ThaiPublica > คอลัมน์ > ศุกร์ 13 ประชา สยอง ? (ภาคจบ)

ศุกร์ 13 ประชา สยอง ? (ภาคจบ)

12 กรกฎาคม 2012


วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ
http://www.facebook.com/verapat

ในบทความ ‘ภาคแรก’ “ ศุกร์ 13 เพื่อไทย สยอง ” ผู้เขียนได้ชวนคิดว่า (1) การที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาไต่สวนพยานเพียง ‘สองวัน’ และ ทำคำวินิจฉัยเพียง ‘วันเดียว’ นั้น ‘หยาบสั้น’ ไปหรือไม่ ? (2) การแยกประเด็นพิจารณา มาตรา 291 ออกจาก มาตรา 68 ผิดตรรกะและส่อ ‘ตั้งธง’ หรือไม่ และ (3) ‘แนวทางการตัดสิน’ ที่เป็นไปได้ 6 แนวทาง มีทางใดบ้าง ? (อ่านย้อนหลังได้ที่นี่)

ใน ‘ภาคจบ’ จึงขอชวนเราเหล่าประชา คิดถึงปัญหาที่อาจต้องสยองกันต่อ ดังนี้

1. คำวินิจฉัย น่าจะออกมาในลักษณะใด ?

แม้ผู้เขียนจะเห็นว่า คดีนี้ได้หลุดเลยไปจาก ‘ปริมณฑลแห่งกฎหมาย’ ตั้งแต่วันที่ศาลมีมติรับคำร้องไปแล้ว แต่ก็ยังหวังจะได้เห็นคำวินิจฉัยที่ยึดมาตรฐานเดียวกันกับที่ศาลชุดเดียวกันเคยตัดสินในสมัย ‘ประชาธิปัตย์’

กล่าวคือ ศาลสามารถยกคำร้อง ด้วยเหตุว่าการยื่นคำร้อง ‘ผิดขั้นตอนอัยการสูงสุด’ ดังที่ศาลเคยอ้างเหตุ ‘ผิดขั้นตอน กกต.’ มายกคำร้อง คดี (ไม่) ยุบพรรคประชาธิปัตย์’ (คำวินิจฉัยที่ 15/2553) อีกทั้งสามารถยกคำร้องด้วยเหตุว่า อำนาจหน้าที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ถูก ‘บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ’ ตามมาตรา 291 ศาลจึงไม่อาจนำมาตราอื่นมาวินิจฉัยปะปนกันได้ ดังที่ศาลเคยอธิบายไว้ใน คดีพรรคประชาธิปัตย์แก้รัฐธรรมนูญ (คำสั่งที่ 4/2554)

แต่หากศาลละทิ้งมาตรฐาน แล้วฉวยมาตรา 68 มาวินิจฉัย ‘เนื้อหาหรือวิธีการ’ แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เสียแล้ว ผู้เขียนก็ยังเห็นว่า แนวทางของคำวินิจฉัย ก็จะยังคงเป็นในลักษณะการ ‘ยกคำร้อง’ ด้วยปัจจัย ดังนี้

ปัจจัยที่ 1 : ฝ่ายผู้ร้อง สู้คดีโดยไม่มีน้ำหนัก

– พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ได้หลุดปากยอมรับว่า ตนกำลัง ‘คาดการณ์-คาดคะเน’ และ ‘จินตนาการ’ ถึงการล้มล้างการปกครองฯ ไปตาม ‘บริบทสังคม’ ซึ่งฟังประหนึ่งก็วาดขึ้นเองตามอำเภอใจ แต่พอถูกถามว่า การล้มล้างการปกครองฯ ครั้งนี้ เหมือนหรือต่างกับการล้มล้างรัฐประหารโดย คมช. ที่ตนเป็นหัวหน้าสำนักธุรการอย่างไร กลับอธิบายไม่ได้

– พรรคประชาธิปัตย์เองก็ได้แต่ยกคำปราศรัยของคุณทักษิณ ชินวัตร และ แกนนำ นปช. นอกสภา เพื่อโยงว่าเป็นขบวนการเดียวกันกับการแก้ไข มาตรา 291 ในสภา ซึ่งแสดงว่า เมื่อไม่มีหลักฐานการล้มล้างการปกครองในสภา จึงต้องไปจินตนาการโยงกับกลุ่มบุคคลอื่นนอกสภาเสียเอง

– ผู้ร้องบางฝ่าย แม้จะเป็นนักกฎหมาย แต่ก็ถามนอกประเด็นจนถูกศาลตำหนิว่าถามมาแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร ยกคำถามที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น สิทธิทางแพ่ง-สิทธิทางอาญา หรือ มาตรา 212 ซึ่งศาลเคยวินิจฉัยไปหลายครั้งแล้วว่า นำมาอ้างต่อการกระทำไม่ได้ฯลฯ

ปัจจัยที่ 2 : ศาลเคยวางหลักว่า จะไม่รับฟังการ ‘คาดคะเน’ หรือ ‘ข้อสังสัย’

แนววินิจฉัยของศาล ย่อมผูกมัดศาลเอง เห็นได้จากคดีที่ ‘รัฐบาลอภิสิทธิ์’ ถูกร้องให้พ้นจากตำแหน่ง ‘ศาลชุดเดียวกัน’ นี้ก็เคยปฏิเสธผู้ร้องอย่างหนักแน่นว่า จะไม่รับพิจารณา ‘การคาดคะเน’ หรือ ‘การตั้งข้องสงสัย’ หรือ ‘การอาศัยศาลเป็นเครื่องมือในการแสวงหาพยานหลักฐาน’ ดังภาพหลักฐานต่อไปนี้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

ปัจจัยที่ 3 : ฝ่ายผู้ถูกร้องได้ ‘ยอมถอย’ ให้ศาลไปไกลยิ่งกว่าที่จะต้องถอย

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ การที่ประธานรัฐสภาก็ดี หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ดี หรือวิปรัฐบาลก็ดี ต่างกล่าวยืนยันภายใต้คำสาบานต่อศาล ซึ่งล้วนเป็นการยอมถอยไปไกลยิ่งกว่าเนื้อหาของการแก้ไขมาตรา 291 เช่น

– ประธานรัฐสภาได้ยืนยันว่า แม้มาตรา 291 ที่แก้ไข จะห้ามการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ แต่หากมีการยกเลิก ‘มาตราอื่นในหมวดอื่น’ ที่เป็นพระราชอำนาจ เช่น พระราชอำนาจในการอภัยโทษ (ซึ่งแท้จริงก็คือการใช้อำนาจโดยฝ่ายบริหาร) ตนจะถือว่าเข้าข่ายการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์เช่นกัน ซึ่งเท่ากับ ‘ยอมถอย’ ไปไกลกว่ามาตรา 291/11 อย่างชัดแจ้ง !

– การที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ดี หรือวิปรัฐบาลก็ดี ต่างยืนยันใต้คำสาบานต่อศาลว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่อย่างใด ซึ่งเป็นการยอมจำนนอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขกฎหมายไว้ล่วงหน้า !

– และที่สำคัญ การที่ตุลาการอย่างน้อยสี่ท่านได้เน้นถามหลายครั้งว่า เรื่องที่ประธานรัฐสภาจะมีอำนาจวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จโดย ส.ส.ร. นั้น จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายสบายใจ ซึ่งประธานรัฐสภาก็ยืนยันว่าจะไม่ใช้ดุลพินิจผู้เดียว แต่ก็จะใช้วิธีการที่จำกัดอำนาจตนเอง เช่น การฟังคณบดีคณะนิติศาสตร์ ซึ่งในคำแถลงปิดคดี อาจจำกัดกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเท่ากับ ‘ยอมถอย’ ไปไกลกว่ามาตรา 291/13 อย่างชัดแจ้งเช่นกัน !

สรุป: เมื่อพิจารณาปัจจัยสามข้อที่กล่าวมา คือ ผู้ร้องเองก็สู้คดีไม่มีน้ำหนัก ส่วนศาลเองก็เคยตัดสินผูกมัดตนเองไว้ว่าไม่รับพิจารณา ‘การคาดคะเน’ อีกทั้งผู้ถูกร้องเองก็ ‘ยอมถอย’ ไปไกลกว่าที่ต้องถอย จึงเชื่อได้ว่า ศาลน่าจะยกคำร้อง เพราะไม่มีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ แต่ศาลก็จะนำอาการ ‘ยอมถอย’ ของผู้ถูกร้อง มาเขียนมัดไว้ในคำวินิจฉัย (หรือความเห็นส่วนตน ซึ่งควรต้องเผยแพร่ในวันศุกร์นี้พร้อมคำวินิจฉัย มิใช่อ่านแล้วเก็บไปแก้ไขเหมือนในอดีต) เพื่อบอกว่า แม้จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบพิเศษบางประการ

2. ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดี ?

หากศาล ‘ยกคำร้อง’ คือ ให้แก้รัฐธรรมนูญได้ ตั้ง ส.ส.ร. ได้ แต่มีการผูกมัดข้อความที่ประธานรัฐสภาและพรรคเพื่อไทยได้ยืนยันภายใต้คำสาบานไว้ ก็จะส่งผลให้หลายฝ่ายต่างอ้างชัยชนะจากผลคดีนี้ กล่าวคือ

– ฝ่ายรัฐบาลและเพื่อไทย ก็จะอ้างว่า สามารถดำเนินการตามนโยบาย และเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

– ฝ่ายค้านหรือผู้ร้อง ก็จะอ้างว่า ประสบความสำเร็จเพียงพอที่จะมีเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดจากข้อความในคำวินิจฉัย เพื่อจะนำมาอ้างว่า แม้จะตั้ง ส.ส.ร. ได้ แต่การดำเนินการต่อไปอนาคต ก็จะต้องอยู่ภายในกรอบที่เขียนไว้ในคำวินิจฉัยตามคำมั่นที่กล่าวใต้คำสาบานไว้

– ส่วนศาล ก็จะเพิ่มอานุภาพของอำนาจตุลาการ ที่สั่งให้สภาหยุดรอได้ เรียกประมุขนิติบัญญัติมาให้ศาลซักถามได้ และ เขียนคำวินิจฉัยที่สามารถ ‘เค้น’ คำตอบ จากสภาเสียงข้างมากและรัฐบาลที่ต้องยอมถอยเพื่อให้ศาลสบายใจได้ (และอาจมีการร้องให้ศาลใช้ มาตรา 68 มาสั่งห้าม กกต. หรือ ส.ส.ร. ในอนาคตอีก ก็เป็นได้)

จะเหลือแต่เพียงเรา ประชาชน ที่ต้องนั่งคิดว่า บัดนี้ หลักการความถูกต้องและความเป็นประชาธิปไตยได้หลุดลอยไปจาก ‘ปริมณฑลแห่งกฎหมาย’ จนหมดสิ้นแล้วหรือไม่ ?

3. หากคะแนนเสียงเท่ากัน 4-4 จะทำอย่างไร ?

รัฐธรรมนูญมาตรา 216 กำหนดไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยจะต้องถือเสียงข้างมาก ดังนั้น หากไม่มีเสียงข้างมาก จึงย่อมไม่ถือเป็นคำวินิจฉัยตามความหมายของรัฐธรรมนูญ และไม่มีผลผูกพันแต่ประการใด

หากผู้ใดจะให้ประธานศาลจะออกเสียงชี้ขาด หรือให้ตุลาการลาป่วย ก็พึงระลึกว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจทำเช่นนั้น หากกระทำไปย่อมเป็นการผิดกฎหมายและละเลยการปฏิบัติหน้าที่

หากศาลจะอาศัยข้อกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ เพื่อ ‘อนุโลมใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง’ ก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้ประธานศาลที่นั่งเป็นองค์คณะออกเสียงชี้ขาดได้ ตรงกันข้าม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการทำคำพิพากษาในคดีแพ่ง ก็ให้อำนาจประธานศาลหรืออธิบดีศาลเข้ามาเกี่ยวข้องได้ แต่ต้องไม่เป็นองค์คณะมาก่อน ดังนั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งนั่งอยู่ในองค์คณะอยู่แล้ว จึงไม่อาจออกเสียงเพิ่มได้

ส่วนหากจะอาศัย ‘หลักกฎหมายทั่วไป’ โดยปรับกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาอุดช่องว่าง จะพบว่า ข้อกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อที่ 13 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการคัดค้านตุลาการให้ถอนตัว และมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ถือตามคำร้องที่คัดค้าน สอดคล้องกับหลักกฎหมายทั่วไปในวิธีพิจารณาความอาญาว่า ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ต้องยอมตามฝ่ายที่เป็นผลร้ายต่อจำเลยน้อยกว่า

ดังนั้น หากศาลมีคะแนนเสียง 4-4 เท่ากัน ย่อมไม่มีผลเป็นคำวินิจฉัย และหากจะอ้างว่ามีผล ก็ไม่อาจมีผลใดๆ ที่จะเป็นผลร้ายต่อผู้ถูกร้องในคดีนี้ได้

4. คดีนี้จะจบสิ้นในวันศุกร์ที่ 13 หรือไม่ ?

ศึกการเมืองทั้งจากในและนอกสภาซึ่งลามมาถึงเวทีตุลาการนั้น จะยังไม่จบในวันศุกร์ที่ 13 นี้ แต่จะมีนัยสำคัญต่อการดำเนิน ‘คดีอาญา’ กล่าวคือ หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ก็ย่อมมีผู้อ้างกฎหมายอาญาไปร้องต่อ ป.ป.ช. ซึ่งอาจลามไปถึง ‘ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ ได้

เรื่องนี้ยังมีปัญหาต้องตีความว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมาตรา 68 วรรคสอง จะกระทบกระเทือนหรือผูกพันการพิจารณามูลความผิดโดย ป.ป.ช. หรือ การพิจารณาโดยศาลอื่นหรือไม่เพียงใด เพราะในทางหนึ่งอาจตีความได้ว่า การทำหน้าที่โดยอัยการสูงสุดเท่านั้นที่ไม่ส่งผลกระทบกระเทือน แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมผูกพัน ป.ป.ช. และศาลฎีกา ก็เป็นได้

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำล้มล้างการปกครองฯ แม้อาจจะไม่มีการยุบพรรค แต่ก็จะนำไปสู่การกดดันให้ ป.ป.ช. ‘ชี้มูลความผิดทางอาญา’ ของคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภา (ทั้งจากคำร้องทั้งห้า และคำร้องล่าสุดที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง ไปร้องเพิ่ม) และอาจนำไปสู่กรณีตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่ง ส.ส., ส.ว. หรือรัฐมนตรีที่ถูกชี้มูล (ซึ่งอาจมีหลายร้อยคน) จะถูกต้องห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ จนเกิด ‘วิกฤตทางการเมือง’ และลามไปถึงความรุนแรงบนท้องถนนในที่สุด

ดังนั้น คำวินิจฉัยในยาม ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ทางประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่ว่าจะออกมาทางใด ก็จะถูกประชาชนจดจำ วิพากษ์วิจารณ์ และต่อสู้ต่อไปตามครรลองประชาธิปไตย เช่น การผลักดันให้ปฏิรูปศาล ดังคำกล่าวที่ว่า คำวินิจฉัยอาจเป็นที่สิ้นสุดในทางกฎหมาย แต่ความยุติธรรมนั้นใคร่ครวญได้ไม่สิ้นกาลเวลา

ผู้เขียนได้แต่ภาวนาว่า การต่อสู้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในห้าถึงสิบปีนี้ จะเป็นไปด้วยน้ำหมึก และแน่นอนน้ำตา แต่ต้องไม่ใช่น้ำเลือด !

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีนี้