ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > คสช.ส่งทหารเจรจาผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ฯ

คสช.ส่งทหารเจรจาผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ฯ

4 สิงหาคม 2014


บริบท

จากเหตุการณ์ที่ทางทหารเข้าประกาศกฎอัยการศึก และประกาศเข้าบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แทนรัฐบาลชั่วคราว ที่มีรองนายกฯ นายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล ทำหน้าที่รักษาการแทน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ที่พ้นจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลายคนเรียกการเข้มาของทหารในครั้งนี้ว่า “รัฐประหาร” 

 

เป็นที่แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ได้คว่ำรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) มีการปิดสื่อที่แม้จะเป็นระยะเวลาไม่กี่วันก็ถือว่ากระทบสิทธิของประชาชน สิทธิในการรับรู้ข่าวสาร มีการคุมตัวบุคคลหลายคนไปกักตัว อีกทั้งมีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามผู้คนออกจากเคหะสถานหลังเวลา 22.00 น. 

 

ผลจากกฎอัยการศึก เหล่านี้ริดรอนสิทธิอันพึงมีของประชาชนในภาวะปกติ สร้างความไม่พอใจให้กับหลายต่อหลายคนโดยเฉพาะขั้วตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาของทหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้พรากเอา “ประชาธิปไตย” ไป เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่า หน้าที่ของทหารคือปกป้อประเทศชาติ เป็นงานราชการคนละส่วนกับงานด้านการเมือง ดังนั้นทหารไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือแทรกแซงทางการเมือง 

 

 

แม้ทางกองทัพจะยืนยันว่าสิ่งนี้คือการแก้ปัญหาให้กับสภาวะทางการเมืองที่หาทางออกไม่ได้ของไทยก็ตามภายหลังจากการประกาศยึดอำนาจของ คสช. เพียงไม่กี่วัน การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารก็เป็นภาพที่ให้เห็นตลอดทั้งสัปดาห์ แม้จะมีการแจ้งเตือนจากทาง คสช. โดยออกประกาศฉบับที่ 7/2557 “ห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

และทางเจ้าหน้าได้ชี้แจงว่า ที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เพราะขณะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ปฏิบัติงานภายใต้กฎอัยการศึก ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในทุกพื้นที่ของประเทศ การชุมนุมที่ขัดประกาศของ คสช. นั้นหากมีการปะทะกันจะไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้

 

การนัดรวมตัวกันของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ไม่เอา” รัฐประหารนั้นมีให้เห็นอยู่ตลอดสัปดาห์นับตั้งแต่เกิดการรัฐปะหาร และครั้งนี้ (การชุมนุมเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 57) ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้ากำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม

 

การเผชิญหน้ากันระหว่างทหารกับผู้ชุมนุม

 

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เวลาประมาณ 16.00 น. ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารได้เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นการนัดรวมตัวต่อเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวาวนนี้ โดยผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณสกายวอล์ค และบริเวณป้ายรถเมล์หน้าโรงพยาบาลราชวิถีต่างชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร และตะโกนขับไล่ทหาร

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแนวกั้นอยู่รอบวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งถนนราชวิถี นอกจากนี้ตามรายงานจากโพสทูเดย์ออนไลน์ ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 พบว่า ทหารได้นำรถบรรทุกน้ำ และรถติดเครื่องขยายเสียงมาจอดบริเวณฝั่งถนนพญาไท พร้อมประกาศให้มวลชนยุติการชุมนุม และกลับบ้าน

 

และในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ได้มีการชุมนุมคู่ขนานของกลุ่มผู้เห็นต่าง จนเกือบมีการปะทะกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์โดยการสนธิกำลังเพิ่ม ต่อมาในเวลา 18.30 น. มวลชนที่มาร่วมชุมนุมจึงทยอยสลายตัว

วิเคราะห์ข้อมูล

ได้มีการเผยแพร่การเจรจาของทหารกับผู้ชุมนุมในโลกออนไลน์ มีใจความเบื้องต้นดังนี้
 

 

“มากันอีกแล้ว เกรงใจประชาชนที่เค้าอยู่กันบ้าง เค้าจะกลับบ้านรถราติดไปไหนไม่ได้ BTS ก็ต้องปิด ช่วยลงมาดูด้วยครับ ช่วยมาโห่ไล่พวกนี้หน่อยครับ ที่มันทำบ้านเมืองเดือดร้อน คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ…ยังเปิดสิทธิ เสรีภาพให้กับประชาชน ในการที่จะทำมาหากินใช้ชีวิตปกติ นี่แหละครับการที่ทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตตามปก ก็ต้องมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความคิดเห็นต่าง คิดเห็นขัดแย้งมาก่อกวน ผมขอเชิญชวนพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่บริเวณนี้ลงมาเถอะครับมาดูไอ้พวกหน้านี้หน่อย…คนที่ไม่อยากให้บ้านเมืองสงบ มันมีแกนนำไม่กี่คน พวกนี้ได้รับเงินมาทั้งนั้น มันไม่มีใครรักชาติจริง…”

 

ทั้งนี้เวลา 21.50 น. ในวันดียวกัน พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษกกองทัพบก ได้ออกมาชี้แจงถึงการทำหน้าที่ของ คสช. ที่ทำเพื่อหาทางออกให้แก่บ้านมือง และทำอย่างเต็มที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ  และจากเหตุล่าสุดที่มีการชุมนุมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้มีการกล่าวยืนยันว่าการดำเนินการจะเป็นไปโดยไม่ให้เกิดการกระทบการทั่ง ใช้การ “เจรจา” เป็นหลัก และกล่าวเตือนว่าหากชุมนุมยืดเยื้อถึงเวลา 22.00 น. จะมีความผิดฐานออกนอกเคหะสถานตามการประกาศใช้เคอร์ฟิว

 

สรุป

โดยความหมายของการเจรจานั้น โดยรวมแล้วเป็นการกระทำที่มุ่งลดความขัดแย้ง เพื่อสร้างข้อตกลงให้เกิดความพึงพอใจจากฝ่ายต่างๆ

 

การที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้เกิดการปะทะกันทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ผู้ชุมนุมสลายตัว โดยมีการกล่าวว่า “…จะใช้การเจรจาเป็นหลัก…” แต่ในสถานการณ์จริง พบว่าบทสนทนาที่ใช้ในการเจรจามีถ้อยคำยั่วยุให้ประชาชนอีกฝ่ายเข้ามาปะทะด้วยวาจากับอีกฝ่าย เช่น การกล่าวว่า “ช่วยลงมาดูด้วยครับ ช่วยมาโห่ไล่พวกนี้หน่อยครับ ที่มันทำบ้านเมืองเดือดร้อน” หรือ “ผมขอเชิญชวนพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่บริเวณนี้ลงมาเถอะครับมาดูไอ้พวกหน้านี้หน่อย…คนที่ไม่อยากให้บ้านเมืองสงบ ”

 

ดังนั้น จากแถลงการณ์ที่ว่า “และสถานการณ์ล่าสุดที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (วันที่ 26 พ.ค.57) คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง โดยขั้นตอนการปฏิบัติจะใช้การเจรจาทำความเข้าใจเป็นหลัก” ของทาง คสช. จากเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 จึงอยู่ในเกณฑ์  “เป็นเท็จ”

 

ป้ายคำ :