สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ข่าววิทยาศาสตร์ที่ถือว่าสำคัญอันดับต้นๆ เพราะมีศักยภาพพลิกมุมมองโลกได้ คงต้องยกให้แก่การศึกษาวิจัยจุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์
ข้อเท็จจริงที่เราได้รับรู้ คือ ร่างกายของเรามีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ด้วยถึง 100 ล้านล้านตัว มากกว่าจำนวนเซลล์ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายของเราถึง 10 เท่า
แค่นี้ก็ต้องตั้งคำถามแล้วว่าตกลงร่างกายมนุษย์มันคือมนุษย์ หรือมันคือจุลินทรีย์หรือมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีชีวิตต่างสายพันธุ์มาอยู่ร่วมกันแล้วกลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่?
จุลินทรีย์ 100 ล้านล้านตัวนี้ แยกแยะออกมาได้ถึงกว่า10,000 ชนิด มันอยู่ร่วมกันเป็นสังคมชีวิตจิ๋วในพื้นที่ต่างๆ กันตามร่างกายเราบางที่ก็มีความหลากหลายสูง อาทิ กระเพาะอาหารและสำไส้ บางที่ เช่น ช่องคลอด ก็มีชนิดพันธุ์น้อยกว่า พวกมันดำรงชีวิตของมันไป ทำหน้าที่ต่างๆ กัน เหมือนคนประกอบอาชีพในเมืองใหญ่ซึ่งเมื่อประสานรวมกันแล้วช่วยให้ร่างกายของเราขับเคลื่อนดำเนินไปได้
ร่างกายของเราจึงเป็นเสมือนระบบนิเวศใหญ่ หรือจะเรียกว่าเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งหนึ่ง ที่มีระบบนิเวศย่อยมากมายเชื่อมโยงกันอยู่ เป็นระบบนิเวศตา หู จมูก ปาก ตับ ไต ไส้ พุง ม้าม ตีน และอวัยวะอื่นๆ ชีวิตที่อาศัยในที่เหล่านี้ก็เหมือนกับสังคมชีวิตในป่าประเภทต่างๆ ป่าดิบมีพืชและสัตว์ต่างจากป่าโปร่งผลัดใบ ต่างจากแม่น้ำลำธารหรือหนองบึง แต่ก็สัมพันธ์โยงใยกันจากเขาสู่ทะเล
ถ้าป่ามีแต่ต้นไม้ ไม่มีสัตว์ ไม่มีตัวผสมเกสร กระจายเมล็ดพันธุ์ ย่อยสลายซากศพ เป็นแค่ป่าเปล่าๆ ป่านั้นก็ดำรงอยู่ไม่ได้นาน ร่างกายของเราถ้ามีแต่เซลล์มนุษย์ ไม่มีจุลินทรีย์ ก็เหมือนกับโครงสร้างป่าเปล่าๆ เช่นกัน
ในร่างกายคนป่วย สุขภาพไม่ดี หรือแค่กินอาหารไม่ดี สังคมจุลินทรีตามอวัยวะต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป เหมือนกับสังคมชีวิตในระบบนิเวศธรรมชาติ
ในมุมมองของนักชีวะ มนุษย์จึงเป็นทั้งระบบนิเวศ และเป็นทั้งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ซูเปอร์ชีวิต” (super-organism)เดิมที สมญานาม super-organism ใช้เรียกสัตว์สังคมอย่างมด ปลวก ผึ้ง ที่ปัจเจกแบ่งหน้าที่ชัดเจนเหมือนอวัยวะต่างๆ ทำงานร่วมกันเพื่อชีวิตที่ดำรงอยู่เป็นหนึ่งเดียว โดยที่แต่ละตัวจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้เองตามลำพังในระยะยาว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นแบบนี้ก็มีตุ่นหนูไร้ขนแห่งแอฟริกา (naked mole rat)
การค้นพบชีวิตจำนวนมากในร่างกายเราทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเริ่มพูดถึงมนุษย์ในฐานะ super-organism เพราะเราไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตตัวเดียวอยู่โดดๆ ได้ตามลำพัง เราเป็น 1 คน + 100 ล้านล้านจุลินทรีย์ ดำรงชีวิตไปในทิศทางเป้าหมายเดียวกัน
อีกนัยหนึ่ง เราทุกคนแท้จริงแล้ว คือซูเปอร์แมน
และถ้าเรารู้จักสัตว์อื่นดีกว่านี้ ก็อาจพบว่ามันเป็นซูเปอร์สัตว์เช่นกันต่างอาศัยอยู่บนโลกซูเปอร์กาย่า–หากเราเชื่อในทฤษฎีกาย่า (Gaia) ที่มองระบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งบนโลกใบนี้เป็นเสมือน super-organism
เป็นระบบจำลองเดียวกัน ลดหลั่นขนาดลงมาเรื่อยๆ เหมือนตุ๊กตากล่องรัสเซีย
จึงอดคิดไม่ได้ว่าในเมื่อร่างกายเราเป็นซูเปอร์แมน เป็นผลผลิตของหลายชีวิตดำรงอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวทำไมพฤติกรรมของเราจึงไม่ค่อยจะ “ซูเปอร์แมน” เสียเลย หมายความว่าเราไม่ค่อยจะเห็นผลประโยชน์ส่วนตนในประโยชน์ส่วนรวมโดยอัตโนมัติ?
ประเด็นนี้อาจอภิปรายกันได้มากมายด้วยเหตุผลทางชีววิทยา แต่สิ่งสำคัญกว่าคือเราสามารถเห็นได้ เมื่อเราระลึกถึงธรรมชาติของตัวเรา
การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในวันนี้ เป็นโอกาสให้เราได้เตือนความจำ