ThaiPublica > เกาะกระแส > ประชุมจีบีซีไทย-กัมพูชา ร้อนตั้งแต่ไม่เริ่มเจรจาข้อยุติมาตรการคุ้มครองชั่วคราวศาลโลก 5 ข้อ

ประชุมจีบีซีไทย-กัมพูชา ร้อนตั้งแต่ไม่เริ่มเจรจาข้อยุติมาตรการคุ้มครองชั่วคราวศาลโลก 5 ข้อ

21 ธันวาคม 2011


การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (GBC) ครั้งที่ 8 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ถือเป็นการประชุมคณะนายทหารแบบครบทีมครั้งแรก นับตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนโยบายที่สวนทางรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้การประชุมครั้งนี้เป็นที่จับตาจากประชาชนในประเทศทั้ง 2 รวมถึงนานาประเทศ

เพราะหากย้อนดูสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ยังครองอำนาจ ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น ยิ่งช่วงต้นปี 2554 การปะทะกันระหว่างทหารไทย – กัมพูชา เกิดขึ้นหลายครั้งและดุเดือด หลังจากศึก “ภูมะเขือ” บ้านภูมิซรอล-บ้านซำเม็ง-บ้านโดนเอาว์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษและส่งผลกระจายมายังบริเวณพื้นที่ปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควาย จ.สุรินทร์

ทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ต้องสั่งเพิ่มกำลังทหารหลัก ขนรถถัง และปืนใหญ่เข้าไปยังพื้นที่แนวชายแดนไทยบริเวณการปะทะ พร้อมส่ง หน่วยรบพิเศษ, อาร์ดีเอฟ หรือ หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว จากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) ขณะที่กัมพูชาซึ่งมี พล.ท.ฮุน มาเนต รอง ผบ.ทบ.ลูกชายสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชามาบัญชาศึกนี้ด้วยตัวเอง

จากเหตุการณ์ปะทะของไทย-กัมพูชา ทำให้ทหารและประชาชนทั้ง 2 ประเทศต้องสังเวยชีวิตรวมกันเกินร้อย ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลให้นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และในฐานะประธานอาเซียน ต้องยื่นมือเข้ามาระงับเหตุพร้อมหาวิธีแก้ปัญหาโดยการส่งชุดสังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามายังพื้นที่ของทั้งไทยกัมพูชาเพื่อคอยจับตาว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุชวนทะเลาะกันแน่

นอกจากนี้ กัมพูชายังได้ฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) และออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อลดการเผชิญหน้าของทหารไทยและกัมพูชาตามแนวชายแดน

ดังนั้น ประเด็นวัตถุประสงค์การประชุม จีบีซี ต้องการแสวงหาการพัฒนาและความร่วมมือระหว่างกองทัพแห่งชาติกัมพูชากับกองทัพไทย รวมทั้งเพื่อพิจารณาข้อตกลง 2 ด้าน คลอบคลุม 17 ข้อ ที่ได้ผ่านกรอบการหารือในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว

ประกอบด้วย ด้านความมั่นคงและรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน 1.ความร่วมมือด้านแรงงาน 2. การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 3.การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอื่นๆ ในพื้นที่ชายแดน 4.ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย 5.ความร่วมมือในการเก็บกู้ กวาดล้างทุ่นระเบิด 6.ส่งเสริมความมั่นคงทางทะเล 7.การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยทหารและตำรวจของกัมพูชากับหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยในพื้นที่ชายแดน 8.ประเด็นอื่นๆ

สำหรับความร่วมมือด้านอื่นๆ ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือด้านการค้าบริเวณชายแดน 2.ความร่วมมือด้านเกษตร 3.ความร่วมมือด้านสาธารณสุข 4.ความร่วมมือด้านท่องเที่ยว 5.ความร่วมมือด้านรักษาสิ่งแวดล้อม 6.ความร่วมมือด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 7. ความร่วมมือด้านบรรเทาภัยพิบัติ 8.ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารสาธารณะ 9.เรื่องอื่นๆ

ส่วนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่าง 5 ข้อ นั้น คือ 1.การปรับกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายที่ประจำการในพื้นที่เขตปลอดทหาร 17.3 ตางรางกิโลเมตร 2.รายละเอียดในการเข้าปฏิบัติงานของผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซีย-ไทย -กัมพูชา ฝ่ายละ 9 คน รวม 27 คน 3.จุดตรวจร่วม 3 จุด ประกอบด้วย ประตูเหล็ก เขาช่องบันไดหักวัดแก้วสิขาคีรีสวาระ 4.การจัดระเบียบวัดแก้วศิขาคีรีสวาระ ตลาด และชุมชนโดยรอบปราสาทพระวิหาร 5.การออกหลักเกณฑ์ในการเข้าออกพื้นที่ปราสาทพระวิหารของเจ้าหน้าที่องค์การยูเนสโกทำให้ คำสั่งศาลฯ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของการประชุมว่าทั้งไทยและกัมพูชาจะมีข้อสรุปร่วมกันอย่างไร

ทั้งนี้การปรับกำลังทหารในพื้นที่ไทยมีความเป็นห่วงคือบริเวณภูมะเขือ ผามอดีแดงซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางทหาร มีความอ่อนไหว ในขณะที่พื้นที่ปลอดทหารดังกล่าว ยังคาบเกี่ยวพื้นที่พิพาทชุมชนบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสวาระที่มีการละเมิดข้อตกลงโดยตั้งชุมชนกัมพูชาถาวร ฝ่ายไทยมีการประท้วงหลายครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร บริเวณรอบปราสาทเขาพระวิหารที่เป็นหัวใจหลักที่กัมพูชาต้องการ

พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ :http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2009/12/03/images/news_img_89574_1.jpg
พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ :http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2009/12/03/images/news_img_89574_1.jpg

กาปรระชุมครั้งนี้ “บิ๊กอ๊อด”พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะนำทัพคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ฝ่ายไทย เดินทางไปประชุมที่กรุงพนมเปญ ประกอบด้วย “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.) “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) “บิ๊กหรุ่น” พล.ร.อ. สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) “บิ๊กเฟื่อง” พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) ร่วมด้วย “บิ๊กเปี๊ยก” พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม “บิ๊กน้อย” พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯโดยมี “บิ๊กแป๊ะ”พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม “บิ๊กเยิ้ม” พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ล่วงหน้าไปประชุมเอกสารในการประชุมก่อนแล้ว

จากข้อมูลหากต้องถอนกำลังทหารและเอาพลเรือนเข้าไปทำหน้าที่แทน คาดว่ากำลังตำรวจกัมพูชาพร้อมที่จะเข้าไปทำหน้าที่มากกว่า 1,000 นาย แต่สำหรับทางตำรวจภูธรของไทยมีกำลังไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องใช่ตำรวจตระเวชายแดน(ตชด.)เข้าไปเสริม แต่กัมพูชา จะเห็นพ้องกับไทยหรือไม่ เพราะการใช้ตชด.ก็คงไม่แตกต่าง ทำให้การเจรจาครั้งนี้อาจถึงขั้นสะดุดล้มได้

ยิ่งหากไม่สามารถส่งผู้สังเกตการณ์ลงพื้นที่ได้ ไทยอาจโดนข้อหาขัดคำสั่งศาล และอาจส่งผลกระทบในการต่อสู้ “คดีปราสาทพระวิหาร”

ผนวกกับ เหตุการณ์ล่าสุดที่ทหารกัมพูชาจากกองพันป้องกันชายแดน (พัน ปชด.303)จ.เกาะกง ใช้อาวุธปืนประจำกาย AK-47 ยิงเฮลิคอปเตอร์แบบเบลล์ 212 กองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรี-ตราด ที่ลำเลียงเสบียงและอาหารแห้งไปส่งให้ทหารพรานนาวิกโยธิน ที่เนิน 326 บ้านเจ็กลัก ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนเปิดฉากประชุม จีบีซี โดยทาง พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมยืนยันว่าบินล้ำเข้าเขตแดนกัมพูชาทำให้ต้องยิง ฮ.ดังกล่าว ซึ่งไทยก็ได้ยิงตอบโต้เช่นกัน

ทว่าข้อมูลจากพล.ร.ท.พงษ์ศักดิ์ ภูรีโรจน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (ผบ.นย.)ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรี-ตราด (กจต.) ที่ยืนยันว่าไม่ได้บินล้ำเขตแดนเข้าไป และฮ.เสบียงไม่ได้ยิงตอบโต้เพราะไม่มีการติดอาวุธ

ทำให้การประชุม จีบีซี ครั้งที่ 8 เริ่มร้อนระอุตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ส่วนผลเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาจะลงเอยอย่างไร เพราะเท่าที่ดูบางจุดยุทธศาสตร์ไทยอาจเสียเปรียบในการเจรจาครั้งนี้

ป้ายคำ :