ThaiPublica > คอลัมน์ > กู้ 2 ล้านล้าน

กู้ 2 ล้านล้าน

7 มิถุนายน 2013


“หางกระดิกหมา”

เชื่อว่าถ้าไม่นับรางวัลแจ็กพ็อตจากการลุ้นฝาชาเขียวในแคมเปญ “รวยเปรี้ยง 60 วัน 60 ล้าน” ของคุณตันแล้ว เงินก้อนที่ถูกสังคมไทยจับตามองมากที่สุดในนาทีนี้ น่าจะหนีไม่พ้นโครงการกู้เงินเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศจำนวน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้สภาเห็นชอบนี่เอง

เพราะถ้าโครงการครั้งนี้ผ่านสภา ก็ต้องถือเป็นการกู้เงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เรียกได้ว่าเป็นการกู้อย่างทุ่มหมดหน้าตัก เพราะกู้ครั้งนี้แล้วงบประมาณประเทศก็จะต้องถูกกันส่วนเอาไปใช้หนี้อีก 50 ปี แทบไม่เหลือหน้าตักไว้ไปลงทุนด้านอื่นๆ อีก เรียกได้ว่าถ้าออกมาดีก็เจริญไป ถ้าออกมาไม่ดีก็จะต้องกินแกลบไปอีกนาน

เท่าที่สังเกต ดูเหมือนเรื่องที่ทุกคนจะเป็นห่วงตรงกันเกี่ยวกับเงินกู้ 2 ล้านล้าน นี้ก็คือเรื่อง “ความคุ้มค่า” ของการเอาเงินไปสร้างรถไฟความเร็วสูง ด้วยเหตุที่ประมาณการตัวเลขต่างๆ ที่รัฐบาลยกมาเพื่อ “เชียร์” ให้เห็นความคุ้มค่าของโครงการ (ตามเอกสารประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน) นั้น มันช่างดูเชื่อได้ยากเหลือเกิน

ยกตัวอย่างเช่น รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคายซึ่ง วิ่งผ่านแค่ 7 จังหวัดภาคอีสานนั้น รัฐบาลประมาณว่าจะมีผู้โดยสารถึง 41,000 คนต่อวัน ในขณะที่มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษาเขาไปค้นตัวเลขมาเทียบให้เห็นเลยว่า ทุกวันนี้จำนวนผู้โดยสารสูงสุดที่โดยสารเครื่องบินไป 8 จังหวัดภาคอีสานยังมีอยู่แค่ 4,957 คนต่อวัน แม้กระทั่งผู้ใช้บริการสถานีขนส่งหมอชิตที่เดินทางไปถึง 20 จังหวัดภาคอีสานเอง (ไม่ใช่แค่ 7 จังหวัด) ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้โดยสารแค่ 49,500 คน เท่านั้น อย่าว่าแต่ ต่อให้มีผู้โดยสารมากเท่าที่รัฐบาลประมาณจริง ก็แปลว่ารถไฟจะต้องวิ่งถึงวันละ 41 เที่ยว หรือแทบทุกครึ่งชั่วโมง พูดง่ายๆ ก็คือ จะต้องมีรถไฟวิ่งไปหนองคายถี่พอๆ กับรถตู้ไปธรรมศาสตร์รังสิต เลขประมาณการณ์อย่างนี้ใครฟังแล้วไม่ขำก็ต้องใจแข็งเต็มที

นอกจากนั้น ควรสังเกตว่าการประเมิน “ความคุ้มค่า” ของการลงทุนภาครัฐนั้นมีเงื่อนงำต่างกับเอกชน ทั้งนี้ก็เพราะในการลงทุนของภาคเอกชนนั้น เราว่ากันด้วยประโยชน์ที่จับต้องได้ อย่างที่เรียกว่า “Tangible Benefits” กล่าวคือดูแค่ Bottom Line ว่าติดลบหรือเปล่าก็จบ ไม่ต้องเถียงกัน แต่ของรัฐนั้้น ด้วยความที่เป็นการลงทุนเพื่อส่วนรวม ดังนั้น จึงมักจะมีการอ้างถึง “Intangible Benefits” หรือประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้ที่จะเกิดแก่สังคมหรือเศรษฐกิจเข้ามาในการคำนวณความคุ้มค่าด้วย อาทิ ประโยชน์ในแง่การกระตุ้นการท่องเที่ยว การเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ การกระจายความเจริญสู่ชนบท ฯลฯ

จริงอยู่ ประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้อย่างนี้อาจสำคัญไม่น้อยไปกว่าประโยชน์ที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ประโยชน์จับต้องไม่ได้เหล่านี้พิสูจน์ยาก วัดเป็นตัวเลขไม่ค่อยได้ ดังนั้นก็ต้องระวังว่าหากรัฐไม่บริสุทธิ์ใจหรือตั้งใจจะหาโอกาสโกงกินจากเมกะโปรเจกต์โดยสักแต่ว่าทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ที่มีแต่ตัวเลขเชียร์โครงการ โดยไม่สนว่าตัวเลขจะเป็นไปได้ในความเป็นจริงหรือไม่เสียแล้ว ถึงเวลาถ้าปรากฏว่าโครงการขาดทุนขึ้นมา รัฐก็อาจยกเอาแต่ประโยชน์จับต้องไม่ได้เหล่านี้ขึ้นมาแก้ตัวทำนองว่าในทางตัวเลขเจ๊งจริงแต่ประเทศยังได้ประโยชน์ เสร็จแล้วก็มุบมิบเอาเงินภาษีมาพยุงโครงการเหล่านี้ต่อไป ประชาชนส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ได้ผิดสังเกต นึกว่าไม่มีอะไรผิดปกติ ทั้งที่ความจริง เงินภาษีได้ถูกนำมาใช้จ่ายเป็นค่าโง่แทนรัฐบาลไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว

อย่างไรก็ดี ทางหนึ่งที่จะแก้ความซี้ซัวของรัฐที่ว่านี้ได้ ก็คือการดึงเอกชนเข้ามามีส่วนรวมในการลงทุนของภาครัฐอย่างที่เรียกว่า PPP หรือ Public Private Partnership นั่นเอง เพราะเอกชนนั้นไม่สนเรื่องนามธรรม ขาดทุนคือขาดทุน และในเมื่อเอกชนไม่มีเงินภาษีให้ใช้ไถ่ตัวเองเวลาลงทุนผิดพลาดได้เหมือนรัฐ การที่เอกชนตัดสินใจทำโครงการใด ก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าโครงการนั้นต้องพอจะคุ้มค่าจริงๆ โดยเฉพาะในแง่ของประโยชน์ที่จับต้องได้ กล่าวคือกำไร

ในคราวหน้า จะมาพูดกันโดยละเอียดถึงประโยชน์ของ PPP ในแง่ของการเสริมประสิทธิภาพและลดการคอร์รัปชันในการลงทุนของภาครัฐต่อไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ วันที่ 4 พฤษภาคม 2556