ThaiPublica > จับเท็จ: บุคคล > บุคคลสาธารณะ > อานันท์ ปันยารชุน

อานันท์ ปันยารชุน

18 กันยายน 2014


นายกรัฐมนตรีคนที่ 18

นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของไทย อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศเยอรมนี

เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 และพฤษภาทมิฬ ทั้งยังได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ประจำปี พ.ศ. 2540

ประวัติ

อานันท์ ปันยารชุน เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2475 เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 12 คน ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ชาวไทยเชื้อสายมอญ กับคุณหญิงปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร) ชาวไทยเชื้อสายจีน (แคะ) ซึ่งตัวเขาเองมีเชื้อสายจีนมาจากยายซึ่งใช้แซ่เล่า

 

นายอานันท์สมรสกับ ม.ร.ว. สดศรี จักรพันธุ์ มีบุตรี 3 คนคือ นางนันดา ไกรฤกษ์ และนางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ มีหลาน 3 คนคือ น.ส. ทิพนันท์ จากนางนันดา ซึ่งสมรสกับ นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ และ ด.ญ. ศิริญดา และ ด.ช. ธนาวิน จากนางดารณี ซึ่งสมรสกับ ดร. ชัชวิน เจริญรัชต์ภาคย์

 

การศึกษา

  • เริ่มเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนประถมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนถนนสุรศักดิ์ที่เชื่อมต่อระหว่างถนนสีลมและถนนสาทร 
  • ในปี 2486 เข้ารับการศึกษาระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ (เที่ยบเท่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในปัจจุบัน)
  • ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองย้ายเข้ารับการศึกษาในชั้นมัธยม 4 (มัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนนันทศึกษาเป็นการชั่วคราว
  • จึงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จนจบมัธยม 7 (มัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปัจจุบัน)
  • เดินทางไปศึกษา ณ โรงเรียนดัลลิช (Dulwich College) ประเทศอังกฤษในปี 2491
  • จากนั้นไปศึกษาต่อที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร จากดัลลิชคอจเลจ ปี 2495
  • และปริญญาตรีด้านกฎหมาย (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อ พ.ศ. 2498

 

การทำงาน: ราชการ และธุรกิจ

 

หลังจบการศึกษา อานันท์เข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ 

  • นายอานันท์เริ่มเข้ารับราชการในปี 2498 เป็นข้าราชการชั้นโท 
  • ต่อมาในปี 2502 ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ 
  • ในปี 2507 ดำรงตำแหน่งเลขานุการเอกและที่ปรึกษา คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย ประจำสหประชาชาติ 
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2510 จากนั้นย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ
  • ในปี  2518 อานันท์ ปันยารชุน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางไปเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเดินทางไปสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา
  • ในปี 2510 นายอานันท์เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต รักษาการผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูตประจำประเทศแคนาดา
  • ในปี 2515 เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา และผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ค  
  • ในปี  2519 นายอานันท์ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะถูกสั่งพักราชการในปี 2520 เนื่องจากถูกกล่าวหาโดยรัฐบาลขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียร ว่ามีแนวคิดฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์
  • จากนั้นในปี 2520 ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศเยอรมนี และดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตพิเศษประจำกระทรวงการต่างประเทศ
  • และออกจากราชการในปี 2522 

 

นายอานันท์ หันมาทำงานด้านธุรกิจ ร่วมงานกับกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน จนกระทั่งเป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเมื่อ พ.ศ. 2534 และดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

การทำงาน: ด้านการเมือง

นายอานันท์เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย สมัยแรกตั้งแต่ 2 มีนาคม 2534 ถึง 21 เมษายน 2535 และสมัยที่สองตั้งแต่ 10 มิถุนายน 2535 ถึง 1 ตุลาคม 2535

 

อานันท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรกระหว่างวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 ถึง 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 จากการเสนอชื่อโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์เช่นกัน ทั้งเคยร่วมงานกับนายอานันท์ เมื่อ พ.ศ. 2514

 

ณะพันโทสุจินดา (ยศขณะนั้น) เป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน และนายอานันท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ผลจากการเลือกให้นายอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในตอนนั้นช่วยให้ท่านได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนแรกที่เกิดภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสามัคคีธรรมได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด จำนวน 79 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคกลับไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ หลังจากนางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ เป็นหนึ่งในบัญชีดำ ผู้ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับการค้ายาเสพติด

 

พรรคร่วมเสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วยพรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร จึงสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พลเอกสุจินดาเคยประกาศว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกล่าวในเวลาต่อมาว่า จำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ"

 

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างรุนแรง มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวงเพิ่มขึ้นจนถึงห้าแสนคน จนนำมาสู่การใช้กำลังปะทะ และปราบปรามในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หรือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

 

ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง พลเอกสุจินดาประกาศลาออกจากตำแหน่ง ฝ่ายพรรคร่วมเสียงข้างมาก ร่วมกันสนับสนุนให้ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้วนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ได้ตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทนที่จะเป็นพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์

 

นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยแรก

 

นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด และนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 20

 

พ.ศ. 2551 อานันท์ได้รับการติดต่อจาก พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี ให้เข้าร่วมแผนการณ์ล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่อยู่ระหว่างรอเสนอต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และให้อานันท์ ปันยารชุนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

 

งานด้านอื่นๆ 

ในยุคที่มีกระแสความต้องการให้มีการปฏิรูปการเมือง สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือที่เรัยกกันทั่วไปว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วม ในการออกความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์ นายอานันท์มีบทบาทสำคัญคือ ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

 

ด้วยผลงานด้านต่างๆ ที่นายอานันท์ได้ทำมา ทำให้นายอานันท์ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจในปี 2540 ได้รับการประกาศเกียรติคุณต่างๆ รวมทั้งปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันศึกษาหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 20 สถาบัน นายอานันท์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ (ชั้น 3) มหาวชิรมงกุฎ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ทั้งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศอิตาลี เกาหลี อินโดนีเซีย เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น และในกรณีของอังกฤษนั้น ได้รับ Honorary Knight Commander of the Civil Division of the Most Exellent Order of the British Empire (KBE) ซึ่งถ้าเป็นคนสัญชาติสหราชอาณาจักร ก็จะมีตำแหน่งเป็น Sir

 

ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/ และ http://guru.sanook.com/4312/ชีวประวัติของ-นายอานันท์-ปันยารชุน/

ภาพจาก https://www.youtube.com/all_comments?v=ScXACAlFrlg

 

Homepage:

ป้ายคำ :