ThaiPublica > คอลัมน์ > ปฏิรูปด้วย Think Tank แทนรถถัง

ปฏิรูปด้วย Think Tank แทนรถถัง

24 กุมภาพันธ์ 2014


หางกระดิกหมา

ท่ามกลางความเป็นไปของโครงการรับจำนำข้าวที่พิสูจน์แล้วว่าวินาศสันตะโรขึ้นทุกวันๆ นั้น อย่างน้อยๆ ได้ส่งผลดีในเรื่องหนึ่ง ก็คือการทำให้สังคมเห็นความศักดิ์สิทธิ์และความจำเป็นของ Think Tank กันเสียที

เพราะในวันที่โครงการรับจำนำข้าวยังดูสดใสเหมือนทุ่งนาหน้าฝน และหลายคนยังเคลิ้มๆ ไปกับฝันตามโครงการนั้น ก็มีเพียงนักวิชาการ โดยเฉพาะนักวิชาการของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อันเป็น Think Tank หลักของประเทศนี่แหละ ที่มีองค์ความรู้พอจะเตือนให้ทุกคนเห็นความวินาศที่รออยู่เบื้องหน้า แต่ก็ไม่เห็นมีใครฟัง แถมด่ากลับอีกต่างหากว่าเป็นพวก “วิชาเกิน” รู้มากจนกลัวเกินเหตุบ้าง หรือไม่ก็หาว่าเป็น “ขาประจำ” เถียงส่งเดชเพราะอยากดังไปเลยก็มี มาวันนี้ที่คำเตือนเป็นผลแล้ว จึงได้รู้กันสักทีว่าสังคมที่ดูถูกสติปัญญาของ Think Tank และฝากทุกอย่างไว้กับสติปัญญาของนักการเมืองนั้น มันมีชะตากรรมเป็นอย่างไร

ในสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว Think Tank เป็นของที่ขาดไปไม่ได้เลย เพราะหากจะให้การตัดสินใจไม่ว่าในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือระดับนานาชาติตอบโจทย์ของสังคมได้ดีที่สุด การตัดสินใจนั้นจะต้องไม่ได้มาจากแรงขับของผู้ถืออำนาจรัฐอย่างเดียว แต่มาจากแรงขับของภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมด้วย ไม่ว่านักธุรกิจ เอ็นจีโอ หรือประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งแรงขับอย่างหลังนี้ จะมีคุณภาพหรือเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ Think Tank เป็นสำคัญ

เพราะนอกจากการทำวิเคราะห์วิจัยอะไรอย่างที่เป็นธุระของนักวิชาการอยู่แล้ว Think Tank ยังช่วยบ่งชี้ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลขึ้นมาให้คนได้เริ่มถกเถียงกัน และในการถกเถียงนั้น Think Tank ก็จะช่วยทำหน้าที่เป็น “เสียงของความรู้” ให้กับสังคม โดยช่วยสะสางประเด็น เหตุการณ์ หรือนโยบายต่างๆ อันสลับซับซ้อนและมากประเด็นทางเทคนิค ให้เป็นที่เข้าใจได้แก่สังคมโดยผ่านการตีพิมพ์หนังสือ บทความ ให้สัมภาษณ์ หรือไปปรากฏตัวตามงานเสวนาต่างๆ ซึ่งย่อมส่งผลต่อให้สังคมโดยทั่วไปสามารถจับประเด็นปัญหาและเอาไปอภิปรายกันต่อได้แตกฉานยิ่งขึ้น ทำให้การจะดำเนินนโยบายขั้นต่อๆ ไปของรัฐบาลดำรงอยู่บนข้อมูลและมุมมองที่หลากหลายครบถ้วนกว่าเดิม มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเปรียบไว้น่าฟังว่า “คนธรรมดาที่ไม่มีปัญญาเล่นหุ้น จำเป็นต้องมีกองทุนต่างๆ ไว้ช่วยพิเคราะห์และตัดสินใจเกี่ยวกับหุ้นฉันใด ผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหลายก็ต้องการ Think Tank ไว้ช่วยพิเคราะห์และตัดสินใจเกี่ยวกับการเมืองฉันนั้น”

อย่างในสหรัฐฯ ประเทศที่เป็นบ่อเกิดของการใช้โมเดล Think Tank นั้น ด้วยความที่ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งมาก และคนมีแนวโน้มจะเชื่อศักยภาพของเอกชนด้วยกันเองในการหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ มากกว่าเชื่อรัฐ ทำให้มีความต้องการ Think Tank เพื่อป้อนความรู้ให้กับสังคมเป็นจำนวนมาก รวมถึงกว่า 1,828 สถาบันในปัจจุบัน โดยมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท เช่น

สายวิชาการทั่วไป(Academic-Diversified) พวกนี้จะทำการวิเคราะห์วิจัยในหลากหลายสาขาวิชา เช่น เศรษฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยมักเต็มไปด้วยครูบาอาจารย์ เป็นที่นับหน้าถือตาของสถาบันการศึกษา ทำงานวิจัยที่เป็นเรื่องระยะยาวมากกว่าระยะสั้น และมีความเป็นเอกเทศและเป็นกลางสูง อย่างเช่น Brooking Institution, American Enterprise Institute (AEI) และ Center for Strategic and International Studies (CSIS) สถาบันเหล่านี้ใช้ระบบบริหารต่างๆ เหมือนมหาวิทยาลัย จนเขาเปรียบกันว่าเหมือน “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนักเรียน”

สายวิชาการเฉพาะ (Academic-Specialized)พวกนี้คล้ายกับพวกแรกแต่ทำวิจัยเรื่องที่มีความแคบกว่า เช่น ทำเรื่องการปฏิรูปสวัสดิการก็ว่ากันอยู่เรื่องเดียว เช่น National Bureau of Economic Research (NBER) และ Hamburg Institute for Economic Research

สายรับจ้างทำวิจัย (Contract Research Organization) พวกนี้จะรับจ้างทำวิเคราะห์วิจัยให้กับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ลักษณะจึงคล้ายๆ บริษัทที่ปรึกษา กล่าวคือ นักวิจัยต้องทำตามใบสั่ง มีอิสระน้อย วิจัยอะไรออกมาก็เผยแพร่ให้คนอื่นรู้ไม่ได้เพราะเป็นสมบัติของคนจ้าง และเน้นวิเคราะห์นโยบายมากกว่าจะลงลึกทำวิจัยจริงจัง เช่น RAND และ Urban Institute

สายรณรงค์ (Advocacy Think Tank) พวกนี้จะเน้นทำการวิเคราะห์วิจัยเพื่อเชียร์แนวคิด พรรคการเมือง หรือปรัชญาอุดมการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหลัก และจะไม่เคร่งกับเรื่องทางเทคนิควิชาการมากนัก เช่น Citizens for a Sound Economy และ Cato Institute

สายกิจการ (Policy Enterprise) พวกนี้ต้องเรียกว่าเน้น “ทำมาหากิน” คือไม่ใช่แค่วิจัยอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการมาร์เก็ตติงและแพ็กเกจจิงเพื่อให้งานวิจัยขายออก (เช่น ย่อยงานวิจัยให้อยู่ในรูปที่เหมาะสำหรับนักการเมือง หรือข้าราชการจะอ่านได้อย่างลวกๆ เร็วๆ ) โดยจะบริหารแบบมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเหมือนบริษัท มีกำหนดการผลิตงานวิจัยที่กระชั้นและถี่ และถือคติว่า Think Tank ต้องไม่หมกมุ่นกับวิชาการ แต่ควรเน้นตอบโจทย์ให้คนออกนโยบายหยิบเอาไปใช้ได้ง่าย เช่น Hertitage Foundation และ Economic Policy Institute

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แต่สหรัฐฯ หรือประเทศในยุโรปเท่านั้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของ Think Tank ปัจจุบันนี้แม้ประเทศที่เพิ่งก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็ต่างเริ่มสะสมอำนาจทางสติปัญญากันแล้วทั้งสิ้น เช่น จีน ซึ่งมี Think Tank จำนวนกว่า 426 สถาบัน หรืออินเดีย ซึ่งมี 268 สถาบัน กระทั่งอาร์เจนตินา ก็ยังมีถึง 137 สถาบัน

มีเพียงประเทศไทยนี่แหละ ที่ไม่รู้เราฉลาดกันไปหรืออย่างไร นับรวมๆ กันแล้ว ทั้งประเทศจึงมี Think Tank จำนวนทั้งหมด 8 แห่งเท่านั้น

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 “