับมือกับอุตสาหกรรมที่กำลังจะเข้ามา โดยทำให้ชุมชนเกิด “4 รู้” คือ รู้ชุมชน รู้มรดก รู้ปัญหา และรู้อนาคต หลังจากที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของตัวเองและพยายามค้นหาทรัพยากรและมรดกที่แท้จริงออกมา แล้วกำหนดว่าอะไรเป็นปัญหาต่อมูลค่าและคุณค่าต่อความเป็นตัวตนหรือมรดกเหล่านั้น สุดท้ายจึงกำหนดมาเป็นอนาคตของชุมชน และกลายเป็นธรรมนูญชุมชนในที่สุด ซึ่งที่บ้านปึกก็รู้แล้วว่าตัวตนของเขาคือการประมงและผ้าทอโบราณที่ถ่ายทอดมาจากในวัง”

“จากโมเดลเล็กๆ ของอ่าวอุดม ก็เห็นการขับเคลื่อนค่อนข้างเยอะ ซึ่งก็ถือว่าอ่าวอุดมเป็นต้นกำเนิดอะไรหลายๆ อย่าง และที่สำคัญที่สุดคือระบบธรรมนูญชุมชนที่อ่าวอุดมได้แพร่หลายไปหลายจังหวัด เช่น ปราจีนบุรี ระยอง ตราด ฯลฯ แล้วแต่ว่าใครจะขับเคลื่อนได้ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีการปรับใช้ที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ชุมชนอื่นๆ ได้คือไกด์ไลน์ของกระบวนการทำงาน นอกจากนี้การทำธรรมนูญก็กลายเป็นการศึกษาอนาคตที่เรียกว่า transformative scenario planning ซึ่งก็มีครั้งแรกที่ภาคตะวันออก”

คุณูปการของธรรมนูญชุมชนอ่าวอุดมคือ กระจายไปเป็นโมเดลต่างๆ มากมาย เพียงแต่ปรับให้เหมาะกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และในที่สุดคนก็ได้เห็นว่าพลังชุมชนเล็กๆ อย่างอ่าวอุดมที่เกิดจากคนเพียง 7 คนรวมตัวกันทำ จนกลายมาเป็น 12 คน และในที่สุดกว่า 1,000 คนที่พร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน แล้วสามารถบีบบังคับ “ยักษ์ใหญ่” ทั้งหมดให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับผมหรือผู้นำชุมชน แต่คือพลังที่ชุมชนขับเคลื่อนไปพร้อมผู้ประกอบการ ด้วย “การต่อสู้กันด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง มันไม่ใช่ความเชื่อ”

ถ้าชุมชนไหนไม่เข้มแข็งและไม่ร่วมมือกันทุกวัยทุกภาคส่วน การขับเคลื่อนจะช้า เช่น กรณีน้ำมันรั่วที่ระยอง ทั้งๆ ที่เป็นกรณีที่เกิดผลกระทบหนักมาก หลายส่วนเข้าไปช่วย แต่ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนก่อน อย่างพื้นที่อื่นๆ เราไปอบรมให้ แล้วเขาดำเนินการ เราก็ไปช่วยตลอด แต่ถ้าเราไปช่วยแล้วชุมชนนั้นเขาไม่ทำอะไรสักที คนที่ไปช่วยก็เหนื่อย

สำหรับอ่าวอุดม ชุมชนค่อนข้างเข้มแข็ง เพราะว่าไม่เหลือพื้นที่จะเสียอีกแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาบ้าง เช่น คนที่รับเงินมาจากผู้ประกอบการเข้ามาเสี้ยมชาวบ้าน แต่ว่าทำได้น้อย เพราะว่ากรรมการกลุ่มบริษัทและกรรมการชาวบ้านคนละชุด จึงเกิดการกระจายอำนาจอย่างชัดเจนโดยที่ทุกคนมีส่วนร่วม

ไทยพับลิก้า : ผลกระทบของมลพิษไม่จำกัดอยู่ในพื้นที่อ่าวอุดม

ผลกระทบที่เกิดในอ่าวอุดม เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ได้ขยายไปยังเทศบาลนครแหลมฉบังด้วย ในทางกลับกัน ผลกระทบจากแหลมฉบังก็มาถึงอ่าวอุดม เพราะที่แหลมฉบังก็มีท่าเรืออีกหลายแห่ง เช่น ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ ซึ่งขนถ่านหิน ท่าเรือบริษัทมาบุญครองไซโล (ปัจจุบันเป็นของดับเบิ้ลเอ) ซึ่งขนถ่ายแป้งมันสำปะหลัง โดยท่าเรือทั้งสองแห่งนี้ก่อมลภาวะลงทะเลจำนวนมาก อย่างศรีราชาฮาร์เบอร์ แม้ระบุว่าขนส่งถ่านหินเป็นระบบปิดแล้ว แต่เมื่อเราไปดูก็พบว่าไม่จริง ทำให้ชาวอ่าวอุดมไปร้องเรียกที่อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ซึ่งภายหลังทางท่าเรือก็ยอมรับว่าเขาไม่รู้ว่าผลกระทบมาถึงเทศบาลนครแหลมฉบังด้วย เขาคิดว่าจบแค่ในเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ แต่เมื่อเราเข้าไปอธิบาย และเห็น หนังสืออ่าวอุดมอันอุดม…ที่ชุมชนทำ เขาก็เข้าใจมากขึ้น ล่าสุดท่าเรือก็ยอมมาทำงานร่วมกันกับชุมชน มาศึกษาธรรมนูญชุมชน และจะตั้งคณะกรรมการท่าเรือเหมือนกับอ่าวอุดม

“การต่อสู้แบบประท้วงหรือฟ้องร้องต่อศาลมันเหนื่อยแล้ว หันมาใช้วิธีการพูดคุยสร้างความเข้าใจกันดีกว่า”

ชุดข้อมูลอ่าวอุดมของชุมชน
ชุดข้อมูลอ่าวอุดมของชุมชน

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกท่าเรือเป็นแบบนี้ อย่างอ่าวอุดมที่เซ็นข้อตกลงแล้ว 3 ท่าเรือ ก็มีท่าเรือหนึ่งที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งเราก็ไปเรียกร้องอนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภาด้วย ล่าสุดท่าเรือดังกล่าวก็ออกมาชี้แจงเหตุผลแล้ว แต่ชุมชนก็บอกว่าช้าเกินไปเพราะประชาชนตื่นตระหนกมาก

ทั้งนี้ ที่ชลบุรีกำลังจะมีท่าเรือเพิ่มอีก 2 แห่ง ซึ่งผมคิดว่าชาวบ้านได้มองข้ามเรื่องเงินไปแล้ว เพราะผมเคยพูดให้เขาฟังว่า “เงินคือสิ่งที่นำมรดกออกไปจากพื้นที่ ฉะนั้น ถ้าไม่เห็นเงินเป็นใหญ่ ไม่ขายที่ดิน ไม่รับเงินจากผู้ประกอบการเพื่อให้โครงการต่างๆ เข้ามา พื้นที่ก็จะไม่เสียหายขนาดนี้” ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย แล้ววันนี้อ่าวอุดมก็สามารถพลิกฟื้นได้จริง อย่างชายหาดที่เราบอกให้ไทยออยล์มาถมทะเลให้ ก็ทำให้เราได้ชายหาดคืนมาส่วนหนึ่ง แล้วก็เริ่มมีร้านขายอาหาร เริ่มมีชาวบ้านมาปูเสื่อนั่งเล่น มีลิงลงมาเล่นที่ชายหาด

ไทยพับลิก้า : ความสำเร็จของธรรมนูญชุมชนอ่าวอุดมเกิดจากอะไร

หัวใจสำคัญคือชาวบ้านเข้าใจตนเอง เข้าใจว่าสิ่งพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่ของเขานั้น อะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์หรือโทษกับเขาในอนาคต

สำหรับอ่าวอุดมที่ยอมให้ท่าเรือเข้ามาในตอนแรก เพราะคิดว่าจะไม่มีผลกระทบ จนวันหนึ่งเมื่อเกิดผลกระทบชาวบ้านก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ด้านกระบวนการของโรงงานก็ร้าย เมื่อรู้ว่าชาวบ้านดิ้นไม่ออกก็เอาเงินไปซื้อตัวประธานหรือผู้นำชุมชน โดยเรียกว่า แผนซีเอสอาร์ ซึ่งพอแกนนำชาวบ้านได้รับเงินมากๆ ก็เกรงใจและยอมรับโรงงานทั้งหมด สิ่งใดไม่ดีก็ไม่บอกให้ลูกบ้านรู้ เมื่อกระบวนอย่างนี้ทำซ้ำไปเรื่อยๆ สุดท้ายสิ่งไม่ดีก็เกิดขึ้นเต็มหมู่บ้านไปหมด แม้กระทั่งประธานชุมชนเองก็รับไม่ไหว หรือคนอ่าวอุดมจำนวนมากที่อยู่ในสถานประกอบการก็รับไม่ไหว จนเกิดการลุกฮือของชาวบ้าน

การลุกฮือครั้งแรกเกิดจากชาวบ้านตื่นตระหนกว่า “จะมีท่าเรือสร้างใหม่อีกแล้ว จะทำยังไงกันดี” แต่ชาวบ้านลืมคิดไปว่าท่าเรือเดิมก็ยังสร้างปัญหาอยู่ หลังจากนั้นจึงเกิดการประเมินผลกระทบร่วมกันในชุมชน จนสุดท้ายเกิดเป็นอีไอเอชุดแรกของอ่าวอุดมขึ้นมา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการทำของเดิมให้ดีก่อน แล้วค่อยมาตกลงกันอีกทีสำหรับของท่าเรือใหม่ที่จะเข้ามา

จากอีไอเอชุมชน ทำให้มีการศึกษาชุมชนเพิ่มมากขึ้น มีการเรียนรู้ว่าตัวตนของชุมชนคืออะไร ทั้งมรดก ฐานทรัพยากร ปัญหาและอนาคตว่าคืออะไร เมื่อศึกษากันและกันมากขึ้น ก็เกิดความคิดเรื่องอนาคตที่เติบโตมากขึ้น จากที่เดิมทีคนอ่าวอุดมไม่มองเรื่องอนาคตเลย หรือแม้แต่คนไทยทั้งประเทศไทยก็ไม่รู้ว่าอะไรคืออนาคต ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก

เช่น ชุมชนในพื้นที่อมตะ จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่เกษตรที่สำคัญมากและเป็นดินที่ดีที่สุดของโลก ทั้งปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 เพาะพันธุ์กุ้งและปลาระดับเอเชียและโลก แต่ชาวบ้านก็ค่อยๆ ขายที่ดินไปจนหมดรวมแล้วกว่า 20,000 ไร่ พอปัจจุบันมาคุยกันเรื่องอนาคตชาวบ้านจึงคิดไม่ออกว่าคืออะไร

ไทยพับลิก้า : ที่อ่าวอุดมลุกขึ้นต่อสู้เพราะสถานการณ์รุนแรงจนหมดหนทางอื่นแล้ว

ใช่ครับหมดทางแล้ว เราต้องสู้แล้ว

เราต้องยอมรับว่าประเทศนี้มีทั้ง “กูเฉย” และ “กูแน่” ซึ่งมีจำนวนมากทั้ง 2 ประเภท ด้านกูแน่ก็จะไม่ยอมรวมตัวกัน ส่วนกูเฉยก็มีหลายแบบ เช่น เฉยรอชนะ เฉยเพราะท้อแท้ เฉยเพราะตัวเองหรือลูกหลานญาติพี่น้องอยู่ในบริษัทเหล่านั้น ฯลฯ แต่ขาดกลุ่มสำคัญนั่นคือ “กูร่วม” ดังนั้น ที่เราทำที่อ่าวอุดมคือสร้างกูร่วมขึ้นมาจากกูเฉยและกูแน่ ซึ่งโมเดลนี้ได้นำใช้ในหลายๆ พื้นที่เพื่อให้เกิดพื้นที่กลางที่สร้างความร่วมมือ โดยในธรรมนูญอ่าวอุดมระบุชัดเจนว่าเป็นเรื่อง “การเมืองของภาคพลเมือง” หรือก็คือโมเดลของสภาพลเมืองในอนาคต

สภาพลเมืองที่เรารู้จักกัน คือ อำนาจที่ 4 ที่จะไปคานอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งกรรมการท่าเรือแต่ละแห่งที่เราตั้งขึ้นก็เป็นลักษณะเดียวกันกับสภาพลเมือง คือให้ภาคประชาชนกำหนด ดูแล ติดตาม ตรวจสอบภาคธุรกิจ เช่น ตรวจสอบรายงานผลการดูแลสิ่งแวดล้อมรายเดือนของบริษัทตรวจสอบโครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งถ้าภาคธุรกิจไม่บอกชุมชนจะถือว่าจงใจปกปิดข้อมูล ดังนั้นชุมชนก็จะไม่ยอม แต่ถ้าภาคธุรกิจมาเจรจากับชุมชน ได้พูดคุยถึงผลกระทบของโครงการ และทำอีไอเอเพื่อลดผลกระทบร่วมกัน ชุมชนก็อาจจะยินดีให้มีโครงการได้

เช่น กรณีขนถ่านหินที่คนอ่าวอุดมนั้นชาวบ้านยอมไม่ใช่เพราะกลัวปืน แต่ยอมเพราะท่าเรือจัดการลดผลกระทบตามที่ชุมชนเสนอ เช่น ควบคุมทิศทางลม ขนส่งระบบปิด เก็บกวาดถนนตลอด ฯลฯ ซึ่งมีรายละเอียดการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงยอมรับระบบปิดและตำแหน่งตั้งโกดังที่ชาวบ้านออกแบบให้

โมเดลนี้น่าจะให้ทุกๆ พื้นที่นำไปใช้ เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาดีมากกว่าภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งตอนแรกท่าเรือก็ไม่ค่อยเชื่อ เราชวนให้เขามาดูตำแหน่งที่เกิดปัญหา ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่การที่จะทำให้อีกฝั่งหนึ่งเชื่อ เราก็ต้องมีข้อมูลไปคุยกับเขาก่อน และต้องมีทางออกให้เขาด้วย ซึ่งทุกอย่างรวบรวมไว้ในธรรมนูญชุมชนหมดแล้ว

ผู้ประกอบการจะบอกว่าภาคประชาชนเป็นคนโง่ไม่ได้แล้ว ด้านผู้ประกอบการที่ยอมให้การพัฒนาสกปรกเข้ามาเต็มไปหมดไม่โง่หรือ ฉะนั้น ตอนนี้พวกเราต้องฉลาดแล้ว หาวิธีการพัฒนาที่ไม่กระทบชุมชนในเชิงลบ แต่กระทบในเชิงบวก ด้านผู้ประกอบการก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย เพราะฉลาดและเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ทำมากกว่าชาวบ้าน ดังนั้นจะไม่รู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจนั้นสร้างผลกระทบอย่างไรต่อพื้นที่ข้างเคียง

นอกจากนี้ยังมีโมเดลของพื้นที่อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ที่ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ที่สามารถรวมคนเข้ามาคุยกันได้จำนวนมาก อีกโมเดลคือที่อำเภอจะนะ สงขลา ในโครงการท่าเรือสงขลา 2 ซึ่งเชื่อมต่อกับท่าเรือปากบารา ที่เริ่มจากพูดคุยกัน ทำหนังสือ เก็บข้อมูล จากที่ช่วงแรกๆ ชาวบ้านเหนื่อยหน่ายไม่อยากต่อสู้แล้ว หลังจากที่เคยต่อสู้เรื่องโรงแยกก๊าซจนมีชาวบ้านถูกจับแต่ก็สามารถสร้างได้ ทำให้ชาวบ้านกลัวเรื่องคดีความและอิทธิพลต่างๆ ที่จะเข้ามาคุกคาม แต่ครั้งนี้มีชาวท่าศาลาและชาวสตูลไปช่วยสนับสนุน ทำให้ชาวบ้านที่จะนะเกิดแรงฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง

ผมลงพื้นที่จะนะ ชาวบ้านก็บอกว่า “อยากจะต่อสู้แต่ว่าเขาไม่มีแรงแล้ว เคยทำมาแล้วก็สร้างได้” ต่อมาผมก็ไปเจอกับสมาคมนกเขาแล้วพูดคุยกันทำให้รู้ว่า การปล่อยก๊าซของอุตสาหกรรมทำให้เสียงนกเขาทุ้มลง เสียงไม่แหลมเหมือนที่ควรจะเป็น ขณะที่ไข่นกฟองละ 30,000 บาท ตัวนกราคาหลักล้านบาท รวมถึงทรัพยากรทางทะเลอีก ดังนั้นผมจึงคำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจจากนกเขาให้ชาวบ้านฟังโดยใช้โมเดลจากธรรมนูญชุมชนอ่าวอุดม พอเขาเริ่มเห็นคุณค่าและมูลค่าของตัวเอง ชุมชนก็พร้อมจะลุกขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งตอนนี้เขาก็ขับเคลื่อนงานกันได้

สมนึก จงมีวศิน

ไทยพับลิก้า : พัฒนาการ “กูร่วม” มีลำดับขั้นอย่างไร ร่วมกันแบบไหน

ในอันดับแรกๆ คงบอกไม่ได้ว่าประชาชนและผู้ประกอบการจะมาร่วมแบบ 100% แต่อย่างน้อยที่สุดการเซ็นข้อตกลงร่วมกันทำให้ทุกคนได้เจอกันบ่อยๆ จนกลายเป็นแนวร่วมขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงเกิดการพูดคุยกันว่าผู้ประกอบการอยากสร้างอะไร ชาวบ้านจะกีดกันอะไร ใช่อนาคตที่ชาวบ้านต้องการหรือไม่ แล้วตัดสินใจว่าจะให้มีโครงการหรือเปล่า

เรื่องท่าเรืออ่าวอุดม ผมไม่ได้ให้ชาวบ้านมองแต่โทษอย่างเดียว แต่ให้มองถึงประโยชน์ด้วย เช่น เสาสะพานท่าเรือจะมีหอยมาเกาะจำนวนมาก รวมถึงมีกุ้ง ปู ปลา จำนวนมาก ดังนั้นก็จะออกแบบกันว่าพื้นที่ไหนสามารถทำประมงได้ แล้วตรงไหนทำประมงไม่ได้ก็ขยายเป็นที่จอดเรือ หรือถ้าจะสร้างท่าเรือเพิ่มอีกก็จะกำหนดโครงสร้างท่าเรือและมีโมเดลรองรับผลกระทบ

ด้านผู้ประกอบการก็ต้องคิดไว้ก่อนว่าจะไม่สร้างเพิ่ม ใช้ท่าเรือเท่าที่มีเดิมก่อน ไม่ขนส่งสินค้าอันตราย หรือถ้าเป็นสินค้าอันตรายต้องทำเป็นระบบปิด

บางบริษัทอ้างว่าลงทุนมาเยอะแล้วนั้น ผมเองก็ไม่ได้ว่าเรื่องการลงทุนของบริษัท แต่ชาวบ้านปรับตัวมามากแล้ว บริษัทลงทุนและได้กำไรไปเยอะแล้ว วันนี้บริษัทควรเอากำไรนั้นมาสร้างอะไรที่ปลอดภัยมากขึ้นจะดีกว่า ซึ่งทางบริษัทก็ยินดีที่จะคุยเรื่องนี้

หรือกรณีท่าเรือแห่งหนึ่ง ตัวแทนบริษัทกล่าวว่า “ชาวบ้านมากล่าวหาแต่บริษัท ว่าสร้างปัญหาเรื่องการขนถ่านหิน ทำไมไม่ไปดูท่าเรืออื่นๆ ในประเทศไทยบ้าง เพราะสร้างปัญหาเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าทำท่าเรืออื่นให้ดีได้ เขาก็จะทำตาม” ซึ่งผมก็บอกว่า “เขาควรเป็นแบบอย่างให้ท่าเรืออื่นๆ ทำ ซึ่งที่อ่าวอุดมก็เริ่มจากกท่าเรืออื่นๆ มาแล้ว และตอนนี้ถึงคิวที่คุณต้องปรับตัวบ้างแล้ว ท่าเรือเดียวปล่อยขยะมา 10 กิโลกรัม และถ้าท่าเรือ 10 แห่งรวมกันก็ปล่อยขยะเป็น 100 กิโลกรัม คุณจะบอกว่าคุณปล่อยเท่านั้นเท่านี้ซึ่งน้อยไม่ได้ เพราะเมื่อไปรวมกับของท่าเรืออื่นๆ แล้ว ก็เป็นจำนวนมาก แล้วชาวบ้านต้องรับผลกระทบทั้งหมด” บริษัทก็อึ้ง แล้วภายหลังก็เข้ามาคุยว่าเข้าใจแล้ว

ไทยพับลิก้า : โมเดล 4 รู้ สะท้อนคุณค่าของชุมชน

โมเดล 4 รู้ประกอบด้วย 1. รู้ตัวตน ว่าเราเป็นใคร ทำอาชีพอะไรมาก่อน บรรพบุรุษทำอะไรมาก่อน มีอัตลักษณ์แบบไหน พัฒนาการทางสังคมของพื้นที่เป็นอย่างไร

2. รู้มรดกของตนเอง หรือฐานทรัพยากรในพื้นที่ ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ ต้นไม้ คลอง วัฒนธรรม ซึ่งทั้ง 2 รู้นี้จะทำให้เกิดผังชุมชน ซึ่งจะบอกได้ชัดเจนว่าพื้นที่แต่ละแห่งนั้นในอดีตและปัจจุบันเป็นอย่างไร มีอะไรบ้างที่คงอยู่หรือหายไปแล้ว

3. รู้ปัญหาและผลกระทบ คือ รู้จักสิ่งที่ดีและไม่ดีในชุมชน และอะไรบ้างที่เมื่อเข้ามาแล้วจะทำลายมูลค่าหรือคุณค่าของตัวตนหรือมรดกบ้าง

4. รู้อนาคต คือการออกแบบและแก้ไขปัญหาในชุมชน ซึ่งจะกลายเป็นอีไอเอชุมชน

จากอีไอเอชุมชน ก็พัฒนาเป็นธรรมนูญชุมชน โดยเอางานวิชาการมาทำแบบบ้านๆ ซึ่งธรรมนูญของอ่าวอุดมคือศึกษาจนรู้ปัญหาทั้งหมดแล้ว และเอาธรรมนูญมาแก้ไขปัญหา ซึ่งมีทั้งหมด 10 มิติ คือ 1. แผนการบริหารจัดการมรดกชุมชน 2. แผนการอนุรักษ์ 3. แผนการฟื้นฟู 4. แผนการให้ประโยชน์ยั่งยืน 5. แผนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 6. แผนการจัดการมลพิษ 7. การสร้างพื้นที่ภาคการเมืองพลเมือง 8. การรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ 9. การสร้างความรู้อย่างต่อเนื่อง สร้างฐานความรู้ใหม่ เนื่องจากพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรม และ 10. การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมกับชุมชน ต้องเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร

จนในที่สุดก็ร่างธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งบอกชัดเจนเรื่องแผนการอนุรักษ์อ่าวอุดมว่าต้องการให้องค์กรอ่าวอุดมดูแลฐานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เช่น มีการส่งเสริมให้ปลูกพืช ต้นไม้ และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และระบบนิเวศ กำหนดให้ปล่อยลูกกุ้งลูกปลาทุกปีในวันที่ 12 สิงหาคมและ 5 ธันวาคม มีการระบุแนวเขตพื้นที่ 3,000 เมตรสำหรับเรือประมงพาณิชย์ไม่ให้เข้ามา

ทั้งนี้ เราจะตั้งสมาคมประมงขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจต่อรอง เช่น ห้ามเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินในพื้นที่ลาดชันและภูเขา รวมถึงการบุกรุกทางทะเลและโครงการที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล การติดตามตรวจสอบผลกระทบและการเยียวยา และแผนการจัดการมลพิษและแผนฟื้นฟู

สมนึก จงมีวศิน-2

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่ได้จากภาคตะวันออกคือการปฏิรูปอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถนำไปใช้ได้”

ตอนนี้พวกผมไม่ได้ทำแค่ธรรมนูญอย่างเดียวแล้ว แต่ทำเรื่องจังหวัดปกครองตนเองด้วย เพราะถ้ากำหนดทิศทางตัวเองไม่ได้เราก็ตาย ต่อให้มีธรรมนูญดีแค่ไหน แต่จังหวัดชี้สั่งการลงมาก็ต้องทำ หรือธรรมนูญเข้มแข็งมากแต่บางครั้งก็ต้านโครงการต่างๆ ที่เข้ามาพร้อมกันไม่อยู่

“แต่จะไปถึงจุดที่เราต้องการไหม ผมว่าเราต้องแบ่งความสำเร็จเป็นขั้นๆ อย่างน้อยความสำเร็จขั้นที่ 1 หรือคือ “การร่วมกันริเริ่ม” ได้เกิดแล้ว ส่วนความสำเร็จขั้นที่ 5 คือ “เกิดการเปลี่ยนแปลง” ก็ต้องใช้เวลาสักพัก ด้านชาวบ้านเองก็เริ่มมองเห็นว่าถ้าท้องถิ่นไม่เข้มแข็งก็จะทำให้ประเทศเข้มแข็งค่อนข้างยาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำทั้ง 2 ส่วนควบคู่กันไป”

“ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันได้ สามารถตกลงกันที่จุดกลางว่า ต่อไปนี้ผู้ประกอบการจะทำอะไรภาคประชาชนต้องมีส่วนรู้เห็น ส่วนภาคประชาชนจะทำอะไรผู้ประกอบการต้องช่วยสนับสนุน”

ไทยพับลิก้า : ประเด็นจังหวัดปกครองตนเองมีการขับเคลื่อนอย่างไร

จังหวัดปกครองตนเองต่อไปจะต้องเกิดขึ้น โดยเก็บภาษีและแบ่งสัดส่วนการบริหารเองภายในจังหวัดต่อส่งคืนส่วนกลางในอัตราส่วน 70:30 มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง ด้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ยังต้องมีอยู่ องค์กรท้องถิ่นต่างๆ ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการหรือนายกจังหวัด ฉะนั้น คนที่จะบริหารจังหวัดจึงไม่ใช่สไตล์ผู้ว่าฯ หรือนักการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นคนมี 2 บุคลิก สามารถทำงานได้ทั้งด้านปกครองและบริหาร

“ทั้งธรรมนูญชุมชนและ พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเองต้องทำควบคู่กันไป แล้วสุดท้ายจะไปบรรจบกันเอง ซึ่งผมคิดว่าจะมีจังหวัดปกครองตนเองได้ภายในอย่างน้อย 5 ปี แต่ก็ต้องเริ่มขับเคลื่อนและเรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะประเทศไทยมีแผลเยอะแล้ว และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่”

ทางเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นเชิงประจักษ์ก็คือ ชุมชนต้องศึกษาตนเอง และมีคนค่อยๆ รวบรวมข้อมูลขึ้นมา ทำเป็นผังชุมชน เพื่อนำไปต่อเป็นผังตำบล ผังอำเภอ และผังจังหวัด ในขณะที่ผังเมืองของประเทศไทยเป็นแบบสั่งจากบนลงล่าง คนทำผังอยากทำนิคมตรงไหนไม่เคยไปดูพื้นที่จริงว่าสมควรทำนิคมไหม แค่เห็นว่าในแผนที่ตรงไหนเหลืออยู่ก็เลือกเลย

ทั้งนี้ ที่สระแก้วและปราจีนบุรีมีสภาพลเมืองแล้ว ซึ่งผมก็อยากให้ชลบุรีมีบ้างแต่คงต้องค่อยๆ เริ่มไป

ไทยพับลิก้า : ก้าวต่อไปของอ่าวอุดม

ตอนนี้มีโครงการจะทำธนาคารปู โดยขยายจากกระชังปูที่ทำอยู่ ซึ่งเริ่มมีคนมาดูงานจำนวนมาก จึงอยากทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เลยในตัว โดยพื้นที่ชั้นล่างทำเป็นบ่อเพาะ ซึ่งมีแม่ปูที่มีไข่ในกระดองแล้วต่อท่อจากบ่อลงไปยังทะเล รวมถึงกั้นเขตห่างจากฝั่ง 300 เมตรเป็นแหล่งอนุรักษ์ลูกปู ส่วนชั้นบนทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สอนให้เห็นว่าเครื่องมือประมงแบบอนุรักษ์มีอะไรบ้าง เครื่องมือไหนควรใช้ไม่ควรใช้ในเขตชายฝั่ง เรือแบบต่างๆ ฯลฯ เพื่อเป็นแหล่งบริการความรู้ โดยในตอนแรกเริ่มทำประมงแบบอนุรักษ์กับกลุ่มประมงเรือเล็ก ภายหลังก็เริ่มชวนประมงเรือใหญ่มาร่วมด้วย

ปัญหาจากการประมง เช่น กรณีปลาเป็ดหรือลูกปลาเล็กๆ ที่นำไปทำปลาป่นและให้อาหารสัตว์ เราก็วางแผนจะขอความร่วมมือจากบริษัทไม่ให้รับซื้อปลาเป็ดจากชาวประมง เพื่อให้ชาวประมงเลิกจับลูกปลา เพราะปลาเป็ดก็มีทั้งลูกปลาทู ปลากะตัก ลูกปู ลูกกุ้ง ฯลฯ ถ้าเราทำนโยบายตรงนี้ได้ ก็จะสามารถลดปัญหาเรืออวนลากลงไปได้มาก

อีกทั้งในฐานะผู้บริโภค ควรเลิกกินอาหารทะเลบางประเภท เช่น ปูม้าตัวเล็กๆ ในส้มตำ ซึ่งก็คือลูกปูม้า หรือผัดไทยเส้นจันท์ปูกรอบก็เป็นลูกปูทะเลทั้งนั้น เพราะไม่มีปูแสมแล้ว ซึ่งเราก็ต้องช่วยกันรณรงค์ไม่กินลูกสัตว์ทะเล

สิ่งง่ายๆ เหล่านี้ที่ชาวบ้านคิดขึ้น สามารถรณรงค์ให้เป็นนโยบายขึ้นมาได้ เรืออวนลากอาจจะลดลงไป ประมงเรือเล็กอาจจะมีรายได้ไม่มาก แต่อยู่ต่อได้เป็น 100 ปี ในขณะที่เรืออวนลากทำให้สัตว์น้ำหมดใน 10 ปี ชาวบ้านต้องเลือกว่าจะเอาแบบไหน

นอกจากนี้ยังมีสมาคมประมงจังหวัดชลบุรี ซึ่งเข้มแข็งมากและสร้างอำนาจในการต่อรองได้ เช่น เรือใหญ่ห้ามเข้ามาในเขตระหว่างอ่าวอุดมกับเกาะสีชัง และต้องมีบัฟเฟอร์โซนที่ไม่ให้เรือใหญ่เข้ามา พื้นที่ 5 กิโลเมตรจากชายฝั่งเป็นของประมงเรือเล็ก หรือถ้าเรือใหญ่จะเข้ามาต้องใช้เครื่องมือแบบเรือเล็ก โดยมีหน่วยเฝ้าระวังของชุมชนคอยตรวจตราร่วมกับเรือปราบของกรมประมง

อ่าวอุดมอันอุดม  จัดทำโดย รร.รุ่งอรุณ
อ่าวอุดมอันอุดม จัดทำโดย รร.รุ่งอรุณ

ไทยพับลิก้า : การติดต่อประสานงาน พูดคุยกับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ยากลำบากแค่ไหน

ยากมากครับ ต้องให้คณะอนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภานัดให้ การติดต่อต่างๆ ผมก็ต้องเข้าหาเอง ทั้งหน่วยงานรัฐ เช่น กรมโรงงาน และผู้ประกอบการ แล้วให้ข้อมูลที่เกิดภาพเชิงประจักษ์เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจปัญหา นอกจากนี้ก็ทำหนังสั้นเผยแพร่ความรู้โดยได้รายการโทรทัศน์และอาสาสมัครมาช่วยทำให้ เช่น ผลงาน “จะจัดส่งประเทศไทยให้กับลูกหลานอย่างไร” ซึ่งไปถ่ายทำที่อ่าวอุดม มาบไผ่ และรอบๆ อมตะนคร ซึ่งวิดีโอนี้มีผลทำให้ชาวชลบุรีลุกฮือขึ้นมาเคลื่อนไหวเพราะเห็นว่าในจังหวัดมีปัญหาอะไร หลังจากที่เดินสายเผยแพร่หนังสั้น ผ่านการอบรมที่ร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง สมัชชาสุขภาพชลบุรี สปสช. และเทศบาลต่างๆ

นอกจากนี้ ยังตั้งมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยชุมชนชลบุรี ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว โดยทำงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชน เพื่อให้ความรู้ท้องถิ่นและสร้างผู้นำชุมชนขึ้นมา

ในปีแรกนักศึกษาคือคนในสภาองค์กรทั้งหมดที่ทำเรื่องขบวนองค์กรชุมชนกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งอายุมากสุดคือ 70 กว่าปี ต่อมาปีที่สอง ก็ให้คนจากเทศบาลต่างๆ มาเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชุมชน ผู้ประกอบการสังคม พาไปดูงานต่างๆ จนมีพื้นที่ที่สามารถตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนได้ 3 แห่ง ซึ่งจัดตั้งโดยกลุ่มของนักศึกษาชาวบ้านที่มาเรียนในมหาวิชชาลัย

อันดับแรกต้องให้ชาวบ้านเข้าใจตัวเองก่อน แล้วเขาจะมองเห็นว่าเขามีอะไร พอเขาเห็นว่าตัวเองมีอะไรก็จะรู้ว่าปัญหาเขาคืออะไร แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาไม่รู้ว่าเขามีอะไร มีปัญหาคืออะไร เขาคิดว่าสิ่งที่เขามีคือต้องไปรับจ้างอย่างเดียว เป็นแรงงาน ปลูกข้าวเพื่อจำนำข้าวอย่างเดียว นั่นคือเขามองไม่เห็นตัวเอง

“สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือ ทำให้ชุมชนลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่อ่านข้อมูล และพยายามหาทุนไปให้ และให้ชาวบ้านเขียนโครงการมา แล้วก็ไม่ต้องรองบประมาณจากรัฐ เพราะคนที่สร้างปัญหาคือผู้ประกอบการ ดังนั้นชาวบ้านก็เอาเงินผู้ประกอบการมาตั้งเป็นกองกลาง”

ไทยพับลิก้า : ชุมชนสามารถอยู่กับอุตสาหกรรมได้ เพียงแต่ว่าจะอยู่อย่างไร?

ใช่ครับ แต่ถ้าเลือกได้ก็พอเถอะ เพราะว่าตอนนี้เรามีอุตสาหกรรมมากพอแล้ว และเราไม่ถนัดเรื่องพวกนี้เลย แล้วที่มาคนบริหารดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่เป็น เมื่อเกิดปัญหาก็แก้ยาก เช่น เรื่องขยะ 31.5 ล้านตัน จะแก้ไขอย่างไร

“เบื้องหลังการทำธรรมนูญของผมคือให้ชุมชนรู้จักตัวเอง เช่น คนพัทยาไม่รู้ว่ามีป่าชายเลนผืนสุดท้าย คนคลองตำหรุไม่รู้ว่าเกลือที่ขายอยู่นั้นมาจากนาเกลือผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก ฯลฯ”

ไทยพับลิก้า : เคยคิดไหมว่า สุดท้าย สิ่งที่ทำจะออกมาเป็นอย่างนี้

ไม่คิดเลยครับ เพราะจุดเริ่มต้นของอ่าวอุดมมาจากแหลมฉบัง ซึ่งมีคนชวนผมไปฟังเวทีเรื่องสร้างท่าเรือเฟส 3 ซึ่งบ้านของผมจะได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นผมจึงเสนอตัวไปช่วยเป็นกรรมการ แต่แล้วผมก็ได้ทำงานยาวมาถึงวันนี้โดยเริ่มที่อ่าวอุดมก่อน เปลี่ยนงานจากอนุรักษ์วัด วัง บ้าน ไปทำเรื่องชุมชน ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากมายและได้ทำอะไรมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : ส่งเสริมบทบาทของเยาวชนท้องถิ่นอะไรบ้าง

บทบาทของเด็กในชุมชนก็ค่อนข้างเยอะ เช่น ช่วยทำกราฟฟิก ซึ่งเด็กในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเด็กโตแต่วิธีการคิดยังไม่กว้างไกลนัก สิ่งที่เราต้องการคือไม่อยากให้เด็กพวกนี้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังนอกชุมชน อยากให้เรียนในมหาวิทยาลัยชุมชนมากกว่า แต่ผมคงห้ามพ่อแม่เขาไม่ได้เพราะเป็นค่านิยมของสังคม ซึ่งก็หวังว่าหลังจากที่เด็กๆ เรียนจบแล้ว จะกลับมาเรียนในชุมชนด้วย

นอกจากนี้ผมก็พยายามทำให้เห็นว่า การสอนเรื่องชุมชนสามารถทำได้ในระดับมัธยมศึกษาด้วย(ตัวอย่างหนังสือ“อ่าวอุดมอันอุดม”ของโรงเรียนรุ่งอรุณ) ซึ่งผมไปลองสอนแล้วประสบความสำเร็จที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา ดังนั้น ถ้าโรงเรียนไหนในชุมชนสนใจผมก็ยินดีไปเป็นวิทยากรให้ เช่น โรงเรียนที่พัทยา ผมก็ไปอบรมเด็กเรื่อง 4 รู้ชุมชน เด็กๆ ก็จะวาดอนาคตของเขาเอาไว้ แล้วก็นำมาเผยแพร่และนำไปคุยกับผู้ใหญ่ว่า “นี่คืออนาคตของเด็ก ผู้บริหารควรสร้างอนาคตให้ตรงความต้องการของเด็กด้วย”

จากหนังสืออ่าวอุดมอันอุดม จัดทำโดยรร.รุ่งอรุณ
จากหนังสืออ่าวอุดมอันอุดม จัดทำโดยรร.รุ่งอรุณ

ไทยพับลิก้า : จะสร้างคนที่เข้าบริบททั้งชุมชนและผู้ประกอบการขึ้นมาได้อย่างไร

คนแบบนี้ก็มีอยู่ทุกจังหวัด เพียงแต่มีน้อย ที่กลุ่มผมโตเร็วเพราะได้รับผลกระทบแบบเห็นผลชัดเจน กระบวนการเรียนรู้ชาวบ้านก็เจอมาหมดแล้ว เช่น อ่าวอุดม ชาวบ้านตอบได้หมดว่าเกิดปัญหาอะไรบ้างจากท่าเรือและอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องอ่านหนังสือ แต่ตอบจากประสบการณ์ที่เจอมาตั้งแต่วัยรุ่นจนแก่ จึงเรียนรู้ได้เร็ว

นอกจากนี้ เราก็ทำหนังสือเพื่อให้การเรียนรู้กลายเป็นตำราที่คนอื่นจะศึกษาได้ ซึ่งหนังสือที่เสร็จแล้วคือ “อ่าวอุดมอันอุดม”, “วาระเปลี่ยนตะวันออก”, “อีไอเออ่าวอุดม”, “บางปะกง” และเล่มล่าสุดคือ “คู่มืออีไอเอชาวบ้าน” ที่ทำร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเพื่อทำเป็นหนังสือการ์ตูนแจกให้ชาวบ้าน

ทั้งนี้ สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ตารางการจับสัตว์น้ำและการปลูกพืชผักเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นชุมชนจึงต้องปรับปฏิทินประมงใหม่ เรียกว่า climate change adaptation plan หรือการสร้างแผนการปรับตัวกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับคนรุ่นหลัง เพราะชุดความรู้ของบรรพบุรุษใช้ไม่ได้อีกแล้ว

โดยในระดับท้องถิ่นไปศึกษาใหม่ว่า น้ำเกิด น้ำตาย จับสัตว์ใดได้บ้าง จากประสบการณ์ของชาวบ้าน แล้วก็ติดตามทุกปี ถ้าเปลี่ยนแปลงก็ปรับปฏิทินใหม่ แล้วเขียนวงปฏิทินใหม่ ซึ่งของอ่าวอุดมเสร็จแล้วและกำลังชวนบ้านบางละมุงทำต่อ

ไทยพับลิก้า : ในช่วงแรกๆชาวบ้านเข้าใจไหมว่าธรรมนูญคืออะไร

ไม่เข้าใจครับ ต้องอธิบายอยู่นาน แต่พอเข้าใจแล้วก็ทำงานได้สบาย ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านเก่งกว่าผมอีก สามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้มากกว่าผมด้วย