ThaiPublica > คอลัมน์ > อัตลักษณ์และตัวตนบนเฟซบุ๊ก

อัตลักษณ์และตัวตนบนเฟซบุ๊ก

23 กรกฎาคม 2013


ยุทธการ ยุทธาวุธพิทักษ์

1.

ผมคงไม่อ้างงานวิชาการหรือนักวิชาการอะไรเพื่ออธิบายคำว่าอัตลักษณ์ เพราะแม้อะไรเหล่านั้นอาจจะคมคาย หนักแน่น ลึกซึ้ง แต่โดยรวมแล้วมักจะออกมาในรูปที่มนุษย์ธรรมดาทั่วไปอ่านแล้วไร้คำถาม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเข้าใจถ่องแท้ แต่คือไม่รู้แม้แต่ว่าถ้อยคำเหล่านั้นบอกกล่าวถึงอะไร

แต่หากจะให้กล่าวไปตามที่สังเกตและเข้าใจ “อัตลักษณ์” อันเป็นคำก้ำกึ่งกับ “ตัวตน” นั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ภายในมาแต่กำเนิด หากแต่เกิดขึ้นผ่านการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกผ่านระบบภาษา (ทั้งวัจนะและอวัจนะ) อันเป็นผลให้เกิดสำนึกว่า “ฉัน” และ “ฉัน” นั้นเป็นใคร

กล่าวแบบนี้ก็คงจะงงกันไป ก็ให้เข้าใจว่าเพราะภาษาไทยอันน่าภาคภูมิใจมีข้อจำกัดในการอธิบายอยู่ แต่หากอธิบายผ่านภาษาอังกฤษด้วยคำว่า “I” และ “me” (นี่ผมจะถูกหาว่าไม่รักชาติไม่อยากเป็นไทยไหม) ก็อาจจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยหากกล่าวอย่างง่ายที่สุด “I” ก็คือ “ฉัน” ที่เราคิดว่าเราเป็น และ “me” ก็คือ “ฉัน” ที่เราคิดว่าคนอื่นมองว่าเราเป็น หรือเอาให้ง่ายเข้าไปอีกก็คือ สิ่งที่เราคิดว่าคนอื่นเขามองเราอย่างไร โดย “ฉัน” ตัวหลัง หรือ “me” นี้ เราสามารถรับรู้ได้จากการตีความสิ่งที่คนอื่นปฏิบัติต่อเรา (เช่น เขาทำแบบนี้เพราะคิดกับฉันแบบนี้) หรือเพียงคาดเดาเอาจากการแสดงออกซึ่งส่วนที่เป็น “I” ออกไป (เช่น ถ้าฉันทำแบบนี้เขาคงจะมองฉันแบบนี้)

แล้วอัตลักษณ์นี่มันคือฉันตัวไหนกันแน่

อัตลักษณ์คือผลจากการต่อรองระหว่างฉันและฉัน หรือ I กับ me เรามีสิ่งที่เรามองว่าเราเป็น ขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่เราคิดว่าคนอื่นมองว่าเราเป็น การต่อรองตรงนั้นจะทำให้เกิดการสร้างตัวตนที่เราจะใช้ในการแสดงออก หรืออย่างน้อยที่สุดในสำนึกรู้ของตัวเองขึ้นมา ว่าตัวเรานั้นคืออะไร เหมือนกับอะไร แตกต่างจากอะไร เราจะยืนอยู่ตรงไหน ระหว่าง I กับ me (เช่น เพื่อนให้เขารู้ว่าฉันเป็น/ไม่เป็นแบบนี้แล้วฉันจะต้องทำ/ไม่ทำแบบนี้) ซึ่งเมื่อกล่าวกันต่อไป ตรงนี้อาจทำให้เกิดความไม่คงเส้นคงวาหรือไม่สอดคล้องในพฤติกรรมการแสดงออกได้ เพราะในสังคม เมื่ออยู่ในเวลาและสถานที่อันต่างกัน ทั้ง I และ me นั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ ส่งผลให้ในกาลเทศะหนึ่งเราจะเป็นและแสดงออกในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเป็นและแสดงออกในอีกสิ่งใดสิ่งหนึ่งในอีกกาลเทศะหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวเช่นนี้ จะเห็นว่าทั้ง I และ me นั้นไม่ได้ตั้งอยู่ลอยๆ หากแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม

ทีนี้ ที่กล่าวไปนั้นก็คือ I และ me ที่เรารู้ (อย่างไม่ต้องสนใจว่า me นั้นมันมีอยู่จริงหรือไม่ เพราะหากกล่าวอย่างภาษาวัยรุ่นเก้งกวางแล้ว me นั้นก็ก้ำกึ่งกับการ “มโน” เอาเอง) แต่ก็ยังมี me ที่เราไม่รู้ ซึ่งเป็น me ที่มีอยู่จริง แต่เราไม่รู้หรือถึงขั้นจนตายก็ไม่มีทางได้รู้ว่ามันคืออะไร เพราะนั่นเป็น me ที่เกิดจากสายตาของผู้อื่นที่มีต่อตัวเราจริงๆ เป็น me ที่อยู่ในหัวคนอื่นจริงๆ ซึ่งอาจเป็นคนละ me กับ me ที่เรามโนเอาอย่างสิ้นเชิง และแถมผู้อื่นที่ว่านั้นอาจเป็นใครก็ไม่รู้ที่จนตายก็ไม่เคยเจอหน้ากัน แต่ดันไปรู้ไปเห็นเรามาทั้งแบบด้วยตาและด้วยหู

ดังนี้ก็จะเห็นว่า อัตลักษณ์ของเรานั้น มีทั้งส่วนที่ตัวเราสร้างขึ้น และส่วนที่คนอื่นสร้างขึ้น โดยที่ทั้งสองส่วนนั้นอาจไม่เคยมีวันมาพบกันเลย หรืออาจได้มาพบกัน ซึ่งเมื่อพบเจอกันแล้ว ก็สามารถเป็นผลทั้งในรูปของการลงรอยกันดี หรือไม่อาจลงรอยกันจนกระทั่งเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นมา

ความไม่ลงรอยระหว่างอัตลักษณ์ที่เราสร้างให้ตัวเองและที่คนอื่นสร้างให้เรานั้น เป็นรูปแบบและสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมตั้งแต่ระดับปัจเจกต่อปัจเจกหรือกระทั่งระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมือง เช่น “อ๋อ ถ้าคิดแบบนี้ก็แปลว่าเป็นเสื้อแดง/เสื้อเหลือง แล้วก็เป็นพวกล้มเจ้า/คลั่งเจ้าละสิ” ซึ่งเราก็อาจจะตอบไปทันทีว่า “ไม่ใช่ตั้งแต่บอกว่าเป็นเสื้อแดง/เสื้อเหลืองแล้วโว้ย” หรือถ้าระดับรัฐกับพลเมือง ก็เช่น การที่รัฐพยายามสถาปนาอัตลักษณ์ความเป็นไทย กำหนดว่าเป็นไทยต้องแบบนั้นแบบนี้ โดยไม่อินังขังขอบเลยว่า แต่ละภาคแต่ละส่วนแต่ละพื้นที่นั้นเขาก็มีอัตลักษณ์ของเขา ซึ่งบางทีมันขัดแย้งกับความเป็นไทยที่รัฐพยายามสร้างขึ้นและกำหนดเอาอย่างที่ไม่มีวันจะเข้ากันได้

พอก่อน…ไม่ได้จะเขียนเรื่องใหญ่ขนาดนั้น ไม่มีปัญญา

2.

เราไม่มีทางจะเห็นสิ่งที่คนคนหนึ่งเป็นได้ทั้งหมด อย่าว่าแต่เห็นคนอื่น กับตัวเราเองก็ยังยากจะเห็นที่ตัวเราเป็นได้ทั้งหมด

ผลหนึ่งก็คือ นั่นทำให้เมื่ออยู่ในสังคมแล้วเราต้องสะท้อน I และ me ไปมาเพื่อหาที่ทางที่จะวางตัวเองไว้ในสังคมได้อย่างสบายใจที่สุด

ส่วนอีกผลหนึ่งก็คือ เมื่อรู้เช่นนั้นแล้ว รู้ว่าเราไม่มีทางที่จะมองเห็นที่คนอื่นเป็นได้ทั้งหมด เราก็ควรจะตระหนักไว้ให้มากว่า ที่เรารู้เราเห็นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเสี้ยวเดียวที่ปรากฏออกมาภายใต้บริบทใดบริบทหนึ่ง และเราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริบทที่ว่านั้นคืออะไร

ผมเชื่อได้ยากเหลือเกินว่า การแสดงออกของคนเราโดยปรกตินั้นจะเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เพราะแม้แต่คนที่ทุกคนเห็นว่าตรงไปตรงมา แท้จริงแล้ว สิ่งที่แสดงออกมานั้นก็ถูกการปรับแต่งแล้ว ว่าในบริบทดังนั้นดังนี้ เขาจะแสดงมันออกไปเท่านั้นเท่านี้ และบริบทเหล่านั้นบางทีก็ทับซ้อนกัน เราเห็นเขาแสดงออกภายใต้การรับรู้ของเราว่านั่นคือการแสดงออกภายใต้บริบทหนึ่ง เขาเองก็แสดงออกภายใต้บริบทนั้นที่ยอมรับร่วมกันกับเรา แต่แท้จริงแล้ว ดังที่บอกว่ามันอาจมีที่มาจากบริบทอื่นที่เราไม่รู้ และเขาก็ไม่ได้เปิดเผยให้เราได้รับรู้

เช่น รู้สึกขัดใจแฟนอยู่เงียบๆ แล้วมาโพสต์เฟซบุ๊กว่าชีวิตมันห่วย หรือถึงขั้นโพสต์บ่นว่าสังคมมันแย่ สร้างคนแบบนั้นแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งถ้าเราไม่ได้รู้จักคนคนนั้นลึกๆ แล้วนี่ คงยากจะรู้ได้ว่าไอ้ที่เขาโพสต์เฟซบุ๊กมานั้นมันอ้อมไปจากความจริงที่เขารู้สึกเสียขนาดไหน

นั่นคงไม่ใช่ตัวอย่างที่เหี่ยวข้องนักกับเรื่องอัตลักษณ์บนเฟซบุ๊ก แต่สิ่งที่อยากให้ตระหนักก็คือ ตัวตนของคนคนหนึ่งที่เราเห็นในเฟซบุ๊กนั้น เป็นแค่เศษเสี้ยวส่วนเดียวที่เขากลั่นกรองแล้วว่า ภายใต้มุมมองที่เขามีต่อพื้นที่อย่างเฟซบุ๊ก เขาจะแสดงออกถึงเรื่องนี้ออกมาในแบบนี้ หรือทั่วๆ ไปก็คือเขาจะแสดงตัวตนออกมาในแบบนี้

คนบางคนเมื่ออยู่ในเฟซบุ๊กแล้วพูดเยอะมาก ขี้โวยวายมากๆ อาละวาดอย่างท้าตีท้าต่อย หยาบคายแบบที่อ่านแล้วต้องแสบตา ทว่า เมื่อเจอตัวเป็นๆ ข้างนอกแล้วกลับเป็นคนสุภาพเรียบร้อย พูดน้อย และจะต่อยกับใครก็ยังไม่กล้า

ที่พูดมานี้ไม่ใช่เรื่องดาดๆ อย่างการใส่หน้ากากเข้าหากัน แต่คือการให้มองโลกในเฟซบุ๊กอย่างเข้าใจว่า สิ่งที่เราเห็นใครสักคนแสดงออกบนเฟซบุ๊กนั้น บางทีมันอาจเป็นเพียงการแสดงออกแบบหนึ่งและเศษเสี้ยวหนึ่งและชั่วขณะหนึ่งของเขา อาจเป็นเพียงอาการโพล่ง เป็นการบ่นในหัวให้เราเห็นเป็นตัวอักษร ซึ่งเราไม่สามารถเอาไปกำหนดได้เลยว่าตัวตนอีกตัวหนึ่งที่อยู่นอกเฟซบุ๊กนั้นเขาก็คงจะเป็นคนแบบนี้

หรือกล่าวให้ง่ายที่สุดก็คือ ตัวตนที่เราเห็นในเฟซบุ๊กอาจไม่มากพอจะใช้ตัดสินว่าคนคนหนึ่งเป็นอย่างไร และยิ่งไม่ต้องพูดไปถึงว่าดังนั้นเราควรจะปฏิบัติตัวกับเขาอย่างไร

ในสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่าสังคม ยังมีสังคมย่อยๆ อีกมากมายอยู่ในนั้น เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมากมายที่เราเป็นสมาชิกสังกัดอยู่ ครอบครัว โรงเรียน จังหวัด รัฐ ประเทศ สารพัด เหล่านี้ทำให้คนคนหนึ่งสามารถมีอัตลักษณ์ได้หลายแบบ ที่จะเลือกหยิบมาใช้ภายใต้สังกัดที่ต่างกัน การมองคนอื่นว่ามีอัตลักษณ์แบบเดียวคือแบบที่เป็น me ที่เราเห็นและตีความว่าเป็นนั้นอาจทำให้เรามองโลกได้ง่าย แต่ก็เป็นความง่ายในเชิงชุ่ยที่จะสร้างปัญหาแก่การอยู่ร่วมกันได้ เราควรระลึกเสมอว่าคนคนหนึ่งนั้นสามารถมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย และที่เราเห็นนั้นเป็นแค่อัตลักษณ์หรือตัวตนแบบหนึ่งที่ปรากฏออกมาภายใต้บริบทแบบหนึ่งเท่านั้น

เราใช้น้ำหยดเดียวระบุหน้าตาของมหาสมุทรไม่ได้…

3.

บางคนบอกว่า อัตลักษณ์หรือตัวตนของบุคคลที่ปรากฏในเฟซบุ๊กนั้นเป็นของปลอม และให้ค่าว่าของจริงๆ ก็คือสิ่งเราพบเจอจากตัวเป็นๆ ของคนคนนั้น

ก็ตลกดีว่า พอพูดภายใต้บริบทอย่างนั้น ก็เหมือนจะลืมกันไปหมดว่าโลกข้างนอกนั้นมีสิ่งที่เรียกง่ายๆ ว่า “คนไม่จริงใจ”

แต่บางคนก็บอกว่า ตัวตนในเฟซบุ๊กนี่แหละ คือตัวตนที่แท้จริงของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเห็นว่าเฟซบุ๊กนั้นเป็นโลกเสมือนที่ตัวเองจะทำอะไรก็ได้ หรือทำได้ในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าโลกข้างนอก คนเราก็จะยิ่งแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา

ในความเห็นของผม ตัวตนที่จริงที่สุดของมนุษย์ คือตัวตนที่เคลื่อนไหวอย่างเอาแต่ใจตามสัญชาตญาณดิบ เป็นการขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองความปรารถนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกายใจอย่างไม่มีกรอบอะไรมาตกแต่งหรือขัดเกลา อันอาจกล่าวได้ว่าเทียบเท่าเดรัจฉาน

ดังนั้นแล้ว จะตัวตนหรืออัตลักษณ์ที่อยู่ในหรือนอกเฟซบุ๊กก็ล้วนแล้วแต่เป็น “ของจริง” ทั้งสิ้น หากแต่เป็นของจริงที่อยู่ภายใต้บริบทอันแตกต่างกันนั่นเอง