ThaiPublica > คนในข่าว > เพราะ “อคติ” จึง “อยุติธรรม” “โภคิน พลกุล” ตั้งข้อหาศาล รธน. ล้มอำนาจพิเศษ ทวงคืนอำนาจประชาชน

เพราะ “อคติ” จึง “อยุติธรรม” “โภคิน พลกุล” ตั้งข้อหาศาล รธน. ล้มอำนาจพิเศษ ทวงคืนอำนาจประชาชน

10 สิงหาคม 2012


ดร.โภคิน พลกุล
ดร.โภคิน พลกุล

“…ไม่ใช่เราเป็นผู้พิพากษา เป็นตุลาการ เราจะบอกอะไรก็ได้ เพราะไม่มีใครมานั่นกับเรา ด้วยตัวเราเอง เราต้องบอกเลยว่าสิ่งที่เราจะบอกต้องเป็นสิ่งที่ถูก สิ่งที่เป็นธรรม ไม่ใช่มาจากความเชื่อของเรา มาจากความหมั่นไส้ของเรา อย่างนี้เท่ากับเราเอาตัวเราไปเป็นรัฐ ซึ่งผิดมหันต์เลยนะ เลวร้ายกว่าอะไรทั้งสิ้น…”

เคยเป็น “ส่วนหัว” ของอำนาจ “อธิปไตย” ทั้ง 3 ส่วน…

เป็นอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.มหาดไทย อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด

มีดีกรีเป็น “ครูบาอาจารย์-ด็อกเตอร์กฎหมายมหาชน”

ทว่ากลับถูกกฎหมายเล่นงานเข้าอย่างจัง…

ถูกยึดอำนาจ ถูกลิดรอนสิทธิการเมือง ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร

วันนี้ “ดร.โภคิน พลกุล” กลับมาเป็น “กองหน้า” ให้ “รัฐบาลชินวัตร-พรรคเพื่อไทย” ในการรื้อรัฐธรรมนูญปี 2550 ตั้งแต่เป็น “1 ใน 8 พยานปากเอก” ขึ้นเบิกความแก้ต่างให้ “ผู้ถูกร้อง” ที่ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ เมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคม

เป็น “1 ใน 11 ทีมบู๊” ที่อยู่ในรูปคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หลังวงประชุม “11 อรหันต์” นัดแรกเสร็จสิ้นลง “โภคิน” เปิดคำวินิจฉัยส่วนตนโต้ตุลาการภิวัฒน์ แผนล้มอำนาจพิเศษเพื่อทวงคืนอำนาจประชาชน ถูกกางขึ้นระหว่างการสนทนาโต๊ะเหลี่ยมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า

ประเดิมจากข้อโต้แย้ง-คำหักล้างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนอกศาล…

ในการประชุมคณะทำงานนัดแรก ได้พิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยไล่ประเด็นที่ศาลตั้งไว้ 4 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก ตามมาตรา 68 ศาลรับเรื่องได้โดยตรงหรือไม่ เมื่อดูทั้งคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนบุคคล ก็คือ 7 ต่อ 1 ศาลเห็นว่ารับได้โดยตรง แต่ที่เราตั้งข้อสงสัยคือ ในคำวินิจฉัยของศาลเมื่อปี 2549 ก็ดี ในเว็บไซต์ก็ดี ในหนังสือแนะนำประชาชนก็ดี ทุกกรณีแนะนำให้ร้องผ่านอัยการสูงสุดหมด จนกระทั่งมาครั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญถึงรับคำร้องไว้เอง และวินิจฉัยว่ารับได้ ก็แปลกใจว่าศาลเพิ่งแนะนำเขาอยู่วันก่อนว่าไปยื่นที่อัยการสูงสุด แต่ทำไมศาลไปรับเองได้ และในคำวินิจฉัยทั้งหมดไม่ได้อธิบายเลยว่าเพราะเหตุใดก่อนหน้านั้นถึงแนะนำไปอย่างหนึ่ง และที่มาเปลี่ยนความคิดใหม่เพราะอะไร บอกแค่ว่าครั้งนี้รับได้เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ต้องปกป้องระบอบการปกครอง เลยเป็นห่วงว่าถ้าเป็นกรณีอย่างนี้ ต่อไปใครทราบเรื่องอะไร ก็จะไปร้องหมด ก็จะเป็นภาระต่อศาลน่าดู

ประเด็นที่สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ทำได้หรือไม่ ความจริงศาลควรเอาประเด็นที่สาม คือ “การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหลายเข้าข่ายล้มล้างตามมาตรา 68 หรือไม่” มาตั้งเป็นประเด็นที่สอง ถ้าศาลวินิจฉัยประเด็นนี้ก่อน ศาลอาจจะวินิจฉัยประเด็นที่สามไม่ได้ เพราะเมื่อมันไม่ใช่แล้วก็ไม่มีเหตุต้องตั้งประเด็นต่อไป แต่เมื่อศาลเอาประเด็น 291 มาตั้งไว้ก่อน ก็เลยต้องอธิบาย แต่ศาลไม่ได้อธิบายในเชิงว่าเป็นคำวินิจฉัยที่จะผูกพัน แต่ไปอธิบายในเชิงคำแนะนำ ทำให้เกิดปัญหา โดยศาลแนะนำ 2 ประการ ถ้าจะจัดทำฉบับใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรทำประชามติเสียก่อน โดยไม่ได้บอกว่าไปถามอย่างไร อาศัยกฎหมายอะไร เพราะตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 มันทำหลังจากยกร่างมาแล้ว ใช้เพียงเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ แต่รัฐธรรมนูญเอง ถ้า ครม. (คณะรัฐมนตรี) จะถามประชามติเพื่อได้ข้อยุติ ต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ ต้องมีกฎหมายประชามติ แต่ถ้าถามขอคำปรึกษา ก็ใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ ต้องถามแบบไหนนี่ ไม่มีใครรู้เลย ขณะเดียวกันศาลก็ไม่ได้ห้ามแก้ไขรายมาตรา เป็นคำแนะนำ ก็เลยไม่รู้ว่ามันคืออะไร และผลของคำแนะนำจะเป็นอย่างไร

ดร.โภคิน พลกุล

ประเด็นที่สาม กระทำของผู้ถูกร้องทั้งหลายเป็นการกระทำที่ผิดตามมาตรา 68 หรือไม่ ศาลมีมติ 8 ต่อ 0 เลย ว่าไม่เข้าข่าย จึงไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่สี่ เรื่องการยุบพรรค แต่ในประเด็นที่สอง มาตรา 291 พอไปดูคำวินิจฉัยส่วนบุคคล ในรายละเอียด มันเหมือน 4 ต่อ 4 นะ คือ 4 คนเห็นว่าถ้าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติเสียก่อน ส่วนอีก 4 คนเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาประเด็น 291 เป็นอำนาจของรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องตามมาตรา 68 พอเป็น 4 ต่อ 4 อย่างนี้ แล้วคำวินิจฉัยกลางมันออกมาได้อย่างไร ที่ไปแนะนำให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เลยสงสัยอยู่ว่าผลจะเป็นอย่างไร จากประเด็นเหล่านี้จึงมอบให้คณะทำงานแต่ละท่านไปดูรายละเอียด จะได้ชัดเจนว่าเรื่องนี้ต้องอธิบายอย่างไร ทำอะไรต่อไป

การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญนี้มันไม่ถูกต้อง มาจากคณะรัฐประหาร ถ้ามีฉบับใหม่ที่ประชาชนยกร่าง ประชาชนเห็นชอบ มันน่าจะป้องกันรัฐประหารเพราะมันมีความชอบธรรมสูง จะเป็นฉบับแรกของประเทศไทยเลย ตอนปี 2540 แม้ประชาชนจะเลือก ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) มา แต่ก็มาให้รัฐสภาเลือกอีกที แต่ฉบับใหม่นี้ 77 คนเขาเลือกตรงเลย มีนักวิชาการอีก 22 คนเท่านั้นที่ให้รัฐสภาเลือก ก็ต้องถือว่าดีที่สุดแล้ว เคารพทั้งประชาชนโดยตรง เคารพทั้งรัฐสภาซึ่งมาจากประชาชน ก็คิดว่ากระบวนการได้มาชอบธรรมสูงสุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีประเด็นต่างๆ ที่ไม่ชอบ ไม่ถูกหลักนิติธรรม เช่น ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐธรรมนูญหมด แม้จะเลวร้ายอย่างไรก็ชอบหมด ขณะที่กฎหมายที่ออกโดยสภา ผ่านการลงพระปรมาภิไธยอาจจะขัดรัฐธรรมนูญได้ อย่างนี้มันจะอยู่อย่างไร บัญญัติ 2 เรื่องขัดกันเองหมด แต่เราพยายามไปบิดเบือนว่าถ้าทำเรื่องนี้ แก้ปัญหานิรโทษกรรมพวกยึดอำนาจคือช่วยคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) มันไม่เกี่ยวกันเลย เพียงแต่ไอ้สิ่งที่คุณทำไว้ มันอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญได้เท่านั้นเอง

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ยืนยันมาตลอดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติ แต่กลับให้ชะลอโหวตวาระ 3 ในทางการเมืองถือว่ายอมหรือเปล่า

คือ…อย่างที่นายกฯ (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็พูดไปนะครับ สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องทำ เพียงแต่ต้องทำให้เกิดดุลยภาพ ให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่าสิ่งนี้ต้องเดินต้องทำ แม้เรื่องนี้เป็นเรื่องดี แต่พอมีความไม่เข้าใจ ประชาชนยังออกมาก้ำๆ กึ่งๆ ว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นปัญหา คนจะทะเลาะกัน อย่าแก้เลย เพราะเขาไม่เข้าใจว่าถ้าปล่อยให้รัฐธรรมนูญนี้อยู่ต่อไป ปัญหาจะยิ่งหนักกว่านี้ ยิ่งบานปลายกว่านี้ เพราะรัฐธรรมนูญนี้มันสร้างความอยุติธรรมในตัวเอง วันนี้บ้านเมืองจะก้าวออกจากความขัดแย้งได้ จะก้าวไปข้างหน้าได้ต้องมีกติกาที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย ถูกไหม เราจะบอกว่าเพื่อจะก้าวไปข้างหน้า รักษากติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยเอาไว้เถอะ ไม่อยากทะเลาะกัน มันไม่ได้ ดังนั้นเมื่อคนยังไม่เข้าใจ การที่รัฐบาลยอมถอยสักก้าวหนึ่งแล้วสร้างความเข้าใจ ผมคิดว่าน่าจะเหมาะสมกว่าคิดว่าฉันถูก ฉันจะเดินหน้าสักอย่าง ใครจะทำไม เธอไม่เข้าใจเอง ช่วยไม่ได้ ผมว่ามันอาจจะไม่เหมาะสมที่ไปทำอย่างนั้น

ไม่มีล่ะครับ โดยสภาพเราก็มาถามตัวเองว่าเราถูกหมดเลย แต่ถ้าเราเดินต่อไป ความไม่เข้าใจอาจจะตามมาอีกเยอะ แทนที่จะทำให้การแก้ปัญหามันลุล่วงไปด้วยดี สู้เราถอยมาสัก… ก็ไม่ได้ถอยนะ แค่ใช้เวลาสักนิดทำความเข้าใจกับพวกเรากันเอง ทำความเข้าใจกับสังคมโดยรวม และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ว่าประเด็นมันเป็นอย่างนี้นะ ถือเป็นหน้าที่ของเราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ ว่ามันเป็นความจำเป็นที่ต้องแก้ไขในสิ่งไม่ถูกต้อง

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าภารกิจหลักของคณะทำงานในช่วง 4 เดือนนี้คือหาเสียงสนับสนุนนอกสภา

จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่อง 4 เดือน เราไม่มีกรอบเวลามาเป็นตัวตั้ง แต่ต้องทำโดยเร่งด่วน เราถึงพยายามประชุมกันให้ได้ทุกสัปดาห์ ไปศึกษา กลับมาได้ข้อยุติ ระหว่างนี้ก็ต้องรณรงค์ เพราะเราต้องไปบอกพรรคร่วมว่าได้ข้อยุติอย่างนี้ ถ้าท่านเห็นด้วย ท่านก็ไปรณรงค์ต่อ รัฐบาลก็มอบกระทรวงมหาดไทยไปรณรงค์ให้คนเข้าใจว่าที่ทำแบบนี้ทำตามกรอบรัฐธรรมนูญปี 2550 นะ และอยากทำให้มันดีขึ้น ถ้าคนไม่เข้าใจ นึกว่าทำแล้วจะตีกัน มันจะยิ่งซ่อนปัญหา มันจะยิ่งไปกันใหญ่เลยทีนี้

ไทยพับลิก้า : อาจารย์เคยบอกว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะคนไปจินตนาการว่า โฉมหน้า ส.ส.ร. 3 จะเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล มั่นใจหรือว่าจะทำให้จินตนาการนี้หายไปได้ในช่วง 4 เดือน

คือตอนนี้ไอ้จินตนาการมันก็หายไปแล้ว เพราะศาลบอกเองว่าไอ้ที่คุณมาร้องนี่ คุณจินตนาการ คุณคาดการณ์ไปเอง โดยข้อเท็จจริงมันฟังไม่ได้ ยิ่งคำวินิจฉัยส่วนตนยิ่งชัดเลย เขาแก้รัฐธรรมนูญนี่ เขาแก้ตามอำนาจหน้าที่เขา เป็นเรื่องที่ศาลไปตรวจสอบเขาไม่ได้หรอก ส่วนอีก 4 บอกว่าไม่ได้ ถ้าแก้ทั้งฉบับเท่ากับล้มล้างไปเลย แต่ในคำวินิจฉัยกลางก็ไม่ได้เขียนไว้ มิหนำซ้ำในคำวินิจฉัยกลางกลับบอกด้วยซ้ำว่า หากมี ส.ส.ร. ขึ้นมาแล้ว เกิด ส.ส.ร. ไปยกร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อ 3 เรื่องที่ห้ามไว้คือ รูปแบบการปกครอง รูปแบบของรัฐ และหมวดพระมหากษัตริย์ ประธานสภาก็ดี รัฐสภาก็ดี ยังสามารถยับยั้งได้ แล้วก็จะตกไป นี่เขียนไว้ในคำวินิจฉัยเลย แสดงว่าศาลยอมรับว่าถ้ามีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วไม่ไปแตะต้อง 3 เรื่องนั้น มันไม่น่าจะเป็นปัญหา ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร แต่ถ้าไปแตะก็มีประธานสภาเบรก รัฐสภาเบรก มาตรการในการป้องกันที่มันมี

ดร.โภคิน พลกุล

ไทยพับลิก้า : แต่บรรดา “ผู้รู้ทราบ” ทั้งหลายอาจบอกว่า ประธานสภาก็มาจากท่อเดียวกับรัฐบาล แล้วไปยื่นคำร้องต่อศาลเรื่อยๆ

ไม่รู้ ศาลรับเรื่องได้ ใครไปร้องก็ร้องได้ แต่ศาลผูกพันตนไว้ในคำวินิจฉัยกลางแล้วนี่ ศาลจะบอกเอาใหม่อีกหรือ มันก็เหนื่อยตายเลยสิ

ไทยพับลิก้า : แต่ก็มีความเป็นไปได้ใช่หรือไม่

อันนี้ไม่รู้ ตอบแทนตรงนั้นไม่ได้

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาเคยมีคดีไหนบ้างที่อาจารย์เห็นว่าตุลาการไม่สามารถหาคำอธิบายมาหักล้างข้อมูลฝ่ายตรงข้ามได้ขนาดนี้

คือ… เดี๋ยวนี้ก็เยอะนะ ตั้งแต่บ้านเราเกิดผิดเพี้ยนมา 6-7 ปี ตั้งแต่ตุลาการภิวัฒน์มานี่ บางทีถ้าศาลจะเอาตามฝ่ายโจทก์ ก็เอาเหตุผลของฝ่ายโจทก์ ไม่หักล้างเหตุผลฝ่ายจำเลยเป็นข้อๆ ข้ามไปเลย ตีขลุมไปเลยก็เยอะ ผมเป็นตุลาการมาก่อน โดยหลักมันมีข้อต่อสู้ของ 2 ฝ่าย ถ้าเราเห็นว่าฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายชนะ เราก็ต้องเอาเหตุผลมาหักล้างฝ่ายแพ้ให้ได้อย่างปราศจากข้อสงสัยเลยนะ ว่ามันไม่ถูกเพราะอะไร 1, 2, 3, 4 ไม่ใช่ตรงไหนหักล้างไม่ได้ ก็ข้ามไปเลย ไม่พูดถึง ที่คณะทำงานสงสัยคือศาลบอกประชาชนไว้เองว่าต้องอย่างนี้นะ พอจะไม่เอาอย่างนี้ จะเอาใหม่ ศาลกลับไม่อธิบายเหตุผลว่าทำไมก่อนหน้านั้นอธิบายไว้อีกอย่าง ก็บอกมาสิว่าก่อนหน้านั้นศาลเข้าใจผิด คือมันไม่มีคำอธิบาย

วันนี้เป็น ก.ไก่ วันรุ่งขึ้นศาลบอกว่า ข.ไข่ก็ได้ แต่ก็ต้องอธิบายว่าที่เป็น ก.ไก่มาตั้งไม่รู้กี่ปีนี่ แล้วศาลเพิ่งมาอยู่นี่ มันเป็น ข.ไข่ก็ได้ ทำไมศาลไม่เคยสงสัยว่าไอ้ ก.ไก่ นี่ เป็น ข.ไข่ก็ได้ มันต้องอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก่อนเชื่ออย่างนั้น แต่วันนี้กลับตาลปัตร เห็นไหมว่าในคำวินิจฉัยไม่มีคำอธิบายเลย ไปบอกว่าศาลรับได้เพราะเป็นเรื่องสิทธิปกป้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหมวดใหม่เพิ่มเข้ามา อันนี้เข้าใจ แต่ทำไมไม่เข้าใจอย่างนี้ตั้งแต่แรกล่ะ เป็นศาลแล้วทำไมไม่อธิบายให้คนเขาเข้าใจ แล้วถามว่าอัยการจะไปอยู่ตรงไหนล่ะ ไม่มีที่ใช้นะ คนก็ร้องศาลตรงหมด ไม่ร้องอัยการ

ไทยพับลิก้า : จะเร็วจะช้า ธงของ พท. คือต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3 ในระหว่างนี้จำเป็นต้องเปลี่ยน “ตัวผู้ตัดสิน” หรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ติดบล็อคอีก

เราไม่ได้ไปคุยประเด็นนั้น เราไม่มีหน้าที่ตรงนั้น เรามีหน้าที่ว่าไอ้ประเด็นที่เขาวินิจฉัยมาอย่างนี้ เราจะอธิบายแต่ละเรื่องอย่างไร อันไหนศาลมีเหตุผลฟังได้ โอเค อันไหนเหตุผลมันค่อนข้างแปร่งๆ มันเพราะอะไร แล้วคำวินิจฉัยกลางที่ผูกพันมีอะไรบ้าง หรือคำแนะนำมีความหมายแค่ไหน มันก็ยุ่งนะครับ เพราะอาจจะมีใครเอาไปอ้างไปอะไร บางท่านก็บอกว่าเป็นคำแนะนำที่มีอิทธิพลทางความคิด ท่านที่เป็นศาลอยู่ไปอธิบายไปตีความว่าคำแนะนำมีอิทธิพลทางความคิด ก็ยุ่งสิครับ

ไทยพับลิก้า : แล้วทำไม พท. ถึงยอมให้คำแนะนำมามีอิทธิพลทางความคิดล่ะ ยอมเบรก ยอมชะลอ ยอมถอย

ไม่ใช่ให้มีอิทธิพลทางความคิด แต่เขาพยายามจะพูดว่าถ้าคุณไม่ทำตามอาจจะเป็นปัญหานะ ถามว่าเราทำตามหรือเปล่า คำตอบคือขณะนี้เรากำลังศึกษาหาแนวทางเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดอย่างที่บอกตอนต้นนั่นเอง

ไทยพับลิก้า : ถึงวันนี้ฝ่ายตรงข้ามยังมีแผนทำอะไรก็ได้เพื่อลดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามที่อาจารย์เคยระบุไว้หรือไม่

คือมันไม่มีใครคิดว่าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) จะได้เสียงขนาดนั้น มากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นประวัติศาสตร์ที่…โอ้โห! ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย มันก็อาจจะมีความหวาดกลัว มีอะไรตามมาเต็มไปหมด จากนั้นก็คิดเองเออเอง มีกระบวนการทำลายคุณทักษิณ หรือที่เรียกว่าระบอบทักษิณ ซึ่งจริงๆ ผมว่ามันเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ และถ้ามีอะไรทำให้เห็นว่าการบริหารงานของคุณทักษิณอาจจะล้มเหลว ไม่ดี ถึงจุดหนึ่งเชื่อว่าประชาชนก็เปลี่ยน แต่ความที่ไปกลัวเกินเหตุ จะอยู่ได้นาน 8 ปี 12 ปี จะสร้างเป็นรัฐทักษิณ ไปกันใหญ่โตเลย สังคมนี้มันเป็นเรื่องจินตนาการ จินตภาพทั้งสิ้นเลย ก็เลยเกิดตุลาการภิวัฒน์ ก็ยังเอาไม่อยู่ ก็เลยเกิดการยึดอำนาจ ก็ยังเอาไม่อยู่ เลือกตั้งมา พรรคพลังประชาชน (พปช.) ก็ชนะอีก จึงทำอย่างไรก็ได้ให้พรรคแตก จนคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ได้เป็นรัฐบาลเกือบ 3 ปี เลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ชนะเกินครึ่งของสภาอีก แน่นอนว่าในการบริหาร ประเด็นที่ไม่ถูกต้องมันคงมีอยู่บ้างไม่ว่าใครจะบริหาร แต่ทั้งหมดแล้วนี่ มันเป็นเรื่องที่คุณจินตนาการความกลัวของคุณไปเรื่อยๆ ใช่ไหม

ผลของจินตนาการก็คือสร้างความแบ่งแยกไปเรื่อยๆ คุณทักษิณเหมือนกับเป็นปีศาจร้าย ทั้งที่จริงๆ แล้วคุณทักษิณไม่ได้เข้ามาเมืองไทย คุณทักษิณไปได้ทั้งโลก ยกเว้นประเทศไทย ทั้งโลกมาตรฐานทางกฎหมายทางคุณธรรมหรือจริยธรรมเขาต่ำกว่าประเทศไทยหมด เพราะเขาไปเวลคัม (ต้อนรับ) คุณทักษิณ มีไทยประเทศเดียวที่สูงส่งกว่าทั้งโลก ถามว่าทำไมทั้งโลกถึงไม่ยอมรับศาลไทยในเรื่องนี้ เพราะเขามองว่ากระบวนการที่ใช้กับคุณทักษิณเพื่อเอาเขามาลงโทษมันเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม คุณยึดอำนาจ คุณออกกฎหมายเฉพาะขึ้นมา คุณตั้งคนเฉพาะของคุณมา เหลือศาลอันเดียว แต่ก่อนหน้านั้นก็มีกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ เขาจึงมองว่าทั้งหมดนี้ทำโดยไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบ เขาก็ไม่รับผลของมัน มีของไทยนี่แหละที่บอกว่าแม้ไม่ชอบ แต่เมื่อศาลตัดสินแล้วให้รับผลไป ฉันรังแกเธอ ให้รับว่าการรังแกเป็นความชอบ มีไทยประเทศเดียว

ทีนี้ พอยิ่งตอกย้ำ คนส่วนหนึ่งที่เชื่อไปในทางว่าคุณทักษิณเป็นคนไม่ดีก็ฝังใจ ส่วนคนที่เชียร์ คนที่เป็นแฟนคลับ ก็มองว่าทำไมไม่ใช้กลไกปกติ อย่างนี้คือรังแกกัน ก็เลยออกมาต่อสู้ พอออกมาต่อสู้ก็รังแกเขาอีก การถูกรังแกจึงถูกขยายจากคนไม่กี่คนไปทั้งระนาบเลย จึงเกิดพลังเสื้อแดงที่พัฒนาทั้งปริมาณและคุณภาพจาก 5-6 ปีก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ ก็เพราะคุณรักษาเงื่อนไขของความอยุติธรรมไว้ตลอดเวลา พอคุณรักษาสิ่งไม่ปกติเอาไว้ใน 2 เรื่อง คือ 1. ตัวบทกฎหมาย 2. ตัวคนที่เคยตั้งไว้ ลองไปดูสิ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) มาจากไหน ศาลรัฐธรรมนูญมาจากไหน ที่ลงมติ 4 บอกอย่างไรก็ไม่ได้ โอ้โห! เรียกว่าแนวนี้ทั้งนั้นเลย ดังนั้น โดยส่วนตัวผมเห็นว่าถ้าจะให้สังคมสงบสุข คืนความเป็นธรรม ต้องแก้ 2 ประเด็นนี้

ไทยพับลิก้า : คิดว่าจะทำได้ง่ายหรือ

ผมไม่ทราบว่าง่ายหรือไม่ง่าย แต่ถ้าถามผม วิธีจะทำให้สังคมกลับสู่ภาวะปกติต้องทำ 2 สิ่งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญก็เห็นชัดแล้วว่าเขียนขัดกันเอง ตัวคนมานั่งก็เห็นชัดๆ แล้วว่าพวกใครที่ให้คุณให้โทษกับอีกคนได้ นี่เราพูดอย่างแฟร์ที่สุด ดังนั้นต้องกลับมาเข้าระบบปกติ รัฐธรรมนูญก็มีที่มาจากประชาชนทั้งก่อนและหลัง จากนั้นกระบวนการต่างๆ ก็มีที่มาจากประชาชน คุณมาสมัครใหม่ก็ได้ 8-9 คนนี้ ถ้าเขาเลือกคุณ ก็ทำหน้าที่ต่อได้ แต่นี่อะไร ป.ป.ช. มาจากคณะรัฐประหาร โปรดเกล้าฯ ก็ไม่ได้โปรดเกล้าฯ แต่ก็ยังนั่งอยู่ได้ ส.ว. เกินกว่าครึ่งมาจากการสรรหา ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่ากระบวนการเป็นอย่างไร ก็ยังอยู่ได้ แตะตรงนั้นก็ไม่ได้ แตะตรงนี้ก็ไม่ได้ มันคืออะไร ระบบที่ไม่เป็นธรรม ฉันจะรักษาเอาไว้ แต่ให้สังคมปรองดอง

ไทยพับลิก้า : ถ้าไม่รักษาไว้ เขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่าตัวเองจะปลอดภัย

เขาจะมั่นใจได้อย่างไร ถ้าระบบมันปกติหมด มันก็ปลอดภัยกันทุกคน ถ้าเขารักษาความไม่ยุติธรรมเอาไว้เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย เขานั่นแหละที่จะไม่ปลอดภัย คนที่ถูกรังแกเขาก็ไม่ยอม สู้ปกติก็แล้ว อะไรก็แล้ว มันก็ต้องไปวิธีอื่น แต่ไม่ใช่เฉพาะตัวเขาจะไม่ปลอดภัยนะ ทั้งสังคมจะไม่ปลอดภัย ทำไมคุณลากสังคมเข้าไปด้วยล่ะ อันนี้ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งกับสังคม วิธีแก้มันมีทางเดียวคือทำทุกอย่างให้เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย คนที่เขาได้เสียงมากกว่าก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่ไม่ยอมรับ จะหาทางล้มอีกแล้ว ที่ได้มากเพราะไม่ถูกต้อง ไปซื้อเสียงมา เป็นเผด็จการรัฐสภา จะเอายังไงกันแน่ มันวนน่ะ สรุปแล้วพวกฉันเสียอำนาจไม่ได้เลย เสียการรังแกไม่ได้เลย

ไทยพับลิก้า : แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณยอมเสียอำนาจได้หรือเปล่า

คุณทักษิณเขามาจากประชาชน เขาไม่ได้ทำอะไรผิดปกติ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเขาก็ไม่ได้ร่าง ถ้าอธิบายอย่างนี้ก็แปลว่าใครที่มาจากประชาชนก็ใช้ไม่ได้ด้วย ก็อย่ามีระบบอย่างนี้เลย เอาว่าใครใหญ่ก็เอาไปกินแล้วกัน เราจะเอาระบบอย่างนั้นหรือเปล่า ประชาธิปไตยก็อยู่ตรงนี้ไม่ใช่หรือ คุณมาจากประชาชนก็จบ จะมามากมาน้อย ถาม ปชป. อยากมาเกินครึ่งไหม คุณต้องบอกว่าไม่อยากมา อย่าเลือกพวกผมเยอะนะ เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา เขาเคยพูดอย่างนี้หรือ หาเสียงทีไรก็อยากได้เกินครึ่ง ถูกไหมครับ แล้วทั้งโลกเขาพูดกันอย่างนี้ไม่ใช่หรือ หรือทั้งโลกเขาบอกไม่ได้ ประชาธิปไตยจะไปได้ รัฐบาลต้องเสียงแตกให้หมด ผมว่าเรากำลังเสนออะไรที่ไร้สาระ

ดร.โภคิน พลกุล

ไทยพับลิก้า : เคยสรุปไหมว่าตกลงคนที่ไม่ยอมเสียการรังแก ไม่ยอมรับในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วคอยบงการการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายระบอบทักษิณคือใครกันแน่

ไม่รู้ อันนี้ต่างคนต่างไปสรุปกันเอาเอง ก็ไม่ทราบ

ไทยพับลิก้า : เพราะข้อเสนอของอาจารย์ที่ให้แก้ตัวกฎหมาย เปลี่ยนตัวบุคคลที่มาจากคณะรัฐประหาร ไม่ใช่การกำจัดที่ต้นตอของปัญหา

สมัยก่อนหน้าที่คุณทักษิณจะมีอำนาจ ก็ไม่เห็นจะเป็นประเด็นสลักสำคัญอะไร มิหนำซ้ำกลับบอกด้วยว่าเราอยากปฏิรูปการเมือง อยากให้เป็นระบบ 2 พรรคใหญ่ โดยไม่ได้คิดหรอกว่าจะได้ 2 พรรคใหญ่มาจริงๆ เวลาเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ใช้ ส.ส. 125 เสียง ก็ไม่เยอะไม่น้อย แต่ไม่มีใครคิดว่าคุณทักษิณจะได้ 377 จนอภิปรายไม่ได้เลย แล้วรัฐธรรมนูญปี 2540 คุณทักษิณก็ไม่ได้ร่าง ตอนนั้นพรรคที่กดดันให้ทุกพรรครับร่างไปให้หมดก็คือ ปชป. พรรคแรกเลย และ ทรท. มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเลยนะ ถ้าเขาจะรวบอำนาจ จะเปลี่ยนองค์กรใหม่หมด เขาก็แก้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่เขาไม่ได้ทำเลยตลอดสมัย อย่างนี้ยังเป็นเผด็จการรัฐสภาอีกหรือ

วันนี้เนื้อหารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มันขัดกัน มันกลายเป็นจุดหาเรื่องกันไม่จบ จนไม่ต้องทำงาน คนจะทำงานแบบมีความคิดริเริ่ม ไม่เอาแล้ว เดี๋ยวซวย สู้อยู่ไปเรื่อยๆ ดีกว่า คนทำงานต้องกล้าตัดสินใจ กล้าเดินหน้า วันนี้ใครกล้าล่ะ เดินไปเดี๋ยวก็เจอนั่น เจอนี่ แนะนำด้วย ระวังนะ นี่เป็นคำแนะนำที่มีอิทธิพลนะ อ้าว! ก็ถือว่าเป็นภาระหน้าที่แล้วกันในการสร้างความเข้าใจ ถ้าเขาเข้าใจเมื่อไร เราค่อยไปดำเนินการแก้ไขสิ่งนั้นให้ถูกต้อง

ไทยพับลิก้า : คนอื่นกลัว ทำไมอาจารย์ถึงกล้าเข้ามาเป็น 1 ใน 7 กองหน้ารื้อรัฐธรรมนูญ

คนอื่นเขาอาจจะไม่ได้กลัว แต่ผมรู้สึกว่าเราก็อายุขนาดนี้แล้ว ถ้าเราสถาปนาหลักนิติธรรมเอาไว้ไม่ได้ สถาปนาคนที่จะไปอยู่ในองค์กรที่จะเป็นหลักต่างๆ ไม่ได้ บ้านเมืองก็อยู่ไม่ได้ ผมไม่ได้อยากเป็นอะไรนะ แต่อยากเห็นกฎกติกา ไม่ดีต้องแก้ ไม่ใช่เราเป็นผู้พิพากษา เป็นตุลาการ เราจะบอกอะไรก็ได้ เพราะไม่มีใครมานั่นกับเรา ด้วยตัวเราเอง เราต้องบอกเลยว่าสิ่งที่เราจะบอกต้องเป็นสิ่งที่ถูก สิ่งที่เป็นธรรม ไม่ใช่มาจากความเชื่อของเรา มาจากความหมั่นไส้ของเรา อย่างนี้เท่ากับเราเอาตัวเราไปเป็นรัฐ ซึ่งผิดมหันต์เลยนะ เลวร้ายกว่าอะไรทั้งสิ้น เพราะรัฐต้องเป็นกลาง เป็นธรรม ถ้าคุณไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม ยิ่งคุณเป็นคนตัดสิน มันจบนะ ถ้าคนไม่เชื่อการตัดสินเมื่อไหร่ บ้านเมืองอยู่ไม่ได้ วันนี้มันเริ่มสั่นคลอนแล้ว เพราะคนไม่ไว้วางใจ ซึ่งแต่ก่อนไม่มี เดี๋ยวนี้วิจารณ์กันเต็มเหนี่ยวเลย

มอง “นายกฯ นกแก้ว” ในป่าการเมือง ผ่านสายตา “กูรูมาคอว์”

เพราะเป็นคนรักสัตว์

เพราะชอบอยู่ใต้เงาไม้

เพราะมีความสุขกับการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ

ทำให้เวลานอกชั่วโมงทำงานของ “โภคิน พลกุล” ถูกใช้จ่ายไปที่สวนสัตว์-คลุกคลีกับเพื่อนต่างสายพันธุ์ตั้งแต่เช้ายันค่ำ ตั้งแต่เล็กจนโต เรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน

ถ้าไม่ติดอะไรในวันเสาร์-อาทิตย์ นักการเมืองรายนี้มักลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราเพื่อเยี่ยม “เพื่อน 2 ขา” สดับรับฟังความต้องการของ “ฐานเสียงเจื้อยแจ้ว-นกแก้ว” กว่า 2,000 ชีวิต จาก 80 สายพันธุ์ทั่วโลก ที่ “สวนปาล์มฟาร์มนก” ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538

หากยังจำกันได้ “นกแก้วมาคอว์” ของ “โภคิน” เคยมีโอกาสไปอวดโฉมในบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ “โภคิน” ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สมัยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” มาแล้วเมื่อปี 2546

จนถูกสื่อบางส่วนตั้งข้อสังเกตแบบหยิกแกมหยอกว่า รูปหน้าของ “กูรูกฎหมาย” ผู้นี้ มีส่วนละม้ายคล้าย “ราชาแห่งนกแก้ว” มิใช่เล่น?

“โภคิน” เล่าความหลังที่เกิดขึ้นเมื่อ 32 ปีก่อนให้ฟังว่า ครั้งแรกที่เห็นเจ้านกแก้วสีฟ้า-เหลืองที่ร้านเบิร์ดแลนด์ ถนนเพชรบุรี ก็หลงรักทันที จึงขออนุญาตนอกใจภริยาเป็นบางขณะ ก้มหน้าก้มตาเก็บเงินจากการทำงานในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยหมายพามาคอว์กลับไปนอนบ้าน

ดร.โภคิน พลกุล
ดร.โภคิน พลกุล

“พอลงไปถามราคา คนขายบอก 16,000 บาท ซึ่งแพงมากนะสำหรับเวลานั้น ผมก็มาบอกภริยาว่าเราเก็บเงินซื้อนกมาคอว์สักตัวนะ ตอนนั้นยังดูไม่เป็นว่าตัวเมียหรือตัวผู้ก็มาแล้ว พอผ่านไปอีก 2-3 เดือน ไปซื้ออีกแล้ว อย่างอื่นไม่สน เก็บเงินได้ก็ซื้อแต่นกแก้ว สัก 4-5 เดือนก็มี 6-7 ตัว และผมชอบไปดูที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ เห็นเขาเพาะได้ โอ้ย! อยากได้มาก ต่อมาก็เริ่มดูตัวผู้-ตัวเมีย จับคู่ให้มัน ก็ทำกรงไว้ที่บ้าน ปรากฏว่ามีคู่หนึ่งออกไข่ เชื่อไหม ผมดีใจยิ่งกว่ามีลูกตัวเองอีก โอ้ย! สุดยอดเลยนะ” เขาเล่าพลางหัวเราะเล็กๆ

ในแต่ละวัน “โภคิน” ต้องประกอบกิจวัตรในฐานะพ่อ-พ่อพิมพ์-พ่อเลี้ยง ดูแลทั้งลูกตัว-ลูกศิษย์-ลูกนก จนสามารถฟูมฟักมาคอว์ได้มากเกือบ 30 ชีวิต

กระทั่งปี 2538 ลูกนกเริ่มเติบใหญ่ ส่งเสียงรบกวนเพื่อนบ้านริมน้ำเจ้าพระยา เขาจึงตัดสินใจซื้อที่ดินที่ที่ อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา แล้วชวนสมัครพรรคพวกที่รักนกเหมือนกันไปทำฟาร์มเพาะนก แล้วเริ่มย้ายนกไปในปี 2540

“ผมไปทุ่มเททำฟาร์มได้ 2 ปี ก่อนมาเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดปี 2542 ก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จากหลักร้อยเป็นหลักพันตัว เวลาอยู่กับนกมันมีความสุข เขารู้เรื่องนะ เขาน่ารัก นกจะมีคาแร็กเตอร์ของเขา ผมมีนกบางตัวที่สนิท ผมไม่ต้องขังเขานะ ให้เขาบินไปไหนมาไหน เดี๋ยวเขาก็กลับมาหาเอง มาคุย มาเล่น พออยากกินน้ำ ให้กินในถ้วย เขาก็ไม่กิน จะกินในแก้วเพื่อให้รู้ว่าเขาเป็นเหมือนคนนะ หรือเวลาอยู่ตัวต่อตัวกับเรา เขาจะพูดเก่ง แต่ถ้ามีเพื่อนนก เขาจะวอกแวก”

“เวลาอยู่กับเรา เขาจะรู้ว่าเราเป็นทั้งเพื่อน ทั้งที่พึ่ง เป็นคนดูแลปกปักรักษาเขา นกเชื่องๆ นี่จะกางปีก จะเอานิ้วแหย่ไปในปาก เขาก็ไม่กัด บางทีผมแหย่เล่น เขาทำงับ เราร้องโอ้ย! เขาก็หยุดแล้ว รู้ว่าเราเจ็บ เวลาเขางับ บางทีเราแกล้งบีบหัวเข้าไป ถามอย่างนี้เจ็บไหม เขาเจ็บ คือเขารู้ นกแก้วมันฉลาดเท่ากับเด็กอายุ 3-4 ปีนะ สุนัขยังฉลาดน้อยกว่าด้วยซ้ำ”

“คนรักนก” เผยเคล็ดไม่ลับในการ “ครองใจนก” ว่า แค่มีกรงให้ กลางคืนให้นอนกรง ส่วนกลางวันก็เปิดกรงให้นกมานั่งเล่นในห้องขณะที่ตนนั่งทำงาน ถึงเวลานกก็จะเข้ากรงเอง รู้สึกเองว่าที่นั่นคือที่ที่ปลอดภัย เหมือนเวลาคนกลับเข้าบ้าน

ถือเป็นการหักทฤษฎีนกน้อยไม่ชอบนอนกรงทอง!

“นกที่มาเลี้ยงกับคนตั้งแต่เด็ก ถ้าเอาไปปล่อยป่า เขาตายนะ เพราะไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้ชีวิตแบบนั้น ตายแน่นอนเพราะ 1. หากินไม่เป็น 2. ข้างนอกมันมีศัตรูเพียบไปหมด คุณอยู่กับพื้น งูอาจมาล่อคุณ อยู่ในอากาศก็มีเหยี่ยวมีอะไร ดังนั้น บางทีบอกว่าปล่อยสัตว์เข้าป่า อย่าทำแค่สร้างภาพนะ คุณต้องฝึกจนเขาอยู่ได้ และต้องตามไปดูด้วย ไม่เช่นนั้นตายหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขาไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าศัตรูในธรรมชาติคืออะไร”

เมื่อยิงคำถามว่า แล้ว “นายกฯ นกแก้ว” ฝึกถึงขั้นจะปล่อยเข้า “ป่าการเมือง” ได้หรือยัง?

คำตอบของ “ครูฝึกนกแก้ว” คือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เก่งมากหากเทียบวันแรกกับวันนี้ ถือเป็นคนละคนจาก 3 เหตุผล คือ 1. ทำงานละเอียด และตามงาน 2. เรียนรู้ที่จะอยู่ในบริบทขณะนี้ได้ดี ไม่ท้าทาย และพยายามเข้าใจทุกฝ่าย และ 3. มีความสุภาพ

“โดยรวมแล้วโอเคเลย เดี๋ยวนี้เวลาผมฟังเขาสรุปปัญหาอะไรต่างๆ เขาแทบจะคอมมานด์ (สั่งการ) ได้แล้ว ในระยะแรกๆ คนไม่เคยเลยก็อาจจะขาดความมั่นใจว่าจะอะไรอย่างไร แต่วันนี้ระดับรองนายกฯ หลายๆ ท่านให้ความนับถือโดยตัวเขาเลย”

จากระยะแรกๆ ที่ต้องเงี่ยหูฟังพี่เลี้ยง?

“ใช่ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นทุกคนมาชื่นชมว่าคนนี้สุดยอดแล้ว ผมว่าเวลาปีเดียวยากนะที่จะพัฒนาตัวเองได้ขนาดนี้ เอาง่ายๆ เทียบกับคุณอภิสิทธิ์ที่อยู่การเมืองมาทั้งชีวิต เป็นนายกฯ มาก่อน วันนี้ลองไปถามว่า ระหว่างคุณอภิสิทธิ์พูดกับคุณยิ่งลักษณ์พูด ถามว่าฟังใคร ผมว่าฟังคุณยิ่งลักษณ์นะ เพราะเขาไม่ได้แสดงอาการอิจฉาริษยา ค่อนแคะ อันไหนเป็นคำถามที่แบบกะจะให้เขาตอบยาก เขาก็เลี่ยงดีกว่า เพื่อไม่ต้องเผชิญหน้า ไม่ต้องทะเลาะ”

คำอธิบายข้างต้นอาจถูกย้อน-แย้งว่าที่ไม่ตอบเพราะไม่รู้ ซึ่ง “โภคิน” ก็ยอมรับว่าการจะให้ตอบแบบผู้รู้ไปเสียทุกเรื่อง คงเป็นไปไม่ได้ ยังไม่ถึงขั้นนั้น

“แหม! แค่ 1 ปี ใครจะเป็นโปรทุกด้าน แต่เดี๋ยวนี้คุณยิ่งลักษณ์ก็เป็นโปรไปเยอะแล้วนะ อย่างพวกผมอยู่มานาน แค่คุณอ้าปากถามก็รู้แล้วว่าจะนำไปสู่อะไร การแฮนเดิ้ล (ควบคุม) ปัญหาก็เลยเหมือนตรงประเด็นกว่า แต่การตรงประเด็นก็เป็นปัญหาอีกแบบของสังคมไทยนะ เพราะคนไม่ชอบอะไรตรงไปตรงมา ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ถูกก็ต้องยอมๆ เขาก่อน”

เมื่อให้วิเคราะห์ว่า “ศัตรูที่น่ากลัว” ของ “นายกฯ นกแก้ว” คืออะไร?

เขาบอกว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นธรรม บุคคลต่างๆ ที่มาอยู่เป็นธรรม ศัตรูอันเดียวที่มีคือบริหารประเทศให้คนพอใจได้หรือเปล่า ถ้าไม่พอใจ เขาก็เปลี่ยนไปเลือกอีกข้าง

“ตราบใดที่มีความไม่เป็นธรรมอยู่ แม้บริหารได้พอใจเพียงบางระดับ คนก็จะยังให้อภัย กลายเป็นว่าความอยุติธรรมด้านหนึ่งก็ไปหล่อเลี้ยงรัฐบาลให้อยู่ได้ในระดับหนึ่ง เพราะถ้าทุกอย่างเป็นธรรมหมด ต้องวัดที่ฝีมืออย่างเดียว ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์อาจจะยิ่งสอบผ่านฉลุยเพราะเป็นคนเก่ง แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน ปชป. ก็จะมีโอกาส ตราบใดที่คุณยังรักษาความอยุติธรรมเอาไว้ ประชาชนก็จะให้ตลอดไป คนส่วนใหญ่ก็จะให้ ไม่เช่นนั้นมันไม่มาถึงรอบ 3 หรอก”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “กูรูนก” ไม่ได้พาดพิงถึงคือธรรมชาติของ “พี่เลี้ยงจากแดนไกล” ที่ไม่ชอบให้ “นกในกรง” ปีกกล้า-ขาแข็งเกินจำเป็น ซึ่งไม่แน่ใจว่าธรรมชาตินี้จะมีข้อยกเว้นสำหรับ “นกตัวโคลน” หรือไม่!!!