ThaiPublica > คอลัมน์ > โรคเมืองหนังสือ

โรคเมืองหนังสือ

27 เมษายน 2013


ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์

จนถึงทุกวันนี้นี่มันก็ 3-4 ปีแล้วนะครับ แต่ผู้เขียนก็ยังไม่อาจสืบค้นจนเจอ และก็ไม่เคยเห็นใครออกมาชี้แจงแถลงไขว่าว่า “คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแล้วปีละไม่เกิน 7 บรรทัด” (เอ๊ะ หรือ 8 บรรทัด กันแน่นะ ดูสิครับ เอาแค่ให้ชัดแค่นี้ยังไม่แน่เลย) นั้นเป็นผลสำรวจของหน่วยงานใด สำรวจเมื่อใด และสำรวจอย่างไร (อันสุดท้ายนี่สำคัญอย่างกับสร้างชาติเลยนะครับ)

แต่กระนั้น ผู้ได้พบประสบถ้อยคำดังกล่าว ก็ล้วนเกิดอาการทากสะดิ้งเกลือ ดีดดิ้นจนตัวหด ไม่ก็เป็นอึ่งอ่างสะท้านวัว เบ่งท้องพองตัวกันยกใหญ่ เรียกว่าต่างก็ต้องกระดิกกระเดี้ยวกันไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อ “ผลสำรวจ (?)” ที่ว่านั่น

ผมว่า ไอ้อาการวิปริตทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้นี่แหละ ที่มันสะท้อนถึงความวิปริตอย่างน่าอดสู ว่าแท้จริงแล้ว “ทักษะการอ่าน” ของมนุษย์ไทยที่กำลังเป็นโรคเมืองหนังสือกันนี่มันต่ำตมอย่างบัวเน่าเต่าขย้อนถุยขนาดไหน เพราะถ้าทักษะการอ่านของเรามันอย่างบัววิเศษที่ไม่ว่าใครกินแล้วเต่าจะบินได้ ไอ้ประโยคเลื่อนลอยแบบนี้มันต้องหล่นผล็อยไปตั้งแต่ไม่อาจระบุที่มาแล้ว ไม่ใช่ยังมาเจื้อยแจ้วผ่านปากผ่านมือใครอย่างที่ยังเป็นไปในแบบนี้

ท่ามกลางที่ไปอันหลากหลาย ของที่สำคัญที่สุดอย่างที่มาของประโยคดังกล่าวกลับไม่ได้รับการกล่าวถามถึงกันนัก อาการสะท้านผลสำรวจที่เกิดขึ้น (ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม) นี่แสดงให้เห็นเลยนะครับว่า มนุษย์ไทยยังคงให้ความสำคัญกับ “การอ่านหนังสือ” ในฐานะว่าเป็นสิ่งที่ “เสริมสร้างปัญญา” แต่พวกเขาก็พากันแสดงอาการบั่นทอนปัญญาตัวเองออกมาด้วยการไม่ถามหนทางและที่มาของผลสำรวจ

ถ้าจะนับ literacy ว่าเป็นการ “รู้หนังสือ-อ่านออกเขียนได้” ก็คงต้องบอกว่าพวกเขาชาวมนุษย์ไทยมีกันอยู่อย่างค่อนข้างดี (?) แต่ถ้าจะให้กินความถึงขั้นว่า “อ่านเป็น” นี่ อย่าว่าแต่มีหรือไม่มี บางทีพวกเขาอาจไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ

อันนี้จะไปโทษมนุษย์ไทยแต่ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้นะครับ ก็ต้องเข้าใจกันหน่อยว่า มนุษย์ไทยนั้นเติบโตมากับวัฒนธรรมการอ่านที่เผด็จการอย่างโหดเหี้ยม พวกเขาเติบโตมากับการอ่าน “หนังสือเรียน” เสียยิ่งกว่าหนังสืออื่น แล้วการอ่านแบบอ่านหนังสือเรียนนั้นก็เป็นการอ่านเพื่อตอบคำถามเสียด้วย ตอบคำถามนี่ไม่ใช่ตอบคำถามในการดำรงชีวิตนะครับ แต่ตอบคำถามที่มันจะออกสอบน่ะ โดยการตั้งคำถามเป็นหน้าที่ของครูครับ ไม่ใช่ของนักเรียน ซึ่งการตั้งคำถามของครูนี่ก็ไม่ใช่การตั้งคำถาม “กับ” หนังสือนะครับ แต่เป็นการตั้งคำถาม “จาก” หนังสือ และถ้าเมื่อไหร่ที่นักเรียนเกิดกังขาเนื้อหาในหนังสือ แล้วถามคำถามวิเศษที่เสกครูให้เป็นควาย เมื่อนั้นนักเรียนก็จะกลายเป็นคนก้าวร้าว

เฮ้ย…นี่มันหนังสือหรือเทพเจ้ากันละครับ

โอ้โฮ มนุษย์ไทยนี่เติบโตมากับหนังสือที่ดำรงฐานะดุจทวยเทพเทวา เหล่าคุรุครูบานี่ก็ศาสดาประกาศก ไปขัดไปแย้งเอาจะตกนรกกันได้ การไปยกฐานะของหนังสือให้มันสูงเสียจนถ้าคนเดินข้ามแล้วจะเกิดฝีที่รูทวารนี่เป็นการสร้างความต่ำตมให้เกิดแก่วัฒนธรรมการอ่านมากนะครับ ทำกันราวกับมันคือมหาคัมภีร์ที่แบกหามโพรเฟซี (prophecy) อันยิ่งใหญ่ ถ้าอยากส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านที่ดีที่ทำให้คนยิ่งกว่าเพียงอ่านออกเขียนได้แต่คือให้อ่านเป็น หรือก็คือรู้เท่ารู้ทันในสิ่งที่ตนนั้นอ่าน หรืออ่านแล้วสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดหรือเพียงสามารถคิดอะไรต่อไปได้ หนังสือมันควรจะต้องเป็นสิ่งที่ต่ำตมครับ หรือถ้าคิดว่าคำว่าต่ำตมมันเกินไป เพราะวัฒนธรรมการอ่านแบบมนุษย์ไทยทำให้สามารถเข้าใจคำว่าต่ำตมได้แค่เห็นภาพการเอาเท้าไปเหยียบย่ำ อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้คิดว่าหนังสือมันต้องเป็นสิ่งที่เท่ากับคนอ่าน ต้องมีสถานะอยู่ในระดับเดียวกัน ต้องเท่ากันมากพอจะทำให้เราสามาถพูดหยาบๆ กับมันได้ว่า “มึงเอามาจากไหน-ทำไมกูต้องเชื่อมึง”

กล่าวกันในระดับสังคมวัฒนธรรมแล้ว การจัดวางสถานะของหนังสือต่อคนในสังคมนี่สำคัญมากนะครับ เพราะสิ่งที่ควรจะเติบโตไปกับคนเราก็คือการเข้าใจว่า “หนังสือ” (ซึ่งเมื่อเติบโตต่อไปแล้วมันจะขยายไปถึงสื่ออื่นๆ ด้วย) เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นภายใต้เจตจำนงอันเฉพาะเจาะจงบางอย่าง และมันก็จะเป็นจริงอยู่แต่ภายในจักรวาลของเรื่องราวและเหตุผลแบบหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดจรดอสงไขย เช่น หนังสือเรียนนั้นก็ผลิตและเลือกใช้โดยวัตถุงประสงค์เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์แห่งรัฐนั้น ถ้าไปรัฐใกล้ๆ กัน หรือบางทีกระทั่งในบางพื้นที่ในรัฐเดียวกัน เรื่องเล่าต่อสิ่งเดียวกันที่ข้างนอกนั่นก็กลับหัวกลับหางไปคนละทางกับที่ปรากฏในหนังสือเรียน

ดังนั้น ไม่ว่าหนังสือจะมีบทบาทต่อเราอย่างทาส มิตรสหาย หรือผู้ชี้นำหนทาง สถานะที่หนังสือต้องมีต่อเราคือเป็นผู้ที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนหรืออย่างน้อยที่สุดคือต้องถูกตั้งกังขาได้ การสงสัยและตั้งคำถามได้โดยไม่มีใครว่าหรือถึงขั้นฆ่าแกงนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากนะครับ เพราะมันคือจิตวิญญาณของความเท่าเทียม และนี่คือสิ่งที่สังคมที่เรียกตัวเองเป็นประชาธิปไตยต้องมี การตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ นั้นควรเป็นสิทธิอันได้รับการรับรองและล่วงละเมิดมิได้ด้วยซ้ำ

แต่ก็นั่นแหละครับ มนุษย์ไทยถูก “ตอน” ติ่งทักษะการ “อ่านเป็น” ทิ้งไปในการผงาดขึ้นซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งหนังสือเสียแต่เด็กแล้ว ถูกทำให้กลายเป็นขันทีโดยเบ็ดเสร็จด้วยการไม่อนุญาตให้มีในสิ่งที่เขา (ใครกันนะ) คิดว่าไม่จำเป็นต้องมีหรือกระทั่งห้ามใช้ แทนที่จะได้ใช้ความรู้ สิ่งที่เป็นกันกลับคือทาสรับใช้ความความจำ

เอาเข้าจริง รัฐย่อมมีสิทธิ์ตกแต่งใจคอนิสัยแก่ไพร่พลเมืองนะครับ นี่เป็นเรื่องพื้นฐานในการวางกฎเกณฑ์แก่การอยู่ร่วมกันที่ถือว่ายอมรับได้ในระดับหนึ่งและอาจถึงกับต้องมี ปัญหาก็คือ นี่คงเป็นภาวะเขาควายไดเลมม่า ก็ถ้าเผยไต๋ไปเสียหมดก็คงไม่สามารถสถาปนาอำนาจการปกครองได้ ถ้ารัฐยึดครองอดีตไม่ได้ก็ยากจะกำหนดทิศทางปัจจุบันเพื่อนำมันไปสู่อนาคตนะครับ

[ลองนึกดูสิครับว่า เกิดสอนแต่เด็กว่าอยุธยาไม่ได้มาจากสุโขทัย แล้วก็บอกกันอย่างตรงมาตรงไปว่าสำหรับชาวบ้านบางระจัน (ถ้ามีจริงแน่ๆ) แล้ว พม่ากับอยุธยานี่เป็นปัญหาแก่อธิปไตยของตัวพอๆ กัน (เอ้า แล้วตอนนั้นมันมีแนวคิดเรื่องอธิปไตยเสียที่ไหน) อยุธยานี่ก็ใช่จะเป็นน้องนางใสซื่อที่ต้องคอยผวามืออ้ายพม่า เอาเข้าจริงแล้วก็ทำตัวอย่างหอกข้างแคร่อยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน แบบนั้นจะเหลืออะไรไว้กล่อมลูกกล่อมหลาน พิพาทในแผ่นดินกันทีก็ไม่มีผีบรรพบุรุษให้ปลุกมาลำเลิกกัน]

แต่ในทางกลับกันนะครับ นิสัยใจคอพลเมืองนี่ ถ้ารัฐตกแต่งเสียจนกลายเป็นตัดตอน ผมว่านี่มันไม่ใช่หน้าที่ของรัฐประชาธิปไตย แต่คืออาชญากรรมร้ายที่รัฐเผด็จการกระทำต่อความเป็นมนุษย์เสียมากกว่า

แต่ก็คงไม่ถึงขนาดนั้นกระมังครับ…ก็ผมเรียนมาแต่เด็กว่าประเทศไทยนั้นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยฯ

ทีนี้ กลับมาที่ประโยค/ผลสำรวจ/วาทกรรมเจ้าปัญหา: คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยแล้วปีหนึ่งน้อยกว่า 7 (8?) บรรทัด สมมติว่ามันมีอยู่จริงนะครับ (คนละเรื่องกับเป็นจริงนะครับ และเป็นจริงนี่มันก็จริงแค่ตามกรอบกำหนดที่ใช้ในการสำรวจ) การตั้งคำถามถึงวิธีการสำรวจว่าเป็นไปในแบบใด อะไรที่นับเป็น “การอ่านหนังสือ” นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ เพราะนั่นหมายความว่า มันมีอะไรบ้างที่ถูกกำหนดอย่างเป็นทางการว่าเป็น “ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการเรียนรู้ด้วยการอ่าน” หนังสือพิมพ์นับไหม คอลัมน์ซุบซิบดารา การ์ตูน เรื่องประสบการณ์ทางเพศตามหนังสือปลุกใจเสือป่า หรือเนื้อหาทั้งหลายแหล่ที่ปรากฏในเว็บไซต์ ป้ายโฆษณา ใบปลิว เฟซบุ๊ก อีบุ๊กส์ ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรทั้งหลายที่สามารถ “อ่าน” ได้นั้นถูกนับรวมอยู่ใน “การอ่านหนังสือ” ของการสำรวจหรือไม่ ในบริบทของการสำรวจนั้นการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่กำหนดโดยใคร ใครเป็นคนให้ความหมาย สมมตินะครับ ถ้าสุดท้ายแล้วคำว่า “อ่านหนังสือ” ของแบบสำรวจนั้นหมายถึงแค่เพียง “หนังสือเรียน” นั่นก็คงจะเป็นการสำรวจว่าคนไทย “เข้าถึงอุดมการณ์รัฐ” ปีละกี่บรรทัดมากกว่าอ่านหนังสือปีละกี่บรรทัดละครับ

นี่เป็นเรื่องใหญ่นะครับ สมมติว่า ที่สุดแล้วผลสำรวจนั่นมาจากหน่วยงานที่ “น่าเชื่อถือ” (หรือต่อให้ไม่น่าเชื่อถือก็เถอะ) มันย่อมสะท้อนว่า อะไรที่จะถูกยอมรับให้เป็น “ความรู้” ซึ่งเอาเข้าจริง ทุกวันนี้การอ่านเพื่อให้ได้ความรู้นั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ แต่เพียงอย่างเดียว มันมีสื่อมากมายหลายรูปแบบที่สามารถอ่านแล้วเกิดความรู้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น นี่ยังเป็นเรื่องของอำนาจในการกำหนดว่าสิ่งใดคือความรู้ ว่าอำนาจดังกล่าวนี้จะอยู่ในมือใคร รสนิยมและการเลือกและกำหนดของผู้บริโภคว่าสิ่งใดเป็นความรู้นั้นได้รับการยอมรับแค่ไหน

และเอาเข้าจริง ความรู้มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยเฉพาะแค่ไหนขั้นตอนที่เรารับรู้เนื้อหาที่ได้จากการอ่าน แต่มันน่าจะเป็นในขั้นตอนของการ “คิดกับสิ่งที่อ่าน” เสียมากกว่า

ซึ่งตรงนี้มันก็จะวกกลับไปที่เรื่องของ “การอ่านเป็น” อีกนั่นแหละครับ ไอ้จะได้ความรู้จากการอ่านหรือเกิดการพัฒนาการอ่านนี่มันควรจะขึ้นอยู่กับว่า “อ่านอย่างไร” มากกว่า “อ่านมาก/น้อยแค่ไหน” อ่านแล้วเชื่อหมดเลย อ่านแล้วไม่เชื่อหมดเลย อ่านแล้วคิดต่อ อ่านแล้วถือเป็นความจริงสูงสุด อ่านแล้วยอมรับว่าเป็นความจริงชุดหนึ่งภายใต้จักรวาลวิธีคิดแบบหนึ่ง

มาถึงทุกวันนี้นะครับ ถ้าพูดกันอย่างไม่ต้องคิดว่าใครเป็นฝ่ายไหน เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าใครจะฝักใฝ่ฝ่ายใด ก็ล้วนแต่มีคำด่าผู้มีความรู้ของอีกฝ่ายในเชิงที่ว่ามีความรู้มากมายแต่กลับไม่ได้ช่วยให้มีหัวคิด ไม่ต้องมองเรื่องนี้อย่างใครถูกใครผิด แต่เราน่าจะได้ข้อคิดจากเรื่องนี้ว่า “รู้อะไร-รู้มากมายแค่ไหน” มันไม่สำคัญเท่ากับ “มีวิธีจัดการกับความรู้ที่ตัวเองมีอย่างไร”

ซึ่งหากพูดกันในบริบทของการอ่าน วัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งย่อมไม่ได้มาจากปริมาณการอ่านที่เข้มข้น หากแต่อยู่ที่วิถีทางในการที่ผู้อ่านจะปฏิสัมพันธ์กับการอ่านว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นแล้ว ในภาวะที่มีความพยายามกระตุ้นการอ่านให้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก หากพื้นฐานการปฏิสัมพันธ์กับการอ่านยังเป็นไปโดยอ่อนแอดังที่กล่าวมาแล้ว ขี้คร้านมนุษย์ไทยจะได้เป็นโรคเมืองหนังสือที่ตะพึดตะพือยึดถือปริมาณการอ่านเป็นหลักใหญ่ แล้วก็ได้แต่ดีอกดีใจที่ตัวเลขการอ่านเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นยิ่งๆ ขึ้นไป โดยที่วิธีคิดของมนุษย์ไทยไม่เคยได้พัฒนาไปไกลกว่าสมัยที่ (เชื่อว่า) อ่านกันปีละไม่เกิน 7-8 บรรทัดเลย

ป้ายคำ :