วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ
http://www.facebook.com/verapat.pariyawong
[email protected]
๑. อธิษฐานนำ: “กฎหมาย” แทน “กฎตามใจฉัน”
แม้บ้านเมืองจะแสนวุ่นวายในยามนี้ แต่ผมมีความหวังว่าภาวะวิกฤตได้เสนอโอกาสให้สังคมไทยหันมาพึ่ง “กฎหมาย” แทน “กฎตามใจฉัน” กันมากขึ้น
พอมีคนคิดว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” บริหารน้ำท่วมผิดพลาดไม่เป็นธรรม ก็ใช้สิทธิทางศาล ทั้งที่จะเอาผิดทางแพ่ง อาญา และปกครอง ไม่ว่าจะเพื่อเรียกค่าเสียหาย หรือเพียงเพื่อขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลทำให้ถูกต้อง (ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า การฟ้องเพื่อให้รัฐทำให้ถูกต้องนั้นมีทางทำได้ แต่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นยาก เพราะมีกฎหมาย เช่น มาตรา 43 ของ กฎหมายป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารกำหนดค่าเสียหายไว้แล้ว ศาลจะไปกำหนดแทนไม่ได้
ดูเพิ่มเติมที่นี่)
พอมีคนคิดว่า “คุณทักษิณ” จะถูกช่วยให้พ้นผิด ก็ขู่จะฟ้องศาลให้ตรวจสอบว่ากฎหมายอภัยโทษ หรือกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ? (ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจะด่วนสรุปว่าศาลมีอำนาจพิจารณาได้หรือไม่ได้เสมอไปนั้น คงเป็นความคิดที่คับแคบเกินไป ดูเพิ่มที่นี่ และที่นี่ )
แม้แต่กรณี “รัฐบาลอภิสิทธิ์” สลายการชุมนุมแต่คดี 91-92-93 ศพในประเทศไปไม่ถึงไหน ก็มีการพูดเรื่องฟ้องคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ! (เรื่องนี้ผมเห็นว่ามีช่องทางเป็นไปได้แต่ยากมาก ดูเพิ่มที่นี่)
๒. อธิษฐานนึก : “คดีอากง” สู่ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
ล่าสุด เมื่อเห็นว่า “อากง” ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปี จากข้อความ sms 4 ฉบับ (หรือ 1 ฉบับที่แตกเป็น 4 ตอนก็ไม่ชัด) ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า สำหรับผู้ที่ต้องการจะช่วย “อากง” นั้น นอกจากจะรณรงค์ทางการเมืองให้แก้กฎหมาย หรือ อภัยโทษ นิรโทษ ลดโทษ หรือสู้คดีอุทธรณ์ฎีกา (ซึ่งอากงอาจต้องรอในคุกอีกนาน) นั้น “อากง” จะสามารถฟ้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าบทบัญญัติกฎหมายที่ศาลนำมาลงโทษอากงนั้น เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ?
ย้ำนะครับ ผมไม่ได้ถามนะครับว่า ความมีอยู่ของ “กฎหมายหมิ่น” มาตรา 112 โดยตัวมันเองขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และผมก็ไม่ได้ถามซ้ำกับคนอื่นว่าเราควรจะรักษา หรือแก้ไข หรือเลิก มาตรา 112 หรือไม่ และผมไม่ได้ถามเสียด้วยซ้ำว่าศาลที่พิพากษาจำคุกอากงนั้นตัดสินคดีอย่างยุติธรรมหรือไม่ ผมไม่ได้ถามสิ่งเหล่านี้นะครับ
แต่ผมกำลังถามถึง “สิทธิของอากง” หรือแม้แต่ “สิทธิของผู้ที่เกรงว่าตนจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับอากง” ที่จะใช้ช่องทางตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 หรือ มาตรา 212 ประกอบกับมาตรา 6 มาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา ๓๙ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า ตัวบทกฎหมายที่ศาลนำมาลงโทษอากงนั้น ไม่ว่าจะในเรื่องกระบวนพิจารณารับฟังหลักฐานก็ดี เรื่องการกำหนดความรุนแรงของโทษก็ดี หรือแม้แต่วิธีการนับกระทงรวมโทษก็ดีนั้น ละเมิดสิทธิเสรีภาพในทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ได้หรือไม่ ?
การที่ประชาชนจะนำคดีไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น แม้จะเป็นไปได้แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซ้ำยังจะโดนคดีบรรทัดฐานขวางกั้นเอาง่ายๆ แต่สมมติว่าผ่านขั้นตอนและศาลรับฟ้อง อากงก็อาจยก “รัฐธรรมนูญ มาตรา 29” ที่บัญญัติว่า กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของอากงนั้น จะมีได้ก็แต่เพียง “เท่าที่จำเป็น” เท่านั้น ไม่ใช่ว่าสภาจะมีอำนาจตรากฎหมายอะไรตามใจก็ได้
ทั้งนี้ การฟ้องลักษณะดังกล่าวต้องไม่ใช่การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบดุลพินิจของศาลอาญา และต้องไม่ใช่การขอให้ศาลวินิจฉัยว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เช่น มาตรา 112 นั้น จะมีอยู่ได้หรือไม่ (เพราะคำตอบชัดเจนว่ามีได้ และควรมีเสียด้วยซ้ำ) เพียงแต่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าหากจะมี มาตรา 112 อยู่ต่อไป กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่มีลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินไปกว่า “เท่าที่จำเป็น”
แต่หาก มาตรา 112 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเกินไปกว่า “เท่าที่จำเป็น” ศาลก็ต้องวินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สภาต้องไปแก้กฎหมายใหม่ จะให้รุนแรงเข้มข้นเข้มงวดก็ทำได้ แต่ต้องมี“เท่าที่จำเป็น” เท่านั้น (ส่วนจะมีผลย้อนหลังไปถึงผลคำพิพากษาคดีอากงหรือไม่นั้นก็น่าถกเถียงกันได้)
ปัญหาคือ เกณฑ์ “เท่าที่จำเป็น” ตาม “รัฐธรรมนูญ มาตรา 29” นี้จะวัดกันอย่างไร? แน่นอนว่ากฎหมายที่ห้ามจุดพลุหลังสองทุ่ม หรือ ห้ามขับรถเปลืองน้ำมันเกินวันละสองลิตรนั้น อาจตอบได้โดยวง่ายว่าเกินกว่า “เท่าที่จำเป็น”
แม้กรณีคดี “อากง” อาจมองเป็นเรื่องยาก แต่ศาลไทยเองก็ต้องพัฒนาตนเองไม่ต่างไปจากศาลในสังคมอื่นที่ต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีในการลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์ให้หลักแหลม ลึกซึ้ง และแยบยลเพื่อนำมาใช้วัดความยุติธรรมว่าเกณฑ์ “เท่าที่จำเป็น” นั้น ต้องเท่าไหน
หากจะยกหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ศาลหลายประเทศใช้ ก็อาจกล่าวถึง “หลักความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ส่วนตน” กับ “หลักความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการและเป้าหมาย” มาพอสังเขปดังนี้
สมมติมีผู้โต้แย้งว่า “โทษประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติด” นั้นรุนแรงเกินความจำเป็น ศาลอาจมองได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ขัดต่อเกณฑ์เพราะ “ได้สัดส่วน” ระหว่าง “ประโยชน์สาธารณะ” และ “ประโยชน์ส่วนตน” เช่น ยาเสพติดหนึ่งกระสอบที่ขายไปสามารถทำลายครอบครัวของผู้คนได้ทั้งชุมชน ทำลายทั้งร่างกาย อาชีพการงาน หรือแม้แต่ชีวิต ก่อให้เกิดอาชญากรรมและค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษา ในขณะที่ประโยชน์ส่วนตนนั้นแทบจะไม่มีอะไรนอกไปจากการที่ผู้ค้าได้เงินตอบแทนหรือผู้เสพรู้สึกพอใจ ตรงกันข้าม หาก “ยาเสพติด” บางประเภทมีคุณเป็นยารักษาโรคและค้าไปเพื่อรักษาเยียวยาผู้ครอบครอง กฎหมายก็อาจทบทวน “ความได้สัดส่วน” ใหม่ ดังที่หลายประเทศลดหรือยกเลิกความผิดในการค้าหรือครอบครองยาเสพติดที่นำไปใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
นอกจากนี้ ศาลยังอาจมองว่าโทษประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติดนั้น มี “ความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการและเป้าหมาย” ที่เหมาะสม กล่าวคือ ยาเสพติดนั้นเคลื่อนย้ายและกระจายขายกันได้ง่าย แอบทำโดยลับและซุกซ่อนสะดวก แต่มีราคาค่าตอบแทนสูงมาก หากกฎหมายกำหนดโทษเบา ผู้คนย่อมมีแรงจูงใจที่จะค้ายา ติดคุกเพียง 1 ปี อาจมีเงินใช้ได้ 10 ปี กฎหมายก็ย่อมกำหนดโทษที่มีรุนแรงเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนเกรงกลัวต่อการตัดสินใจค้ายา
ลองหันมามอง “คดีอากง” หากอากงปรึกษาทนายนำคดีไปฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจะนำเกณฑ์ข้างต้นมาพิจารณาว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีลักษณะเกินเลยไปกว่าเกณฑ์ “เท่าที่จำเป็น” ตาม“รัฐธรรมนูญ มาตรา 29” ได้หรือไม่ ?
หากคดีอากงมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมพึงอธิบายให้กระจ่างและลึกซึ้งว่า ข้อความ sms 4 ฉบับ (หรือ 1 ฉบับที่แตกเป็น 4 ตอน) แม้จะมีเนื้อหาที่น่าเกลียดชังขัดต่อความรู้สึกของคนในสังคมเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อได้ถูกส่งไปยังผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีแรงจูงใจจะส่งต่อ (ซ้ำยังรีบแจ้งความดำเนินคดีเสียด้วยซ้ำ) จะถือว่ากระทบไปถึง “ประโยชน์สาธารณะ” ของสังคมไทยอย่างรุนแรงกว้างขวาง หรือไม่ อย่างไร ?
เช่น หากศาลอธิบายได้กระจ่างชัดว่าคนไทยเป็นคนที่มีสภาวะจิตที่อ่อนไหวต่อข้อความดังกล่าวขนาดที่ว่าเมื่อเห็นข้อความแล้วถึงกับล้มป่วยหรือชีวิตเดือดร้อนวุ่นวาย หรือหากศาลมองว่าสังคมไทยมีมูลเหตุที่จะหลงเชื่อข้อความได้ง่ายและมีแรงจูงใจที่จะแพ่กระจายข้อความหรือสามารถถูกข้อความโน้มน้าวให้ลุกขึ้นต่อต้านล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวางจนสังคมวุ่นวาย ก็ย่อมมีมูลเหตุของ “ประโยชน์สาธารณะ” ที่จะเข้าไปจำกัด “ประโยชน์ส่วนตน” ของผู้ส่งข้อความที่อาจทำไปโดยเชื่อว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความเห็นหรือระบายอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ อีกทั้งยังสมเหตุสมผลที่จะใช้ “วิธีการ” เด็ดขาดรุนแรงเพื่อให้เป็นไปตาม “เป้าหมาย” ที่ยากจะควบคุมดูแล
แต่ตรงกันข้าม หากศาลมองว่าผู้คนในสังคมไทยมีวุฒิภาวะทางสติปัญญาและอารมณ์เพียงพอที่จะกลั่นกรองข้อมูลจากข้อความ โดยมิได้วิตกล้มป่วยหรือหลงเชื่อ หรือมีแรงจูงใจให้ลุ่มหลงส่งต่อเผยแพร่ข้อความแต่โดยง่าย อีกทั้งธรรมชาติของการส่งข้อความไม่ได้มุ่งทำโดยแอบลับ แต่มุ่งทำให้ผู้อื่นได้รับรู้ จึงพบเห็นและจับได้ง่าย อีกทั้งหากศาลเชื่อว่าคนไทยโดยพื้นฐานล้วนจงรักภักดี ต่างรักและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ และร่วมกันสอดส่องดูแล ตักเตือนต่อว่า หรือแม้แต่ดำเนินคดีกับผู้ส่งข้อความดังกล่าวแล้วไซร้ ก็ย่อมอาจมองได้ว่า มาตรา 112 ดังที่เป็นอยู่มีลักษณะที่ “ไม่สมสัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ส่วนตน” อีกทั้งยัง “ขาดความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการและเป้าหมาย”
กล่าวอีกทางให้เข้าใจง่ายก็คือ แม้จะลดโทษสูงสุดให้เหลือเพียง 1 ปี ความดีและความรักที่สังคมไทยมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะยังคงปกป้อง “เป้าหมาย” ของความสงบเรียบร้อยได้ดังเดิม โดยที่ไม่ได้ทำให้ “ประโยชน์สาธารณะ” เสียไปแต่อย่างใด เพราะหากประชาชนคนไทยต่างจงรักภักดีอย่างแท้จริง และมีสติอารมณ์ที่มั่นคง ไม่ว่าใครจะถูกจำคุกสัก 1 ปี หรือ 20 ปี ประชาชนคนไทยก็จะยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ดังเดิม และช่วยกันสอดส่องดูแลบ้านเมืองดั่งที่เคยได้กระทำมา ทั้งยังจะดีต่อทั้ง “ประโยชน์สาธารณะ” และ “ประโยชน์ส่วนตน” โดยสังคมไทยไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า มาตรา 112 รุนแรงหรือไม่เป็นธรรม หรือถูกมาใช้ทางการเมืองหรือไม่
หากศาลพิจารณาดังนี้ ก็ย่อมวินิจฉัยได้ว่ากฎหมายที่เกินเลยไปกว่าเกณฑ์ “เท่าที่จำเป็น” ตาม “รัฐธรรมนูญมาตรา 29” ย่อมเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากจะใช้บังคับต่อไปในอนาคต สภาก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง“เท่าที่จำเป็น” เท่านั้น
๓. อธิษฐานนาน: ขอศาลเป็นที่พึ่งของประชาชน
ประเด็นชวนคิดข้างต้นนี้เป็นสภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสังคมที่มี “พลวัตรทางประชาธิปไตย” เมื่อผู้คนหลายล้านคนหลายล้านมุมมองความคิดต่างเกิดแก่เจ็บตายไปตามยุคสมัย ย่อมไม่มีกฎหมายหรือความคิดใดที่ถูกต้องเป็นธรรมหรืออ้างว่าจำเป็นได้ตลอดกาล
“ศาล” ไม่ได้เป็นร้านขายคำพิพากษา แต่เป็นศูนย์กลางของสังคมที่คอยเชื่อมโยงความสูงส่งแห่งหลักการให้สอดรับกับมโนธรรมสำนึกของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ศาลคือผู้ที่ต้องแสวงหาความจริงแห่งยุคสมัยและอธิบายความถูกต้องให้แก่สังคมในยามที่มืดมนและสับสน
บรรดาตุลาการเพศชายอายุช่วง ๖๐ ปีทั้งเก้าท่าน ณ ศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ จะต้องเชื่อมโยงกฎหมายเข้ากับมโนธรรมสำนึกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสตรีมีครรภ์ที่ประสงค์จัดการกับร่างกายของตนไม่ต่างไปจากคนไข้ หรือผู้รักร่วมเพศที่ประสงค์จดทะเบียนสมรสไม่ต่างจากคู่รักหญิงชาย หรือนักเลงปืนที่ต้องการพกพาของล้ำค่าติดตัวไม่ต่างจากนักเลงพระ และรวมไปถึงบรรดามนุษย์ผู้มีจิตใจและความคิดเห็นต่อ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ไม่ว่าจะทางใด เพราะศาลจะแสวงหาแต่เพียงกฎหมายที่ประชาชนเห็นว่าควรเป็นไม่ได้ แต่ต้องยึดมั่นในมนุษย์ดังที่เป็นเช่นกัน
เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญปีนี้ ผู้เขียนขอตั้งจิตอธิษฐานให้อำนาจแห่งความดีทั้งปวงโปรดดลบันดาลให้ประชาชนมีมโนธรรมสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์เป็นที่พึ่งพา และมีศาลที่ยึดมั่นรักษาสิทธิเสรีภาพของพวกเราเป็นที่พักพิงสืบไป