ทุกวันนี้ “แท็บเล็ต” กลายเป็นอุปกรณ์ไอทีคู่กายของหลายคนและหลายองค์กรไปแล้ว ขณะที่หลายหน่วยงานรวมถึงรัฐบาลไทยเอง ก็มีนโยบายที่จะแจกแท็บเล็ตฟรีแก่นักเรียน ป.1 ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ และจะจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ในต่างประเทศนั้น ก็มีบางประเทศที่หันมาใช้ประโยชน์จากแท็บเล็ตมากขึ้น เช่น รัฐสภา “เนเธอร์แลนด์” ได้แจกไอแพดให้สมาชิกใช้งานเพื่อลดการใช้กระดาษ ขณะที่ตุรกีก็มีแผนแจกแท็บเล็ตประมาณ 12,000 เครื่อง ให้โรงเรียน 52 โรงใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ตามโครงการเพิ่มโอกาสและเทคโนโลยีของกระทรวงศึกษาธิการในปีนี้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติม)
ส่วนกระทรวงโทรคมนาคมของ “อินเดีย” ก็มีแผนแจกแท็บเล็ต 5 ล้านเครื่องให้นักเรียนในปีงบประมาณ 2555-2556 โดยคาดว่าแท็บเล็ตจะมีราคาเครื่องละประมาณ 2,750-3,500 รูปี หรือประมาณ 1,660-2,100 บาท (ดูข้อมูลเพิ่มเติม)
หรือ “เกาหลีใต้” ที่ประกาศว่าจะปรับตำราเรียนทั้งหมดให้อยู่ในรูปดิจิทัลภายในปี 2558 และสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาหันมาอ่านหนังสือเรียนและทำการบ้านโดยใช้แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ แทน
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมามีบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งที่นำแท็บเล็ตมาใช้งานในองค์กร ซึ่งต่างก็ได้เรียนรู้จุดดีจุดด้อยของแท็บเล็ตกันมาแล้วทั้งนั้น
สายการบิน “อเมริกันแอร์ไลน์” เป็นบริษัทแรกๆ ที่เอาแท็บเล็ตมาใช้ ซึ่งทำให้บริษัทเรียนรู้ว่าใช้ประโยชน์จากแท็บเล็ตได้อย่างไร และแท็บเล็ตมีจุดบกพร่องอะไรบ้าง
เรื่องแรกๆ ที่สายการบินได้รู้ก็คือ แท็บเล็ตไม่ได้เหมาะกับงานทุกประเภท เพราะนักบินอยากได้แท็บเล็ตแบบไฮเอ็นด์ เพื่อแทนการใช้ชาร์ทกระดาษแบบเดิม ส่วนบรรดาช่างและวิศวกรก็อยากได้อุปกรณ์ที่มีความทนทานมากกว่าแท็บเล็ตทั่วไป แต่เหล่าสจ๊วตและแอร์โฮสเตสกลับอยากได้แท็บเล็ตที่เล็กและเบา พกพาสะดวก ขณะที่ลูกค้าชั้นเฟิร์สคลาสและชั้นธุรกิจที่สายการบินให้ยืมใช้แท็บเล็ตระหว่างเดินทาง ก็ใช้แท็บเล็ตเพื่อดูหนังใหม่ๆ แต่ก็ต้องไม่เสี่ยงกับการละเมิดลิขสิทธิ์
มายา ลิปแมน ประธานฝ่ายข้อมูลของอเมริกันแอร์ไลน์บอกว่า สายการบินพยายามหาแท็บเล็ตที่เหมาะกับทุกคน และตอนที่อยู่ในห้องประชุม ก็อาจคิดว่าแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ที่เยี่ยมยอด แต่เมื่อเอามาใช้งานจริง ก็จะรู้ว่าอาจไม่เหมาะกับบางสถานการณ์
ตอนนี้บริษัททั่วทุกมุมโลกกำลังหันมาใช้แท็บเล็ตมากขึ้น ซึ่ง “ฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช” ประเมินว่า ประมาณ 25% ของคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานทั่วโลกตอนนี้เป็นแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ไม่ใช่คอมพิวเตอร์พีซีเหมือนในยุคก่อน
อย่างไรก็ตาม การหันมาพึ่งพาแท็บเล็ตมากขึ้น บรรดาบริษัทต่างๆ กลับทำอะไรผิดพลาดเหมือนๆ กัน เช่น ไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนว่าพนักงานจะใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร หรือบ้างก็ประเมินต้นทุนต่ำเกินไป
เว็บไซต์ “วอลล์สตรีทเจอร์นัล” ได้แจกแจงข้อผิดพลาดใหญ่ๆ ที่บรรดาบริษัทต่างๆ พบเหมือนกัน ซึ่งองค์กรที่กำลังอยากนำแท็บเล็ตมาในการทำงานบ้างควรจะตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่คนอื่นเคยเจอมาก่อน
ข้อผิดพลาดประการแรกที่พบเหมือนๆ กันก็คือ บริษัทไม่ได้วางแผนก่อนที่จะนำแท็บเล็ตมาใช้ในองค์กร
มีองค์กรจำนวนมากที่เริ่มใช้แท็บเล็ตโดยปราศจากยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งคริส เคอร์แรน ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและยุทธศาสตร์เทคโนโลยีของไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส์บอกว่า หลายบริษัทบอกว่าจำเป็นต้องใช้แท็บเล็ต ก็ตัดสินใจซื้อทันที 20,000 เครื่อง และรอให้คนอื่นมาบอกว่าจะใช้แท็บเล็ตเหล่านั้นยังไง ซึ่งที่สุดแล้วกลายเป็นความสิ้นเปลืองเปล่าๆ และยังทำให้ต้องผิดหวังกันอีกต่างหาก
นักวิเคราะห์แนะนำว่า องค์กรควรซื้อแท็บเล็ตจำนวนหนึ่งเพื่อให้พนักงานกลุ่มเล็กๆ แต่เป็นกลุ่มสำคัญขององค์กรลองใช้งานดูก่อนที่ขยายวงต่อไป โดยให้พนักงานกลุ่มนี้ลองใช้เพื่อดูว่าแท็บเล็ตทำงานอย่างไร และทำอย่างไรให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ก็ควรกำหนดนโยบายล่วงหน้าด้วยว่าใครจะใช้แท็บเล็ตบ้าง และจะบริหารจัดการกันอย่างไร
ข้อผิดพลาดประการถัดมาคือ ไม่เข้าใจว่าแท็บเล็ตทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ แม้ว่าแท็บเล็ตจะมีศักยภาพมากมายแค่ไหน แต่ก็ไม่ใช่อุปกรณ์ที่เหมาะกับงานทุกประเภท และบางครั้งก็ยังใช้แทนแล็ปท็อปไม่ได้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมหลายโปรแกรมไม่สามารถทำงานได้บนแท็บเล็ต ดังนั้น การส่งเอกสารจากคอมพิวเตอร์ทั่วไปมายังแท็บเล็ตอาจทำให้ข้อมูลบางอย่างหายไปได้
เคน ดูลานีย์ นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านไอที อธิบายว่า หากใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่งไฟล์บางไฟล์ ก็ไม่มีอะไรรับรองได้ว่าทุกอย่างในไฟล์นั้น จะถูกส่งถึงผู้รับที่ใช้แท็บเล็ตอย่างถูกต้องครบถ้วน บางบริษัทพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นเสมือนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือโปรแกรมบนเว็บที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์พีซีของตัวเองได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกแปลงให้เหมาะสำหรับการใช้งานบนหน้าจอที่เล็กกว่าพีซีทั่วไปได้ทั้งหมด
ไฮแอทโฮเทลคอร์ป บอกว่า พนักงานบางส่วนที่ใช้แท็บเล็ตเลือกใช้แอพพลิชั่นแบบนั้น แต่บางครั้งก็ไม่สามารถใช้โปรแกรมทั้งหมดได้หากไม่มีเมาส์หรือคีย์บอร์ด นอกจากนี้ โปรแกรมของพีซีส่วนใหญ่ก็ถูกออกแบบสำหรับหน้าจอขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้อ่านได้ยากหากมาอยู่บนหน้าจอขนาดเล็ก
นอกจากนี้ บริษัทที่ลองใช้แท็บเล็ตมาแล้วก็ยังเจอข้อผิดพลาดอีกอย่างที่เหมือนกันคือ การคาดหวังว่าจะหาแอพพลิเคชั่นทุกอย่างที่ต้องการได้ง่ายๆ
บางบริษัทคิดว่า จะหาแอพที่เหมาะสมกับความต้องการใช้งานได้อย่างง่ายดาย แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่มีเครื่องมือที่จะสร้างและอัพเดทแอพบนมือถือได้ด้วยตัวเอง
แม้ว่าแอพสโตร์ของไอแพดและแอนดรอยด์จะมีแอพพลิเคชั่นมากกว่าแท็บเล็ตแบบอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า แต่ทางเลือกเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดเหมือนกัน
“แจ๊คสัน คายัก” บริษัทผู้ผลิตเรือคายัก ที่จัดหาแท็บเล็ตประมาณ 130 เครื่อง ให้กับพนักงานของตัวเอง ก็พบกับปัญหาทำนองนี้ในช่วงแรกๆ เหมือนกัน เช่น การหาแอพให้เหมาะกับแท็บเล็ตและตรงกับความต้องการเฉพาะด้าน เช่น การบริหารจัดการการผลิต แต่บางแอพก็ไม่ได้สามารถทำงานได้เต็มที่เท่ากับโปรแกรมบนพีซี เช่น ไม่สามารถอัพโหลดขึ้นบล็อกหลายๆ รูปพร้อมกันได้ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดบริษัทก็สามารถหาแอพทุกอย่างที่ต้องการได้ในแอพสโตร์ และมีเพียงแอพเดียวที่ต้องสร้างสรรค์เอง คือ แอพที่ให้ข้อมูลของบริษัทแก่ลูกค้า
ความผิดพลาดที่คล้ายๆ กันที่บริษัทที่หันมาใช้แท็บเล็ตต้องเจออีกอย่างก็คือ ความคิดที่ว่า แท็บเล็ตมีราคาย่อมเยากว่าแล็ปท็อป
แท็บเล็ตราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,500 บาท อาจดูเย้ายวนใจ ถ้าเทียบกับราคาของแล็ปท็อปและคอมพิวเตอร์พีซี หากไม่ได้คิดถึงประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ว่า จะต้องเปลี่ยนแท็บเล็ตบ่อยกว่าเปลี่ยนเครื่องพีซี
บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์อย่าง “เอสเอพี เอจี” ได้แจกจ่ายแท็บเล็ตประมาณ 14,000 เครื่อง ให้กับพนักงาน พร้อมบอกว่าจะเปลี่ยนเครื่องทุกๆ 18-24 เดือน เพื่อให้ได้ใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์รุ่นล่าสุด ส่วนจะเอาเครื่องเก่าไปไหนก็เป็นเรื่องที่ยังเป็นปัญหาที่ต้องขบคิด ขณะที่ระบบเชื่อมต่อแบบไร้สายและแอพพลิเคชั่นสำหรับแท็บเล็ตก็เป็นเรื่องที่มีต้นทุนทั้งสิ้น
ด้าน “ริโก้ อเมริกา” ผู้ผลิตปรินเตอร์ ตัดสินใจอนุญาตให้พนักงานใช้แท็บเล็ตส่วนตัวได้โดยยังไม่ได้ซื้อเครื่องแจกพนักงาน ขณะเดียวกันบริษัทก็กำลังพิจารณาจัดหาแท็บเล็ตให้กับพนักงานขาย แต่จะรอจนกว่าแท็บเล็ตทำงานได้ทัดเทียมกับพีซี ก่อนที่จะแจกจ่ายแท็บเล็ตให้กับพนักงานทั่วประเทศ
คราวนี้ก็มาถึงข้อผิดพลาดประการสุดท้าย ที่หลายบริษัทที่ใช้แท็บเล็ตมีประสบการณ์ร่วมกันก็คือ การตัดสินใจผิดเรื่องความสะดวกของระบบสนับสนุนและความปลอดภัย
การอัดสารพัดข้อมูลลงในอุปกรณ์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ประโยชน์อุปกรณ์นั้นๆ แต่ก็ต้องมั่นใจว่าสามารถรักษาข้อมูลเหล่านั้นไว้ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการควบคุมดูแล หากพนักงานใช้แท็บเล็ตส่วนตัวมาใช้ในการทำงาน ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า หากแท็บเล็ตถูกขโมย เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีจะสามารถลบข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์โดยไม่ต้องแตะต้องตัวเครื่องได้หรือไม่
นอกจากนี้ พนักงานอาจสามารถดาวน์โหลดสารพัดโปรแกรมลงในแท็บเล็ต ซึ่งอาจเป็นฝันร้ายของระบบรักษาความปลอดภัยเน็ตเวิร์กองค์กร และยังทำให้เกิดประเด็นเรื่องการทำงานเข้ากันได้ เมื่อบริษัทจะต้องอัพเดทระบบปฏิบัติการและแอพพลิเคชั่น
ในกรณีของโรงแรมไฮแอทได้จัดการปัญหานี้ด้วยการใช้ระบบจัดการอุปกรณ์โมบาย ที่ทำให้องค์กรสามารถจัดการกับระบบปฏิบัติการหลายระบบได้อย่างราบรื่นมากขึ้น และจัดการเรื่องความปลอดภัย การสนับสนุนด้านเทคนิค และการดูแลติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย
ทั้งนี้ “แท็บเล็ต” ก็เหมือนกับอาวุธที่มีประโยชน์มากมหาศาล หากผู้ใช้รู้จักและใช้ให้เป็น แต่ในทางตรงกันข้าม “แท็บเล็ต” ก็คงเป็นแค่ “เครื่องประดับไอที” ชิ้นหนึ่ง ก่อนที่จะกลายเป็น “ขยะไอที” เมื่อมีกระแสความนิยมแกดเจ็ตใหม่แบบอื่นๆ เข้ามาแทน
ที่มา: หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล, www.todayszaman.com, www.thehindu.com, www.technovelgy.com