ThaiPublica > คนในข่าว > เส้นทางการเมือง 36 ปี ของ “เสนาะ เทียนทอง” มือปั้นนายกรัฐมนตรี…อะไรฉุดรั้งไม่ยอมวางมือ

เส้นทางการเมือง 36 ปี ของ “เสนาะ เทียนทอง” มือปั้นนายกรัฐมนตรี…อะไรฉุดรั้งไม่ยอมวางมือ

20 มกราคม 2012


“นักการเมืองอาวุโสก็ไม่ใช่อาวุโสเฉยๆ นะ ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นกันอยู่ทุกวันนี้ ที่วุ่นวายกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะนักการเมืองอาวุโสนี่แหละ ที่ทำกันอยู่ แต่มันคนละอาวุโสกับผม บางคนอาวุโส แต่ก็ยังมาทำความระยำให้กับบ้านเมืองอีก”

ระยะเวลาการเดินทางบนเส้นทางทางการเมืองอันยาวนานกว่า 36 ปีเต็ม (พ.ศ. 2519-2555) ของ “เสนาะ เทียนทอง” ทำให้เขาได้รับรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองไทยเป็นอย่างดี

ประสบการณ์ชีวิต ที่ผ่านมาทั้ง “ส.ส. ,รัฐมนตรี ,ฝ่ายค้าน, ฝ่ายรัฐบาล” ไปจนถึง “ผู้จัดการรัฐบาล” ซึ่งสามารถประกาศต่อหน้าประชาชนได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า “ปั้นนายกรัฐมนตรี” มาแล้วถึง 3 คน (บรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เป็นสิ่งการันตีถึงระดับฝีมือทางการเมือง ที่ทำให้ “เขา” เข้าใจสถานการณ์ของการเมืองไทย เป็นอย่างดีคนหนึ่ง

ทั้งหลายทั้งปวง ทำให้เสนาะมองปัญหาความขัดแย้งที่รุกรามบานปลายในขณะนี้ว่า ยังไม่ง่ายที่จะทำให้ยุติลงไป แต่ก็ไม่ยากที่ทุกฝ่ายจะทำให้มันคลี่คลาย

เสนาะ เทียนทอง เปิดใจกับ “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ถึง “ห่วง” สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้นักการเมืองวัย “77 ปี” (1 เมษายน 2477 – มกราคม 2555) อย่างเขายังมิอาจตัดสินใจวางมือจากการเมืองได้

นายเสนาะ เทียนทอง นักการเมืองอาวุโส
นายเสนาะ เทียนทอง นักการเมืองอาวุโส

ไทยพับลิก้า: เพราะอะไรนักการเมืองอาวุโสที่หลายฝ่ายเห็นว่าควรจะวางมือไปแล้ว กลับยังไม่วางมือทางการเมือง

ในส่วนของเรา ก็มองเห็นปัญหาของประเทศแล้ว ไม่มีทางอื่น ไม่มีทางแก้ มีการตั้งกลุ่มกันขึ้นมาเล่นงานกันอย่างนี้ เราก็เป็นห่วง และเราก็ยังเป็นห่วงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็อย่างเรื่องคอรัปชั่นตำแหน่งราชการ สมัยก่อนไม่มีหรอก นักการเมืองจะมาหากินกับการโยกย้ายข้าราชการ สมัยนี้บางทีคนแก่จะตายก็ยังเก็บทุกซี ไม่รู้จะเอาไปทำไม เดี๋ยวนี้ใครขึ้นมาเป็นใหญ่ก็มาคอรัปชั่นกัน คอรัปชั่นกันแม้แต่ตำแหน่งราชการ ดังนั้น เหล่านี้ต้องเลิกให้หมด ต้องขอกันเอาไว้ ซึ่งปัญหาพวกนี้ต้องรีบแก้ไข แต่เรื่องสำคัญก็คือความขัดแย้ง ที่ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้

ไทยพับลิก้า: ที่ว่าเป็นห่วงนั้นเป็นห่วงอย่างไร

ลองย้อนไปดูตอนสมัคร (นายสมัคร สุนทรเวช) ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็บอกกันว่าเป็นนอมินีของทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เมื่อไม่รู้จะเล่นงานอย่างไร ก็เอากฎหมายไปตีความ เล่นงานสมัคร ข่าวก็ออกไปว่า นายกฯ เมืองไทยถูกปลดเนื่องจากไปสอนเขาทำกับข้าว อายเขาไปทั่วโลก ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

พวกทางนี้ก็ไม่รู้จะเอาใคร ก็ไปเอาน้องเขยของอดีตนายกฯ (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี) ขึ้นมา เรื่องทั้งหมดก็แค่พยายามจะจับหนูตัวเดียวที่ชื่อทักษิณ ก่อนหน้านี้ทำปฏิวัติแล้วก็ยังไม่พอ ยังเอาอำนาจมาตั้งองค์กรอิสระเพิ่มเติม มีศาลฎีกาฝ่ายการเมือง เป็นศาลเดียวที่ตัดสินแล้วอุทธรณ์ ฎีกาอะไรไม่ได้ แล้วก็ไม่มีหลักฐานเรื่องอื่นที่จะเอาเขาเข้าคุกได้ ก็มาเอาเรื่องที่ไร้สาระ เอาเรื่องที่ไปเซ็นชื่อยินยอมให้เมียไปซื้อที่ดินมาเอาเขาติดคุก

“มันชัดเจนว่าเป็นการร่วมมือกันกลั่นแกล้ง ผลที่สุด ทุกฝ่ายก็เอาตรงนี้มาทำมาหากินกัน เอะอะอะไรก็โยนให้ทักษิณ จริงๆ ตอนนั้น ถ้าไม่ทำอะไรมาก คือทักษิณกำลังจะจางไปอยู่แล้ว ถ้าไม่เล่นเขาถึงขนาดนี้ ยิ่งหลังจากยุบพรรคพลังประชาชนแล้ว ถ้าไม่มาปู้ยี่ปู้ยำต่อเนื่อง ป่านนี้มันก็ไม่มีเรื่องอะไรแล้ว แต่พอไปยุบพรรคพลังประชาชนแล้วก็ยังไปใช้ทั้งเงินทั้งตำแหน่งมาล่อซื้อผู้แทนฯ ออกไปจากพรรคเขาอีก บางคนตัวเองเป็นหัวหน้าพรรคแล้วสอบตก ส.ส. ก็ยังไปซื้อ ส.ส. 4-5 คน จากพรรคเขาแล้วไปแลกเป็นรัฐมนตรีใหญ่ๆ ได้ นี่มันทำได้อย่างไร แล้ว กกต. รู้ๆ อยู่ กลับหลับหูหลับตา แล้วยังปิดหูอีก เหล่านี้นักการเมืองอาวุโสหลายคนรับไม่ได้ โดยเฉพาะผมนี่รับไม่ได้”

ไทยพับลิก้า: นี่คือสาเหตุ ที่ทำให้คนอย่างเสนาะ เทียนทอง ยังวางมือไม่ได้

นักการเมืองอาวุโสก็ไม่ใช่อาวุโสเฉยๆ นะ ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นกันอยู่ทุกวันนี้ ที่วุ่นวายกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะนักการเมืองอาวุโสนี่แหละ ที่ทำกันอยู่ แต่มันคนละอาวุโสกับผม บางคนอาวุโส แต่ก็ยังมาทำความระยำให้กับบ้านเมืองอีก

“คนที่ยังรักทักษิณอยู่ ซึ่งไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะถูกทำมาหมดทุกอย่างแล้ว ก็พากันตั้งองค์กรขึ้นมา แล้วเอาสีเสื้อเป็นสัญลักษณ์มาต่อสู้กับอีกสีหนึ่งที่ตั้งมาก่อนหน้า ไอ้ทางโน้นยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบิน ยึดอะไรต่ออะไร เสียหายเรียกว่าประเมินค่าไม่ได้ แล้วก็ดึงเอาสถาบันลงมาด้วย ไอ้ทางนี้ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็ทำประชด … พอทำแล้วก็ดันไปขัดกับสถาบันอีก มันก็เลย …

ไทยพับลิก้า: แต่บางส่วน ก็ถูกมองว่ายังยึดติดกับตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองอยู่หรือเปล่า

ถูก แต่แม้ผมจะยังอยู่กับการเมือง ก็ระมัดวังตัวเองแล้วว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ตั้งแต่จับมือกับทักษิณแรกๆ (พรรคไทยรักไทย พ.ศ. 2544) ตอนทักษิณเป็นนายกฯ ก็ไม่รับตำแหน่งอะไรแล้วนะ ตอนไทยรักไทยตอนนั้น คนเดียวเล็กๆ เท่านี้ดูแลผู้แทนฯ ตั้งร้อยกว่าชีวิตนะ ทุกอย่างพิสูจน์กันได้

“ผมเดินออกจากพรรคชาติไทย พรรคชาติไทยจากพรรคใหญ่ก็กลายเป็นพรรคเล็ก … เจ๊งหมด ผมเดินออกจากพรรคความหวังใหม่ ตั้งแต่วันนั้นความหวังใหม่ก็หมดนะ นี่พิสูจน์กันง่ายๆ พิสูจน์กันให้เห็นๆ บางทีผู้แทนฯ มีเงินอย่างเดียวมันไม่ได้ เราต้องถือความถูกต้องเป็นหลัก”

ไทยพับลิก้า: ในมุมมองของคนที่เห็นการเมืองมายาวนานที่สุดคนหนึ่ง มองสถานการณ์การเมืองขณะนี้อย่างไร

ก็ทุกวันนี้ ระบบการเมืองที่เราประกาศใช้กันอยู่คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ ก็เป็นหลักของการเมืองไทย ของการปกครอง ก็ทราบกันดีอยู่ว่าเรามีฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งเราก็ใช้ทั้ง 3 อำนาจหลักนี้ในการอยู่ร่วมกัน เมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ เราก็มีกฎหมาย ตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลักของบ้านเมือง แล้วก็มาออกกฎหมายที่จะได้มาซึ่งสถาบันเหล่านี้

ตุลาการ … โอเค ก็มีระบบของเขาอยู่ แต่นิติบัญญัติกับบริหารนี่เป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะนิติบัญญัติต้องได้มาโดยประชาชน ทั้งที่มีอยู่คือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา ที่เขาเรียกสภาสูง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมันต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็รวมไปถึงการได้มาซึ่งฝ่ายบริหารด้วย แต่มันได้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่คือ เมื่อปี 2540 ที่มีการออกกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 กันออกมา จากการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

แต่ทีนี้ คนร่างฯ ผู้ร่างฯ ก็ไปเอาคนที่มีความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ดีกับการเมืองกับผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว อะไรก็ซื้อเสียงมา ไอ้นั่นขึ้นมาไอ้นี่ขึ้นมาก็ไม่ชอบ ก็ไปออกกฎหมายที่เกิดปัญหา จนทำให้บ้านเมืองแตกแยก ทำให้ความเป็นธรรมไม่เกิด ด้วยการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมือง และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ องค์กรอิสระเหล่านี้ให้อำนาจที่สามารถใช้ได้มหาศาล … โอ้ย อำนาจมหาศาล (เสียงสูง) มันก็ทำให้เกิดความแตกแยก คนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเช่น กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก็อยู่ที่ว่าจะเข้าข้างไหน

… เมื่ออำนาจสูงสุดอยู่ที่คนไม่กี่คน อย่าง กกต. 5 คน ให้ดูแลการเลือกตั้งทั้งหมด ถามว่ามี 5 คน ก็ 10 ตา เท่านั้น แล้วเรื่องก็เต็มบ้านเต็มเมือง มีการร้องเรียนกันไปทั่ว เลือกตั้งแข่งกันก็ฟ้องร้องกัน ยัดข้อหา ยัดอะไรต่อมิอะไรจนต้องวิ่งเต้นกัน มีการเสียเงินเสียทองกันมากมาย … ถึงไอ้ 5 คนนี้ กกต. 5 คน ไม่ได้เอา แต่ถามว่าในกระบวนการที่มีพนักงานสอบสวน มีอะไรต่างๆ นั้น กกต. 5 คน คุมได้ไหม (หัวเราะ) … ใช่ไหม แต่ก็ให้อำนาจกันจนขนาดว่ายุบพรรคการเมืองได้ ตัดสินให้ใบเหลืองใบแดงใครก็ได้ มันก็เกิดความไม่เป็นธรรม

“กฎหมายใดๆ ก็แล้วแต่ ในเมื่อร่างขึ้นมาแล้วแต่กลับคุมไม่อยู่ แม้เจตนารมณ์ที่พูดกันมาว่าอย่างนั้นอย่างนี้มันดี แต่ถามว่าคนที่มาดำรงตำแหน่ง และใช้อำนาจนี้มันเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ร่างไหม มันไม่ใช่ มีอย่างที่ไหน องค์กรอิสระให้ใบเหลือง ใบแดงได้แล้วยังไม่พอ ยังยุบพรรคการเมืองได้ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นตัวเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบไม่คาดฝันขึ้นกับการเมืองไทย”

นายเสนาะ เทียนทอง นักการเมืองอาวุโส

ไทยพับลิก้า: การเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเมืองที่ชัดเจนเลยคือเรื่องอะไร

ก็แน่นอน (ตอบสวนทันที) มันมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของนักการเมืองเลย พอกฎหมายเป็นอย่างนี้ขึ้นมา มันก็ทำให้เงินเข้าไปมีส่วนกับนักการเมือง อย่าง … เฮ้ย ลื้อเลือกตั้งเข้ามา ลื้อเป็นพรรคใหญ่เว่ย อั๊วก็หาเรื่องยุบพรรค พอยุบพรรคก็ให้ผู้แทนมีสิทธิ์ไปเลือกพรรคอื่นอยู่ภายใน 60 วัน ตรงนี้แหละที่ทำให้ต่อไปนี้ผู้แทนฯ ไม่ต้องไปหาเสียง ไม่ต้องไปซื้อเสียงจากชาวบ้านแล้ว … ไม่ต้อง … เพราะเดี๋ยวนี้เขาซื้อผู้แทนฯ กันเลย

อย่างที่ไปยึดสนามบินแล้วก็ไปยุบพรรคพลังประชาชน ก็ทำให้เกิดงูเห่าขึ้นมา พวกที่เลือกตั้งเข้ามาทั้งจากเขต ทั้งจากอะไร ก็พากันย้ายไปอยู่อีกพรรคหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ถึงกับฆ่ากันอะไรกัน วินาศสันตะโรกันก็เพราะสิ่งเหล่านี้ … ทีนี้มันก็เกิดความปั่นป่วน เกิดผู้แทนฯ งูเห่า จนประชาชนไม่รู้จะเลือกใคร ดังนั้นใครเอาเงินมาให้มาก ก็จะเลือกคนนั้นแหละ

ไทยพับลิก้า: แต่กฎหมายที่ออกมาก็เพื่อทำให้เกิดความรัดกุม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เงินหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว

ก็ใช่ … แต่ที่เป็นปัญหาด้วยก็คือกรรมการ ที่ไปมองแบบสายตาสั้น เหมือนม้าใส่ไอ้โม่ง ออกกฎหมายขัดประเพณี ขัดวัฒนธรรม ออกกฎหมายยิบยับมากำกับคนเล่นการเมือง แล้วก็ตีความกันไป แม้กระทั่งแค่พรรคพวกตาย จะเอาหรีดไปวางก็ยังไม่ได้ … มันบ้าแล้วหรือ

จะไปทำบุญก็ไม่ได้ โบร่ำโบราณเขาให้คนที่มีฐานะ มีกำลังมากก็มาช่วยพัฒนาบ้านพัฒนาเมือง อย่างผมเคยสร้างศาลา สร้างโบสถ์ สร้างอะไร แล้วก็ดึงเอาพรรคพวก คนมีบารมีเข้ามา ตอนนี้ไปทำสิ … ผิดกฎหมาย แค่พิมพ์ปฏิทินแจก ให้ชาวบ้าน ก็เอามาคิดเป็นค่าใช้จ่าย

“กฎหมายนี่แหละ มันทำให้ผู้แทนฯ สมัยนี้เป๋ไป ขายเนื้อขายตัวกันได้ ไปยุบพรรคเขา อะไรเขาแล้วทำให้ผู้แทนฯ ย้ายพรรคได้ เดี๋ยวนี้ผู้แทนฯ มันไม่ได้ไปซื้อเสียงชาวบ้านนะ แต่คนที่จะจัดตั้งรัฐบาลอะไรต่างๆ เขาซื้อผู้แทนฯ กันเลย ไปวิ่งให้ กกต. ยุบพรรคนั้น ยุบพรรคนี้แล้วก็มาซื้อผู้แทนฯ ไป”

ไทยพับลิก้า: มองว่าต้นเหตุของปัญหาคือกฎหมาย

ตัวนี้ต่างหาก ที่ทำให้ความขัดแย้งแตกแยกในบ้านในเมืองมีมากขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะมีอำนาจ ก็จะมีการตีความไปทางนั้น

ไทยพับลิก้า: แล้วความขัดแย้งทั้งหลายตรงนี้ จะสามารถแก้ไขกันได้อย่างไร

ถ้าพูดตรงๆ คือ กฎหมายจะต้องเป็นธรรม โดยเฉพาะระบบ กกต. ที่เอามาใช้กันอยู่ บังคับแม้กระทั่งทำบุญ หรือแม้แต่เอาหรีดไปวาง กฎหมายที่มันขัดประเพณีอยู่ทั้งหลาย ดังนั้น เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้การเมืองมันเป็นไปตามธรรมชาติและประเพณีวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องยุบพรรคนี่สำคัญ เรื่ององค์กรอิสระนี่ เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าถ้าเป็นพวกใครก็ช่วยพวกนั้น

“ทุกอย่างมันก็เกิดมาจากตรงนี้ เริ่มต้นจากตรงนี้ มันก็เกิดกลุ่มหนึ่งตั้งเป็นเสื้อสีนั้นสีนี้กันขึ้นมา แล้วก็อ้างสถาบัน อีกฝ่ายก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต่อสู้ ตั้งอีกสีหนึ่งขึ้นมา มีการทำประชดกันขึ้นมา มันก็จะเหมือนกับเขมรไง ที่แบ่งประเทศเป็น 2 ฝ่าย 3 ฝ่าย 4 ฝ่าย แต่ตอนนี้เขมรมัน 3 ฝ่ายนะ แต่ของเรานี่ไม่รู้กี่ฝ่ายแล้ว ในระบบราชการ ในกองทัพ หรือประชาชนเองก็ไม่รู้ว่ากี่ฝ่าย”

ไทยพับลิก้า: โอกาสที่ประเทศจะกลับสู่ภาวะปกติ ในสายตาของนักการเมืองอาวุโส

วันนี้สีหนึ่งทำให้ประชาชนเขาเริ่มจับได้ว่า อันนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน แต่ไปยึดทำเนียบฯ ไปยึดสนามบิน ไปยึดอะไรต่างๆ เกิดความเสียหายประเมินค่าไม่ได้ ทีนี้อีกฝ่ายก็ทำประชดสิ … ประชด (น้ำเสียงขึงขัง) เพราะเขาจะจับหนูตัวเดียวแต่ต้องเผาบ้านเผาเมืองกัน ก็มีการทำประชดจนไปกระทบกับสิ่งที่เป็นหลักของบ้านของเมือง

ทีนี้ ในการที่จะให้กลับมา ต้องหันหน้าเข้ามาหากันอย่างเดียว จะไปออกกฎหมาย หรือไปตั้งเป็นคณะกรรมการชุดนั้นชุดนี้แล้วมาชี้ผิดชี้ถูกไม่ได้ เพราะถ้าไปชี้ผิดชี้ถูกปั๊บ … ใครก็ไม่ยอม ไม่ว่าชี้ฝ่ายไหนแหละก็ไม่ยอมทั้งนั้น แต่มันต้องออกมาในลักษณะว่าผู้ใหญ่ไม่กี่คนมาคุยกัน พรรคการเมืองก็ต้องมาคุยกัน แล้วออกมาในลักษณะของพี่เอ๋ย … น้องเอ๋ย … เราต้องกลับไปสู่ระบบนะ เรามีพ่อแห่งชาติ มีแม่แห่งชาติ เหมือนเป็นพ่อแม่เรา เราก็ต้องกลับไปอยู่ในกรอบของคุณธรรม ของกติกา ของประเพณี ซึ่งพวกนี้มันอยู่เหนือกฎหมายนะ และอันไหนที่ไม่เกิดคุณธรรม ไม่ถูกต้อง ไม่มีศีลธรรม ต้องลดนะ ทุกฝ่ายต้องมีความสำนึก ความรับผิดชอบ และต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เหมือนที่โบราณเขาบอกว่าเลี้ยงช้างกินขี้ช้าง ถ้าทำงานบริษัท บริษัทก็เหมือนช้าง ถ้าบริษัทเจริญเติบโตก็จะมีการกำหนดขึ้นเงินเดือนให้ นั่นแหละคือขี้ช้าง ประเทศชาติก็เหมือนช้างใหญ่ตัวหนึ่ง ถ้าช้างจะมีขี้ให้เรากิน เราก็ต้องเลี้ยงช้างให้อ้วนให้พีเสียก่อน ครอบครัวก็เหมือนกับช้างตัวหนึ่งเหมือนกัน ถ้าครอบครัวยากจนก็เหมือนช้างผอม

“เสนาะ เทียนทอง” เล่าเบื้องหลังรีเทิร์นซบ “ทักษิณ”

นายเสนาะ เทียนทอง นักการเมืองอาวุโส

เลือกตั้งทั่วไปปี 2544 เสนาะ เทียนทอง หัวหน้ากลุ่มวังน้ำเย็น ตัดสินใจเดินออกจาก “พรรคความหวังใหม่” ของ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” มารับตำแหน่ง “ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย” ผลักดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 จนประสบความสำเร็จ

และ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ที่อยู่ในประวัติ “ปั้นนายกฯ” ของเสนาะ เทียนทอง

แต่แล้ว “มิถุนายน 2548” เสนาะ เทียนทอง ได้ลุกขึ้นกลางที่ประชุมรัฐสภาและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศอย่างรุนแรง

เสนาะคือหนึ่งในผู้จุดประเด็น “จุดตาย” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องของการบริหารประเทศเหมือนบริหาร “บริษัท”

หลังจากนั้น เสนาะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย และตัดสินใจขึ้นเวทีปราศรัยของ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งถือเป็นชนวนในการโค่นล้ม “รัฐบาลทักษิณ” ในเวลาต่อมา

แต่แม้ครั้งนั้น ดูเหมือนเสนาะจะตัดขาดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปแล้ว ใครเลยจะคาดคิดว่าหลังจากนั้นไม่นาน ในการจัดตั้ง “รัฐบาลพรรคพลังประชาชน” ของสมัคร สุนทรเวช ซึ่งถือเป็นรัฐบาลในเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ” เสนาะ เทียนทอง หัวหน้า “พรรรคประชาราช” ในขณะนั้น จะตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน โดย “อุไรวรรณ เทียนทอง” ภรรยาของเสนาะ ขึ้นเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน”

แม้หลังจากนั้นจะเกิด “วิกฤติ” กับรัฐบาลพรรคพลังประชาชน จนต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ “ยุบพรรค” และต้องตั้งพรรคเพื่อไทยขึ้นมาใช้ในการต่อสู้

ปรากฎว่าก่อนการเลือกตั้ง “3 กรกฎาคม 2554” เสนาะ เทียนทอง ตัดสินใจพาสมาชิกพรรคประชาราช และนักการเมืองใน “ตระกูลเทียนทอง” เข้าร่วมชายคาพรรคเพื่อไทย และผลักดัน “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

“ผมได้เซอร์เวย์ด้วยตัวเองทั้งหมดแล้ว ว่าปัญหาทุกอย่างของบ้านเมือง ที่วุ่นวายกันอยู่ มันเกิดขึ้นจากอะไร” เสนาะเริ่มเล่าถึงเหตุผลในการตัดสินใจ

“เมื่อเรามองปัญหาแล้ว ทำให้เรารับไม่ได้กับที่มาทำกันอย่างนี้ เราก็รู้คน รู้พฤติกรรม รู้อะไรหมด ดังนั้น กลุ่มคนพวกนี้เราทำงานด้วยไม่ได้ มันทำให้เราไม่มีทางเลือก!”

เสนาะขยายความว่า “ทางเลือก” ในยามที่วิกฤติความขัดแย้งทางความคิด แบ่งประชาชนออกเป็น 2 ข้าง มันทำให้เขาต้องพิจารณาเลือกอยู่กับข้างที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน

“… เมื่อเสียงประชาชนยังแซ่ซ้อง และสนับสนุนพรรคเพื่อไทยโดยทักษิณ เราก็ต้องเอาเสียงประชาชนเป็นหลัก”

เสนาะเล่าว่า ทันทีที่เข้าไปอยู่ในสีเสื้อของพรรคเพื่อไทย ภารกิจของเขาคือการโปรโมทเอา “เด็กผู้หญิง” คนหนึ่งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

“จริงๆ ปู (ยิ่งลักษณ์) ก็เก่ง เขาก็ไม่ใช่เด็กนักหรอก เขาทำงานมาหลายอย่าง แต่คนจะเป็นผู้นำประเทศ จะต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ อีกเยอะ … มันต้องมีประสบการณ์ และต้องมีบารมี”

เสนาะบอกอีกว่า “ในทางการเมือง ประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งลักษณ์เขายังไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ที่จะไปต่อสู้อะไรต่างๆ นานา ที่สำคัญคือเรื่องบารมี คือในการเลือกใช้คน มันเป็นเรื่องใหญ่ งานใดๆ ก็แล้วแต่ จะสำเร็จได้ก็ต้องรู้จักเลือกใช้คน โดยเฉพาะข้าราชการทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกองทัพ ดังนั้นจะต้องมีบารมี…

… แต่วันนี้ (วันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงมกราคม 2555) เขาถือว่าใช้ได้ … ถึงจะขาด แต่เราก็ได้ช่วยกันสร้างเพิ่มเติมให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพรรคเพื่อไทยเองต้องช่วยกัน อย่าไปแตกแยกกัน อย่าไปเห็นแก่ตำแหน่งเล็กๆ น้อยๆ ไอ้นั่นไอ้นี่แล้วก็มาขัดแย้งกัน … ในพรรคต้องแข็งแรงก่อนเป็นอย่างแรก” เสนาะทิ้งท้ายอย่างนั้น