ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเทศไทย หรือประเทศใคร?

ประเทศไทย หรือประเทศใคร?

13 พฤศจิกายน 2013


ดร. วิรไท สันติประภพ
[email protected]

ในวันนี้คงไม่มีคำถามใดจะสำคัญสำหรับคนไทยไปมากกว่าคำถามนี้อีกแล้ว ถ้าท่านเกิดเป็นคนไทย และตั้งใจที่จะอยู่ในประเทศนี้ต่อไป คงต้องถามตัวเองว่าท่านต้องการให้ประเทศนี้เป็นประเทศไทยหรือประเทศใคร

คำถามนี้ไม่ใช่คำถามการเมือง แต่เป็นคำถามที่คนไทยที่คำนึงถึงอนาคตของตัวเองและอนาคตของลูกหลานต้องคิดให้หนักและตีโจทย์ให้แตก มีหลายเรื่องในสังคมไทยที่ทำให้เราต้องถามคำถามนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสียหาย (และผลประโยชน์ที่ตกแก่คนบางกลุ่ม) จากโครงการรับจำนำข้าวหลายแสนล้านบาทต่อปี การจัดงบประมาณและการจัดซื้่อจัดจ้างที่ให้ประโยชน์แก่กลุ่มคนที่สนับสนุนพรรครัฐบาลมากเป็นพิเศษ การแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่โดยคำนึงถึงพวกพ้องมากกว่าความสามารถ การใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งฝ่ายที่เห็นต่าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อให้วุฒิสภากลายเป็นสภาเครือญาติ มาจนถึงการรวบรัดออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ล้างผิดคดีทุจริตคอร์รัปชันให้คนโกง โดยกลบเกลื่อนว่าเป็นการปรองดองคนในชาติ

การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมล้างผิดคดีทุจริตคอร์รัปชันให้คนโกงนี้เป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับจริยธรรมพื้นฐานของมนุษย์และคุณค่าหลักของสังคม ไม่มีมนุษย์คนใดชอบที่จะถูกโกง สังคมใดก็ตามที่มีคนโกงมากสังคมนั้นไม่มีทางที่จะอยู่รอดได้ จะมีแต่ปัญหาและความแตกแยก ในพระพุทธศาสนา การโกงและการลักขโมยถือเป็นการทำผิดศีลรุนแรงเป็นข้อสองรองจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

หลายคนเข้าใจผิดว่าคดีทุจริตคอร์รัปชันที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เป็นคดีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร ในข้อเท็จจริงแล้ว การดำเนินคดีทุกคดีต้องผ่านกระบวนการศาลยุติธรรม มีองค์คณะผู้พิพากษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหาร หลายคดีใช้เวลาในการพิจารณานานมากจนเพิ่งมาตัดสินในสมัยรัฐบาลนี้ด้วยซ้ำไป หลายคดียังไม่ได้เริ่มพิจารณาคดีเพราะผู้ต้องหาหลบหนี ถ้าผู้ต้องหาเหล่านี้ (ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับพรรครัฐบาลปัจจุบัน) เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตนเองก็สามารถกลับมาต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมได้ สาเหตุที่ทำให้คดีทุจริตคอร์รัปชันดูเป็นคดีการเมืองก็เพราะแทบทุกคดีมีนักการเมืองเป็นจำเลย จึงไม่น่าแปลกใจที่นักการเมืองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรจึงร่วมแรงร่วมใจกันผ่านกฎหมายฉบับนี้ (เพื่อผลประโยชน์ของพวกตน) โดยไม่ฟังเสียงของสังคม

วันนี้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยรุนแรงมาก ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อห้าปีที่แล้วคงไม่มีใครคิดว่าจะรุนแรงได้ถึงเพียงนี้ ไม่มีใครคิดว่านักการเมืองและผู้มีอำนาจรัฐจะขาดหิริโอตัปปะ ไร้ยางอาย บริหารบ้านเมืองแบบโกหก หลอกลวง แกล้งไม่รู้เรื่อง และจงใจสร้างความเสียหายให้แก่ส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่คิดถึงอนาคตระยะยาวของประเทศ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้รุนแรงขึ้นในระดับรัฐบาลเท่านั้น แต่ได้กระจายลงไปตามหน่วยงานราชการระดับล่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย สำรวจความเห็นนักธุรกิจกี่ครั้งก็เห็นตรงกันว่าอัตราการจ่ายเงินใต้โต๊ะในปัจจุบันสูงเป็นประวัติการณ์ และสูงเกินกว่าความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจปกติด้วย

สัญญลักษณ์ต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

เราปล่อยให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว ลองคิดดูว่าเราจะอยู่กันอย่างไรถ้าจะเอาลูกเข้าโรงเรียนก็ต้องจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะเพิ่มขึ้นทุกปี ลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องแข่งกับลูกคนโกงที่สามารถเอาข้อสอบมาดูก่อนได้ ไม่สบายเข้าโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายเงินลัดคิวนัดหมอจองเตียงคนไข้ ไปติดต่อหน่วยงานราชการก็ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ข้าราชการทำงานให้ จะขายของให้รัฐบาลก็ต้องมีเงินทอนให้ผู้มีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำธุรกิจก็ถูกคนโกงกับผู้มีอำนาจรวมหัวกันกลั่นแกล้งแบบไม่เป็นธรรม และที่สำคัญคือ เวลาเกิดคดีความขึ้นจะแพ้หรือชนะก็ขึ้นอยู่กับเงินสินบนที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่ ขโมยโจรจะเต็มบ้านเต็มเมืองเพราะสามารถแบ่งผลประโยชน์ให้ตำรวจได้ อันธพาลจะครองเมืองตั้งแต่ระดับนักเลงตามซอยไปจนถึงประเทศ เราจะอยู่ในสังคมที่คนโกงมีเงินมากขึ้นเรื่อยๆ และจะสามารถใช้เงินที่โกงมาสร้างอำนาจเพื่อที่จะโกงได้เพิ่มขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ค่าครองชีพของเราจะสูงขึ้น ของทุกอย่างจะมีราคาแพงขึ้นเพราะต้องบวกเปอร์เซ็นต์ที่ต้องจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง คุณภาพของบริการสาธารณะจะตกต่ำ ถนนหนทางจะพังเร็ว เพราะคนที่ประมูลได้สัมปทานหรือโครงการของรัฐไม่ได้แข่งขันกันด้วยความสามารถแต่แข่งขันกันด้วยอัตราการจ่ายเงินทอนให้ผู้มีอำนาจ ความฝันที่จะได้รถไฟความเร็วสูงอาจเป็นเพียงรถไฟความเลวสูง ระบบการบริหารจัดการน้ำอาจเป็นเพียงระบบบริหารการกินตามน้ำ และโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดจะกลายเป็นโครงการทำลายข้าวทุกเม็ด ภาระภาษีของคนไทยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะรายจ่ายของรัฐบาลจะรั่วไหลมาก และที่สำคัญ คนไทยและธุรกิจไทยที่มีความสามารถจะไม่อยู่เมืองไทย ธุรกิจต่างชาติที่เคยมาลงทุนในเมืองไทยก็จะหันไปประเทศอื่น เศรษฐกิจไทยจะตกต่ำลงเรื่อยๆ ในขณะที่คุณภาพชีวิตและความมั่นคงในชีวิตของคนไทยจะแย่ลง และเงินออมของเราที่สะสมกันมาตลอดชีวิตจะมีค่าน้อยลงมากในอนาคต

ถ้าเราปล่อยให้การทุจริตคอร์รัปชันดึงประเทศไทยลงเหวไปเรื่อยๆ แล้วจะดึงกลับคืนได้ยาก คุณภาพของสังคมและเศรษฐกิจจะเสื่อมลงเร็ว ถึงแม้ว่าวันนี้รัฐบาลและพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมยอมถอยหลังแล้ว แต่ถ้าเราไม่สามารถหยุดการทุจริตคอร์รัปชันทั้งระบบได้อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในอีกห้าปีข้างหน้าจะยิ่งเลวร้ายกว่าวันนี้หลายเท่า คนไทยจะอยู่กันได้อย่างยากลำบาก อันธพาลและคนโกงจะเฟื่องฟูมากขึ้น กระบวนการยุติธรรมของประเทศจะไร้ความหมาย คุณค่าและจริยธรรมหลักของคนในสังคมจะถูกทำลาย และคนดีคนเก่งจะถูกลดบทบาทลง หรือหายไปจากสังคมไทย

การที่พรรครัฐบาลยอมถอยหลังเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเพียงการถอดชนวนระเบิดในระยะสั้น ยังไม่มีหลักประกันว่าพรรครัฐบาลจะลงมือและร่วมมือแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง พฤติกรรมของพรรครัฐบาลที่ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมได้แสดงให้เห็นว่าคำนึงแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องคนโกงเป็นหลัก ถ้าพรรครัฐบาลเชื่อมั่นในการสร้างความปรองดองให้แก่ประเทศจริงแล้ว จะต้องให้เวลากับกระบวนการปรองดอง ทำข้อเท็จจริงให้กระจ่าง ทำความเห็นต่างให้เกิดความเห็นร่วมเพื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศก้าวข้ามไปได้ด้วยกัน แต่การแอบเอาคดีทุจริตคอร์รัปชันมาใส่ไว้ในกฎหมายนิรโทษกรรมได้ทำให้คนในสังคมแตกแยกมากขึ้น และกระบวนการเร่งรัดผ่านกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงเสียงคัดค้านแสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าต้องการช่วยนายใหญ่และพวกพ้องคนโกง (ในช่วงเวลาที่คะแนนนิยมของรัฐบาลเริ่มตกลง) มากกว่ามีเจตนาปรองดองจริง

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยที่ร่วมกันต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมต้องเดินหน้าต่อ ร่วมกันแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ถ้าเราไม่เร่งต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้เกิดผลแล้ว คงหนีไม่พ้นที่ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศของใครบางคนเท่านั้น กระบวนการทุจริตคอร์รัปชันจะนำไปสู่การยึดประเทศโดยอันธพาล กฎหมายนิรโทษกรรมอาจจะแปลงกลายกลับมาใหม่ในวันหน้า วันนี้กระแสต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นได้จุดติดในกลุ่มคนเมืองแล้ว โจทย์สำคัญคือเราจะแปลงกระแสต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างไร และทำอย่างไรกระแสเหล่านี้จึงจะกระจายไปทั่วประเทศ สู่คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยที่ยังนิ่งเฉยอยู่ หรือมองเพียงว่าเรื่องนี้เป็นแค่การต่อสู้ทางการเมือง

ถึงเวลาแล้วที่บริษัทใหญ่ๆ และนักธุรกิจชั้นนำ จะต้องออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการทุจริตคอร์รัปชันกันอย่างเป็นรูปธรรม หยุดจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่ผู้มีอำนาจรัฐ โดยไม่คำนึงว่าจะเสียโอกาสทางธุรกิจ จะต้องเป็นผู้นำเร่งสร้างความเข้าใจในหมู่พนักงานของตนและประชาชนในวงกว้างถึงผลเสียจากการทุจริตคอร์รัปชัน พระสงฆ์จะต้องร่วมกันแสดงจุดยืนต่อต้านโกงทุกรูปแบบ หยุดทำสังฆกรรมกับคนโกง ครูบาอาจารย์จะต้องสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในสังคมและสอนให้เด็กปฏิเสธการโกง พ่อแม่จะต้องเร่งสอนลูกหลานให้เห็นถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชัน และคนไทยทุกคนจะต้องต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกันอย่างเป็นรูปธรรม

คนทุจริตคนโกงแม้ว่าจะคนเป็นส่วนน้อยของประเทศ แต่เขาโกงได้สำเร็จและสามารถทำลายประเทศได้ เพราะเขาคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะหาทางโกงได้อย่างไร จะโกงอย่างไรไม่ให้ถูกจับได้ หรือถ้าถูกจับได้แล้วจะหาทางหลุดรอดไม่ต้องรับโทษได้อย่างไร ส่วนคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่โกงไม่ทุจริตมักจะทำดีต่อสังคมในเวลาที่ตนเองว่าง หรือก็ต่อเมื่อการกระทำของตนไม่สร้างศัตร ู(โดยเฉพาะศัตรูเป็นผู้มีอำนาจ) คนทุจริตคนโกงเข้าใจนิสัยของคนส่วนใหญ่ข้อนี้ดีจึงรุกคืบไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะยึดประเทศให้สามารถโกงได้แบบเบ็ดเสร็จ

ถึงเวลาแล้วครับที่คนไทยต้องถามตัวเองว่าเราอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศใคร อย่าปล่อยให้กระแสต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมเลือนหายไป เราต้องสานต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศของใครคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะพวกคนโกง (ที่จะเอาผลประโยชน์จากการทุจริตคอร์รัปชันมายึดประเทศต่อไป)

หมายเหต:ุ ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556

ป้ายคำ :