ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำเลทอง

ทำเลทอง

30 กรกฎาคม 2012


กระทิงโทน

หายไปนานชาติ เพราะไม่รู้จะหาประเด็นอะไรมาเขียนเพิ่ม เนื่องจาก 3 ตอนแรก เทใส่อย่างหักโหมไปหมดแล้ว แทบจะคลุมทุกประเด็นที่คนทำนิตยสารหรือทำสื่อสิ่งพิมพ์ต้องรับมือและปวดหัวกับลูกค้าผู้มีอุปการะคุณทุกท่าน

ขณะที่กำลังคิดๆ ว่าแล้วจะมีเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟังกันต่อละนี่ หรือมันจะหมดแล้วจริงๆ?

ก็ปรากฎว่า มันยังไม่หมดหรอก มันมีมาเรื่อยๆ นั่นแหละ เพราะทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าคนที่ต้องปรับตัวปรับใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของสื่อและโฆษณา มักจะเป็นฝั่งคนทำสื่อ การจะหวังให้ลูกค้าปรับตัวหรือทำอะไรให้มันถูกต้อง ดูเหมือนจะเลือนรางห่างไกล

ด้วยเหตุผลเดียวว่า ฉันเอาเงินมาให้เธอ ดังนั้น เธอก็ต้องทำอย่างที่ฉันต้องการ ฉันเป็นคนซื้อ’

เรียกว่าถ้าแนวคิดมันเป็นไปแบบนี้เสียแล้ว ก็ยากที่จะถกเถียง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเลิกพูดในสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่าคนทำสื่อจะไม่ชี้ให้เห็น ว่าสิ่งที่ผิดหรือไม่ถูกต้องนี้มันมีผลอย่างไรในอนาคต

วันนี้เรามาพูดเรื่อง ‘ทำเลทองในหน้านิตยสาร’ กัน (จริงๆ เรื่องคล้ายๆ กันนี้ เคยเขียนไว้ในตอนที่ 2 เรื่อง 7 Deadly Sins ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดมาก ผู้สนใจย้อนกลับไปอ่านได้) โดยทั่วไป นอกจากปกแล้ว คนทำนิตยสารมักจะต้องให้พื้นที่กับบทสัมภาษณ์อันเป็นพื้นที่สำคัญ และหลายฉบับก็ให้พื้นที่ยาวเหยียดเพราะคนอ่านจะได้อ่านอย่างเต็มอิ่ม เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งก็เพราะ บุคคลที่ให้สัมภาษณ์ล้วนเป็นคนสำคัญ หรือ exclusive ทั้งนั้น

เพราะกว่าจะนัดคิวได้ กว่าเขาจะให้ความไว้ใจในการตอบรับการให้สัมภาษณ์ ก็ไม่ใช่ง่ายๆ ได้คิวมาแล้วก็ต้องคุยกันให้เต็มเหนี่ยวหน่อย อีกอย่าง บางเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสนใจ และแขกคนนั้นสามารถตอบได้ดี หรือตอบได้เพียงคนเดียว ก็ยิ่งต้องใช้ ‘พื้นที่ในการตอบคำถาม’ มากเป็นพิเศษ

ที่ผ่านมา โลกของการทำคอลัมน์สัมภาษณ์มันก็เป็นแบบนี้มาตลอด หรือมันจะมีอะไรมากกว่านี้ข้าพเจ้าก็ไม่อาจจะรู้ได้ เพราะเกิดไม่ทัน แต่ถ้ามันเคยมีอะไรผิดแปลกไปจากนี้ ก็ไม่น่าจะชัดเจนซะขนาดทุกวันนี้

ไอ้ที่ว่าเห็นได้ชัดเจนนั่นก็คือ ทุกวันนี้ พื้นที่ในบทสัมภาษณ์ถูกลูกค้าและเอเจนซี่มองว่าเป็น ‘ทำเลทอง’ ในการ ‘ขายของ’ ไปแล้ว แทนที่จะเป็น ‘พื้นที่ในการตอบคำถาม’ ก็กลายเป็น ‘พื้นที่ในการโฆษณา’ ทั้งโฆษณาองค์กรและตัวเอง (เผลอๆ นอกจากจะไม่ใช้ในการตอบคำถามแล้ว ยังใช้ในการตอบไม่ตรงคำถามด้วย เพราะมัวแต่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูด) ถามว่าคนลงโฆษณาคิดว่าบทสัมภาษณ์เป็นทำเลทองแบบนี้ผิดไหม? มันก็ไม่เชิงว่าผิด เพราะตามหลักการขายของแล้ว ทำเลทองเป็นของหายาก ถ้าหาได้ (และมีคนพร้อมจะขายด้วยแล้ว) ก็ต้องรีบคว้าไว้อย่าให้หลุดมือ แต่ถามว่าคิดถูกไหม? อ่านให้จบแล้วค่อยตอบก็ได้

ทีนี้หันมาถามคนทำสื่อบ้างว่า ถ้าคนทำสื่อคิดไปพร้อมๆ กันด้วยว่านี่คือทำเลทองในการขายของ มันจะผิดไหม ในเมื่อสื่อก็ต้องการค่าโฆษณามาหล่อเลี้ยงให้คนทำงานในองค์กรของตัวเองอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร-หนังสือใหญ่โตหรือเล็กแค่ไหนก็เถอะ ความฝันที่จะทำสิ่งพิมพ์สักเล่มมันไม่ได้เป็นจริงได้ด้วยการลงแรงเท่านั้น แต่มันยังต้อง ‘ลงทุน’ ด้วยไม่ใช่หรือ? มันก็มาจบที่ประเด็นนี้อีก

เถียงกันไปเถียงกันมา โดยมีสิ่งหนึ่งที่เราอาจจะลืมมอง หรือแกล้งลืมไปแล้วก็คือ พื้นที่ หรือ ทำเลทองบางแห่งนั้น มันก็มีธรรมชาติดัั้งเดิมหรือจุดประสงค์หลักของมันที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในการขายของไปเสียทุกอณูก็ได้ ถ้าเปรียบนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เป็นพื้นที่สักแห่ง บางจุดเราก็ต้องยอมรับว่ามันเหมาะกับการทำอาคารพาณิชย์จริงๆ โดยมีราคาค่าเช่าลดหลั่นกันไปตามทำเลที่ตั้ง แต่บางจุดก็เหมาะกับการทำโรงเรียน มีไว้ให้ความรู้ ให้การศึกษาอย่างเดียว

ส่วนบางจุดก็เหมาะจะเป็นสวนสาธารณะ ให้คนมาออกกำลังกาย เดินเล่น ‘สูดอากาศบริสุทธิ์’ สร้างความแข็งแรงให้กายและใจเพื่อเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ในชีวิตต่อไป สวนสาธารณะอาจมีคนแวะเข้ามาใช้นั่งพูดคุยกันเพื่อขายของบ้าง ถ้าไม่รบกวนใครจนเกินงามก็ไม่เป็นไรหรอก หรือกระทั่งมาตั้งซุ้มขายของเลยก็ไม่ได้แย่มาก ถ้ามันอำนวยความสะดวกให้คนซื้อ และไม่สร้างมลภาวะทางสายตา รวมทั้งไม่กีดขวางล้ำเส้นทางการใช้พื้นที่สาธารณะของคนอื่น เช่น ถ้าเราไปวิ่งในสวน และมีซุ้มขายน้ำเย็นตั้งขายระหว่างทาง มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปขนาดจะไปกวาดล้างเขา หรือไปเหมาว่าโลกเราถูกทุนนิยมเข้าครอบงำจนเกินไปแล้ว คือถ้าคิดขนาดนี้ ก็ขอเพลียและละเหี่ยใจด้วยคน เพราะสงสัยจะต้องตักน้ำคลองมากรองกินแล้วล่ะ ถ้าจะไม่แตะการซื้อขายตามระบบทุนนิยมอะไรนี่เลย

แต่ประเด็นที่อยากหยิบมาพูดถึงก็คือ เราต้องกลับไปมองจุดประสงค์ของพื้นที่นั้นๆ ให้แจ่มแจ้งอีกครั้ง และอาจจะต้องหลายๆ ครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน อย่างในกรณีสวนสาธารณะที่ยกมานี้ เราก็ต้องมาคิดว่า เราควรจะใช้ประโยชน์จากมันในฐานะที่มันเป็นสวนสาธารณะมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะพื้นที่ตรงนี้เหมาะกับการออกกำลังกาย ให้คนมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่สร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม เราไม่ได้จะต้องมาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวกันอย่างเอาเป็นเอาตายตรงนี้ อาจจะมีการค้าได้แค่พอหอมปากหอมคอ ถ้ามันมีประโยชน์กับส่วนรวมเพียงพอ เท่านั้นก็น่าจะมากเกินพอแล้ว

ย้อนกลับมาพูดถึงพื้นที่ในหน้านิตยสาร เรามีเส้นแบ่งอะไรแบบนี้บ้างไหม เราจะขีดเส้นอย่างไรเพื่อไม่ให้ลูกค้ากำเงินมาแล้วจิ้มว่าฉันต้องการพื้นที่ตรงนี้ ต้องการบทสัมภาษณ์ 10 หน้า ฉันยอมจ่ายกี่แสนก็ได้ว่ามา ขอให้ฉันหรือลูกค้าฉันได้พูดๆๆๆ และขายของได้เต็มที่ เพราะมันเป็นพื้นที่ที่ฉันจ่ายเงินซื้อมา ถ้าเจอแบบนี้เข้า คนทำนิตยสารก็มีอึ้งนะ เงินก็อยากได้แต่ถ้าจะให้แขกคนนั้นมาพูดมันจะดีกับนิตยสารจริงๆ หรือ แล้วบทสัมภาษณ์มันจะออกมาเป็นอย่างไร

ถ้าปล่อยให้เขาพูดในสิ่งที่เขาอยากจะพูด ตอบในสิ่งที่อยากจะตอบ แล้วคนถามหรือคนทำสื่อนั้นจะได้ในสิ่งที่อยากจะถามตอนไหน หรือถ้าเขาตอบมาแล้ว คำตอบยังไม่กระจ่าง จะล้วงคำตอบลึกๆ ได้แค่ไหน โดยไม่ไปแตะเรื่องที่คนตอบไม่อยากตอบเพราะไม่ได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้คนอื่นเห็น สุดท้าย คนที่สำคัญที่สุดอย่างคนอ่าน ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของหนังสือหรือสื่อทุกเล่ม เขาได้รับการคำนึงถึงบ้างไหมว่าเขาจะได้อ่านอะไร ลูกค้าอยากซื้อพื้นที่ตรงนี้ ลูกค้าจ่ายเงิน นิตยสารได้เงินสมความปรารถนา แต่คนอ่านที่ต้องเสียเงินซื้อนิตยสาร (ในกรณีเป็นนิตยสารมีไว้เพื่อขาย) หรือคนอ่านที่ต้องเสียเวลาในการไปหยิบมาอ่าน หรือโหลดมาอ่าน (ในกรณีเป็นนิตยสารแจกฟรี)

คนเหล่านี้เขาจะได้อะไรจากการอ่านบทสัมภาษณ์นั้นๆ?

เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่คนทำหนังสือต้องคิดอยู่ฝ่ายเดียว เพราะต่อให้ถามคำถามที่ดีเลิศ ทำการบ้านศึกษาคนที่จะสัมภาษณ์มาอย่างหนัก คิดวิธีเขียนบทสัมภาษณ์ระดับเทพอย่างไร ถ้าเนื้อหาสาระมันไม่มีจะให้นำเสนอ พูดง่ายๆ ว่าไม่มีของจะขาย ก็ลำบากใจที่จะเปิดพื้นที่ทำเลทองอะไรนั่นให้คนอื่นเข้ามาทำมาค้าขาย อุปมาเหมือนอยากจะเปิดพื้นที่บางส่วนในสวนสาธารณะไว้ขายของเพราะจะได้มีเงินมาบำรุงสวน แต่ไอ้คนจะมาขายของดันเอายาดองเหล้ามาขาย แล้วบอกว่าจะได้ตอบสนองความต้องการของคนที่อยากกระชุ่มกระชวย เลือดลมไหลเวียนปรู๊ดปร๊าด ฯลฯ

หรือกระทั่งของที่มีประโยชน์ก็เถอะ คนเปิดพื้นที่เขาก็ต้องคำนึงด้วยหรือเปล่า ว่ามันเหมาะสมกับกาลเทศะและพื้นที่ตรงนั้นหรือไม่อย่างไร ไม่ใช่จะเปิดให้คนมาขายหญ้านวดแมวไปวันๆ ซึ่งแม้จะดีและมีประโยชน์มากมายตามผลการวิจัยของแพทย์แผนไทยอะไรก็ตามเถอะ แต่มันยังไงล่ะ จะให้คนที่ไปวิ่งที่สวนสาธารณะกำเงินไปซื้อหญ้านวดแมวกลับบ้านอย่างนั้นรึ?

ถ้าทุกฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์ในวงกว้างขึ้น คือผลประโยชน์ของคนอ่านที่เป็นจุดหมายปลายทางหลักและเป็นผู้อุปถัมภ์ตัวจริง เพราะอย่าลืมว่าคนอ่านนี่แหละที่จะซื้อทั้งหนังสือและเป็นคนที่จะต้องไปซื้อสินค้าของคนที่มาลงโฆษณา เป็นคนที่จะต้องมีความรู้สึกบวก-ลบ กับสินค้านั้นๆ ในระยะยาว การใช้พื้นที่อันเป็นทำเลทองอย่างบทสัมภาษณ์ก็น่าจะผ่านการคิดและใคร่ครวญอย่างเข้มข้นมากขึ้นมาอีกหลายระดับ กล่าวคือ

1. ในระดับของลูกค้าที่มาลงโฆษณา

ลูกค้าก็ต้องพิจารณาแนวหนังสือที่จะให้สัมภาษณ์ ว่าเขาเคยสัมภาษณ์อย่างไร ชอบเพราะอะไร แล้วค่อยไปพิจารณา ‘ของ’ ที่ตัวเองมีอยู่ ว่ามันเหมาะกับหนังสือที่อยากจะลงไหม โดยเข้าข้างตัวเองให้น้อยที่สุด ย้ำว่า ‘น้อยที่สุด’ แต่ให้พิจารณาสิ่งที่ลูกค้าของตัวเอง หรือคนอ่านหนังสือที่เป็น Target Group ของตัวเอง ว่าเขาจะได้อะไร

พูดง่ายๆ ว่าอย่าคิดแต่จะอวดในสิ่งที่มีว่ามันเลิศเลอขนาดไหน แต่ให้คิดให้ลึกว่า กลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือใคร น่าจะอยากอ่านเรื่องอะไร ความคิดความอ่านที่ตัวเองมีและกำลังจะให้สัมภาษณ์นั้น มันมีอะไรดี มีอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง เช่น เรื่องราวชีวิตที่ต้องต่อสู้ฝ่าฟันกว่าจะประสบความสำเร็จน่ะมีไหม?

ถ้าไม่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวในอดีต ก็อาจจะลองคิดดูว่าตัวเองมีทัศนคติกับเรื่องรอบๆ ตัวอย่างไร กล้าตอบคำถามที่ตรงไปตรงมาแค่ไหน มีอะไรที่ตอบได้ดีหรือไม่อยากตอบ ตอบออกมาแล้ว เล่าให้ใครฟังแล้วเขาชื่นชมไหม มันคมคาย น่าคิดหรือเปล่า

ถ้ามีบริษัททำพีอาร์ให้ตัวเอง ก็ปรึกษาเขาดูว่าตอบแบบนี้ให้ความรู้สึกอย่างไร ปรึกษานะ แต่อย่าเชื่อทุกเรื่อง บางเรื่องคุณต้องเข้าใจว่าเขาไม่ใช่คุณ เขาไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณมากไปกว่าตัวคุณเองหรอก หรือไม่ก็อาจจะหาวิธีที่ง่ายที่สุด คือ อ่านบทสัมภาษณ์ดีๆ แล้วจินตนาการเองเลยว่า ถ้ามีคนมาถามแบบนี้จะตอบยังไง แล้วลองเขียนออกมาให้คนอ่าน ถ้าผลตอบรับออกมาดี ก็แน่ใจได้เกินครึ่งว่า น่าจะเป็นคนที่ตอบคำถามสัมภาษณ์ได้ดี เพราะมีตรรกะทางความคิดที่ดี ซึ่งที่เหลือก็ต้องมาลุ้นเรื่องอารมณ์และความรู้สึกตอนให้สัมภาษณ์อีกที ว่าจะทำให้ช่วงเวลานั้นไหลลื่นและน่าประทับใจแค่ไหน

แต่ถ้าตอบอะไรก็ไม่รู้เรื่อง เป็นคนไม่ถนัดการนั่งคุยกับคนแปลกหน้า ก็บอกผ่านการให้สัมภาษณ์ไปเถอะ หาวิธีลงโฆษณาอย่างอื่นแทนน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะตอบอะไรมาก็ไม่ใช่ตัวตนคุณ

จริงๆ เรื่องบทสัมภาษณ์นี่ก็เคยมีคนถกเถียงกันเหมือนกันว่า บทสัมภาษณ์น่ะ ต่อให้ดีแค่ไหนก็ไม่อาจดึงตัวตนจริงๆ ของคนนั้นออกมาได้ครบทุกด้านหรอก ใครจะมานั่งบอกคนแปลกหน้าในสิ่งที่ตัวเองคิดทุกเรื่อง เรื่องนี้ก็จริงอยู่ แต่บางทีคนตอบก็ควรจะตอบในสิ่งที่เป็นตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่เฟคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ดี หรือเท่าที่พีอาร์บางที่จะสามารถประดิดประดอยตัวตนและคำตอบมาให้

และถ้าเป็นไปได้ ก็อย่าหวังพึ่งแต่พีอาร์ให้ช่วยคิดคำตอบหรือมานั่งฟังเวลาให้สัมภาษณ์ เพราะมันจะได้คำตอบที่ดีเกินไปจนไม่เป็นมนุษย์มนา น่าเบื่อและนิ่งสนิท (การให้พีอาร์นั่งฟังการสัมภาษณ์ ดูจะเป็นเรื่องที่นิยมทำกันแพร่หลายและแพร่หลายจนเกินไป) ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่าพีอาร์คือบุคคลที่ 3 ของการสัมภาษณ์เสมอ

ต่อให้จะบิดไปว่า การนั่งฟังสัมภาษณ์ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนสร้างภาพลักษณ์ของลูกค้าอย่างไรก็เถอะ แต่มันก็มีส่วนทำให้บทสัมภาษณ์ไม่สนุก ไม่เป็นธรรมชาติ และดูห่างเหิน เพราะคนตอบจะรู้สึกเสมอว่ากำลังทำงาน และมีพีอาร์คอยนั่งตรวจวิธีตอบอยู่ สุดท้ายคนอ่านก็จะรู้อยู่ดีว่าพี่มาทำไม พี่มาขายของแน่ๆ แล้วเขาก็จะเปิดผ่านหน้านี้ไปอย่างเซ็งๆ

อย่าลืมว่าแม้ว่าคุณจะมีอำนาจในการซื้อ และเป็นคนจ่ายเงินมากมายซื้อหน้าสัมภาษณ์ไป แต่คนอ่านเขาก็มีอำนาจในการอ่าน และมันเป็นอำนาจที่เหนือกว่าทุกคน เขามีสิทธิทุกประการที่จะเปิดข้ามไป หรือถึงจะอ่าน แต่เมื่ออ่านพบคำตอบน่าเบื่อจืดชืดไม่มีอะไรใหม่ เขาก็มีสิทธิจะเลิกอ่านกลางคันได้ทุกเมื่อ ทำหน้าเบื่อได้ทุกเวลา เงินของคุณซื้อความสนใจจากคนอ่านไม่ได้หรอก สิ่งที่ทำได้คือความคิดความอ่านของคุณต่างหาก

2. ในระดับคนทำหนังสือ นักเขียน หรือบรรณาธิการ

สื่อเองก็ต้องคำนึงถึงคนอ่านที่เป็นจุดหมายปลายทางของตัวเองเช่นกัน และต้องคำนึงถึงให้มากที่สุด นอกจากคนทำสื่อหรือบรรณาธิการจะต้องรู้จักตัวตน พื้นที่ ทำเล ฯลฯ ในหน้าหนังสือตัวเองแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักคนอ่านของตัวเองให้มากและดีที่สุดด้วย เพราะคุณคือด่านสุดท้ายที่จะกรองสิ่งที่ดีๆ ให้คนอ่านของคุณได้อ่าน

การทำความรู้จักตัวตน หลักการของหนังสือตัวเอง และการยืนหยัดในการปกป้องหลักการนั้นก็ไม่ใช่อะไรเลย นอกจากเป็นการปกป้องพื้นที่สำคัญของหนังสือตัวเอง เพื่อคนอ่านที่เขาจงรักภักดีหนังสือของคุณด้วย การยืนอยู่ข้างคนอ่านของตัวเอง ไม่ใช่การเข้าข้างหรือเอาใจคนอ่านทุกอย่าง โดยไม่ต้องสนใจว่าลูกค้าต้องการอะไร เพราะลูกค้าก็คือคนสำคัญที่คนทำหนังสือต้องฟังเช่นเดียวกัน

คนที่อยู่ตรงกลางอย่างบรรณาธิการหนังสือ ต้องสร้างสมดุลตรงนี้ให้ดีที่สุด และบางครั้งก็จำเป็นต้องเก็บรักษาพื้นที่สำคัญอย่างบทสัมภาษณ์ไว้ให้เป็นพื้นที่สงวน ไม่ต้องเปิดให้ใครเข้ามาหาผลประโยชน์ไปเลย ถ้าพิจารณาแล้วว่าคนอ่านจะไม่ได้อะไรจากบทสัมภาษณ์นี้ หรืออ่านแล้วน่าเบื่อไม่สมกับที่คนอ่านตั้งใจรออ่าน ก็ตัดใจไปเถอะ เพราะยิ่งคุณแคร์ลูกค้ามากกว่าคนอ่านบ่อยๆ คุณก็กำลังจะทำให้คนอ่านกลายเป็นคนอื่น ทำให้นิตยสารที่เขาคุ้นเคยเป็นนิตยสารแปลกหน้า หรือค่อยๆ ผลักไสคนอ่านที่เป็นฐานเดิมให้เดินห่างออกไป และกว่าคุณจะรู้ตัว หนังสือที่คุณทำก็ไม่ได้เป็นอะไรนอกจากพื้นที่ลงโฆษณาสินค้า ลงโฆษณาประวัติชีวิตคนที่ไม่ได้น่าสนใจไปกว่าหนังสืองานศพบางเล่มด้วยซ้ำ

ทำเลทอง ยังไงก็ยังเป็นทำเลทองที่ใครๆ ก็อยากมาจับจอง คงห้ามไม่ได้ถ้าจะมีคนให้ความสนใจล้นหลาม แต่ทำเลทองในหน้านิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ นั้น ถ้าใช้ผิดทาง มันอาจจะเป็นทำเลแห่งความระทมทั้งคนลงโฆษณาและคนทำนิตยสาร ที่สุดท้ายอาจจะกอดคอกันผลิตสื่อที่แทบไม่มีใครอยากอ่าน

พื้นที่บางแห่งมันไม่เหมาะจะทำการค้าขายจริงๆ นะ ผิดหลักฮวงจุ้ยยังไงก็ไม่รู้ บอกตรงๆ