ThaiPublica > คอลัมน์ > ผังเมือง เรียนจากสะหวันนะเขตก็พอ

ผังเมือง เรียนจากสะหวันนะเขตก็พอ

2 ธันวาคม 2013


ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

ปกติผมมักจะเขียนเรื่องการเรียนรู้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกชั้นนำ หรือประเทศมหาอำนาจ เช่น จีน ญี่ปุ่น แต่วันนี้ผมขอชักชวนทุกท่านมาเรียนรู้เรื่องผังเมือง แม้กระทั่งจากลาว บ้านพี่เมืองน้องของไทยเอง

กฎหมายผังเมืองของไทยมีขึ้นเมื่อ 61 ปีที่แล้ว แต่ทุกอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน เมืองแทบไม่มีการวางผังวางแผนเอาเสียเลย ในขณะที่ผมได้มีโอกาสข้ามไปฝั่งลาวเป็นระยะๆ ไปบรรยายบ้าง พาคณะไปดูงานบ้าง ติดต่อกระทรวงการคลังลาวบ้าง ท่องเที่ยวบ้าง มีหลายอย่างที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากลาว โดยเฉพาะเรื่องผังเมือง

ถ้าเราดูภาพ 2 ภาพ ซึ่งเป็นแผนที่ของเมืองสองเมืองของไทยและลาวต่อไปนี้ จะเห็นได้ว่า ถนนหนทางในเมืองไกสอนพมวิหานในแขวงสะหวันนะเขตนั้น ดูจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าฝั่งตัวจังหวัดมุกดาหารของไทย ที่จัดสรรกันตามยถากรรม ขาดการวางผังเมืองให้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ภาพที่ 1: เมืองไกสอนพมวิหาน สะหวันนะเขต ของลาว (ขวา) กับจังหวัดมุกดาหารของไทย (ซ้าย)

ภาพที่ 2: สังเกตได้ว่า เมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต มีการวางผังเมืองเป็นระเบียบกว่ามุกดาหารเป็นอย่างมาก

แขวงสะหวันนะเขตเนื้อที่ 21,774 ตารางกิโลเมตร หรือ 14 เท่าของกรุงเทพมหานคร แบ่งการปกครองเป็น 15 เมือง โดยเมืองไกสอนพมวิหานเป็นเมืองหลัก ประชากรในแขวงนี้ถือว่ามีมากที่สุดในประเทศ คือ 916,948 คน จุดเด่นของแขวงคือ เศรษฐกิจขยายตัวสูงถึง 12.5% ในปี 2554 มีสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร–สะหวันนะเขต) เป็นจุดเชื่อม รัฐบาลลาวประกาศโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนแห่งแรกในลาว แขวงสะหวันนะเขตมีธุรกรรมทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองรองจากเวียงจันทน์ และยังมีสถานคาสิโน (Savan Vegas Hotel and Casino) {1}

นิคมอุตสาหกรรมฝั่งสะหวันเขตมีความคึกคักมาก แต่มุกดาหารฝั่งไทย กลับไม่สามารถตั้งนิคมฯ ได้ ที่มาภาพ http://thaisocialwork.files.wordpress.com/2013/11/2013-11-29-lao3.jpg
นิคมอุตสาหกรรมฝั่งสะหวันเขตมีความคึกคักมาก แต่มุกดาหารฝั่งไทย กลับไม่สามารถตั้งนิคมฯ ได้
ที่มาภาพ http://thaisocialwork.files.wordpress.com/2013/11/2013-11-29-lao3.jpg

ผังเมืองลาว โดยเฉพาะที่กรุงเวียงจันทน์นั้นวางตั้งแต่ พ.ศ. 2448 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะของลาวนั้นกำหนดให้ใจกลางเมืองสามารถสร้างได้ประมาณ 75% เขตต่อเมืองสร้างได้ 60% และเขตนอกเมืองสร้างได้ไม่เกิน 50% ของพื้นที่ดิน ส่วนความสูงก็ไล่สูงจากในเมือง และค่อยๆ ต่ำในเขตนอกเมือง ข้อนี้อาจแตกต่างจากไทยที่ไม่พยายามให้สร้างสูงๆ มากๆ ในใจกลางเมือง โดยอ้างว่ากลัวไฟไหม้ กลัวแออัด แต่ไม่ได้คำนึงถึงความยากลำบากในการเดินทาง ความสิ้นเปลือง การขยายสาธารณูปโภคอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และการเพิ่มโลกร้อนจากการเดินทาง เป็นต้น

ผังเมืองของลาวนั้นมีแผนจะวางให้ทั่วจนถึงปี พ.ศ. 2563 โดยเริ่มที่เมืองที่ยังไม่มีผังเมืองดีพอก่อน แล้วค่อยๆ ขยายไปเมืองอื่นๆ ต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่รวมกันเกือบ 1,000 คนในการดำเนินการวางผังเมือง ทั้งนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ถาวรเพียง 400 คน นอกนั้นจ้างตามสัญญา ดังนั้นองค์กรจึงไม่อุ้ยอ้ายและไม่ต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูเจ้าหน้าที่ และมุ่งให้เกิดผลในการวางผังโดยตรง

กระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์ และการก่อสร้าง เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งมีสำนักงานภูมิภาคและท้องถิ่นของกระทรวงนี้เป็นผู้วางผังเมือง และมีองค์กรการพัฒนาเมืองให้เป็นไปตามแผน ไม่ใช่แบบไทยๆ ที่ฝ่ายวางแผนก็วางไปทางหนึ่ง ฝ่ายปฏิบัติที่มีหลายหน่วยงานก็ต่างคนต่างไป ผังเมืองกลายเป็นเพียงการเขียนของหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งแม้จะเชิญหน่วยงานต่างๆ มาฟังด้วย แต่ก็ไม่ถือเป็นแผนแม่บทหรือ Master Plan ของหน่วยงานอื่นใด แม้แต่ในกรุงเทพมหานครเอง สำนักผังเมืองและสำนักการโยธาก็ยังอาจไม่ได้มีแผนประสานงานกัน

สำหรับโครงสร้างของกระทรวงคมนาคมฯ ของลาวนั้น ประกอบด้วยกรมที่อยู่อาศัยและการผังเมือง กรมทางหลวง กรมการบินพาณิชย์ กรมการขนส่ง กรมไปรษณีย์และการสื่อสาร กรมวางแผนและการเงิน สำนักวิจัยที่ดิน เป็นต้น หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานหลักๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับผังเมือง จึงทำให้ผังเมืองที่ออกมามีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่ใช่ฝ่ายวางแผนก็วางไป ส่วนฝ่ายปฏิบัติการก็ทำของตัวเองไปโดยไม่ประสานกัน เราต้องเรียนรู้การประสานองค์กรจากลาวแล้วหรือไม่ เพราะของไทยนี่ต่างคนต่างใหญ่ ต่างมีทิฐิ

การผังเมืองจำเป็นต้องมีการตัดถนนใหม่ ซื้อที่ดินมาทำถนนและสร้างบ้านแปงเมือง ไม่ใช่เพียงแค่การปล่อยให้มีการพัฒนาไปตามถนนหนทางเดิม การเวนคืนจำเป็นต้องจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม ไม่ใช่จ่ายต่ำๆ ตามราคาประเมินทางราชการ และต้องได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้โครงการล่าช้า ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ของผังเมืองรวมนั้น ก็จะต้องจัดวางล่วงหน้า โดยเฉพาะในส่วนนิคมอุตสาหรรม ก็ควรจัดเตรียมพื้นทื่ให้เรียบร้อย ทั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และนิคม SMEs เป็นต้น

ลาวออกกฎหมายได้รวดเร็วเฉกเช่นประเทศแทบทุกประเทศยกเว้นไทยก็ว่าได้ เช่น การทำผังเมืองนั้นเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ร.บ.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ พ.ร.บ.การผังเมือง ก็สามารถผ่านรัฐสภาได้ แต่กฎหมายไทยออกช้ามาก และกฎหมายไม่ทันสมัยเอาเสียเลย นอกจากนี้ ลาวยังมีประกาศกระทรวง เช่น การสำรวจรังวัด การจัดตั้งองค์กรพัฒนาที่ดินเมือง ระเบียบการเวนคืน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

ย้อนกลับมาดูจังหวัดมุกดาหารของไทย เพิ่งมีผังเมืองฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2529 หรือ 34 ปีหลังจากไทยมีกฎหมายผังเมืองเมื่อ พ.ศ. 2495 และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2556 ผังเมืองก็หมดอายุลงเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี จะสังเกตได้ว่า ผังเมืองไทยนั้นมีอยู่ราว 190 ผัง หมดอายุไปแล้ว 95 ผัง หรือครึ่งหนึ่ง นี่แสดงว่าการวางผังเมืองไทยยังขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นอย่างมาก

เราคงต้องน้อมใจเรียนรู้จากลาวบ้างแล้วครับ อย่าคิดเพียงว่าเราเป็นพี่เอื้อย เราเป็นพี่ เขาเป็นน้อง จริงๆ ข้าราชการลาวเขาถือว่าลาวกับเวียดนามเป็นพี่น้องกัน หรือข้าราชการเขมร ก็ถือว่าเขมรกับเวียดนามเป็นพี่น้องกัน ร่วมรบกันมา ส่วนไทยนั้น พวกเขายังจำได้ว่าเป็นฐานทิ้งระเบิดใส่เขาเมื่อ 30 ปีก่อน!

การปรับปรุงข้อกฎหมาย การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนระยะยาว การประสานแผนและประสานการปฏิบัติการ สิ่งเหล่านี้ลาวไม่ได้คิดเอง แต่เรียนรู้ โดยเฉพาะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของไทย แต่เขามีองคาพยพที่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ไทยยังตีกันอยู่ และต่างคนต่างใหญ่ ตราบเท่าที่ความก้าวหน้าของเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่ “ด.ว.ง.” คือ “ด. เด็กใคร ว. วิ่งหรือไม่ และ ง. เงินถึงหรือเปล่า” ตราบนั้นการคิดจะทำรัฐกิจให้ก้าวหน้าจึงเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม และไม่แน่ว่าวันดีคืนร้ายในไม่ช้านี้ เพื่อนบ้านจะค่อยๆ แซงเราไปทีละราย

อย่าให้ประเทศชาติเศร้าหมอง ต้องช่วยกันศึกษาเรียนรู้จากทั่วโลกเพื่อรับใช้ไทย น้อมใจเรียนรู้แม้กระทั่งจากลาว!!!

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2556

ที่มา:
{1} ข้อมูลจาก www.thaisavannakhet.com/savannakhet/th/data-service/sub-savannakhet/sawannaket
{2} ข้อมูลจาก Study on Urban Land Management and Planning in Lao PDR. Land Policy Study No. 5 under LLTP II Sponsored by: Lao-German Land Policy Development Project (German Contribution to the Lao Land Titling Project II in Lao PDR) Land Policy Study No. 10 under LLTP II http://www2.gtz.de/dokumente/bib/07-1646.pdf

ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA: www.area.co.th ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน