วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ
http://www.facebook.com/verapat
ปัญหาเรื่อง “นาซ่า” (จะอด) มา “อู่ตะเภา” นั้น เป็นอีกหนึ่งอาการกำเริบของ “โรคประชาธิปไตยชักกระตุก” ที่กำลังเข้าสู่ “ภาวะเรื้อรัง”
“สาเหตุอาการป่วย” นั้น บางคนมองว่าเป็นเพราะ “ความอ่อนหัดของรัฐบาล” ที่มัวแต่สาละวนกับเรื่อง “ปรองดอง-แก้รัฐธรรมนูญ” จนพลาดท่าไม่ได้ดำเนินการชี้แจงและตัดสินใจอย่างทันถ่วงที ทั้งที่มีข้อมูลพร้อมอยู่ในมือ
บางคนอาจมอง “ความอ่อนสำนึกของฝ่ายค้าน” ที่เล่นการเมืองมากไป แทนที่จะไปจี้ตรวจสอบเรื่องกฎระเบียบข้อกำหนดเรื่องความมั่นคงที่ฝ่ายบริหารจะต้องนำมาควบคุมดูแลโครงการ กลับไปขยายประเด็นเป็นเรื่อง มาตรา 190 เพื่อดึง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มาเกี่ยวข้อง
บางคนอาจมองต่อไปถึง “ความอ่อนประชาธิปไตย” ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือโครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ขยายอำนาจดุลพินิจของ “คน 9 คน” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ให้ไปคร่อมทับรัฐบาลและสภาหลายเรื่อง จนฝ่ายการเมืองกลัวว่าจะถูก มาตรา 190 เล่นงาน
ในขณะที่บางคนก็อาจมอง “ความอ่อนสื่อของนักวิทย์ และความอ่อนวิทย์ของนักสื่อ” ซึ่งต่างฝ่ายต่างทำให้ข้อมูลและข้อชี้แจงในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถปรากฏชัดได้ทันท่วงที ปล่อยให้มีแต่ “นิยายวิทยาศาสตร์กึ่งการเมือง” ฟุ้งเต็มไปหมด
แต่ที่แน่ๆ “นาซ่า” เอง ก็ดูท่าจะ “อ่อนการเมืองไทย” เพราะคงนึกในใจว่า ขนาดส่งคนบินไปไกลถึงดวงจันทร์ ยังทำสำเร็จมาแล้ว แต่หารู้ไม่ว่า การจะบินฝ่า “มรสุมการเมืองไทย” ได้นั้น แสนยากเย็นลึกลับซับซ้อนยิ่งกว่า !
คำถามสำคัญ คือ วันนี้ ประเทศไทย และ “นาซ่า” จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ?
จาก “กรอบเวลา” ของลมฟ้าอากาศ ก็บังคับให้การบินสำรวจต้องเป็นช่วงเดือน สิงหาคม-กันยายน นี้ แต่กว่าจะบินได้ ก็ต้องขนย้ายติดตั้งอุปกรณ์ ซึ่งอาจใช้เวลาร่วมเดือน จึงหมายความว่า หากจะเดินหน้าต่อจริง “นาซ่า” ก็ต้องเริ่มขนย้ายของมาที่ประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นอย่างช้าแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้เราตั้งหลักกันก่อนดีไหมว่า หากสมมติเรายอมให้ “นาซ่า” ขนของมาถึงไทยได้ทันต้นหรือกลางเดือนสิงหาคมแล้ว พอถึงเวลานั้น เราจะมี “เครื่องมือทางกฎหมาย” ใดที่จะมาดูแลควบคุม “ความมั่นคง” ของประเทศชาติ ไปพร้อมๆ กับการเปิดอภิปรายในสภา ได้หรือไม่ ?
ในขั้นแรก คนไทยควรต้องทราบข้อมูลสำคัญก่อนว่า ทาง สหรัฐฯ นั้น ได้ส่งหนังสือเสนอให้รัฐบาลไทยตอบรับเป็น “หนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต” (Exchange of Notes) ว่าด้วยคำขอของ “นาซ่า” ที่จะใช้ “อู่ตะเภา” มาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ซึ่งทางฝ่าย สหรัฐฯ ก็รอการตอบรับจากฝ่ายไทย และพร้อมจะถูกผูกมัดภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ
“- Area of Operation: …NASA…will file flight plans with Thai aviation authorities and strictly abide by any restrictions placed on flights…”
“- Compliance with Thai Law: While operating in Thailand, NASA and its partners will adhere to Thai law and closely coordinate its activities with the relevant authorities.”
(ดูเอกสารได้ที่http://bit.ly/NASAVP )
กล่าวโดยสรุป ก็คือ
– “นาซ่า” จะส่งมอบแผนเส้นทางการบิน (flight plans) ให้กับหน่วยงานฝ่ายไทย และจะปฏิบัติตามข้อห้ามเกี่ยวกับการบินใดๆ ที่ฝ่ายไทยกำหนดอย่างเคร่งครัด
– “นาซ่า” และผู้ร่วมโครงการจะเคารพปฏิบัติตามกฎหมายไทย และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด
อันที่จริงข้อความเหล่านี้ แม้จะไม่เขียนไว้ ก็ย่อมเป็นสิทธิของประเทศไทย ในฐานะรัฐที่มีอธิปไตยเหนือดินแดนที่จะบังคับได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การกำหนดไว้ เช่นนี้ ย่อมทำให้ชัดเจนว่า ทางสหรัฐฯ เองก็พร้อมที่จะให้ “นาซ่า” ปฏิบัติการภายใต้การควบคุมตามกฎระเบียบคำสั่งของฝ่ายไทย
เมื่อข้อเท็จริงเป็นดังนี้ ผู้เขียนจึงเสนอว่า หากคนไทย (ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือ ฝ่ายความมั่นคง) ไม่ได้ดูถูกสติปัญญาของคนไทยด้วยกันเองจนเกินไป ก็ขอให้ตั้งสติว่า “ฝ่ายความมั่นคงของไทย” ก็มี “เครื่องมือทางกฎหมาย” หลายชิ้นที่นำมาใช้ได้
เช่น “พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551” “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544” “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552” ตลอดจนกฎระเบียบอื่นๆ ของกระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร สามารถนำมาบังคับ ควบคุม ดูแล ให้ “นาซ่า” ปฏิบัติตามได้
สมควรย้ำว่า เมื่อปีที่แล้ว ตอนวิกฤตน้ำท่วม ไทยก็เคยให้ “องค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น” (JAXA) ส่งเครื่องบินเข้ามา “ถ่ายภาพความละเอียดสูง” ในบริเวณสำคัญของไทย เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และแม้การถ่ายภาพที่ว่าจะกระทบ “ความมั่นคง” แต่ฝ่ายบริหารของไทยก็สามารถ “บริหารจัดการ” ให้เครื่องบินของญี่ปุ่นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความมั่นคงของประเทศไทยได้ (ดูเอกสาร http://bit.ly/NASAVP )
ฉันใดก็ฉันนั้น หากเราระลึกได้ว่า เรื่องที่ “นาซ่า” จะเข้ามาศึกษาเมฆอากาศ ก็เพื่อประโยชน์ของคนในโลกที่จะสามารถรับมือเตรียมพร้อมกับภัยธรรมชาติได้แล้ว แม้การเข้ามาบินย่อมมองได้ว่ากระทบ “ความมั่นคง” แต่ก็ไม่น่าจะ “เกินปัญญา” ของฝ่ายบริหารของไทย ที่จะนำ “เครื่องมือทางกฎหมาย” มาใช้ “บริหารจัดการ” ให้ “นาซ่า” ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความมั่นคงของไทยอย่างครบถ้วนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
หรือหาก “ฝ่ายค้าน” คิดว่าตนรู้ดีกว่า ก็ไม่ต้องรอสภาเปิด แต่โปรดเสนอแนะมาให้ชัดเลยว่า มีสิ่งใดที่ฝ่ายบริหารของไทยควรจะได้ดำเนินการอย่างรัดกุมเป็นพิเศษ แทนที่จะได้แต่ถามลอยๆ และโยงประเด็นไปสู่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งไม่ได้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านความมั่นคงโดยเฉพาะแต่อย่างใด
หากเราทุกคนตั้งหลักได้เช่นนี้ ก็ไม่ผิดอะไรหากรัฐบาลไทยจะดำเนินการตอบรับให้ “นาซ่า” รีบขนของให้มาถึงไทยทันต้น-กลางสิงหาคม และเมื่อมาถึงแล้ว ก็พอดีกับที่สภาได้เปิดอภิปรายพูดย้ำกันให้ชัดเจนอีกครั้งว่า จะฝากให้ “ฝ่ายบริหาร” ดูแลเรื่องใดเป็นพิเศษ จากนั้น “ฝ่ายบริหาร” ก็ไปควบคุมดูแล “นาซ่า” แม้เวลา 2 เดือนอาจหดสั้นลง แต่ก็ยังไม่เสียเที่ยวที่เตรียมการมานับปี
ส่วนหาก “นาซ่า” จะดื้อดึงไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของฝ่ายไทย ก็เป็นปัญหาที่ “นาซ่า” ต้องขนของกลับไปเอง เพราะใน “หนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต” (Exchange of Notes) ทางสหรัฐฯ ก็ได้ยอมรับไว้แล้วว่า “นาซ่า” จะต้องปฎิบัติตามกฎหมายไทย
ก็หวังว่านักการเมืองไทยจะหยุดทำประเทศ “ชักกระตุก” โดยหันมารับผิดชอบในหน้าที่ตนเองตามกรอบของกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคง และประกาศให้โลกรู้ว่า บินมา “ไทย” นั้นไม่ได้ยากกว่าบินไป “ดวงจันทร์” !
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณี นาซ่า-อู่ตะเภา ดูได้ที่ http://bit.ly/NASAVP