ThaiPublica > คนในข่าว > “พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล” คำถามคำตอบ – เปิดขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (4)

“พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล” คำถามคำตอบ – เปิดขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (4)

3 กันยายน 2012


นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล รองกรรมาธิการ งบประมาณปี 2556
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล รองกรรมาธิการ งบประมาณปี 2556

ในที่สุด ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในต้นสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวน 2.4 ล้านล้านบาทในวันที่ 1 ตุลาคม 2556

ในระหว่างทางของการได้มาซึ่ง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ ได้ปรากฏเสียงล่ำลือถึงความไม่ชอบมาพากลบางอย่างเกิดขึ้นในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556

ทั้งการเรียกรับ เปอร์เซ็นต์ และซื้อ-ขายงบประมาณอยู่เป็นระยะ

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พูดคุยกับ “พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล” ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ รองประธาน กมธ. งบประมาณ ถึง “ข่าวคาว” ดังกล่าวดังนี้

ไทยพับลิก้า : ดูเหมือนว่าจะมีความไม่ชอบมาพากลบางอย่างเกิดขึ้นในการพิจารณางบประมาณ

พ.ร.บ.งบประมาณปี 2556 ที่ผ่านการพิจารณาของสภาในวาระ 2 และ 3 ไปแล้วนั้น ได้มีการตั้ง กมธ. วิสามัญ ใช้เวลาในการทำงานประมาณ 70 วัน ความจริงเวลามากกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วมีเวลาเพียงแค่ 44 วันเอง แต่มีความไม่ปกติอยู่ตรงที่ว่า ตั้งแต่แรก รู้สึกว่ามีคำสั่งจากฝ่ายรัฐบาล ที่จะไม่ตั้งอนุ กมธ. เพื่อจะได้ไม่มีเวลาเพียงพอในการปรับลดงบประมาณ โดยมีรัฐมนตรีมาอ้างว่าท่านนายกฯ แต่หลังจากผมในฐานะหัวหน้าทีมของพรรคฝ่ายค้านไม่ยอม ในที่สุดได้มีการตั้งคณะอนุ กมธ. ขึ้น แต่ว่าเมื่อตั้งช้าไปแล้วประมาณ 30 วัน และลดจาก 8 คณะเหลือเพียงแค่ 4 คณะ สุดท้ายจากยอดจาก 2.4 ล้านล้านบาท ได้มีการปรับลดลงเพียง 2.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถ้าคิดตามสัดส่วนของงบประมาณเป็นอัตราที่ต่ำมาก แค่ประมาณ 5-6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปีที่แล้วงบประมาณต่ำกว่าปีนี้ แต่ปีที่แล้วยังมีการปรับลดถึง 4 หมื่นกว่าล้าน และปีก่อนๆ นั้นเคยปรับลดมากในสมัยรัฐบาลของท่านสมัคร สุนทรเวช ที่มีการปรับลดถึง 6 หมื่นล้านบาท

ฉะนั้นจึงยังมีงบฟุ่มเฟือย งบที่เป็นไขมัน ที่ติดอยู่ในส่วนราชการต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เหตุผลประการหนึ่งเข้าใจว่าเพราะรัฐบาลอ้างว่าตั้งงบขาดดุลน้อยลง 1 แสนล้านบาท จากปีที่แล้วที่ขาดดุล 4 แสนล้าน และจะนำไปสู่การสมดุลใน 3-4 ปี ข้างหน้า เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ รัฐบาลก็เลี่ยงโดยวิธีการตั้งงบประมาณให้ต่ำและไปใช้ออกกฎหมายตั้งเงินนอกงบประมาณ เช่น ปีที่ผ่านมามีการตั้งงบน้ำท่วม 2 แสนล้าน อย่างปีนี้มีงบเงินกู้ 3.5 แสนล้าน รองนายกฯ พูดว่า ปีหน้าจะมีการตั้งงบประมาณที่เป็นเงินนอกงบประมาณอีก 2 ล้านล้าน และงบทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นงบลงทุน

ถือเป็นวิธีการที่ไม่มีวินัยการงบประมาณอย่างยิ่งอันหนึ่ง และเป็นการหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจว่าตั้งงบขาดดุลน้อยลงและเรากำลังจะไปสู่ภาวะสมดุล แต่แท้จริงแล้วเราไปใช้เงินนอกงบประมาณจำนวนมหาศาล ผลก็คือการตั้งงบประมาณใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นการกระทำโดยฝ่ายบริหาร ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่การออกกฎหมายพิเศษตั้งงบประมาณ จะโดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือ จะโดยพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เป็นการออกกฎหมายตั้งงบประมาณโดยฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารเป็นผู้พิจารณาให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้ไปใช้ ไม่ได้รับการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติเลย นี่เป็นกลวิธีที่ไม่ชอบในการทำงบประมาณของรัฐบาลนี้อย่างชัดเจน

ระยะหลังๆ ประเทศไทยเกิดมีความไม่ชอบมาพากล โดยนอกจาก พ.ร.บ.งบประมาณแล้ว มีการไปออก พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อใช้ควบคู่ไปกับงบประมาณ และมีการออก พ.ร.ก.เงินกู้ ก้อนใหญ่ใช้ควบคู่ไปกับเงินนอกงบประมาณ ซึ่งนอกจากเป็นการผิดวินัยการคลังอย่างรุนแรงแล้ว น่าจะเป็นการผิดกฎหมายและผิดรัฐธรรมนูญด้วย แต่มีข้อผิดพลาดตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญเกิดตัดสินว่ากรณีเช่นนี้ทำได้ เพราะอ้างว่าเป็นกรณีเร่งด่วนจำเป็น ซึ่งเป็นข้อยกเว้น

“เดี๋ยวนี้เลยมีการนำข้อยกเว้นมาเป็นข้อปฏิบัติ ทำให้ระบบงบประมาณของประเทศชาติวันนี้เสียหายมาก จากวันนี้และต่อๆ ไป”

การจะออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.เงินกู้มาใช้ได้กรณีฉุกเฉินและจำเป็น ต้องเพื่อการใดการหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง และจบสิ้นในงานนั้นเท่านั้น เช่น สมัยชวน 2 (หลีกภัย) เคยออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู 2 ครั้ง นั่นคือเพื่อใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูอย่างเดียว สมัยคุณทักษิณ (ชินวัตร) ก็เคยออก พ.ร.บ.กู้เงิน 7 แสนกว่าล้านมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าไม่ต้องปฏิบัติตามวิธีการงบประมาณหลายเรื่อง กระทำหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เพียงแค่มติ ครม.

“มันเลยก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันทั่วไป มีการให้ออกมติ ครม. ให้จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการพิเศษ โดยมีมติ ครม. ไปลดหย่อนมาตรฐานในการตรวจสอบ ในการเบิกจ่าย ในการใช้งบประมาณหลายๆ เรื่อง จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่พูดได้ว่าเมืองไทยเราขณะนี้เข้าสู่ยุคที่มีการทุจริตงบประมาณที่เป็นงบลงทุนสูงถึงร้อยละ 30-40”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำท่วมคราวที่ผ่านมา มีการตั้งงบประมาณที่ใช้ในการขุดลอก งานขุดลอกเป็นงานใต้น้ำ มองไม่เห็น จะขุดลอกเป็นคันคู หรือขุดลอกเป็นลิ่ม ปริมาณที่ออกมามันยากต่อการตรวจสอบ จึงมีการทุจริตงบขุดลอกกันเยอะ และงบเหล่านี้ไปกระจุกอยู่ในจังหวัดหรือในพื้นที่ของรัฐมนตรีบางคนและบางภาคมากเป็นพิเศษตามที่มีข่าว “คุณนาย” อะไรต่ออะไร หรือ ส.ส. อะไรต่ออะไร บางจังหวัดลงไป 3-4 พันล้าน ขณะที่จังหวัดอื่นที่มีปัญหาเดียวกันไม่ได้งบเหล่านี้ นี่คือการทุจริตในเชิงงบประมาณอย่างร้ายแรงและอย่างน่ากลัว

งบ 1.2 แสนล้านที่พูดในสภามากคืองบที่พูดว่าเป็นงบที่ไปแก้น้ำท่วม ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ผมเป็น กมธ. อยู่ เคยบอกสำนักงบประมาณไปว่าต้องมีรายการมาให้เห็น เขาก็บอกว่าบางอย่างมันเป็นรายการที่ยังไม่เกิดขึ้น ผมก็บอกว่าใน 1.2 แสนล้านอย่างน้อยต้องมีสักครึ่งหนึ่งที่คิดเอาไว้แล้วว่าจะทำอะไร ไม่ใช่ 1.2 แสนล้านเป็นรายการแค่บรรทัดเดียว ทุกครั้งที่ทวงถามรายการจะไม่มีคำตอบเลยว่า 1.2 แสนล้านเอาไปทำอะไรบ้าง เบิกจ่ายให้ใคร งานอะไร เมื่อไหร่ รายการไม่มีเลย นำไปสู่การทวงถามในสภาตามที่เห็นกันในวาระที่ 2

ที่จริงเอกสารเรื่องนี้ถูกผู้มีอำนาจในรัฐบาลเก็บหมดเลย เพื่อปิดบังรายการไม่ให้รู้ว่าไปอยู่ที่ไหนและปิดบังการตรวจสอบแต่ก็มีข้าราชการในสำนักงบประมาณบางคนที่ห่วงใยประเทศชาติแอบส่งรายการออกมาให้กับฝ่ายค้านว่ามีอย่างนี้ ซึ่ง กมธ. ติดตามงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และจะเจอการทุจริตมากมายเลย ตัวอย่างเช่น การเอางบไปลงพื้นที่ จ.แพร่ ของรัฐมนตรีวรวัจน์ (เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ผู้กำกับดูแลสำนักงบประมาณ ในรายการที่ไม่น่าเกี่ยวกับการแก้ไขน้ำท่วม เช่น การซื้อรถแทร็กเตอร์ รถตัก รถบด และยังมีในพื้นที่ของ “คุณนาย” คนหนึ่ง ด้วยนี่คือการทุจริตคอร์รัปชัน

งบ 3.5 แสนล้านบาท ตอนที่จะใช้นั้นรัฐบาลประกาศว่าเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปี 2556 อย่างสำคัญยิ่ง จำเป็นฉุกเฉิน ต้องใช้ทันที แต่จะเห็นว่า 3.5 แสนล้าน ณ บัดนี้เพิ่งมีโครงการเพียงแค่ 1 หมื่นล้าน และใน 1 หมื่นล้านนี้เพิ่งอนุมัติไปเพียงไม่ถึง 1 พันล้านบาท และกลับกลายเป็นว่าเงินจำนวนอีกตั้ง 3.4 แสนล้านไม่รู้จะผลาญอย่างไร จนมีโครงการที่จะให้ต่างประเทศมาออกแบบโครงการป้องกันน้ำท่วมในเมืองไทย จะเห็นได้ว่าคุณตั้งงบประมาณโดยที่ไม่มีอะไรเลย

นี่คือการไม่มีวินัยทางงบประมาณอย่างรุนแรงของประเทศชาติในขณะนี้

ขณะเดียวกัน ที่คุณกิตติรัตน์ (ณ ระนอง รมว.คลัง) พูดว่ากำลังจะตั้งงบประมาณอีก 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อไปทำอะไรต่ออะไร นั่นคือจะเกิดช่องทางการทุจริตอย่างมหาศาล เพราะงบนอกงบประมาณเหล่านี้เป็นงบลงทุนเกือบทั้งหมด แต่งบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 นั้น 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบประจำ อีกจำนวนหนึ่งเป็นเงินชดเชยเงินกู้และดอกเบี้ย เป็นงบลงทุนเพียงแค่ 10 กว่า เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ แต่นี่มันเนื้อๆ เลย สามารถกินกันได้เป็นพันล้านหมื่นล้านเลย นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง

บางเรื่องมีการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ที่อาจจะมีเรื่องต่อไป จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออะไรก็ตาม เช่น การใช้งบถึง 7 พันกว่าล้านไปเสริมสร้างกำแพงให้นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่ง บนที่ของนิคมฯ บนรากฐานของนิคมฯ บนสมบัติของนิคมฯ ที่เป็นที่เอกชน ตามระเบียบงบประมาณทำไม่ได้ เงินหลวงจะไปทำในที่เอกชนไม่ได้ ความพยายามหลีกเลี่ยง ซิกแซกด้วยวิธีการต่างๆ ผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมบ้าง ซึ่งผมก็เตือนไปแล้วว่าให้ระวังรัฐบาลมาแล้วก็ไป แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นคดีติดหลังคุณเยอะ คนจะไปเข้าใจว่าเป็นการสร้างเขื่อนป้องกันนิคมฯ คงจะสร้างรอบนอก แต่จริงๆ สร้างลงบนกำแพงของนิคมฯ เองให้มันหนาขึ้น แข็งแรงขึ้น และสูงขึ้นด้วยเงินของรัฐ ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นคนที่มีบ้านอยู่ใกล้นิคมฯ ล่ะ อยู่นอกกำแพงล่ะ ปีที่แล้วน้ำท่วมแค่ไหน ปีนี้น้ำจะท่วมสูงเท่าตัวเลย ดีไม่ดีจมหลังคาบ้านเลย การสร้างกำแพงนี้จึงไม่ใช่การป้องกันน้ำท่วม แต่เป็นการป้องกันทรัพย์สินของบริษัทที่อยู่ในนิคมฯ ไม่ให้จมน้ำ แล้วนิคมฯ อื่นๆ ล่ะ ที่ยังไม่ใช้ระบบ ไม่ได้ใช้เงินหลวงไปป้องกันน้ำ ใครจะมาเข้านิคมฯ เขาไหม

นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล รองกรรมาธิการ งบประมาณปี 2556

ไทยพับลิก้า : มีการเรียก เปอร์เซ็นต์จากงบใน กมธ.งบฯ จริงหรือไม่

เรื่องรับ เปอร์เซ็นต์นี่มี คนบางคนได้งาน วิ่งงาน ผูกขาดหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และตัวเองทำก่อสร้าง ไปผูกขาดไว้เพื่อตัวเองจะได้ทำ หรือตัวเองทำวัตถุดิบในการก่อสร้าง เช่น ทำโรงโม่ ไปใช้อิทธิพลเหล่านี้ในห้อง กมธ. บางคนรับวิ่งงบประมาณให้กับหน่วยงานก่อสร้างรายใหญ่ๆ บางแห่ง มี! ต้องยอมรับ แต่ระยะหลังเหลือน้อยคนลงไปแล้ว และผมเป็นคนถามเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา เป็น ส.ส. ถ้าอยู่ในพรรคผม เป็น กมธ. ภายใต้การดูแลของผม ถ้าคุณขยันทำงานและสุดท้ายคุณทำงานเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ ที่เลือกคนมา ได้ถนนสักสายหนึ่ง ได้บ่อน้ำสักบ่อหนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่ตำหนิ เพราะเป็นหน้าที่ ส.ส.

แต่ถ้าเป็นประเภทที่วิ่งงาน และไปขายงานเอา เปอร์เซ็นต์เอาอะไรกัน ถ้าผมรู้ผมไม่ยอมเด็ดขาด ถ้าเป็นคนของประชาธิปัตย์ จะมีลักลอบโดยที่ผมไม่รู้บ้างหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ที่ผมรู้ ไม่น่าจะมี ถึงใครจะเป็นอย่างไรแต่ไม่มีนิสัยในการโกง แต่พรรคฝ่ายตรงข้ามมีบางคนเหมือนประมาณรับจ็อบรับจ้างบริษัทรับเหมามา งานบางอันที่ประกวดราคาไปแล้วอยากได้งานนี้ก็ไปโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง เพื่อให้ยกเลิก จะได้มีโอกาส ซึ่งพวกนี้ผมฟังไม่กี่คำผมก็รู้ เอ่ยปากปั๊บก็รู้ เบื้องหลังเป็นอย่างไร (ยิ้ม)

ไทยพับลิก้า : ส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเดิมๆ

มักจะหน้าเดิมๆ

ไทยพับลิก้า : กระบวนการซื้อ-ขายงบด้วยการขายโครงการที่ได้มามีวิธีการทำอย่างไร

คือ…งบประมาณของส่วนราชการ เช่น กรมทางหลวง สมมุติเขาได้งบสร้างถนนสร้างทางหรือบูรณะทาง หรือปรับปรุงทาง สมมุติได้มา 3 พันล้าน ทุกปีก็จะประกวดราคาไว้ถึง 6-7 พันล้าน ผู้ที่ชนะการประกวดราคาจะได้ทำหรือไม่ อยู่ตรงที่ได้เงินมาหรือเปล่า เพราะงบมันแค่ 3 พันล้านบาท ในอดีตมี ส.ส. บางคนได้งบมา สมมุติผมเป็นผู้รับเหมาคนหนึ่งได้เงิน 100 ล้าน ทำอย่างไรผมถึงจะได้100 ล้าน ก็ไปซื้อ ส.ส. ที่ได้งบ 30 ล้านสัก 3 คน ให้ทำเข้ามาในส่วนของตัวเอง และ 30 ล้านนี่ก็จ่าย 5-10 เปอร์เซ็นต์ ในอดีต แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้เขาพูดว่าถ้าใครกินอันนี้โง่! (หัวเราะ)

ตอนนี้ที่ได้ยินมา ก็แล้วแต่งานนะ งานบางอย่างตรวจรับยาก เช่น งานแสดง งานอีเวนต์ จ้างดารา ออร์แกไนเซอร์ แสงสีเสียง งบ 10 ล้าน เอาไปใช้สัก 30 เปอร์เซ็นต์ พอเสร็จจบงานไปคุณตรวจอะไร ทุกอย่างไม่เหลือแล้ว งบอบรมสัมมนาไปต่างประเทศ ยิ่งถ้าเป็นงบนอกงบประมาณไปยกเว้นระเบียบบางอย่างให้ มันเปิดช่องทางโกงกันเยอะ

ไทยพับลิก้า : ถ้าให้มองงบทั้งก้อน 2.4 ล้านล้านบาท มีส่วนที่ไปถึงโครงการเท่าใด และจะหล่นหายระหว่างทางเท่าใด

เมื่อก่อนพวกนักวิชาการพูดกันมาก ถ้ามันโกงกัน 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้า 2.4 ล้านล้าน ก็เอา 20 ไปคูณ แต่คิดอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะว่า 2.4 แสนล้านจะเป็นงบประจำ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายราชการ ค่าใช้จ่าย บำเหน็จ บำนาญอะไรต่างๆ รวมๆ ตก 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบที่ชดใช้เงินกู้และดอกเบี้ยประมาณ 2-4 เปอร์เซ็นต์ จะเหลืองบลงทุนประมาณ 17-18 เปอร์เซ็นต์ของทั้งก้อน มันจะกินอย่างไรเต็มที่ไม่น่าจะเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของงบลงทุน แต่ไอ้เงินนอกงบประมาณ พ.ร.บ.เงินกู้ หรือ พ.ร.บ.เงินกู้ 1.2 แสนล้าน เป็นงบที่ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบลงทุน มันตรงกันข้ามกัน เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.เงินกู้ที่บอกว่า 3.5 แสนล้าน มันมีมากกว่า 3 แสนล้านที่เป็นงบลงทุน

และถ้าคุณไปกินกัน 30 เปอร์เซ็นต์ของ 3 แสนล้านน่ากลัวนะ

ไทยพับลิก้า : ว่ากันว่าคนที่อยู่เบื้องหลังคือคนตัวใหญ่ๆ ในรัฐบาล

มันก็มีระดับพรรคการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลในพรรคการเมือง โดยมีรัฐมนตรีส่วนหนึ่งร่วมมือ และข้าราชการทุจริตจำนวนหนึ่งเป็นลูกมือ ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ ที่ผมเป็นห่วงอย่างหนึ่ง ปีนี้ผู้ชี้แจงงบประมาณระดับปลัดกระทรวง คนนี้ก็กำลังจะเกษียณปีนี้ อธิบดีก็จะเกษียณๆ กันเป็นแถวเลย สมัยก่อนเราจะเจอว่าข้าราชการกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย ที่เป็นนักปกครอง พวกนี้จะอยู่ในชุดราชปะแตน ใส่หมวกกะโล่ ชีวิตสมถะ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย คนพวกนี้เอาไปตัดหัวเขาก็ไม่ยอมโกงให้ใคร เขาเคร่งครัดสิ่งเหล่านี้ แต่เดี๋ยวนี้คนที่จะเกษียณมีเยอะ แต่ละคนที่จะมาแทนระดับอายุ 50 อายุ 48 แข่งขันอยู่ในคิวกันเยอะแยะ พวกนี้ก็จะยอมการเมือง หรือเป็นอธิบดีอยู่ อายุ 50 แต่ไม่ยอม โดนย้าย อนาคตก็จบ คนอื่นแซงก็จบ

เพราะฉะนั้นบางคนก็ชั่วโดยสันดาน บางคนก็จำต้องชั่วเพื่อความอยู่รอด บ้านเมืองเรามาสู่ยุคเช่นนี้จริงๆ

ไทยพับลิก้า : ต้องมีการปรับปรุงขั้นตอนการพิจารณางบประมาณในชั้น กมธ. หรือไม่

ปัญหา ณ ขณะนี้ก็คือ สมัยก่อน กมธ. จะมีเวลาการพิจารณางบประมาณ 3 เดือน พ.ค. – ส.ค. และมีผล 30 ก.ย. และทั้งหมดพิจารณาในห้อง กมธ.ใหญ่ พิจารณากันถึงตีหนึ่งตีสอง ซึ่งขณะนั้นมีเพียงแค่ 13 กระทรวง กับ 1 ทบวง คือ ทบวงมหาวิทยาลัย แต่วันนี้มีข้อแตกต่างกันอยู่ มีกระทรวง 20 กระทรวง และเป็นหน่วยงานอิสระเกิดขึ้น หน่วยงานท้องถิ่นมีมากกว่าเดิมเท่าตัว แต่รัฐธรรมนูญกลับไปกำหนดว่า สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณางบประมาณให้เสร็จภายใน 105 วันนับจากมาถึงสภา ซึ่งกว่าจะผ่านวาระ 1 บางทีก็ไป 2 อาทิตย์แล้ว จึงเหลือเวลาสั้นสำหรับ กมธ. เลยใช้วิธีตั้งอนุ กมธ.ไปช่วยพิจารณารายละเอียดย่อยๆ ทั้งหลาย แต่เกิดว่าคนอยากเป็นอนุ กมธ. มากกว่า กมธ.ชุดใหญ่ เพราะ กมธ.ใหญ่พูดเรื่องนโยบาย เกิดมีการไปทุจริตในชั้นอนุ กมธ. ไปรับจ็อบอะไรกัน แม้กระทั่งในสภามีทั้งการหาลำไพ่ รับจ้างประท้วง รับจ้างยกมืออะไรต่ออะไรอยู่ นั่นคือความไม่ถูกต้องในบ้านเมือง

ไทยพับลิก้า : ควรมีหน่วยงานอะไรขึ้นมาตรวจสอบหรือไม่

ควรจะมีหน่วยงาน แต่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมามักไม่ค่อยจะมีกำลัง เราจะเห็นได้ว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลจะสอบตกเรื่องสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เรียกว่ากระทรวงมนุษย์ มีงบไม่ถึงหมื่นล้าน ขณะที่หน่วยงานเล็กๆ ด้านเศรษฐกิจมีถึงหมื่นล้าน หรืออย่างกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้งบประมาณน้อยเพราะอะไร เพราะงานพวกนี้มันโกงยาก คอร์รัปชันยาก ไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง นักการเมืองก็ต้องสร้างถนน สร้างตึกอะไรต่ออะไรก้อนใหญ่ๆ แม้กระทั่งงบฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีการกินเปอร์เซ็นต์ กินคอมมิชชัน ทั้งที่งบผู้ว่าฯ ต้องไปแก้เรื่องการศึกษา อะไรต่ออะไรที่มีอยู่ทั่วไป สิ่งเหล่านี้เป็นการทุจริตจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค และไปส่วนท้องถิ่น อบต. ทั้งหลาย

จาก “บุญชู” ถึง “พิเชษฐ” ในวันส่งไม้ต่อ

นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล รองกรรมาธิการ งบประมาณปี 2556
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล รองกรรมาธิการ งบประมาณปี 2556

กว่า…. 5,000 ชั่วโมง

เกือบ….. 20 ปี

ในชีวิตชายชื่อ “พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล” ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ วนเวียนกับ “การตัด-หั่น -เฉือน” งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณมาโดยตลอด

ช่วงเวลาเฉียด 2 ทศวรรษในวังวนตัวเลข “พิเชษฐ” ทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณถึง 17 ครั้ง เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 15 ครั้ง และกลางปี 2 ครั้ง

โดยการก้าวเข้าสู่เส้นทางตัวเลขของ “พิเชษฐ” นั้นมาจากการชักนำของ “บุญชู โรจนเสถียร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ซึ่งการทำหน้าที่เลขานุการ รมว.อุตสาหกรรมของ “พิเชษฐ” ในเวลานั้นเข้าตา “บุญชู” เป็นอย่างมาก

“อาจารย์บุญชูก็สังเกตผลตั้งแต่ตอนนั้น ท่านก็บอกว่าถ้าอยากให้ท่านรับผิดชอบงบประมาณอีกต่อไป ท่านขอเลือกคนคนหนึ่งซึ่งก็คือผม ท่านก็เลือกผมเป็นโควตาพิเศษ ดังนั้น หลังจากงบปี 2538 เป็นต้นมา ผมเป็น กมธ. ทุกปี”

แต่กระนั้นเอง “พิเชษฐ” ขอหยุดการทำหน้าที่ไป 3 ปี คือ ในสมัยรัฐบาล “ขิงแก่” ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ “ไม่อยากยุ่ง!”

“ในสมัยรัฐบาลของ คมช. ตอนนั้น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ มาขอให้ผมช่วยเข้าไปดูแลงบประมาณของ คมช. แต่ผมปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าผมอยู่ในระบอบประชาธิปไตย รับใช้ทำงานให้กับผู้ที่มาจากรัฐประหารไม่ได้ ส่วนช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมา 2 ปี บางอย่างหลายอย่างผมก็ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อไม่เห็นด้วยผมก็เลี่ยงออกมา ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้นเอง เลยหยุดเป็น กมธ. 2 ปี”

ตลอดเวลาการเป็น กมธ. สิ่งที่ “พิเชษฐ” ยึดถือเป็นตัวตั้งในการทำหน้าที่คือ “คำสอน” ของ “บุญชู” ที่เขาถือว่าเป็นครู

โดยเฉพาะคำสอนที่ระบุถึงการรักษาวินัยการงบประมาณ

“ท่านกำชับว่าวันหนึ่งท่านจะต้องไป ท่านอายุมากแล้ว แต่ขอให้ผมเป็นหลัก ถ้าพูดกันว่าบ้านเมืองต้องมีวินัยการคลัง แต่วินัยการคลังยังไม่สำคัญเท่าวินัยการงบประมาณ ถ้าปล่อยให้ทำกับวินัยการงบประมาณอย่างนี้ได้ บ้านเมืองจะหายนะ”

“พิเชษฐ” ย้อนความหลังถึง “คำทำนาย” ที่พิสูจน์ความ “แม่นยำ” ของเจ้าของฉายา “ซาร์เศรษฐกิจ” อย่าง “บุญชู” โดยเฉพาะการตำหนิการแข่งขันโครงการประชานิยมในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

“ท่านบอกว่ากลุ่มอียูกำลังเล่นกับไฟ ทำอะไรที่ไม่มีการวินัยงบประมาณ ไปใช้เงินในโครงการประชานิยมจนเกินขอบเขตในเรื่องสวัสดิการ และเขาจะประสบหายนะในวันข้างหน้า ซึ่งท่านสิ้นไปหลายปีแล้ว แต่คำพูดองท่านปรากฏเป็นจริงว่า อียูซึ่งมีเศรษฐกิจที่แข็งแรง อย่างสเปนที่เป็นมหาอำนาจ ก็พังทลาย อิตาลีก็กำลังพังทลาย ฝรั่งเศสก็ไม่แข็งแรงนัก”

“ไม่ว่าใครต่อใครใน 27 ประเทศในอียู แข่งขันกันทำประชานิยม การกู้เงิน สร้างหนี้สาธารณะ และมักจะยกตัวอย่างว่าประเทศอื่นมีหนี้สาธารณะสูงกว่ายังไม่เป็นไร เหมือนที่ประเทศไทยเราเคยพูด ไม่ว่าเป็นรัฐบาลผม พรรคผมหรือ พรรคไหน นี่เป็นเรื่องอันตรายกับประเทศในวันข้างหน้า”

การทำหน้าที่ กมธ.งบประมาณถือเป็น “ภารกิจ” ที่หนัก เนื่องจากการประชุมบางครั้งลากยาวถึงรุ่งสางของอีกวันหนึ่ง เหตุนี้ทำให้ “พิเชษฐ” ต้องถูกหามส่งโรงพยาบาลถึง 2 ครั้ง

“ปีที่แล้วผมไม่สบาย เพราะนั่งในห้อง กมธ. นานเกินไปและนั่งในท่าเอียงตัว บางวัน 10 กว่าชั่วโมง เพื่อฟังผู้ชี้แจง แล้วบางทีต้องกดไมค์พูด ทำให้ข้อต่อกระดูกคอเอียงไปข้างหนึ่ง ระหว่างข้อต่อกระดูมีเส้นประสาทออกมาเหมือนหนวดปลาหมึก และก็ถูกทับจนแบน ต้องเข้าผ่าตัด”

โดยหมอ “กำชับ” ให้พักฟื้นเป็นเวลา 6 เดือน

แต่ทว่า หลังการผ่าตัดเพียง 7 วัน “พิเชษฐ” กลับมานั่งใน กมธ. งบประมาณอีก ทำให้เขาหน้ามืดระหว่างการประชุม

และในปีล่าสุด เขาถึงกับ “วูบ” จนตกเก้าอี้!

เมื่ออายุ “เพิ่มขึ้น” สวนทางกับ สุขภาพที่ “ถดถอย” เขาจึงตั้งใจว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2556 นี้ จะเป็นการทำหน้าที่ “มือหั่นงบฯ” ครั้งสุดท้ายของเขา

“ความตั้งใจดีต่อบ้านเมือง ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำหน้าที่ กมธ.งบประมาณ” เป็นสาสน์จาก “พิเชษฐ” เมื่อวันที่ส่งไม้มาถึง