ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าปิดเลย บางกอก จะบอกให้

อย่าปิดเลย บางกอก จะบอกให้

5 มกราคม 2014


“การปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ไม่มีทางทำให้ค่าของสิทธิและเสรีภาพของเราสูงขึ้น…”

คนที่กำลังคิดว่าจะออกไปปิดกรุงเทพฯ กับเขาด้วย ต้องถามตัวเองจริงๆ ว่าทำไมถึงอยากออกไป ผมเดาว่าคงเป็นหนึ่งในสามเหตุผลต่อไปนี้

1. เพื่อแสดงออกถึงความโกรธและไม่พอใจต่อรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ที่ได้ออกนโยบายแย่ๆ ออกมา ทั้งจำนำข้าวที่ใช้เงินไปมหาศาลและทุจริตอีกบานเบอะ แทบเล็ตที่เผางบประมาณไปแล้วหายเงียบ และนโยบายสร้างหนี้ทั้งหลาย นอกจากนี้ยังหักหลังประชาชนด้วยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสอดไส้สุดซอย ลักหลับ คิดว่าสภาเป็นของฉันแบบไม่เกรงใจใคร พอถูกจับได้ไม่มีแม้แต่คำขอโทษให้ประชาชน เบื่อกับปัญหาคอร์รัปชันที่กินกันอย่างโจ๋งครึ่มในปัจจุบัน และอยากเห็นการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง

2. เพื่อทำการปฏิวัติประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฏฐาธิปัตย์แบบที่เขาว่ากันในทีวี เราจะได้เป็นเจ้าของอธิปไตยจริงๆ กันเสียที

3. สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง นองเลือด และสงครามกลางเมือง

ถ้าเป็นข้อแรก ผมเห็นด้วยนะครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่พอใจเหมือนกัน แต่ผมขอบอกว่าเราชนะไปแล้วครับ มีการยุบสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้ว และการเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผมเชื่อครับ ว่าพลังประชาชนที่ออกกันมามากขนาดนั้นเป็นพลังบริสุทธิ์ที่บอกไปยังนักการเมืองทั้งหลายว่าเขาทำอะไรแบบเดิมๆ แบบไม่เห็นหัวประชาชนไม่ได้แล้ว

กระแสการปฏิรูปที่กำลังมาแรงแบบฉุดไม่อยู่ในปัจจุบัน น่าจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ตอนนี้เราน่าจะมาคุยกันได้แล้วว่าจะปฏิรูปอะไร และปฏิรูปอย่างไร จะทำอย่างไรให้คอร์รัปชันหมดไปแทนที่จะเถียงกันเอาเป็นเอาตายเพียงแค่จะปฏิรูปก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง

เรามีปัญหาเร่งด่วนและปัญหาระยะยาวที่ต้องแก้ไขอีกเยอะครับ อย่ามัวเสียเวลากับการสร้างความขัดแย้งและสร้างความแตกแยกให้ประเทศไทยเลย

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ-1
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

ตอนนี้พรรคการเมืองทุกพรรคน่าจะทำตัวเป็นที่พึ่งของประชาชนด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศให้ประชาชน และประชาชนทุกคนควรเป็นคนเลือกแนวทางการปฏิรูปประเทศด้วยการเลือกตั้ง

อย่าลืมนะครับว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่ประชาชนสามารถแสดงความเห็นของตนได้ หลายคนบอกว่าการเลือกตั้งคือหนทางขจัดความขัดแย้ง และแก้ไขความรุนแรงที่ดีที่สุด แม้ว่ามันจะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม (ดีกว่าการอ้างตัวเองว่ามีเสียงประชาชนมากกว่าอีกฝ่ายหรือเอาปืนออกมายิงกัน)

แม้ในปัจจุบันพรรคใหญ่บางพรรคจะไม่ลงเลือกตั้งและอาจจะเป็นพรรคที่ท่านอยากเลือก แต่เราก็ยังสามารถลงโทษพรรคที่เราไม่ชอบและทำตัวแย่ๆ ด้วยการลงคะแนนให้พรรคอื่น หรือโหวตโนไปเลยถ้าไม่รู้จะเลือกใคร ให้เขารู้ว่ามีคนไม่พอใจอยู่เยอะ และกดดันให้รัฐบาลหน้าจัดทำแนวทางการปฏิรูปอย่างจริงจังและจริงใจ ถ้าไม่ทำอย่างที่สัญญาไว้ เขาก็รู้ว่ามีพลังบริสุทธิ์ที่จะออกมาแสดงพลังได้เสมอ

ถ้าใครกลัวว่าจะมีการซื้อเสียง ก็ต้องช่วยกันรณรงค์เป็นหูเป็นตาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการเมืองให้ประชาชนทุกคนเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ชี้ให้ประชาชนทุกคนเห็นถึงผลดีผลเสียของการใช้นโยบายแย่ๆ และโทษของการทุจริตคอร์รัปชัน

ผมเข้าใจความเป็นห่วงบ้านเมืองของทุกท่าน และอยากให้บ้านเมืองดีขึ้น ผมเห็นด้วยว่ากระบวนการประชาธิปไตยไทยยังห่างจากความสมบูรณ์แบบเยอะ แต่ผมว่าเราต้องช่วยกัน เราไม่สามารถทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้โดยการทิ้งความศรัทธาบนแนวทางประชาธิปไตยไป

สำคัญมากที่เราจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองภายใต้กรอบกติกาที่ทุกคนยอมรับได้ ไม่ใช่เปลี่ยนกติกากันอย่างใจชอบ จำได้ไหมครับ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ เสียงเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งดังกระหึ่ม ทุกคนฮึกเหิมอยากให้มีการปฏิรูปบ้านเมือง ไม่ต่างอะไรกับตอนนี้ เรามาช่วยทำให้เกิดสิ่งดีๆ ในบ้านเมืองภายใต้กรอบกติกาที่ถูกต้องกันเถอะครับ

กระบวนการเรียนรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและมีต้นทุน ในต่างประเทศ การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยกินเวลาเป็นร้อยปีและผ่านสงครามกลางเมืองหลายครั้ง

และอย่าลืมนะครับว่า เราไม่ได้อยู่ในบ้านเมืองนี้เพียงกลุ่มเดียว เรายังคงต้องฟังเสียงของคนทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นไม่มีทางที่เราจะอยู่กันได้อย่างสงบสุขแน่

ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไร อย่างน้อยให้มีตัวแทนของหลายๆ ฝ่ายเข้าไปเป็นหูเป็นตาสักหน่อยดีหรือไม่ครับ ดีกว่าให้คนกลุ่มหนึ่งทำกันโดยไม่มีข้อรับรองว่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่

คิดกันดีๆ นะครับว่า เราอยากจะทิ้งบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลานเราอย่างไร

ผมเห็นด้วยกับการแสดงพลังและจุดยืนทางการเมืองโดยสงบ ถ้าจะเป็นการปิดกรุงเทพฯ เพื่อแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลคงไม่เป็นปัญหาแน่

แต่ภาวะในปัจจุบันสุ่มเสี่ยงกับการพัฒนาเหตุการณ์ให้เลวร้ายขึ้น มีการเผชิญหน้าและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง ที่อาจนำไปสู่การนองเลือดขึ้น ต้องคิดกันให้ดีนิดนึงนะครับ ปิดกรุงเทพฯ ไปหนึ่งวัน สามวัน เจ็ดวัน แล้วได้อะไรขึ้นมาครับ และเรากำลังปิดกั้นเสรีภาพของคนอื่น และทำร้ายบ้านของเราเองโดยไม่จำเป็นหรือไม่

ถ้าผมโน้มน้าวท่านไม่ได้ ก็ขอให้ท่านระวังตัวด้วยนะครับ หลีกเลี่ยงความรุนแรง และการยั่วยุทุกรูปแบบครับ ชัยชนะของประชาชนไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยชีวิตและคราบน้ำตาเสมอไปครับ

….

ถ้าเป็นข้อสอง ผมต้องถามกลับไปว่า ท่านเห็นด้วยกับการปฏิวัติรัฐประหารที่ใช้กำลังยึดเอาอำนาจรัฐฉีกรัฐธรรมนูญและนำไปสู่ระบอบเผด็จการแบบในอดีตหรือไม่

ถ้าท่านไม่เห็นด้วย แต่เชื่ออย่างที่เขาว่าไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และประชาชนแค่ทวงอำนาจกลับภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ผมว่าท่านอาจจะกำลังเข้าใจผิด การที่กลุ่มบุคคลใดจะได้มาซึ่งรัฏฐาธิปัตย์ (การเป็นผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน) ไม่สามารถทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญบอกไว้ว่า

“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

แปลว่าอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคน ไม่มีประชาชนคนไหนมีอำนาจสูงสุดโดยไม่ต้องฟังคำสั่งของผู้อื่น รัฐสภา รัฐบาล และศาล สามารถมีอำนาจในการปกครองเพราะความยินยอมของประชาชน

การได้มาซึ่งรัฏฐาธิปัตย์คือการยึดเอาอำนาจที่องค์พระมหากษัตริย์ใช้ผ่านทางรัฐสภา (การออกกฎหมาย) รัฐบาล (การใช้ทรัพยากรภาครัฐ) และศาล (การตัดสินคดีความ) มาเป็นของคนกลุ่มหนึ่ง เท่ากับต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเสียก่อน ไม่ต่างอะไรกับการปฏิวัติรัฐประหาร

การยึดอำนาจในอดีตจึงต้องมีการเอารถถังปิดกรมทหารฝ่ายต่อต้าน ยึดสื่อเพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาต่อต้าน ยึดทำเนียบและหน่วยราชการเพื่อปิดศูนย์บัญชาการของรัฐบาล และพยายามให้รัฐบาลต่างประเทศรับรอง และเรียกปลัดกระทรวงต่างๆ เข้าพบ เพื่อใช้อำนาจสั่งการอำนาจภาครัฐ และมีการป้องกันการรวมตัวเพื่อต่อต้านทุกรูปแบบ (ห้ามออกนอกเคหสถานห้ามรวมตัวกันเกินห้าคน ฯลฯ)

การปฏิวัติประชาชนโดยสงบเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ และคงมีการต่อต้านจากฝ่ายอื่นอย่างมโหฬาร (เพราะมีคนอีก “เป็นล้านล้านคน” ที่ไม่เห็นด้วยเป็นแน่) แล้วเราจะห้ามไม่ให้เขาต่อต้านอย่างไร ในเมื่อเราเป็นคนยึดอำนาจมาจากเขา สงครามกลางเมืองเป็นสิ่งที่จะตามมาได้ง่ายๆ ท่านพร้อมจะยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากนั้นหรือไม่?

และคำถามสำคัญคือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า เมื่อมีการยึดอำนาจแล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

เมื่อกลไกการถ่วงดุลอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งไปหมดแล้วกระบวนการรับผิดหายไปหมด คงมีการตั้งคำถามทางกฎหมายและความชอบธรรมขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด ขอบเขตอำนาจของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร มีผลผูกพันไปในอนาคตหรือไม่

ถามง่ายๆ ว่า ถ้ามีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแล้วทำตัวไม่ดี เราจะเอาเขาลงอย่างไร?

แต่ถ้าท่านเชื่อในการรัฐประหารและอยากได้มาซึ่งอำนาจการปกครองจริงๆ ขอให้ท่านรู้ไว้ว่าท่านกำลังฉีกรัฐธรรมนูญและกำลังทำลายล้างระบบประชาธิปไตยอยู่

ถ้ารู้อย่างนั้นแล้วอยากทำอยู่ก็ตามสบายครับ

แต่ผมถามอีกข้อครับ ว่าสักวันหนึ่งมีประชาชนอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับท่าน ออกมาปิดกรุงเทพฯ และยึดอำนาจเหมือนที่ท่านกำลังจะทำ ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ครับ นั่นคือเงื่อนไขของสงครามกลางเมืองหรือไม่

……

ถ้าเป็นข้อสาม ผมก็คงคิดว่าผมคงโน้มน้าวท่านไม่ได้แล้วละครับ ขอให้ท่านโชคดีนะครับ ถ้าคิดแบบนี้จริงๆ ก็ขอให้ไปคนเดียวนะครับ อย่าพาลูกหลานไปเลย สงสารเขา