ThaiPublica > เกาะกระแส > ชาวเชียงรากใหญ่คัดค้านโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ทำประชาพิจารณ์บิดเบือน ระบุเป็นพื้นที่สีเขียวและจะสู้จนถึงที่สุด

ชาวเชียงรากใหญ่คัดค้านโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ทำประชาพิจารณ์บิดเบือน ระบุเป็นพื้นที่สีเขียวและจะสู้จนถึงที่สุด

11 มกราคม 2015


ชาวบ้านตำบลเชียงรากใหญ่คัดค้านการสร้างศูนย์จัดการขยะ
ชาวบ้านตำบลเชียงรากใหญ่คัดค้านการสร้างศูนย์จัดการขยะ

ชาวบ้านตำบลเชียงรากใหญ่รวม 7 หมู่บ้านคัดค้านการสร้างโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า เหตุอยู่ติดชุมชนและสร้างบนพื้นที่น้ำท่วม อีกทั้งชาวบ้านยังได้รับผลกระทบจากควันไฟที่มีบุคคลเข้าไปเผาหญ้าในพื้นที่โครงการในช่วงเวลากลางคืนติดต่อกันตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ล่าสุดวันที่ 2 มกราคมไฟลามจนเกือบไหม้บ้านและปั้มน้ำมัน

จากนโยบายการจัดการขยะซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลปัจจุบัน ระยะยาวคือการสร้างโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่ยั่งยืนนั้น ล่าสุดจังหวัดปทุมธานี โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก ได้ทำข้อตกลงสร้างโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว โดยจะสร้างบนเนื้อที่ 193 ไร่ หมู่ 3 ตำบลเชียงรากใหญ่ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557

ในขณะที่ชาวบ้านตำบลเชียงรากใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน มีประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 6,000 คน และหากรวมเด็กด้วยจะมีประชากรกว่า 10,000 คน เพิ่งรับทราบว่าจะมีโครงการฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 หลังจากที่อบต. เชียงรากใหญ่มีหนังสือแจ้งว่าจะมีประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 “โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการ องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากใหญ่” โดยบริษัท ปทุมธานี คลีน เอนเนอร์จี จำกัด

พื้นที่โครงการศูนย์จัดการขยะขนาด 193 ไร่ จากด้านที่ติดกับหมู่บ้านอภิเชษฐ์ธานี
พื้นที่โครงการศูนย์จัดการขยะขนาด 193 ไร่ จากด้านที่ติดกับหมู่บ้านอภิเชษฐ์ธานี
พื้นที่โครงการสร้างศูนย์จัดการขยะด้านที่อยู่ติดถนนสายหลัก
พื้นที่โครงการสร้างศูนย์จัดการขยะด้านที่อยู่ติดถนนสายหลัก

ณ วันประชาพิจารณ์นั้นมีชาวบ้านเข้าร่วมฟังไม่ถึง 200 คน แต่กลับมีหนังสือพิมพ์ระบุว่า โครงการดังกล่าวประชาชนเห็นชอบแล้วโดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน โดยชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า “ในวันนั้นมีคนลงชื่อชื่อไม่ถึง 20 ด้วยซ้ำ โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าลงชื่อเพื่อรับเอกสารประกอบการประชุม ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นของโครงการฯ ความหนา 10 หน้ากระดาษ A4”

ด้านนายจะโนทัย อ่างแก้ว ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าข้อมูลจากประชาพิจารณ์ทำให้ทราบว่าโรงงานแห่งนี้จะรับขยะทั้ง 1,800 ตันต่อวันของจังหวัดปทุมธานีมาเทกองแล้วคัดแยกขยะเพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า 2 แบบ คือ ไฟฟ้าที่ได้จากก๊าซชีวมวลซึ่งมาจากการหมักขยะ ประมาณ 6 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าที่ได้จากการเผาขยะแบบ gasifier ประมาณ 4 เมกะวัตต์ แล้วขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งกำลังการผลิตที่ไม่ถึง 10 เมกะวัตต์นี้ทำให้โครงการดังกล่าวไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ

“เมื่อสร้างโรงงานได้จริงอาจผลิตไฟฟ้าได้ไม่ถึง 9 เมกะวัตต์ด้วยซ้ำ เพราะคุณภาพขยะของไทยไม่ดี เผาไหม้ยากเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นขยะเปียก” นายจะโนทัยกล่าว

พื้นที่เกษตรกรรมใกล้พื้นที่โครงการสร้างศูนย์จัดการขยะ
พื้นที่เกษตรกรรมใกล้พื้นที่โครงการสร้างศูนย์จัดการขยะ

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิรดี ศรีโอภาส มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอภิเชษฐ์ธานี อยู่ติดกับพื้นที่โครงการศูนย์จัดการขยะ กล่าวว่า พื้นที่นี้น้ำท่วมทุกปี โดยปี 2554 น้ำท่วมถึง 2 เมตร อีกทั้งโรงงานขยะจะก่อผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ทั้งเรื่องการคมนาคม ที่เกิดจากขบวนรถขยะ กลิ่นเหม็น แมลงและสัตว์พาหะนำโรค การปนเปื้อนของเสีย โลหะหนัก และสารพิษสู่แหล่งน้ำ ดิน และพืชผักซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เนื่องจากพฤติกรรมไม่คัดแยกขยะของสังคมไทยซึ่งอาจทำให้ขยะอันตรายปนอยู่กับขยะทั่วไป

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การเผาขยะนั้นต้องใช้ความร้อนสูงถึง 850 องศาเซลเซียสถึงจะไม่เกิดไดอ๊อกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงกังวลว่าหากมีขยะอันตรายปนเปื้อนมาด้วยจริง เถ้าถ่านจากการเผาก็จะมีโลหะหนักปนเปื้อนด้วย ซึ่งหากเถ้าถูกทิ้งกองไว้ใกล้ๆ ชุมชนก็จะส่งผลให้เด็กๆ มีความพิการทางสมองได้ ที่สำคัญการเผาและการหมักขยะจะทำให้เกิดซัลเฟอร์ไดออกไซต์ และมีเทน ซึ่งจะทำให้เกิดฝนกรด และอาจเกิดไฟไหม้ได้เช่นเดียวกับแพรกษา

เกษตรกรรมอาชีพหลักของชาวเชียงรากใหญ่
เกษตรกรรมอาชีพหลักของชาวเชียงรากใหญ่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้ชาวบ้านกว่า 10,000 คนในตำบลเชียงรากใหญ่ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น โหระพา คะน้า ผักบุ้ง และนาข้าว เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำจืด และมีคลอง คู พรุนอยู่ทั่วพื้นที่ นอกนั้นก็จะประกอบธุรกิจส่วนตัว รับจ้าง รับราชการ โดยที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เพราะเป็นพื้นที่สีเขียวตามผังเมือง แต่เนื่องจากผังเมืองหมดอายุไปแล้วจึงอาจเป็นช่องว่างที่ทำให้โรงงานขยะนี้สามารถก่อตั้งได้

ในขณะที่พื้นที่โครงการฯ อยู่ใจกลางของชุมชน ล้อมรอบด้วยบ้านจัดสรร พื้นที่เกษตรกรรม วัด โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ปฏิบัติธรรม ฯลฯ และมีลักษณะเป็นเกาะที่ล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบ้านพร้าว และคลองน้ำอ้อม และคลองสำแลซึ่งเป็นคลองประปาที่ผลิตน้ำส่งมายังกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก

ด้านสาธารณูปโภค ประชากรส่วนใหญ่ในตำบลเชียงรากใหญ่ใช้น้ำบาดาล โดยมีเพียงหมู่ 3 และหมู่ 5 บางส่วนหรือประมาณ 500 ครัวเรือนจากประชากรทั้งหมด 1,670 ครัวเรือนที่ใช้น้ำประปามาประมาณ 2-3 ปีแล้ว

พื้นที่นาข้าวใกล้พื้นที่โครงการจัดการขยะ
พื้นที่นาข้าวใกล้พื้นที่โครงการจัดการขยะ
สถานีสูบน้ำประปาคลองสำแลซึ่งผลิตน้ำประปาส่งกรุงเทพตะวันตก ซึ่งจุดที่สูบน้ำอยู่ขนานกับคลองน้ำอ้อมที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
สถานีสูบน้ำประปาคลองสำแลซึ่งผลิตน้ำประปาส่งกรุงเทพตะวันตก ซึ่งจุดที่สูบน้ำอยู่ขนานกับคลองน้ำอ้อมที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

“เราไม่ได้คัดค้านนโยบายรัฐบาลแต่คัดค้านการสร้างศูนย์จัดการขยะที่นี้ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ชาวบ้านจะยอมรับให้สร้างศูนย์จัดการขยะได้ เพราะเป็นที่ที่ไม่เหมาะสมในทุกด้าน และจะคัดค้านให้ถึงที่สุดแม้ว่าจะต้องฟ้องศาลปกครอง ซึ่งถ้าจะสร้างจริงๆ ควรสร้างที่ตำบลหนองเสือ เพราะเป็นพื้นที่เดียวของจังหวัดปทุมธานีที่น้ำไม่ท่วม ที่ดินราคาถูก และมีพื้นที่บริเวณกว้างจำนวนมากที่ห่างไกลชุมชน” ชาวบ้านตำบลเชียงรากใหญ่กล่าว

แม้ว่าปัจจุบันโครงการศูนย์จัดการขยะยังไม่ได้เริ่มต้น แต่ชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้ว จากการเผาหญ้าในพื้นที่โครงการในช่วงเวลากลางคืน ทำให้ลมพัดควันไฟเข้ามาในบ้านเรือน จนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่นอนไม่ได้ มีอาการภูมิแพ้ และปวดศีรษะ แม้ว่าจะปิดบ้านมิดชิดแต่ภายในบ้านก็ยังอบอวนด้วยกลิ่นควันไฟ และฝุ่นเถ้าถ่าน ซึ่งมีการเผาหญ้าต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมแล้ว

นางสมนึก พุ่มไม้ ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอภิเชษฐ์ธานี กล่าวว่า ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมต้องนอนสูดควันไฟมาโดยตลอด จนทำให้มีอาการไอ และแสบคอ แสบตา ตาบวม ต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์แล้วทั้งตนเองและหลานๆ ซึ่งหากจะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นคงเป็นไปได้ยาก เพราะคงไม่มีใครซื้อบ้านที่อยู่ติดโรงงานขยะ

ที่ดินร้านบรรจงศิลป์ที่ถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558 ซึ่งอยู่ติดพื้นที่โครงการสร้างศูนย์จัดการขยะฯ
ที่ดินร้านบรรจงศิลป์ที่ถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558 ซึ่งอยู่ติดพื้นที่โครงการสร้างศูนย์จัดการขยะฯ

ด้านนายศิลป์ ภูมิชัยวิวัฒน์ เจ้าของกิจการขายศาลพระภูมิ “บรรจงศิลป์” ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพื้นที่โครงการฯ กล่าวว่า ที่ดินผืนนี้เผาหญ้าทุกปี แต่ปกติจะเผาในหน้าแล้ง แต่ปีนี้เผาช่วงธันวาคมและเผามากผิดปกติจึงยังไม่ได้ถางหญ้าเพื่อทำพื้นที่กันไฟ โดยวันที่วันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ไฟไหม้ลามมายังที่ดินของร้าน จนต้องเรียกรถดับเพลิงมาดับไฟ ซึ่งเพลิงดังกล่าวทำให้ไม้ผลยืนต้น เช่น มะม่วง กล้วย มะพร้าว และต้นไม้อื่นๆ ที่อยู่โดยรอบที่ดินถูกเผา

“นอกจากได้รับความเสียหายจากไฟไหม้แล้ว ควันไฟที่เกิดขึ้นทุกคืนยังทำให้ปวดศีรษะ นอนไม่ได้ บ้านอบอวลด้วยกลิ่นควันไฟทั้งวัน และทำให้โรคภูมิแพ้ของลูกมีอาการหนักขึ้น ที่สำคัญต้องค่อยระวังควันไฟไม่ให้ปะทุเป็นไฟด้วย” นายศิลป์กล่าว

ทั้งนี้ติดกับร้านบรรจงศิลป์เป็นปั๊มน้ำมันพีที ซึ่งมีที่ดินด้านหลังติดกับที่ดินโครงการเช่นกัน แต่โชคดีที่ไฟยังล่ามไปไม่ถึง

ไม้ผลและไม้ยืนต้นของร้านบรรจงศิลป์ถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558
ไม้ผลและไม้ยืนต้นของร้านบรรจงศิลป์ถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558

อย่างไรก็ตามปัญหาจากควันไฟนั้น ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังอบต. เชียงรากใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัด และแจ้งตำรวจ แต่กลับยิ่งทำให้มีควันไฟหนักมากขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ ทหารเข้ามาสังเกตการณ์บางครั้ง ส่วนตำรวจขอความร่วมมือให้ประชาชนระบุตัวคนเผาหญ้าเพื่อให้ตำรวจจับตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

หลังจากชาวบ้านทราบว่าจะมีศูนย์จัดการขยะจากการประชาพิจารณ์ และทางอบต. เชียงรากใหญ่และเจ้าของโครงการไม่สามารถตอบคำถามเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวบ้านได้ ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันระดมความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน จนได้ข้อสรุปว่า “คัดค้านการก่อสร้างโรงงานขยะในพื้นที่แห่งนี้” รวมถึงชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างเพจเฟซบุ๊กชื่อ “คัดค้านโรงงานขยะ พื้นที่เชียงรากใหญ่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ชาวบ้านยังล่ารายชื่อกว่า 2,000 คน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างศูนย์จัดการขยะในพื้นที่ดังกล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รวมถึงขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร 2540 ใน 11 ประเด็น ดังนี้
1.ความเหมาะสมเชิงพื้นที่ที่จะเป็นที่ตั้ง
2.ขนาดพื้นที่โครงการและเขตติดต่อโดยระบุพิกัด GIS
3.เส้นทางโลจิสติกส์ของโครงการทั้งขาเข้าและขาออก
4.ขนาดการรองรับปริมาณขั้นสูงสุดต่อวัน
5.ระบบการกำจัดขยะและผลิตกระแสไฟฟ้า
6.ขนาดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้า
7.แผนงานการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรของโครงการ
8.แผนการบริหารโครงการและ TOR ที่เสนอต่ออบต.
9.แผนบริหารความเสี่ยงของโครงการโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
10.แนวทางการทำประชาพิจารณ์และคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิ
11.รายงานการประชุมของอบต. ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาโครงการฯ

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งว่า จะให้อบต.เชียงรากใหญ่และเจ้าของโครงการมาชี้แจงรายละเอียดต่อไป

เครื่องบำบัดน้ำเสียมูลค่า 8 ล้านบาทที่อบต. เชียงรากใหญ่สร้างเสร็จเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะบำบัดน้ำเสียที่ผ่านจากพื้นที่โครงการสร้างศูนย์จัดการขยะ หมู่บ้านอภิเชษฐ์ธานี ไหลลงสู่คลองน้ำอ้อม
เครื่องบำบัดน้ำเสียมูลค่า 8 ล้านบาทที่อบต. เชียงรากใหญ่สร้างเสร็จเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะบำบัดน้ำเสียที่ผ่านจากพื้นที่โครงการสร้างศูนย์จัดการขยะ หมู่บ้านอภิเชษฐ์ธานี ไหลลงสู่คลองน้ำอ้อม